"... เรื่องน้ำนี้ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์
ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช
ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อ หรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต
แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่นในวัตถุต่างๆ
ในรูปผลึก ก็ต้องมีน้ำในนั้นด้วย ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก
กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ฉะนั้นน้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่กล่าวถึงข้อนี้ ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า
ทำไมการพัฒนาขั้นแรกหรือสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการสิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี
สองอย่างนี้อื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ ถ้าหากว่าปัญหาของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไข
หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เรามีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ฉะนั้นการพัฒนานั้น สิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้
นอกจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนถึงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม
หรือการค้า หรือการคลัง อะไรพวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป... "
พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
วันที่
๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ว่าด้วยเรื่องน้ำ ปรากฏตามสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก ต่างกรรมต่างวาระ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศนั้น
พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำมากเป็นพิเศษ ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า
น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำเนินชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง
หรือในชนบทที่ต้องใช้น้ำเพื่อการทำการเกษตร นอกเหนือจากการอุปโภค-บริโภค
เช่นในสังคมเมือง หากการบริหารจัดการน้ำดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนย่อมมีความอยู่ดีกินดี
มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นงานหนึ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้เกี่ยวข้อง
รูปแบบการบริหารจัดการน้ำได้พัฒนารูปแบบมาเป็นลำดับ
จนในที่สุดแล้วการบริหารจัดการน้ำในลักษณะของการจัดการลุ่มน้ำ
เป็นรูปแบบที่หลายฝ่ายให้การยอมรับ
จากข้อมูลของวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความหมายของ “ลุ่มน้ำ” ไว้ว่าเป็นหน่วยของพื้นที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำโดยเฉพาะ
มีขนาดตามความต้องการของแต่ละบุคคลและประเภทของการศึกษา พื้นที่ประเทศไทยทั้งจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ
ๆ หนึ่ง และสามารถแบ่งออกเป็นลุ่มน้ำย่อยๆ ลงไปได้อีก ขึ้นกับความต้องการ เป้าหมายสำคัญของการจัดการลุ่มน้ำ
คือ การผสมผสานหลักการทางวิชาการ
และการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อดำเนินการที่จะให้พื้นที่ลุ่มน้ำ
มีทรัพยากรน้ำใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนของปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการใช้
มีระยะเวลาการไหลของน้ำที่เหมาะสมสม่ำเสมอ
คุณภาพของน้ำที่ดีเหมาะสมต่อการอุปโภค/บริโภค การควบคุมการพังทลายของดิน
การลดความเสียหายจากอุทกภัย รวมถึงการใช้ทรัพยากรในลุ่มน้ำอย่างถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์
ได้แก่ การใช้ การเก็บกัก การซ่อมแซม การฟื้นฟู การพัฒนา การป้องกัน การสงวน
และการแบ่งเขต ดังนั้นในการจัดการลุ่มน้ำจึงต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน
โดยเริ่มจากการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม
การสร้างมาตรการการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีประสิทธิภาพ และการควบคุมมลพิษ
ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดการลุ่มน้ำต่อไป หน่วยงานต่างๆ
ทั้งของภาครัฐและเอกชน ต่างมุ่งที่จะแสวงหาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในลุ่มน้ำกันอย่างเต็มที่
และส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงอย่างเป็นลูกโซ่จากการดำเนินงานในกิจกรรมต่าง
ๆ
“ฉีกซอง” ฉบับเดือนเมษายน ขอนำเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีในการจัดระบบการปลูกพืช
มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านทุกท่าน โปรดติดตาม
ท่วม-แล้ง-ซ้ำซาก
หากจะกล่าวถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ภาพจำในใจของคนไทย คือ แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยากินพื้นที่รวมประมาณ
99.12 ล้านไร่ หรือร้อยละ 30.85 ของพื้นที่ทั้งประเทศ จึงนับว่าเป็นลุ่มน้ำสายหลักที่สำคัญของประเทศ
โดยมีลุ่มน้ำสาขาหลัก จำนวน 8 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม
น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก และท่าจีน ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง
รวมทั้งสิ้น 31 จังหวัด
พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเป็นพื้นที่เทือกเขาแหล่งต้นน้ำลำธาร
มีที่ราบตามหุบเขาและริมน้ำ
ตอนกลางพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง
ตอนล่างเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ น้ำท่วมขัง
ซึ่งเป็นประเด็นที่จะนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบในครั้งนี้
สำหรับการใช้พื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาดังกล่าว
ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 45 เป็นการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร
รองลงมาเป็นการใช้ที่ดินประเภทป่าไม้ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง และเป็นการใช้ที่ดินประเภทอื่น
ๆ และแหล่งน้ำ ตามลำดับ ความสำคัญของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ส่งผลให้ภาครัฐลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก โดยมีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่
ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำ เพื่อการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ รวมทุกประเภทของโครงการราว
49,000
โครงการ (ข้อมูลปี 2559) คิดเป็นพื้นที่ชลประทานและพื้นที่รับประโยชน์รวมราว
21ล้านไร่ มีความจุอ่างเก็บน้ำรวม 27,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาตรเก็บกักน้ำของโครงการขนาดใหญ่ที่มีความจุอ่างเก็บน้ำมากกว่า
100 ล้าน ลูกบาศก์เมตร จำนวน 11 โครงการ อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ชะลอตัวลง
ตั้งแต่ปี 2530
ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้น
ในขณะที่ฤดูฝนช่วงน้ำหลากก็จะขาดแหล่งเก็บน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัย จึงส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา
กลายเป็นแหล่งรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยไม่สามารถกักเก็บเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้เต็มที่
เป็นที่ทราบดีว่า พื้นที่เกษตรท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ
โดยเฉพาะโครงการเจ้าพระยาที่มีพื้นที่ชลประทานกว่า 7 ล้านไร่
และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่ใหญ่ที่สุดเนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ คือ
เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี
และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก แต่ในบางปีที่การวางแผนและควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวในฤดูแล้งกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ
เกิดการแย่งกันใช้น้ำของเกษตรกร โดยเฉพาะในปีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ปัญหาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
ในขณะที่การจัดการกับปัญหาน้ำหลากในฤดูฝนไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นไปอีก
วิธีการที่เกษตรกรจะต้องยอมรับ คือ เสียสละไม่ใช้น้ำเพื่อการเกษตร
เพื่อให้สังคมส่วนใหญ่อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศน์ ภาคอุตสาหกรรม
และสังคมเมือง
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับความจริง คือ
ชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสูงอายุ การทำนาไม่ใช่การลงมือทำด้วยตนเองแล้ว
แต่เป็นการทำนาด้วยการว่าจ้าง มีทั้งการหว่านข้าวแบบสำรวย และการหว่านน้ำตม
ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีการทำนาดำด้วยเครื่องจักรกันมากขึ้น
แต่นาหว่านยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย การเริ่มฤดูการทำนา
หากเป็นการทำนาแบบสำรวย จะเป็นการหว่านข้าวแห้งรอฝน สำหรับพื้นที่ที่อาศัยน้ำฝนราวเดือนเมษายนก็เริ่มมีการหว่านกันแล้ว
เรียกว่าเป็นรูปแบบการทำนาที่มีความเสี่ยงสูงทีเดียว พันธุ์ข้าวที่ใช้ส่วนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาจะเป็นข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์และรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว
และยังคงมีปัญหาการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราสูงเกินความจำเป็นเริ่มฤดูปลูกอย่างจริงจังสำหรับนาหว่านน้ำตมหรือนาดำ
จะเริ่มราวช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และจะเก็บเกี่ยวราวเดือนกันยายน
ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลากเป็นประจำทุกปี เนื่องจากพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง
จะเป็นพื้นที่รองรับการระบายน้ำ หรือ เรียกว่า เป็นแก้มลิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งเชียงราก
ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท- ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด
ทุ่งบางกุ้ง และทุ่งบางบาล หลังจากเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกันยายน
ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวก็จะเตรียมทำนาปรังต่อทันที
ซึ่งเป็นระบบการปลูกพืชปกติของพื้นที่ดังกล่าว
บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เป็นรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากดังกล่าว
ครอบคลุมพื้นที่
15 จังหวัด 51 อำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 1,150,000
ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาทั้งหมด
ในช่วงฤดูแล้งพื้นที่เหล่านี้มักจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก
เรียกว่า การบริหารจัดการน้ำของพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา เป็นปัญหาที่ท้าทายมาก
เพราะมีโอกาสน้ำมากสูงพอๆกับน้ำแล้งเช่นกัน ประเด็น คือ
จะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกับสภาพที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ได้เป็นอย่างดี
จากสถานการณ์น้ำและสภาพการผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง
หากยังคงปลูกพืชแบบเดิมๆ ทำเช่นที่เคยทำมาโดยตลอด
ผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมไม่แตกต่างไปจากเดิม สิ่งที่นักวิชาการพยายามขยายผลมาโดยตลอด
คือ การจัดระบบการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาท่วม-แล้ง-ซ้ำซาก
ได้อย่างเห็นผล
แต่เป็นวิธีที่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกคนในลุ่มน้ำเดียวกัน
การจัดระบบการปลูกพืช
เป็นวิธีการที่เพิ่มผลผลิตพืชจากความเป็นไปได้ของทรัพยากรกายภาพที่มีอยู่ (ดิน น้ำ
แสง) วิธีการจัดการดังกล่าวต้องช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรที่มีอยู่
และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตใน 1 หน่วยพื้นที่ให้ได้จากเดิม ด้วยการรูปแบบการปลูกพืช
(Cropping pattern) ซึ่งหมายถึงการปลูกพืชในรอบปีที่มีการปลูกพืชชนิดเดียวหรือหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน
โดยมองว่าระบบการปลูกพืช (Cropping System)
เป็นรูปแบบการปลูกพืชที่ใช้ในพื้นที่และมีความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรในฟาร์มที่มีความเหมาะสมกับเงื่อนไขของเกษตรกร
แต่กรณีที่เกษตรกรทำหลายๆ กิจกรรมร่วมกันในฟาร์ม จะถือว่าเป็นระบบการทำฟาร์ม (Farming
System) ซึ่งเป็นการผสมผสานของการพัฒนาการดำเนินการและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในฟาร์ม
รวมถึงการตัดสินใจของเกษตรกร การจัดการที่มีความเหมาะสมทั้งทางด้านการผลิต การตลาด
และวิธีบริหารจัดการ
ผลงานวิจัยของคุณสมชาย บุญประดับ และคณะนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร
ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงนิเวศน์เกษตรในพื้นที่รับน้ำภาคกลาง
ในช่วงปี 2556 ได้แก่ อุณหภูมิอากาศและดิน
ความยาวนานของแสง ความเข้มของแสง ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน
สมบัติทางฟิสิกส์ของดิน ได้แก่ ความลึกของตะกอนดิน เนื้อดินและสีของดินในแต่ละชั้น
การซึมของน้ำผ่านผิวดิน การนำน้ำในแต่ละชั้นดิน ความหนาแน่นของดิน
ความแข็งของดินในแต่ละชั้น สมบัติทางเคมีของดิน ได้แก่ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง
ค่าอินทรีย์วัตถุ ค่าฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ ค่าโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้
ธาตุอาหารรองและอาหารเสริม ค่าความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุในดิน และการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในดิน
รวมทั้งเก็บข้อมูลด้านชีวภาพ ตั้งแต่ชนิดพืชที่ปลูก พันธุ์ ช่วงเวลาปลูก
การดูแลรักษา จนกระทั่งการเก็บเกี่ยวและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การจำหน่าย
และระบบการปลูกพืชในพื้นที่ รวมทั้งเก็บข้อมูลด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย ในพื้นที่
จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี และสระบุรี และได้ศึกษาระบบการปลูกพืชอย่างยั่งยืนในพื้นที่รับน้ำภาคกลาง
โดยนำผลการสำรวจและวิเคราะห์ระบบนิเวศน์เกษตรในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดชัยนาท
เพื่อวางแผนการจัดระบบการปลูกพืชอย่างยั่งยืนในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากหลังน้ำลด
โดยยึดหลักรูปแบบระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นพืชหลัก โดยปลูกพืชล้มลุกอายุสั้น สร้างรายได้ในช่วงหลังน้ำลด
ได้แก่ พืชไร่ อายุสั้น พืชผัก พืชสมุนไพร ฯลฯ จากนั้นปลูกข้าวนาปี ซึ่งจะต้องเลือกพันธุ์ข้าวที่กำหนดอายุเก็บเกี่ยวได้
(ไม่ไวแสง) ปลูกให้เร็วและเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ดำเนินการในพื้นที่รับน้ำภาคกลาง
ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี และสระบุรี
ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2558
ผลการศึกษา พบว่าระบบการปลูกพืชในพื้นที่รับน้ำภาคกลาง
(floodway)
โดยพืชอายุสั้นที่มีศักยภาพและเหมาะสำหรับใช้ปลูกในพื้นที่รับน้ำจังหวัดชัยนาท
คือ ถั่วเหลืองฝักสดและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวนาปรัง
จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า พืชอายุสั้นที่มีศักยภาพ คือ ข้าวโพดฝักสด โดยเฉพาะข้าวโพดข้าวเหนียว
เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวนาปรัง จังหวัดอ่างทอง พบว่า พืชอายุสั้นที่มีศักยภาพ คือ
ถั่วเหลืองฝักสด
และข้าวโพดฝักสด เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวนาปรัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า
พืชอายุสั้นที่มีศักยภาพ คือ ถั่วเหลืองฝักสด และข้าวโพดฝักสด
เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวนาปรัง จังหวัดลพบุรีและสระบุรีพบว่า
พืชอายุสั้นที่มีศักยภาพ คือ ข้าวโพดฝักสด ในขณะที่พื้นที่รับน้ำจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี
พบว่าระบบเกษตรผสมผสาน
โดยเฉพาะระบบการปลูกพืชที่มีไม้ผลเป็นพืชหลักร่วมกับการปลูกผักและการเลี้ยงปลาในร่องสวนไว้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนใช้บริโภคในครัวเรือน
หากเหลือสามารถนำไปจำหน่ายได้ และการปลูกผักปลอดสารเคมีตกค้างเพื่อการส่งออก
โดยเฉพาะถั่วฝักยาว ด้วยการใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
ในการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรในจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี
มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 และ 61.8 ตามลำดับ
การขยายผลงานวิจัยดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา
ยังคงยึดข้าวเป็นพืชหลัก
ด้วยความร่วมมือของกรมชลประทานในการปล่อยน้ำให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
ได้เริ่มฤดูการทำนาตั้งแต่ต้นฤดู คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 โดยหากเป็นไปได้เกษตรกรจะต้องปลูกข้าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ภายในวันที่
31 สิงหาคม 2560 กล่าวคือช่วงเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ
คือ วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 – 31 สิงหาคม
2560 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน
หรือราว 120 วัน ด้วยเงื่อนไขของระยะเวลาดังกล่าว
กรมการข้าวจึงได้แนะนำพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ รวม 4
พันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ปทุมธานี1 กข29 (ชัยนาท80) กข41 และ กข49 โดยแต่ละพันธุ์มีลักษณะเด่นและข้อจำกัด ดังนี้
ปทุมธานี1 เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 110 วัน
ทรงกอตั้ง คุณภาพข้าวสุกนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอม ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 650-774 กิโลกรัม/ไร่ ให้ผลผลิตสูง คุณภาพคล้ายหอมมะลิ105 ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง
ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยจักจั่นสีเขียว โรคใบหงิก และโรคใบสีส้ม
เป็นพันธุ์แนะนำในพื้นที่ชลประทานภาคกลาง
กข29 (ชัยนาท80) เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 103
วัน ทรงกอตั้งตรง ไม่ล้มง่าย ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 876 กิโลกรัม/ไร่ อายุเก็บเกี่ยวสั้น ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
และโรคขอบใบแห้ง แต่อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นครปฐม
ราชบุรี และฉะเชิงเทรา ไม่แนะนำให้ปลูกในช่วงกลางเดือนกันยายน-ปลายเดือนพฤศจิกายน
เนื่องจากจะกระทบอากาศเย็น ทำให้เมล็ดลีบ ผลผลิตต่ำ
เป็นพันธุ์แนะนำในพื้นที่ชลประทานภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน หรือ
หลังน้ำท่วมในฤดูฝน
กข41 เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 105 วัน
ทรงกอตั้ง ต้นแข็ง ใบธงตั้งตรง คุณภาพการสีดี ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 722 กิโลกรัม/ไร่ ให้ผลผลิตสูง ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
และโรคไหม้ สามารถสีเป็นข้าวสาร 100% อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง
ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) สูงเกินไป
และอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดปทุมธานี
เป็นพันธุ์แนะนำในพื้นที่ชลประทานภาคเหนือตอนล่าง
กข49 เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 102-107 วัน
ทรงกอตั้ง ใบธงตั้ง รวงแน่นปานกลาง คอรวงสั้น เมล็ดเรียวยาว ท้องไข่น้อย
คุณภาพการสีดี ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 733 กิโลกรัม/ไร่
ให้ผลผลิตสูง ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ในพื้นที่ภาคกลาง
สามารถสีเป็นข้าวสาร 100%
ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งและอ่อนแอต่อโรคไหม้ในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นพันธุ์แนะนำในพื้นที่ชลประทานภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง
หลังจากที่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว
ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม จะเป็นช่วงของฤดูน้ำหลาก
เกษตรกรจะต้องพักการทำนา พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวจะถูกใช้เป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำ
เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชน
ตลอดจนเป็นการตัดยอดน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกทางหนึ่ง พื้นที่ดังกล่าวสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ
1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ช่วงเวลาดังกล่าวสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง
หรือรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิตการเกษตรหรือการทำหัตถกรรม นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำยังสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการเป็นน้ำต้นทุนในการทำนาปรัง
และการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้ด้วย
โดยเกษตรกรจะต้องพิจารณาตัดสินใจเลือกชนิดพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่และปริมาณต้นทุนที่มีอยู่
รวมทั้งช่องทางการตลาด เพื่อตัดสินใจปลูกพืชในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน
ซึ่งตามผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวปลูกพืชไร่อายุสั้น
หรือพืชผัก เช่น ข้าวโพดฝักสด ถั่วเหลืองฝักสด การผลิตผักปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างด้วยระบบการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน
เป็นต้น
กาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
รูปแบบการทำการเกษตรก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามข้อจำกัดและเงื่อนไขที่แตกต่างไป
การบริหารจัดการลุ่มน้ำไม่สามารถสำเร็จด้วยภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว
จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย
หากทุกคนรับทราบและเข้าใจในเป้าหมายเดียวกันแล้ว
การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคงไม่ยากเกินไป ลองทบทวนและเริ่มลงมือทำไปพร้อมกัน
มาเป็นกำลังใจให้กันและกัน ความสำเร็จรออยู่ข้างหน้าทุกท่านแล้ว
(ขอบคุณ: วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรมการข้าว,กรมชลประทาน,กรมส่งเสริมการเกษตร,คุณสมชาย บุญประดับ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการปลูกพืช กรมวิชาการเกษตร
หัวหน้าชุดโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการปลูกพืชอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงภัย /
ข้อมูล)
หมายเหตุ ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๖๐
หมายเหตุ ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๖๐
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น