“…แต่ละคนมีหน้าที่ที่จะต้องทำ ต้องทำให้ดีที่สุด แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องนึกด้วยว่า งานของตัวจะต้องสัมพันธ์กับงานของคนอื่น เพราะถ้าไม่สัมพันธ์กับงานของคนอื่น งานที่ตัวทำอาจเปล่าประโยชน์ก็ได้ หรือถ้าไปปืนเกลียวกับหน่วยงานอื่น ก็อาจเป็นผลร้ายยิ่งขึ้นไปอีก..”
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๒
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างงานของตนเองกับงานของผู้อื่น แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมใดๆ ไม่สามารถเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ด้วยบุคคลเดียว ยังมีผู้คนอีกมากมายที่เกี่ยวข้อง ยิ่งภาคราชการของไทย ซึ่งมีการจัดระบบการบริหารแบบแยกส่วน แบ่งงานกันทำ ความสัมพันธ์ระหว่างงานที่เชื่อมต่อกัน จะส่งผลต่อความสำเร็จของงาน และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชเป็นประเด็นปัญหาที่หมุนเวียนเปลี่ยนกลับไปมาได้ มีทั้งช่วงที่ระบาดรุนแรง ช่วงที่ระบาดเล็กน้อย และช่วงที่ไม่พบการระบาด ขึ้นกับปัจจัยหลายๆอย่าง เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งเป็นช่วงเวลาของการระบาดของแมลงหลายชนิด ด้วยปัจจัยที่เหมาะสมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศ ความอ่อนแอของพืชอาศัย การดูแลรักษา หรือแม้แต่ช่วงวงจรชีวิตของแมลงที่เหมาะสมต่อการเข้าทำลายพืชอาศัย หากปัจจัยหลายๆอย่างเหมาะสมปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชจึงเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้เลย
“ฉีกซอง” ฉบับเดือนมีนาคม ขอนำเรื่องหนอนหัวดำในมะพร้าว มานำเสนอกับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในจังหวะเวลาที่ปัจจัยต่างๆเหมาะสม ทางออกของการควบคุมหนอนหัวดำ ณ จุดนี้ เดินทางมาไกลเพียงใด โปรดติดตาม
ทำความรู้จัก
อันที่จริงแล้ว
เรื่องราวของหนอนหัวดำไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะจดหมายข่าวผลิใบฯ
มีการนำเสนอเรื่องหนอนหัวดำ ต่างกรรมต่างวาระกันไป
ตามจังหวะของการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำ หากค้นข้อมูลลึกลงไป ก่อนปี 2550 จะเห็นว่าหนอนหัวดำเป็นแมลงที่ไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทยมาก่อน หนอนหัวดำมีชื่อสามัญว่า Coconut
black-headed caterpillar ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Opisina
arenosella โดยนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่จับเรื่องนี้มาแต่แรกคือ
ดร.อัมพร วิโนทัย นักกีฏวิทยาคนสำคัญของกรมวิชาการเกษตร สังกัด
กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช
(เสียดายที่ท่านถึงแก่กรรมหลังจากเกษียณอายุราชการไม่นานนัก
เป็นอีกหนึ่งในนักวิชาการรุ่นพี่ที่ผู้เขียนเคารพรัก
ยังจำสายตาและความมุ่งมั่นที่เปล่งประกายเสมอเมื่อได้มีโอกาสพบปะและประสานการทำงาน)
จากรายงานของ ดร.อัมพร พบรายงานการระบาดของหนอนหัวดำครั้งแรกในปี 2550 ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่รวมประมาณ 50 ไร่
แมลงดังกล่าวเป็นแมลงศัตรูสำคัญของมะพร้าวในอินเดีย และพบรายงานของหนอนดังกล่าวในอินโดนีเชีย
เมียนมาร์ บังคลาเทศ และปากีสถาน สำหรับประเทศไทย หลังจากพบรายงานการระบาดในปี 2550
วงการระบาดของหนอนหัวดำได้ขยายตัวออกมาเรื่อยๆ โดยในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดรุนแรงอีกช่วงเวลาหนึ่ง
พื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำ ขยายตัวไปถึง 8 จังหวัด ประกอบด้วย
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 6 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกุยบุรี
อำเภอทับสะแก อำเภออ่าวน้อย อำเภอบาสะพาน และ อำเภอบางสะพานน้อย
ซึ่งนอกจากจะพบในมะพร้าวแล้ว จะพบการระบาดในตาลโตนด และปาล์มประดับอีกด้วย
จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดนครสวรรค์
อำเภอชุมแสง พบทำลายมะพร้าว ตาลโตนด และกล้วย จังหวัดปทุมธานี อำเภอเมือง
จังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด พบทำลายตาลโตนด และปาล์มประดับ จังหวัดนครราชสีมา
อำเภอปักธงชัย และ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอเมือง ดังนั้น จะเห็นว่า
พืชอาศัยของหนอนหัวดำมีหลายชนิดด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นพืชตระกูลปาล์ม และกล้วย
ตามที่กล่าวมา
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร
ในช่วงปี 2555-2559
พื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำ ขยายเป็น 60,000 – 100,000 ไร่ โดยความรุนแรงของระบาดในช่วงฤดูแล้ง และลดลงในช่วงฤดูฝน สำหรับปี 2560
พบรายงานการระบาดในพื้นที่ 29 จังหวัด
รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 79,000 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯ
นนทบุรี อ่างทอง ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์
สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา อุดรธานี สงขลา สตูล นราธิวาส
บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร
และปัตตานี
ลักษณะตัวเต็มวัยของหนอนหัวดำมะพร้าว
เป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลำตัววัดจากหัวถึงปลายท้องยางประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย ปีกสีเทาอ่อน
มีจุดสีเทาเข้มที่ปลายปีก ลำตัวแบน ชอบเกาะนิ่งแนบตัวติดกับผิวของพื้นที่เกาะ
เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าว หรือในที่ร่ม การวางไข่ ตัวเมีย 1 ตัวจะวางไข่ได้ประมาณ
200 ฟอง ไข่มีลักษณะกลมรีแบน วางเป็นกลุ่ม เมื่อวางไข่ใหม่ๆ
ไข่จะมีสีเหลือง และสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้ฟักเป็นตัว โดยมีระยะไข่ประมาณ 4-5
วัน สำหรับระยะตัวหนอนรวมประมาณ 32-48 วัน
มีการลอกคราบ 6-10 ครั้ง เมื่อฟักออกจากไข่จะรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม
1-2 วัน ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว
ลักษณะเด่นของหนอนที่ฟักตัวออกมาใหม่ หัวจะมีสีดำ
โดยจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนลำตัวเมื่อฟักออกมาใหม่ๆ
จะมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและมีลายสีน้ำตาลเข้มพาดยาวตามลำตัว
เมื่อโตเต็มที่ ความยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร
การทำลายพืชอาศัยจะเกิดขึ้นเฉพาะในระยะตัวหนอนเท่านั้น
ซึ่งตัวหนอนจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ และสร้างอุโมงค์เป็นทางยาว อาศัยกันกินใบอยู่ในอุโมงค์
ชอบทำลายใบแก่ ใบที่ถูกทำลายจะมีลักษณะแห้งเป็นสีน้ำตาล
เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้ภายในอุโมงค์
ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ระยะเวลาเป็นดักแด้ประมาณ 9-11 วัน
หลังจากออกจากดักแด้เป็นผีเสื้อจะวางไข่เมื่ออายุประมาณ 2 วัน
และมีช่วงระยะการเป็นผีเสื้อประมาณ 3-10 วัน
ความรุนแรงของการทำลาย หากระบาดรุนแรง จะทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดลงได้ถึงร้อยละ 50
และหากระบาดต่อเนื่องรุนแรง อาจทำให้มะพร้าวยืนต้นตายได้
การป้องกันกำจัด
สามารถใช้การตัดทางใบล่างของมะพร้าวที่มีทางใบมากกว่า 13 ใบแล้วนำไปเผาทำลาย เพื่อตัดวงจรการระบาดในระยะไข่ ระยะตัวหนอน
และระยะดักแด้
แต่วิธีการนี้ไม่แนะนำสำหรับพื้นที่ที่การระบาดทับซ้อนของด้วงงวงหรือด้วงสาคู
เพราะรอยแผลที่เกิดขึ้นจะเป็นช่องทางเข้าทำลายของด้วงงวง การตัดทางใบดังกล่าว
ต้องใช้มีดทีคม ตัดให้เหลือโคนทางใบ และตัดทางใบที่พบหนอนหัวดำจำนวนมาก
และต้องมีใบสีเขียวเหลือไม่ต่ำกว่า 13 ทางใบ
เพื่อไม่ให้กระทบกับผลผลิต หากเหลือทางใบน้อยกว่า 13 ทางใบ
ให้ใช้วิธีการอื่น
วิธีการอื่น คือ การใช้ศัตรูธรรมชาติ
ซึ่งพบว่าหนอนหัวดำมีศัตรูธรรมชาติ 6 ชนิด ได้แก่ แตนเบียนหนอน
2 ชนิดคือ Bracon hebetor และแตนเบียนวงศ์
Eulophidae 1 ชนิด ส่วนอีก 3 ชนิด เป็นแตนเบียนดักแด้ ได้แก่ Trichospilus
pupivorus , Brachymerua sp. และ Eurytoma sp. และด้วงตัวห้ำ
1 ชนิด ได้แก่ ด้วงตัวห้ำในวงศ์ Cleridae นอกจากนี้
ผลการศึกษาของนักวิจัยกรมวิชาการเกษตร พบว่า เชื้อราเขียว
สามารถทำให้หนอนหัวดำตายได้ ประมาณร้อยละ 60-88 และสามารถใช้เชื้อแบคทีเรีย
Bacillus thuringienesis kurstaki และ Bacillus
thuringienssis aizawai ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ใช้ควบคุมศัตรูพืชจำพวกหนอนผีเสื้อได้ดี
วิธีการใช้เชื้อ BT ดังกล่าวต้องเป็นชีวภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร
อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
ผสมสารจับใบ 5 มิลลิลิตร พ่นให้ทั่วใบ
ในช่วงเย็นเพื่อไม่ให้แสงแดดทำลายเชื้อให้มีประสิทธิภาพลดลง พ่นติดต่อกัน 3-5
ครั้ง ห่างกันครั้งละ 5-7 วัน
โดยต้องเก็บรักษาเชื้อ BT ไว้ในที่ร่มไม่ถูกแสงแดด
และเครื่องพ่นต้องเป็นเครื่องพ่นชนิดแรงดันน้ำสูง ปรับความดันได้ไม่น้อยกว่า 30
บาร์ หัวฉีดต้องเป็นหัวแบบกรวยกลวง เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2-
2.0 มิลลิเมตร ทั้งนี้ การใช้แตนเบียน
แนะนำให้ใช้หลังจากการพ่นเชื้อ BTครั้งสุดท้าย
โดยปล่อยแตนเบียนในช่วงเย็น หลังเวลา 17.30 น.
ไม่ควรปล่อยในวันที่มีฝนตก อัตรา 200 ตัว ต่อ ไร่ ต่อ ครั้ง
กระจายทั่วแปลงทุก 15 วัน ต่อเนื่อง 14 ครั้ง สำหรับ Bracon
hebetor ส่วนแตนเบียน Goniozus
nephantidis ให้ปล่อยทุก
1 เดือน ติดต่อกัน 7 ครั้ง ในอัตรา 200
ตัวเท่ากัน
สำหรับการใช้สารเคมี
กรณีมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้วิธีทางฉีดเข้าลำต้น
โดยใช้สารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อ ต้น โดยการเจาะลำต้นมะพร้าว สูงจากพื้นดินราว 1 เมตร จำนวน 2 รู ให้อยู่ตรงข้ามกัน กว้างประมาณ 4
หุน ลึก 10 เซนติเมตร ใส่สารรูละ 15 มิลลิลิตร และปิดรูด้วยดินน้ำมัน
สารดังกล่าวห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ สำหรับมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า
12 เมตร มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวกะทิ
สามารถใช้วิธีการพ่นสารเคมีได้ โดยใช้สาร cholrantraniliprol 5.17% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ flubendiamide 20% WG อัตรา 5 กรัม ต่อ
น้ำ 20 ลิตร หรือ spinosad 12%EC อัตรา 20 มิลลิลิตร
ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ lufenuron 5%EC
อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร เลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง พ่นทางใบมะพร้าว
สามารถใช้เครื่องพ่นแบบเดียวกับการพ่นเชื้อ BT
อัตราการพ่นขึ้นกับขนาดลำต้นและความหนาแน่นของใบมะพร้าว โดยถ้าต้นสูง 3-5 เมตร ใช้อัตราการพ่นประมาณ 3-5 ลิตร แต่ถ้าหากต้นสูง
6-12 เมตรใช้อัตราการพ่นประมาณ 6-10 ลิตร
ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามหลักการพ่นสารเคมีทางการเกษตรอย่างเคร่งครัด
สำหรับสารเคมีทั้ง 4 ตัว พบว่า cholrantraniliprol และ flubendiamide มีความเป็นพิษต่อผึ้งน้อย ส่วน spinosad
มีความเป็นพิษต่อผึ้งสูง และ lufenuron
มีความเป็นพิษต่อกุ้งสูง
กฎหมาย
แก้ปัญหาได้?
เมื่อเกิดปัญหาระบาดเข้ามาของศัตรูพืชหรือศัตรูสัตว์
หากเกิดความเสียหายรุนแรง
สิ่งที่ถูกนำมาใช้สำหรับให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการปัญหาดังกล่าว คือ กฎหมาย
ซึ่งอาจออกมาในรูปแบบต่างๆ กัน ในส่วนของปศุสัตว์ที่เห็นว่า
เมื่อมีปัญหาระบาดของโรคสัตว์ขึ้นจะออกประกาศเป็นเขตควบคุมการระบาดของโรคสัตว์
เพื่อให้สามารถจัดการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการระบาดโรคสัตว์
ทั้งยังกำหนดการกักกันโรคทั้งที่มาจากต่างประเทศ และทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศ
โดยมีด่านกักสัตว์ระหว่างประเทศ และด่านกักสัตว์ภายในประเทศ เรียกว่า มีระบบ In Land
Quarantine เข้ามาด้วย ทำให้การกักกันโรคและการควบคุมโรคระบาดสัตว์สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างฉับไว
เนื่องมีระบบการติดตามและเฝ้าระวังที่ชัดเจน
หันกลับมามองกฎหมายว่าด้วยการกักพืชของเรา
ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
สิ่งหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือ ระบบการกักกันพืช ไม่มี in land quarantine
เหมือนกับระบบการกักกันสัตว์ กฎหมายว่าด้วยการกักพืช
เน้นการป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชจากต่างประเทศเข้ามาระบาดและตั้งรกรากในประเทศเป็นสำคัญ
โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนย้ายของศัตรูพืชและพาหะภายในประเทศ เมื่อเกิดปัญหาการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช
จึงทำให้การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถสกัดกั้นได้
เพราะการเคลื่อนย้ายศัตรูพืชและพาหะเป็นไปอย่างเสรี
อย่างไรก็ตาม
กฎหมายว่าด้วยการกักพืชของไทย
ยังเปิดช่องให้สามารถควบคุมแหล่งที่มีศัตรูพืชระบาดรุนแรงได้ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา
17
ของพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 กล่าวคือ เมื่อมีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงปรากฎขึ้นในท้องที่ใด
หรือมีเหตุอันสมควรควบคุมศัตรูพืชในท้องที่ใด
ให้อธิบดีมีอํานาจประกาศกําหนดท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชและประกาศระบุชื่อ
ชนิดของพืช ศัตรูพืชและพาหะที่ควบคุมและให้กําหนดสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นขึ้นเท่าที่จําเป็น
ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอําเภอ
ที่ทําการของกํานันและที่ทําการของผู้ใหญ่บ้านใน ท้องที่นั้น และในมาตรา 18
ได้กำหนดให้เมื่อประกาศกําหนดเขตควบคุมศัตรูพืชตามมาตรา 17 แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใด นําพืช ศัตรูพืชหรือพาหะออกไปนอก
หรือนําเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืช ตามที่ประกาศระบุไว้
เว้นแต่จะได้ผ่านการตรวจและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น
การประกาศเขตควบคุมศัตรูพืชตามกฎหมายฉบับดังกล่าว
เคยประกาศใช้มาแล้วในสมัยที่จอกหูหนูยักษ์ระบาดในพื้นที่จังหวัดสงขลา
ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดไม่กว้างขวางมาก และจอกหูหนูยักษ์มีลักษณะที่เห็นชัดเจน
ไม่กระทบต่อพืชเศรษฐกิจอื่น จึงสามารถจัดการได้ง่ายกว่า
และอยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมได้ สำหรับหนอนหัวดำ การจัดการแตกต่างจากจอกหูหนูยักษ์อย่างสิ้นเชิงแม้จะใช้กฎหมายในมาตราเดียวกันก็ตาม
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
รายงานผลกระทบจากการระบาดของหนอนหัวดำ พบว่า
จากตัวเลขรายงานการระบาดของกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณการได้ว่า
พื้นที่การระบาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 78,954 ไร่
เพิ่มเป็น 81,009 ไร่ ในเดือนสิงหาคม 2560 โดยการระบาดจะเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนประมาณเดือนละ 400 ไร่ ส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวรวมของประเทศลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 (ตัวเลขปี 2559) และหากการระบาดของหนอนหัวดำก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสิ้นเชิง
จะเกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1
พันล้านบาท แต่หากระดับความเสียหายลดลงเป็นเสียหายปานกลาง
จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า เดือนละไม่ต่ำกว่า 550 ล้านบาท
การประกาศเขตควบคุมศัตรูพืชของกรมวิชาการเกษตร
ตามกฎหมายว่าด้วยการกักพืช จะต้องกำหนดขอบเขตของการควบคุม ชนิดศัตรูพืชที่จะควบคุม
ชนิดพืชหรือพาหะที่ควบคุม และสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ณ สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน
พื้นที่เป้าหมายที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชในครั้งนี้ คือ
พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำหรับสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นของเกาะสมุย
กำหนดไว้ที่ท่าเทียบเรือเกาะสมุย ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำหนดไว้ที่
จุดตรวจปราณบุรี และจุดตรวจไชยราช อำเภอบางสะพาน
ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคุมและกำจัดให้หนอนหัวดำหมดสิ้นไปจากพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชทั้งสองแห่งโดยเร็ว
จึงจะประกาศยกเลิกการเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชต่อไป
ในทางปฏิบัติ
อาจเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องจัดการหนอนหัวดำให้หมดสิ้นไป
และการป้องกันไม่ให้หนอนหัวดำกลับเข้ามาระบาดในพื้นที่ได้ใหม่
หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพราะการระบาดของหนอนหัวดำได้กระจายตัวออกจากจุดเริ่มต้นไปไกลพอสมควรแล้ว
การกำจัดในพื้นที่หนึ่ง ในขณะอีกพื้นที่หนึ่งยังเป็นแหล่งอาศัยของหนอนหัวดำ
อีกทั้งพาหะของหนอนหัวดำไม่ได้มีเฉพาะมะพร้าวเท่านั้น
ยังมีพืชตระกูลปาล์มอีกหลายชนิด รวมทั้งกล้วยด้วย ระบบการเฝ้าระวังและติดตามการระบาดของหนอนหัวดำที่ยังไม่เป็นเอกเทศและเข้มแข็งเพียงพอ
การใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ
หากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องไม่มีจิตสำนึกที่ดีต่อระบบกักกันของประเทศไทย
ถึงเวลาแล้วหรือไม่
ที่จะทบทวนและพัฒนาระบบกักกันพืชของไทยให้มีความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่
ถึงเวลาของการนำระบบ in
land quarantine มาใช้ในประเทศแล้วหรือไม่
ถึงเวลาของการทบทวนระบบการติดตามและเฝ้าระวังศัตรูพืช
โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่แล้วหรือไม่ ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่งาน quarantine
จะไม่ใช่งานที่ทำเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า แต่เป็นงานที่อำนวยความมั่นคงและปลอดภัยทางชีวภาพให้กับประเทศ
ถึงเวลาแล้วหรือ... คำถามและคำตอบลอยอยู่ในอากาศ
(ขอบคุณ: สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร/ ข้อมูล)
หมายเหตุ ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนมีนาคม 2560
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น