วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2561

ส่องแผนงานวิจัยพญาอินทรีย์ NP 304


“… คนที่มีระเบียบวินัยนั้นเป็นผู้ที่เข้มแข็ง เป็นผู้ที่หวังดีต่อตัวเอง เป็นผู้ที่จะมีความสำเร็จในอนาคต อันนี้เป็นระเบียบอย่างหนึ่ง เป็นวินัยอย่างหนึ่ง คือว่า ถ้าคนใดมีระเบียบมีวินัยในร่างกาย คือ หมายถึง การปฏิบัติของตัว กิริยามารยาท ทำให้ไม่มีอุปสรรคต่อการขวนขวายหา จะหาความรู้ก็ได้ หาอะไรก็มีความสำเร็จ คือหาสิ่งที่ตัวกำลังที่จะมุ่งปฏิบัติ การปฏิบัติด้วยความมีระเบียบวินัย การปฏิบัตินั้นสำเร็จ อันนี้เป็นระเบียบวินัยชนิดหนึ่ง ระเบียบวินัยอีกชนิดที่กล่าวเมื่อตะกี้ ก็คือระเบียบในใจ ในใจนั้นก็คือการกระทำอะไร เราต้องคิด เมื่อมีระเบียบในความคิด คือมีเหตุผล สิ่งใดที่คิดก็คิดออก  สมมุติว่าเราคิดเรื่องหนึ่ง แล้วก็ไปคิดอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้อง แล้วไปคิดเรื่องที่สาม เรื่องที่สี่ เรื่องทั้งสามสี่เรื่องนี้ก็ไม่มีความสำเร็จแน่นอน เพราะว่ามันฟุ้งซ่าน ฉะนั้นต้องมีระเบียบในความคิด ที่เรียกว่า ระเบียบในใจ หรือ วินัยในความคิด...
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ จังหวัดสงขลา
ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ จังหวัดสงขลา
วันพฤหัสบดีที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๔

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระราชดำรัสแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ จังหวัดสงขลา เมื่อปี ๒๕๒๔ ว่าด้วยเรื่องการมีระเบียบวินัยในความคิด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การปฏิบัติกิจการใดๆ ประสบผลสำเร็จ สำหรับการเริ่มต้นในปีใหม่นี้ “ฉีกซอง” ขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับแผนงานวิจัยส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ประเทศมหาอำนาจของโลกในปัจจุบัน ในส่วนที่เรียกว่า National Program 304 : Crop Protection and Quarantine ระเบียบวินัยการคิดเรื่องดังกล่าว แตกต่างจากกับระเบียบวิธีคิดของบ้านเราหรือไม่ โปรดติดตาม   

ARS-USDA
              ARS  หรือ Agricultural Research Service    เป็นหน่วยงานวิจัยทางการเกษตรของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ( U.S. Department of Agriculture ) ดังนั้นภารกิจสำคัญของ ARS  จึงเป็นเรื่องการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตรของชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั้งหมด  เพื่อรับประกันคุณภาพสูงสุดของสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ความต้องการทางโภชนาการของชาวอเมริกัน  รวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภาคการเกษตร การรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมตลอดจนการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประชากรในเขตชนบท และสังคมโดยรวม  ซึ่งจะเห็นว่าครอบคลุมกว้างขวางกว่าภารกิจของกรมวิชาการเกษตรอย่างชัดเจน แต่ทั้งสองหน่วยงานมุ่งเน้นในการรักษาสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศเช่นกัน โดย ARS กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ นำอเมริกาสู่ชีวิตที่ดีกว่าด้วยงานวิจัยและข้อมูลทางการเกษตร” (to lead America towards a better future through agricultural research and information)
          โครงสร้างของ ARS อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ REE (Under Secretary Research, Education, and Economics ) ซึ่งอยู่ภายใต้ USDA อีกชั้นหนึ่ง สำหรับ ARS มี Administrator เป็นผู้บริหารสูงสุด หน่วยงานของ ARS แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ Central Program Planning, Coordination and Support ซึ่งประกอบด้วย 10 หน่วยงาน ได้แก่ (1) Office of National Programs (2) Administrative & Financial Management (3) Legislative Affairs (4) Office of International Research Programs (5) Office of Chief Information Officer (6) Office of Outreach Diversity and Equal Opportunity (7) Office of Technology Transfer (8) Office of Communication (9) Budget & Program Management Staff และ (10) Office of Scientific Quality Review  ส่วนที่ 2  คือ หน่วยที่เรียกว่า Field Research Implementation  and Information Delivery ประกอบด้วยหน่วยงานในพื้นที่ 6 ส่วนกระจายทั่วสหรัฐ  ได้แก่ Pacific West Area,  Midwest Area, Northeast Area, Plains Area, Southeast Area และ National Agricultural Library  โดยสรุปแล้ว ปีหนึ่งๆ ARS  มีโครงการวิจัยมากกว่า 750 โครงการ ภายใต้แผนการวิจัยของชาติ 17 แผนงาน นักวิทยาศาสตร์มากกว่า 2,000 คน และส่วนใหญ่เป็นระดับ Post Doctor  และบุคลากรอื่นๆ มากกว่า 6,000 คน มีสถานีวิจัยมากกว่า 90 แห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อพิจารณางบประจำปีแล้ว ARS     ได้รับงบประมาณปีละประมาณ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้ ARS ยังเป็นหุ้นส่วนงานวิจัยกับมหาวิทยาลัย ภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานอื่นๆอีกมากมาย


Credit Photo by Jack Dykinga.,USDA Agricultural Research Service.


National Program : แผนงานวิจัยชาติ
          สำหรับประเทศไทย แผนงานวิจัยของชาติถูกกำหนดโดยคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในลักษณะของนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน คือ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งมีเป้าหมายสอดคล้องและตอบสนองต่อแนวทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) นโยบายและแผนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2564) การปฏิรูประบบวิจัยของประเทศ และหลักการของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals-SDGs) และต่อเนื่องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2555-2559) และฉบับทบทวน
          วิสัยทัศน์ของนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ กำหนดไว้ว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาการวิจัยและนวัตกรรม มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในด้านเศรษฐกิจและสังคม และมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” โดยกำหนดเป็นนโยบายการวิจัยของชาติไว้ 7 ข้อ ประกอบด้วย (1) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีจากงานวิจัยที่มุ่งเป้าสนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมฐานความรู้ด้านการวิจัย และเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม  (2) ส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการวิจัยและร่วมลงทุน (3) ผลักดันให้ทุกภาคส่วนนำผลงานวิจัย องค์ความรู้นวัตกรรม และเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม/พาณิชย์ สังคม/ชุมชน วิชาการ และนโยบาย (4) พัฒนาและขับเคลื่อนการบริหารจัดการระบบวิจัยของประเทศ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและทุกระดับ (5) พัฒนาและเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาให้มีความพร้อม มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยในระบบสารสนเทศการวิจัยเพื่อให้ครอบคลุมและใช้ประโยชน์ได้ทั่วประเทศ (6) ผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศให้มีจำนวนและคุณภาพมากขึ้น และสนับสนุนให้เกิดอาชีพนักวิจัยและเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Path) ที่ชัดเจน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยของเยาวชนและบุคลากรในท้องถิ่น และ (7) สร้างเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาในรูปแบบหุ้นส่วนความร่วมมือ (Collaborative Partnership) ระหว่างเครือข่ายทุกภาคส่วน และทุกระดับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
          สำหรับประเด็นการวิจัยมุ่งเน้นตามนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 9 แบ่งประเด็นการวิจัยออกเป็น 12 ประเด็น กล่าวคือ
           ประเด็นที่ 1 ประเด็นวิจัยด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ (Bio-based) : อุตสาหกรรมการเกษตร เช่น การเพิ่มผลผลิตการเกษตรสำหรับพืชเกษตรหลัก ปศุสัตว์และอาหารสัตว์ การเกษตรพืชเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การเกษตรแบบปลอดสารพิษ การพัฒนาพื้นที่แหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศและโลก (Food Valley) พืชดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) เป็นต้น การใช้ประโยชน์และเทคโนโลยีจากฐานชีวภาพ เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ การใช้พลังงานทางเลือกจากพืช ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากวัตถุดิบอื่นที่ไม่ใช่น้ำมันดิบ การผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์บรรจุอาหาร (Food Packaging) ทางชีวภาพ เป็นต้น รวมทั้งครัวไทยสู่ตลาดโลก
          ประเด็นที่ 2 ประเด็นวิจัยด้านระบบโลจิสติกส์: ด้านสาธารณสุข ด้านเกษตร ด้านคมนาคมระบบราง การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ระหว่างภาคต่าง ๆ ของประเทศ ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่อื่น
           ประเด็นที่ 3 ประเด็นวิจัยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล : การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเชิงดิจิทัล การสร้างกรอบความคิดเชิงดิจิทัล (Digital Mindset) ให้กับสังคม การพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยด้านไอซีที การปฏิรูปกฎหมายด้านดิจิทัล การจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) รวมถึงใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้า การบริการ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น
         ประเด็นที่ 4 ประเด็นวิจัยด้านอุตสาหกรรมเป้าหมาย : การต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve)  ๕ อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ(Agriculture and Biotechnology) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม(Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์(Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Bio chemicals) อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
        ประเด็นที่ 5 ประเด็นวิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน : สังคมสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทนการบริหารจัดการน้ำ การจัดการชายฝั่งทะเล ประเทศไทยปลอดหมอกควัน (Haze Free Thailand) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
       ประเด็นที่ 6 ประเด็นวิจัยด้านสังคมผู้สูงอายุ : การบูรณาการงานระหว่างภาครัฐเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในสังคมสูงวัย การพึ่งตนเองได้ของผู้สูงอายุ(Active and Productive Aging) ระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุของประเทศ โครงสร้างประชากรไทยในยุคสังคมผู้สูงอายุตลอดจนการคาดประมาณผลกระทบระยะยาว แนวทางการเตรียมการด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และประชากร การพัฒนาและเตรียมการสำหรับผู้สูงอายุแบบองค์รวมในสังคมผู้สูงอายุ ระบบสาธารณสุขของผู้สูงอายุ  เศรษฐศาสตร์ของการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุโดยชุมชน (Community Care) การบริการผู้สูงอายุ
        ประเด็นที่ 7 ประเด็นวิจัยด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพ :การวิจัยระบบและนโยบายด้านสุขภาพ มาตรการด้านสุขภาพ การวิจัยและพัฒนาเพื่อควบคุมหรือกำจัดโรคและภัยสุขภาพ รวมถึงโรคอุบัติใหม่ ให้ได้ผลระดับชาติและภูมิภาค เช่น ประเทศไทยปลอดพยาธิใบไม้ในตับ (Fluke Free Thailand) การพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การแพทย์ทางเลือก การพัฒนาสมุนไพรไทย อาหารเสริมและสปา การรักษาแบบแม่นยำ (Precision Medicine)
         ประเด็นที่ 8 ประเด็นวิจัยด้านการท่องเที่ยว : ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว นโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยวในระดับมหภาค อุปทานและอุปสงค์ทางการตลาดการท่องเที่ยว การบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมกลไกการจัดการการท่องเที่ยว ระบบโลจิสติกส์ทางการท่องเที่ยว ฐานข้อมูลทางการท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าและบริการท่องเที่ยว ศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยการท่องเที่ยว
         ประเด็นที่ 9 ประเด็นวิจัยด้านการเป็นประชาคมอาเซียน : ด้านเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าและบริการการค้า และการลงทุน ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาศักยภาพเขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการเมืองและความมั่นคง ทักษะฝีมือแรงงาน/ผู้ประกอบการ การเคลื่อนย้ายแรงงาน การจัดการพื้นที่ชายแดน การศึกษาชุมชนข้ามชาติในพื้นที่ ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัย ด้านสังคมและวัฒนธรรม การคุ้มครองแรงงาน สวัสดิการสังคม ความเข้าใจและความตระหนักถึงการเป็นสังคมอาเซียน การอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติ การพัฒนาศักยภาพด้านภาษาอังกฤษ
          ประเด็นที่ 10 ประเด็นวิจัยด้านความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล : อุตสาหกรรมป้องกันประเทศแรงงาน สิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ความมั่นคงปลอดภัยในพื้นที่ชายแดนภาคใต้แบบบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ การลดความเหลื่อมล้ า คอร์รัปชั่น การปฏิรูปการศึกษาและสร้างสรรค์การเรียนรู้
           ประเด็นที่ 11 ประเด็นวิจัยด้านการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง : การบริหารจัดการในการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ภาคปฏิบัติในวงกว้างและให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น การพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้านความมั่นคง ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการตลาดของวิสาหกิจชุมชน
         ประเด็นที่ 12 ประเด็นวิจัยด้านยาเสพติด : การสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดให้กับเด็กและเยาวชน ทั้งในและนอกสถานศึกษา กลุ่มผู้ใช้แรงงาน และประชาชนโดยทั่วไป การนำผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาทุกระบบ การปราบปรามทำลายการค้ายาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การพัฒนาและยกระดับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดระหว่างประเทศ

          จากที่กล่าวมาข้างต้น คือ ประเด็นการวิจัยของประเทศไทยตามนโยบายและแผนงานที่กำหนด ซึ่งครอบคลุมทุกด้านของการวิจัยทั้งเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์  การเมือง การสาธารณสุข การเกษตร การศึกษา เป็นต้น  ในส่วนของ National Program ที่ ARS รับผิดชอบ แบ่งออก 4 กลุ่มด้วยกัน ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 โภชนาการ คุณภาพ และความปลอดภัยของอาหาร แบ่งออกเป็น 3 แผนงานย่อย คือ โภชนาการ (NP#107) อาหารปลอดภัย (พืช สัตว์ และผลิตภัณฑ์จากพืชและสัตว์) (NP#108) และคุณภาพและการใช้ประโยชน์จากผลิตผลทางการเกษตร  (NP#306) กลุ่มที่ 2  การผลิตสัตว์และการป้องกันรักษาโรคสัตว์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ การผลิตอาหารสัตว์ (NP#101) สุขภาพสัตว์ (NP#103) ยาสัตว์และแมลงศัตรูสัตว์ (NP#104) การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (NP#106) กลุ่มที่ 3 การผลิตและการอารักขาพืช แบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ ทรัพยากรพันธุกรรมพืชและการพัฒนาพันธุกรรม (NP#301) โรคพืช (NP#303) การอารักขาและการกักกันพืช (NP#304)  และกลุ่มสุดท้าย คือ ทรัพยากรธรรมชาติและระบบการเกษตรยั่งยืน แบ่งเป็น 6 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย การจัดการน้ำใช้และการจัดการลุ่มน้ำ (NP#211) การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและดินและการพังทลายของดิน (NP#212) การจำแนกทางชีว (Biorefining) (NP#213) ผลพลอยได้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรม (NP#214) ระบบทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ (NP#215) และการแข่งขันและความยั่งยืนของระบบการผลิตทางการเกษตร (NP#216)


Credit Photo by Scott Bauer. ,USDA Agricultural Research Service.


NP 304?
          ถ้าไม่ได้เห็นที่มาที่ไป ท่านผู้อ่านอาจจะนึกว่า 304 คือ หมายเลขเส้นทางหลวงสายกบินทร์บุรี-ปักธงชัย ทางลัดสู่อีสานตอนล่างที่ต้องผ่านไปทางอุทยานแห่งชาติทับลานและเขาใหญ่ เป็นเส้นทางที่กำลังอยู่ระหว่างการทำอุโมงค์รอด เพื่อเชื่อมป่าเข้าด้วยกัน แต่ในที่นี่ 304 คือ ชื่อแผนงานวิจัยของ ARS-USDA เป็นแผนงานวิจัยที่ว่าด้วยการอารักขาและการกักกันพืช ความสำคัญของแผนงานวิจัยดังกล่าว เกิดจากการที่สหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งผลิตพืชเส้นใยและธัญพืชที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 250 ล้านเอเคอร์ (ประมาณ 632.32 ล้านไร่) คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 115 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในขณะที่ผลิตผลทางการเกษตรของสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 6 ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯส่งออก ได้รับความเสียหายจากการทำลายของแมลง ไร และวัชพืช คิดเป็นมูลค่าราว 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นความสูญเสียที่มีนัยสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ความสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของข้าวโพดและข้าวสาลี รวมกันสูงถึง 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ การควบคุมศัตรูพืช มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากศัตรูพืชมีการเปลี่ยนแปลงไป ตามวิธีการทำการเกษตร ซึ่งอาจทำให้แมลงและพืชที่มีอยู่กลายเป็นแมลงศัตรูพืชและวัชพืชได้ รวมทั้งสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่การเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายสาเหตุ ทั้งความกังวลที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือแผนธุรกิจของโรงงานผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้ผลการการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลกและการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรระหว่างประเทศต่างๆ ก็เป็นการชักนำให้ศัตรูพืชต่างถิ่นเข้ามาตั้งรกรากภายในสหรัฐฯ ได้เช่นกัน ศัตรูพืชต่างถิ่นเหล่านี้ จะเป็นตัวการสำคัญสร้างปัญหาให้กับระบบการผลิตทางการเกษตรของสหรัฐฯ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง โดยอาจเข้าทำลายโดยตรง หรือ เป็นพาหะของโรคพืชก็ได้ ในขณะที่วัชพืชอาจเข้ามาตั้งรกรากและรุกรานพืชท้องถิ่น ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง และต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นจำนวนมากในการกำจัดให้หมดสิ้นไป
          การจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM - Integrated pest management) เป็นกลยุทธที่สำคัญของแผนงานวิจัยนี้ ซึ่ง IPM จะรวมตั้งแต่การสำรวจศัตรูพืช (แมลง วัชพืช โรคพืช) การจำแนกศัตรูพืช และวิธีการป้องกันกำจัดหลายวิธีผสมผสานกันอย่างเหมาะสมที่สุด และมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การควบคุมศัตรูพืชดังกล่าว เป็นการดำเนินงานที่นำหลายๆ วิธีมารวมกันเพื่อให้เกิดดีที่สุด โดยต้องเริ่มตั้งแต่การเฝ้าระวังตามที่กล่าวมา เพื่อติดตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรศัตรูพืช เมื่อถึงระดับที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจะได้ดำเนินการป้องกันกำจัดด้วยสารเคมีอย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดมีข้อจำกัดหลายประการ ทั้งการต้านทานของศัตรูพืช ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ตลอดจนปัญหาข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง  การใช้วิธีการ IPM จึงเป็นวิธีการจัดการศัตรูพืชอย่างเป็นระบบ อยู่บนพื้นฐานทางข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับศัตรูพืชชนิดนั้น สามารถควบคุมศัตรูพืชให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ไม่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และไม่กระทบต่อความยั่งยืนในการพัฒนาของมนุษย์
          สำหรับเป้าหมายของ NP304 คือสร้างผลงานวิจัยที่สามารถเป็นพื้นฐานความรู้ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในการควบคุมศัตรูพืช การจัดการศัตรูพืชด้วยระบบ IPM ตลอดจนวิธีการและเครื่องมือในการควบคุมศัตรูพืชที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการลดต้นทุนในการจัดการ การลดการแพร่กระจายของศัตรูพืช การลดผลกระทบต่อศัตรูพืชที่ไม่ใช่เป้าหมาย สิ่งแวดล้อม และมนุษย์ รวมทั้งการลดการแพร่กระจายและการมาตั้งรกรากของศัตรูพืชต่างถิ่น ซึ่งวิธีการควบคุมศัตรูพืชเหล่านี้ สามารถนำไปใช้ในสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การผลิตในแปลง การเก็บรักษา การขนส่ง และการบรรจุหีบห่อ เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการรักษาความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางพืชเส้นใยให้กับสหรัฐอเมริกาด้วย
          องค์ประกอบของ NP304 มีทั้งหมด 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 การจำแนกและการจัดระบบ ซึ่งเป็นงานวิจัยพื้นฐานที่เน้นงานด้านอนุกรมวิธาน การรวบรวม การจำแนก การจัดระบบเพื่อใช้ประโยชน์จากงานอนุกรมวิธาน ซึ่งจะรวบรวมงานพื้นฐานของศัตรูพืชทุกชนิด ตลอดจนสิ่งมีชีวิตที่มีแนวโน้มพัฒนาเป็นศัตรูพืชได้ เป็นการศึกษาตั้งแต่ระดับโมเลกุล จัดทำ DNA-barcode สัณฐานวิทยา ลักษณะการแพร่กระจาย การควบคุม ศัตรูธรรมชาติ จำนวนความหนาแน่นของประชากร ส่วนที่ 2 วัชพืช ในส่วนนี้ ARS ได้พัฒนางานการควบคุมวัชพืชในระบบการปลูกพืช ระบบนิเวศน์ในลักษณะต่างๆ ตั้งแต่ พื้นน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์  เนื่องจากการการกำจัดวัชพืชเป็นต้นทุนสำคัญของระบบการผลิต โดยพบว่าการใช้สารควบคุมกำจัดศัตรูพืช  ร้อยละ 75 เป็นสารควบคุมและกำจัดวัชพืช และพบว่ามีแนวโน้มที่วัชพืชจะมีความต้านทานสารกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้นทั้งความเข้มขันและชนิดของสารกำจัดวัชพืช ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงเน้นศึกษาวิจัยหาแนวทางในการควบคุมวัชพืชแบบใหม่ที่เน้นการใช้สารกำจัดวัชพืชที่หลากหลายชนิดด้วยวิธีการที่แตกต่างกันหมุนเวียนกันไป  แต่วิธีการดังกล่าวก็มีข้อจำกัดในการดำเนินการจากลักษณะของสารกำจัดวัชพืชเอง ดังนั้นการพัฒนาสารกำจัดวัชพืชที่มีรูปแบบการทำลายที่แตกต่างไปจากที่มีอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนา รวมทั้งการศึกษาวัชพืชต่างถิ่นที่ต้องทำการศึกษาอย่างละเอียดในทุกมิติด้วยเช่นกัน และการศึกษาวิธีการควบคุมวัชพืชด้วยชีววิธี ซึ่ง  ARS ได้บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัยดังกล่าว
          ส่วนที่ 3 แมลงและไรศัตรูพืช สำหรับประเด็นดังกล่าว ARS ให้ความสำคัญต่อการเข้ามาของแมลงศัตรูพืชต่างถิ่นจากการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศ และการจัดการแมลงศัตรูพืชในระบบการผลิตพืช ซึ่งอยู่ในสภาพที่ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ทำให้วงจรชีวิตของแมลงศัตรูพืชเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยสหรัฐอเมริกามีต้นทุนในการควบคุมแมลงศัตรูพืชถึงปีละกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ความท้าทายดังกล่าวทำให้การวิจัยด้านนี้จะต้องมีการผลงานวิจัยที่สามารถลดต้นทุนการควบคุมกำจัดและยังคงเป็นมิตรกับสภาพแวดล้อม ดังนั้นการควบคุมโดยชีววิธี การพัฒนาสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ ระบบการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ การนำเทคโนโลยีระดับโมเลกุลมาควบคุมแมลงศัตรูพืช การศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยา การพัฒนาระบบการเฝ้าระวังให้สามารถตรวจสอบสถานะการระบาดแมลงศัตรูพืชได้อย่างรวดเร็ว การศึกษาแมลงศัตรูพืชต่างถิ่น การศึกษาการต้านทานแมลงศัตรูพืชของพืชที่ตัดแต่งสารพันธุกรรม จึงเป็นประเด็นงานวิจัยที่ระบุไว้ในส่วนนี้
          ส่วนที่ 4 การป้องกันหลังการเก็บเกี่ยว การกักกันพืช และ ทางเลือกอื่นทดแทนเมทิลโบรไมด์ โดยในส่วนของการจัดการศัตรูพืชหลังการเก็บเกี่ยวแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การจัดการเพื่อควบคุมกำจัดศัตรูพืชเพื่อการส่งออก และการจัดการเพื่อควบคุมศัตรูพืชในโรงเก็บ ซึ่งได้ศึกษาทางเลือกอื่นทดแทนเมทิลโบรไมด์ ซึ่งเป็นสารรมกำจัดศัตรูพืชที่สร้างปัญหาให้ชั้นโอโซนของโลกในปัจจุบัน งานวิจัยทางด้านนี้ รวมตั้งแต่การลดจำนวนแมลงศัตรูพืชในช่วงการเก็บเกี่ยวและการเก็บรักษา การตรวจสอบแมลงศัตรูพืชอย่างรวดเร็ว และการพัฒนามาตรการควบคุมแมลงศัตรูพืชที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยและมีประสิทธิภาพ

Credit Photo by Scott Bauer.USDA Agricultural Research Service.



          จากที่กล่าวมา แผนงานวิจัยของ ARS- USDA NP304 เป็นแผนงานวิจัยที่ว่าด้วยการอารักขาและการกักกันพืช ในภาพรวมได้ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางชีวภาพของประเทศ ประกอบด้วยการงานวิจัยพื้นฐานที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ครอบคลุมศัตรูพืชทุกประเภท มาตรการในการควบคุมจำกัดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งานวิจัยศัตรูพืชหลังการเก็บเกี่ยว และรวมงานวิจัยด้านการกักกันพืชเข้าไปด้วย โดยหลักสำคัญคือยึดผลประโยชน์ของประเทศหลัก โดยไม่หลงลืมการวิจัยเพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากศัตรูพืชต่างถิ่น เป็นระบบการคิดที่ครอบคุลมการดำเนินงานทั้งระบบ และมีเป้าหมายการทำงานวิจัยที่ชัดเจนอย่างแท้จริง
          มองเขา และหันกลับมามองเรา เราเป็นผู้เข้มแข็งหรือไม่?                

(ขอบคุณ: สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ,www.ars.usda.gov/ ข้อมูล)

หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบฯ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ประจำเดือนมกราคม 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น