วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2561

สวนของพ่อ



            วันที่ 13 ตุลาคม 2559 เป็นวันที่ “ฉีกซอง” มีภารกิจที่ต้องเดินทางไปเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ปริมาณน้ำกักเก็บในเขื่อนทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับสูงสุดของการกักเก็บ และเริ่มทยอยปล่อยน้ำลงมาด้านล่างของเขื่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับนาข้าวเริ่มจะเก็บเกี่ยว จึงเป็นประเด็นปัญหาระหว่างความเสียหายของนาข้าวกับปริมาณน้ำที่ต้องปล่อยออกมา ใครคือผู้รับผิดชอบ ระหว่างการปฏิบัติภารกิจดังกล่าว “ฉีกซอง” เริ่มได้ข่าวที่ชัดเจนขึ้นเป็นลำดับเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ความรู้สึกแรก ณ เวลานั้น คือ ขอให้เป็นแค่ข่าว พระองค์ท่านต้องแข็งแรงและหายประชวรในเร็ววัน ช่วงของการเดินทางกลับในเวลาค่ำ ความชัดเจนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ตามระยะทางที่เข้าใกล้กรุงเทพฯ เข้ามาเรื่อยๆ แต่ก็ไม่อาจทำใจยอมรับได้ น้ำตารื้อออกมาตลอดทาง เป็นความรู้สึกแห่งความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ยิ่งทบทวนเรื่องราว พระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงริเริ่มและดำเนินการมาตลอดระยะเวลาทีทรงครองราชย์อันยาวนานกว่า ๗๐ ปี ยิ่งกระทบความรู้สึกรุนแรงขึ้นไปอีก การพัฒนาชาติบ้านเมืองยังไม่จบสิ้น แผ่นดินไทย ปวงชนชาวไทยยังไม่ได้อยู่ดีกินดีทั่วหน้าตามพระประสงค์ ถึงคราสิ้นแผ่นดินในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้วหรือ

ธ ทรงเป็นกษัตริย์เกษตร
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๔๘๙ ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” จากนั้นเป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้วยพระราชหฤทัยมุ่งมั่น เพื่อบำบัดทุกข์ให้กับปวงชนชาวไทยทั้งในถิ่นทุรกันดารและในเขตเมือง ทรงเปลี่ยนพระราชวังที่ประทับของพระองค์ให้เป็นแหล่งทดลองทำการเกษตร เมื่อประสบผลสำเร็จ จะขยายผลไปยังราษฎร์ที่ประสบปัญหาความยากลำบากในการประกอบอาชีพ ให้ราษฎร์เหล่านั้นสามารถพึงพาตนเองได้ เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ ครอบคลุมลักษณะภูมิศาสตร์ ลักษณะทางสังคม ในทุกรูปแบบของประเทศไทย ภาพแห่งความทรงจำในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมแผ่นที่ กล้องถ่ายรูป และดินสอ เป็นภาพจำสำหรับปวงชนชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีโอกาสถวายงานอย่างใกล้ชิด เนื่องจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของปวงชนชาวไทย ทรงคิดค้นหาแนวทางการพัฒนาด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั่วราชอาณาจักร อันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไม่เคยทอดทิ้งประชาชนพระองค์ทรงวางโครงการอย่างสอดคล้องกับภูมิสังคมของแต่ละแห่งหน พร้อมทั้งมีการบริการแบบเบ็ดเสร็จที่จุดเดียว คือ ประชาชนสามารถเข้ามารับบริการได้ ณ ที่แห่งเดียวอย่างครบวงจรและสามารถน้อมนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง รวมถึงงานทดลองวิจัยไม่น้อยกว่า 689 เรื่องของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 แห่งที่ทรงให้จัดตั้งขึ้นตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการศึกษาค้นคว้า วิจัย ตลอดจนแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการประกอบอาชีพของราษฎร พร้อมนำผลสำเร็จของการพัฒนาออกสู่พื้นที่ของเกษตรกรโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่อย่างพอมี พอกิน และพอเพียงควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ทรงได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นกษัตริย์เกษตรโดยแท้
นอกจากนี้ ทุกครั้งยามที่ประเทศชาติเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้น ประชาชนทั่วทั้งประเทศประสบกับภาวะข้าวยากหมากแพง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาเป็นเข็มทิศชี้นำให้ผู้คนสามารถพลิกฟื้นความเป็นอยู่ พร้อมทั้งใช้เป็นรากฐานในงานอาชีพพัฒนาการผลิตเพื่อการยังชีพไปจนถึงเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถลุกขึ้นมาสู้อย่างมีอนาคตทุกครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อพสกนิกรชาวไทยที่มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงเปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถทรงมีน้ำพระราชหฤทัยพระเมตตาตลอดจนการทรงงานอย่างหนักตรากตรำอย่างต่อเนื่องและทรงเสียสละทุ่มเทพระวรกายเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขและทรงขจัดความทุกข์ยากเดือดร้อนลำเค็ญให้กลายเป็นความอยู่ดีมีสุขแก่ปวงชนชาวไทย ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักมากที่สุดในโลก พระจริยาวัตรอันงดงามและพระอัจฉริยภาพดังกล่าว จึงตราตรึงอยู่ในหัวใจของปวงชนชาวไทยไปตราบนานเท่านาน

กำเนิดสวนของพ่อ
          หนึ่งในโครงการตามพระราชดำริที่ “ฉีกซอง” ขอนำมาเผยแพร่ให้ท่านผู้อ่านทั้งหลายได้รับทราบไปพร้อมกัน เป็นโครงการที่เกิดขึ้นภายใต้พื้นที่เล็กๆ และไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเหมือนโครงการตามพระราชดำริขนาดใหญ่อื่นๆ ที่ดำเนินการมายาวนาน โครงการดังกล่าวคือ “โครงการศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี” ที่มาของโครงการดังกล่าวเกิดจากสภาพพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี เป็นพื้นที่ลอนเนินและลาดเขามีร่องน้ำ จึงมีลำคลองขนาดเล็กจำนวนหลายสาย แต่ละสายเป็นสายสั้นๆ มีความยาวไม่มาก สภาพพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ในฤดูฝนปริมาณน้ำฝนมากจะทำให้น้ำมีความแรงสูง พอเข้าฤดูแล้ง ปริมาณน้ำในลำคลองลดลงส่งผลให้ตลิ่งสูงชัน สายน้ำและลำคลองทุกสายดังกล่าวจะไหลลงสู่แม่น้ำจันทบุรี ก่อนไหลลงสู่ทะเลต่อไป การทำการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการทำสวนผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน มังคุด และเงาะ
          ต่อมาในปี 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริว่าในอนาคตพื้นที่ดังกล่าว จะมีการขยายการทำสวนผลไม้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก และทรงวิเคราะห์ว่าจันทบุรีเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกในแต่ละปี และมีจำนวนวันที่ฝนตกรวมกันมากกว่าครึ่งปี ทำให้เกิดน้ำหลากน้ำท่วมได้บ่อยครั้ง พอเข้าฤดูแล้งจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ หากการขยายการทำสวนเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้น้ำย่อมเพิ่มขึ้นตามไป จึงทรงวางแผนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กเป็นระยะๆ ในลำคลองตามร่องน้ำในรูปของอ่างพวง เพื่อกักเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง ลดปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำจันทบุรี และป้องกันน้ำท่วม จากนั้นพระองค์จึงรับสั่งให้คณะทำงานโครงการพระราชดำริสำรวจพื้นที่และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อที่ดินสวนผลไม้ซึ่งมีลำคลองพาดผ่านในพื้นที่อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี จำนวน 109 ไร่ เพื่อเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กไว้เป็นตัวอย่าง แต่ราษฎรในพื้นที่ยังไม่เข้าใจในแนวคิดดังกล่าว จึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างอ่างเก็บน้ำ เพราะเห็นว่าจะทำให้น้ำท่วมได้ ดังนั้นพระองค์จึงชะลอการดำเนินโครงการดังกล่าวไปก่อน และย้ายไปสร้างอ่างเก็บน้ำในบริเวณอื่นที่ราษฎร์มีความต้องการแทน
          สำหรับพื้นที่ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริเมื่อปี 2524 ให้คณะทำงานจัดตั้ง ศูนย์พัฒนาไม้ผล ขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับราษฎร์ในพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น สวนผลไม้ 60 ไร่ สระเก็บน้ำ 12 ไร่ และพื้นที่ว่างเปล่า จำนวน 37 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาทดลองด้านการเกษตร โดยอยู่ภายในการควบคุมดูแลของกรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ฯ และได้รับการสนับสนุนจากกรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน ส่วนราชการในจังหวัดจันทบุรี และกรมวิชาการเกษตร โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี  หน่วยงานเหล่านี้ ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงดิน ระบบการส่งน้ำ และการปลูกไม้ผลตามหลักวิชาการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรให้กับประชาชนทั่วไป
          ในปี 2548 พลเอกนิพนธ์ ภารัญนิตย์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาตามพระราชดำริสำนักราชเลขาธิการ ได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ขอให้หน่วยงานราชการต่างๆ ร่วมกันปรับปรุงศูนย์ฯ ตามหลักบูรณาการ ซึ่งทางจังหวัดจันทบุรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ และผู้นำชุมชุมในพื้นที่เป็นคณะทำงาน ร่วมกันกำหนดแผนแม่บทการพัฒนาศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรในรูปแบบเกษตรดีที่เหมาะสม เน้นการลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมีให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีมาตรฐาน และขยายผลให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  โดยระยะเริ่มแรกการบริหารจัดการดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี แต่เนื่องจากงานในศูนย์ฯ ดังกล่าว เป็นศูนย์ที่เน้นส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตไม้ผลเป็นสำคัญ ซึ่งจากการตรวจราชการของนายสมชาย ชาญณรงค์กุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น พบว่าศูนย์ฯ ดังกล่าว จำเป็นต้องให้หน่วยงานที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการผลิตไม้ผล เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล จึงเห็นควรมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร โดย สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในช่วงปลายปี 255๗ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการศูนย์ฯ โดยดำเนินการร่วมกับกำลังพล จากกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหาราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ (ร.๒๑ พัน.๒ รอ.) และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการอื่นๆในพื้นที่ เพื่อให้ศูนย์เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตไม้ผลคุณภาพ ควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป สามารถนำไปปฏิบัติและขยายผลได้อย่างยั่งยืน

สวนของพ่อ ณ ปัจจุบัน
          ภายหลังจากการเข้ามาเป็นผู้จัดการศูนย์ฯ ของสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ ๖ ในช่วงปลายปี ๒๕๕๗ ถึงปัจจุบัน นับเวลาราว ๒ ปี ได้มีการปรับปรุงและพัฒนามาเป็นลำดับ โดยดำเนินงานตามแผนแม่บทโครงการศูนย์ไม้ผลตามพระราชดำริจังหวัดจันทบุรี พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ ซึ่งได้ปรับปรุงสวนเดิมที่มีการปลูกไม้ผลเศรษฐกิจ ได้แก่ เงาะ ทุเรียน ลองกอง มังคุด และลำไย แบบผสมผสาน โดยการบำรุงรักษาไม้ผลเหล่านี้ ให้มีสภาพต้นทีสมบูรณ์ สามารถให้ผลผลิตได้  ช่วงเวลาเก็บเกี่ยว คือ ช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม ซึ่งได้นำผลผลิตบางส่วน ร่วมกับผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ และส่วนราชการต่างๆ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพารในพระองค์ เป็นประจำ
          จากที่กล่าวมาข้างต้น ศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ เป็นศูนย์ฯที่ตั้งขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยเป็นโฉนดที่ดินขอพระองค์ ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตบ้านทุ่งโตนด ตำบลท่าหลวง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี และมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตไม้ผล จึงได้มีการสร้างศาลาเฉลิมพระเกียรติ แสดงประวัติความเป็นมาและโฉนดที่ดินส่วนพระองค์จำนวน ๑๐๙ ไร่  ศาลาการเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไม้ผลเศรษฐกิจของจังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วย เทคโนโลยีการผลิตลำไยนอกฤดู เงาะ ทุเรียน และมังคุด จุดสาธิตและจุดเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงชันโรงเพื่อช่วยผสมเกสรไม้ผล จุดสาธิตเรื่องดิน ปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น ในส่วนของพื้นที่สวนใหม่ จำนวน ๓๗ ไร่ ได้ดำเนินการปลูกไม้ผลเศรษฐกิจหลัก 2 ชนิด คือ เงาะ และ ทุเรียน โดยมีลำไย เป็นพืชแซม และกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ และหม่อนรับประทานผลสด เป็นพืชเสริมรายได้  ปัจจุบันได้เริ่มตัดกล้วยที่เป็นพืชเสริมรายได้ออก เนื่องจากทุเรียนเจริญเติบโตมากขึ้น จนกล้วยไปบดบังการเจริญเติบโตของทุเรียน นอกจากนี้ได้ปรับปรุงสวนเดิม จำนวนราว ๕.๙๙ ไร่ เพื่อทำเป็นแปลงทฤษฎีใหม่ โดยปรับพื้นที่ปลูกข้าว ไม้ผล แปลงผัก คอกเลี้ยงสัตว์ โรงปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด และที่พักอาศัย เพื่อให้เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปได้ศึกษาและเรียนรู้จากตัวอย่างจริง
          สำหรับการพัฒนาเป็นแหล่งเกษตรท่องเที่ยว สำนักท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดจันทบุรี ได้ดำเนินการจัดสร้างบ้านพักรับรอง จำนวน ๒ หลัง สามารถรองรับนักท่องเทียวได้ ๖ คน ต่อ หลัง ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๖๐ จะได้สร้างอาคารที่พักเพิ่มขึ้นอีก ๑ หลัง สามารถรองรับนักท่องเทียวได้ประมา ๒๐ คน บ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวดังกล่าว ตังอยู่บริเวณริมสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ของศูนย์ฯ โดยได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ภายใต้แนวคิด ตามรอยสวนของพ่อ ซึ่งเน้นไม้ดอกไม้ประดับที่มีสีเหลืองและสีม่วง คาดว่าหากต้นไม้เหล่านี้เจริญเติบโตเต็มที่จะมีทัศนียภาพที่งดงาม ภายใต้บรรยากาศสวนไม้ผลสำคัญของจังหวัดจันทบุรี นักท่องเที่ยวที่มาพัก ณ สวนแห่งนี้ จะสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไม้ผลสมัยใหม่ การทำการเกษตรแบบทฤษฎีใหม่ ตลอดจนองค์ความรู้ด้านการเกษตรอื่นๆ เช่น การทำปุ๋ยหมัก การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเลี้ยงสุกร การผลิตและใช้นำหมักชีวภาพ การเลี้ยงชันโรงและผึ้งโพรง รวมถึงกิจกรรมสหกรณ์และการทำบัญชี ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดเป็นความร่วมมือของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้สวนของพ่อเป็นสวนที่สมบูรณ์แบบ เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระองค์ในการก่อตั้งศูนย์แห่งนี้
          ในปี ๒๕๖๐ ทางศูนย์พัฒนาไม้ผลฯ กำหนดให้ขยายผลเทคโนโลยีการผลิตมังคุดคุณภาพไปยังแปลงเกษตรกรข้างเคียง สนับสนุนให้มีการตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตไม้ผลคุณภาพ เพื่อสร้างเครือข่ายการผลิตไม้ผลให้มีความเข้มแข็ง สร้างอำนาจในการต่อรอง รวมถึงพัฒนาการแปรรูปผลผลิต เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพให้กับเกษตรกร โดยแผนแม่บทในการพัฒนาปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ กำหนดให้มีงานวิจัยและทดลองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่พระองค์ได้ทรงดำริไว้ ดังจะเห็นได้จากศูนย์พัฒนาทั้ง ๖ ศูนย์ของพระองค์ ต่างก็มีงานวิจัยและพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในแต่ละศูนย์ฯ งานวิจัยและพัฒนาเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเสมอ
          ศูนย์ไม้ผลฯ ในปัจจุบัน จึงเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ไม้ผลที่มีชีวิตอย่างแท้จริง พระราชดำริที่ทรงพระราชทานให้ไว้ แม้ไม่เห็นผลในทันที แต่หากยังคงยึดมั่นและดำเนินการต่อเนื่องอย่างไม่ย่อท้อ ย่อมเกิดผลสำเร็จได้ในวันใดวันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบำเพ็ญตนให้เห็นเป็นแบบอย่างแก่พสกนิกรของพระองค์โดยตลอดมา ตราบจนเสด็จสวรรคต ความเพียรของพระองค์นั่นยิ่งใหญ่ยิ่งนัก

สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์
น้อมศิระกราน กราบแทบพระยุคลบาท
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพันอันหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้า  นางสาวอังคณา สุวรรณกูฎ และผู้อ่านคอลัมน์ “ฉีกซอง” ทุกท่าน

(ขอบคุณ : สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ ๖  จ.จันทบุรี กรมวิชาการเกษตร /ข้อมูล)

หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมน์ ฉีกซอง ใน จดหมายข่าวผลิใบฯ ก้าวใหม่งานวิจัยการเกษตร ประจำเดือนตุลาคม 2559



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น