“… กสิกรรมและเกษตรกรรมเป็นเรื่องสำคัญมาก
ท่านทั้งหลายจะต้องช่วยกันค้นคว้าหาความรู้และความชำนาญให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเสมอ
และพยายามส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ที่ได้ศึกษามาแก่พี่น้องกสิกรและเกษตรกร
ให้ได้ทราบถึงวิธีปฏิบัติอันถูกต้องตามหลักวิชาอีกด้วย จึงจะเกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านนี้
และเป็นผลดีแก่ประเทศชาติสืบไป...”
พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ตัดตอนจากพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตร
ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่
๑๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕
ช่วงเวลาแห่งความสูญเสียอันใหญ่หลวงของแผ่นดินไทย
ได้นำพาความเศร้าโศกและวิปโยคไปทั่วทุกหย่อมหญ้า พระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงดำเนินมาตลอดพระชนม์ชีพ
ปรากฏผ่านสื่อมากมายเหลือคณานับ บางสิ่งบางอย่างเป็นเรื่องราวที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้มาก่อน
ความรักของพระองค์ทีมีต่อพสกนิกร แผ่ไพศาลไปทั่ว
ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ที่แห่งหนใดบนผืนแผ่นดินไทย
พระราชประสงค์อันแน่วแน่ที่จะให้ประชาชนของพระองค์อยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วหน้า
ยังไม่บรรลุผลสำเร็จ การแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิอดุลยเดช
อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ คือ การปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด
ไม่ว่าจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าทีได
เรื่องข้าวกับคนไทยเป็นเรื่องราวที่ผูกพันกันมายาวนาน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกล ทรงเล็งเห็นว่า
คนไทยต้องปลูกข้าว เพราะคนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก
การทำการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่จึงมาข้าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหลัก
อย่างน้อยการมีข้าวเพื่อการบริโภคก็เป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรด้วยเหตุที่ข้าวเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ผูกพันกับคนไทยมายาวนาน และเกี่ยวข้องกับชาวนาที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ยากจนที่สุด
เมื่อเทียบกับชาวไร่และชาวสวน กลไกทางการตลาดของข้าว จึงถูกบิดเบือนมาโดยตลอดเช่นกัน
ด้วยกลวิธีแตกต่างกันไป ขึ้นกับว่าระดับนโยบายจะกำหนดอย่างไร
ผลกระทบจากกลไกการตลาดที่บิดเบือน ทำให้ชาวนาไทยเรียนรู้ที่จะอยู่กับกลไกเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ส่งผลต่อการขยายพื้นที่การปลูกข้าวในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน รวมถึงการเพิ่มจำนวนรอบของการปลูกข้าวให้มากขึ้น
วิถีแห่งชาวนาไทยในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำใกล้เคียงจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
ตลอดจนอายุของชาวนาที่เพิ่มขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร ส่งผลให้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเข้ามาบทบาทต่อการทำนามากขึ้นด้วยเช่นกัน
ด้านผลผลิตข้าวจากเดิม
๓๖.๐๐ ล้านตันข้าวเปลือกในปี ๒๕๕๓/๕๔ ลดลงเป็น ๓๑.๔๒ ล้านตันข้าวเปลือกในปี ๒๕๕๗/๕๘ ในขณะที่ปี ๒๕๕๘/๕๙ ผลผลิตลดลงไปอีกเพราะประสบปัญหาภัยแล้ง
เหลือเป็น ๒๗.๙๒ ล้านตันข้าวเปลือก และคาดการณ์ว่าปี ๒๕๕๙/๖๐ ผลผลิตในรอบที่ ๑
จะมีประมาณ ๒๕.๑๕๖ ล้านตันข้าวเปลือก ในขณะที่พื้นที่การปลูกของข้าวนาปี ๒๕๕๓/๕๔
อยู่ที่ ๖๔.๕๗ ล้านไร่ และปี ๒๕๕๗/๕๘ อยู่ที่ ๖๐.๕๔ ล้านไร่
ก่อนลดลงมาตามสภาพปัญหาความแห้งแล้งในปี ๒๕๕๘/๕๙ เป็น ๕๕.๘๒ ล้านไร่ และในปี
๒๕๕๙/๖๐ เพิ่มเป็น ๕๗.๒๙ ล้านไร่
ในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มของข้าวหอมมะลิสูงสุด ร้อยละ ๒๒.๑๘ จาก ๒๒.๙๑
ล้านไร่ ในปี ๒๕๕๘/๕๙ เป็น ๒๗.๙๙ ล้านไร่
ในปี ๒๕๕๙/๖๐ ในขณะที่สัดส่วนของการปลูกข้าวเหนียวลดลงมากที่สุด ถึงร้อยละ ๑๕.๓๙
โดยลดลงจาก ๑๗.๙๙ ล้านไร่ ในปี ๒๕๕๘/๕๙
เป็น ๑๕.๒๒ ล้านไร่ ในปี ๒๕๕๙/๖๐ โดยที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปรังอยู่ระหว่าง
๑๖ – ๑๘ ล้านไร่ (ขึ้นกับสถานการณ์น้ำและราคารับซื้อ)
ในทำนองเดียวกัน สถานการณ์ความต้องการข้าวของโลก มีแนวโน้มลดลง
ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา
และผู้นำเข้าบางประเทศได้มีนโยบายเพิ่มการผลิตภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ
จึงกดดันให้ราคาข้าวภายในประเทศลดต่ำลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ที่เกษตรกรจะได้รับ
แนวทางหนึ่งที่รัฐบาล โดยคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ให้ความเห็นชอบ คือ การลดรอบของการทำนาลง
และสนับสนุนการทำนาในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยในปี ๒๕๕๙/๖๐
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีเป้าหมายจะลดพื้นที่การทำนารอบที่ ๒ ในที่ที่ไม่เหมาะสมลง
๓ ล้านไร่ ซึ่งหนึ่งในมาตรการเพื่อผลักดันให้รอบของการทำนาลดลง
คือ การสนับสนุนให้มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนาปี
ความน่าสนใจของการดำเนินมาตรการดังกล่าวเป็นอย่างไร
ท้าทายกับความสามารถของนักวิชาการหรือไม่ โปรดติดตามได้จาก “ฉีกซอง” ฉบับนี้
ข้าวโพด-ขาดแคลน?
ปริมาณความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยในปี
๒๕๕๓/๕๔ อยู่ที่ ๔.๒๘ ล้านตัน ก่อนที่จะเพิ่มเป็น ๕.๐๔ ล้านตันในปี ๒๕๕๘/๕๙ และในปี ๒๕๕๙/๖๐ คาดว่าปริมาณความต้องการจะเพิ่มเป็นราว
๗ ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ประเทศไทยผลิตได้อยู่ที่ปีละประมาณ
๔ – ๕ ล้านตัน ดังนั้นจึงมีอุปสงค์ส่วนขาดประมาณ ๒ ล้านตัน
ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเป็นไปตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ในขณะที่ปัจจุบันราคาข้าวโพดมีแนวโน้มลดต่ำลงในทุกตลาด ทั้งนี้ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยแบ่งเป็นสองช่วง
คือ ช่วงต้นฝน และช่วงปลายฝน พื้นที่เพาะปลูกรวมประมาณ ๗ ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ ๖๕๐ กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ ๘๐
ใช้เมล็ดพันธ์ลูกผสม ส่วนอีกร้อยละ ๒๐ ใช้พันธุ์ผสมเปิด
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและการตลาด สรุปว่า
พื้นที่ที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปัจจุบันอยู่ในเขตที่เหมาะสมน้อยและเขตที่ไม่เหมาะสมราวร้อยละ
๒๑ ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ และร้อยละ ๙๐
ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำฝน
ดังนั้นหากเกิดภาวะภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงย่อมกระทบกับผลผลิตได้เช่นกัน
รวมถึงผลผลิตร้อยละ ๙๐ นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
ราคาผลผลิตจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นหลักและในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคมเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวโพดต้นฝน
หากมีการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านย่อมส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพดในประเทศอย่างแน่นอน รวมถึงการนำเข้าข้าวสาลีราคาถูกมาใช้ทดแทนข้าวโพดในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์
ก็อาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศด้วยเช่นกัน
เพราะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศถูกใช้ในอุตสาหกรรมดังกล่าวเกือบทั้งหมด
ประเด็นที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมปศุสัตว์
โดยเฉพาะไก่เนื้อ ซึ่งใช้อาหารสัตว์ที่มีข้าวโพดเป็นองค์ประกอบ อาจประสบปัญหา IUU เช่นเดียวกับสินค้าประมง ( IUU Fishing- Illegal Unreported and Unregulated Fishing เป็นการประมงที่ผิดกฎหมาย
ขาดการรายงาน และไรการควบคุม
หรือ เป็นการทำประมงที่ผู้ทำการประมงมีพฤติกรรมไม่เคารพกฎระเบียบการประมง ขาดความรับผิดชอบและเอาเปรียบชาวประมงที่ทําการประมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
เช่น การทำประมงในฤดูกาลและบริเวณห้ามจับสัตว์น้ำ การใช้เครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย
การจับสัตว์น้ำเกินกำหนดจากที่ได้รับอนุญาต
การทำประมงโดยไม่มีใบอนุญาต
รวมทั้งการที่เรือประมงทำการประมงโดยอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของรัฐ
เป็นต้น)
เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บางส่วนปลูกในพื้นที่สูง
ลาดชัน เป็นเทือกเขาสูง และเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ดังนั้น
เพื่อไม่ให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุกคืบเข้าไปในพื้นที่สูง
การส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดหลังนา เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถทำได้
หากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดจริง
การวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่นาเขตชลประทานของกรมพัฒนาที่ดินจำนวน
๓๕ จังหวัด พบว่าพื้นที่ที่เหมาะสมมาก หรือ S1 และพื้นที่มีเหมาะปานกลาง
หรือ S2 รวมกัน ๘ ล้านไร่
และกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำร่องขยายผลการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาทดแทนการปลูกข้าวในรอบที่
๒ ในปีการผลิต ๒๕๕๘/๕๙ พื้นที่ ๙ จังหวัด ประกอบด้วย แพร่ พะเยา เพชรบูรณ์
นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก พิจิตร และชัยนาท พบว่า
ผลผลิตเฉลี่ยที่เกษตรกรผลิตได้อยู่ประมาณ ๙๐๐ – ๑,๐๐๐ กิโลกรัม/ไร่ กำไรสุทธิประมาณ ๒,๐๐๐ – ๔,๐๐๐ บาท/ไร่
ปัจจัยเสี่ยงที่พบ คือ เกษตรกรไม่กล้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการปลูกข้าว
มาปลูกข้าวโพด ข้อจำกัดของดินนาที่มักจะเป็นดินเหนียว การระบายน้ำไม่ดี
ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพด รวมไปถึงวิธีการเตรียมแปลง
และการให้น้ำที่แตกต่างไปจากการปลูกข้าว จึงเป็นความท้าทายของนักส่งเสริมการเกษตรที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรได้หรือไม่
ข้าวโพดลูกผสม?
ข้าวโพดที่ปลูกในปัจจุบันมีหลายพันธุ์ด้วยกัน
ขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการปลูก หากปลูกเพื่อใช้ต้นสดไปหมักหรือนำต้นไปเป็นอาหารสัตว์โดยตรง
ต้องเป็นพันธุ์ที่มีลำต้นสูง มีการแตกกอมาก เพื่อจะได้จำนวนต้นและใบมาก
ในขณะที่ข้าวโพดที่ปลูกเพื่อเอาเมล็ด จะต้องเป็นข้าวโพดที่ให้น้ำหนักเมล็ดสูง หรือ
ข้าวโพดที่นำไปทำข้าวโพดฝักอ่อน หรือข้าวโพดหวานที่รับประทานฝักสด
จะต้องเป็นพันธุ์ที่มีจำนวนฝักต่อต้นสูง
ข้าวโพดจึงเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่มีพันธุ์ที่หลายหลาก
แต่หากจะจำแนกตามลักษณะการผสมพันธุ์ อาจจำแนกได้ ๒ ประเภทหลักๆ คือ พันธุ์ลูกผสม (hybrids) และพันธุ์ผสมปล่อย หรือ พันธุ์ผสมเปิด (open-pollinated variety)
สำหรับข้าวโพดลูกผสม
(hybrids)
นิยมปลูกในประเทศที่มีการพัฒนาการเกษตรระดับสูง
เนื่องจากข้าวโพดพันธุ์ลูกผสมมักมีการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้แคบ
หรือเปลี่ยนแปรไปตามสิ่งแวดล้อม เช่น หากไม่ได้ใส่ปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการ ไม่มีการกำจัดวัชพืช การให้น้ำไม่พอ ข้าวโพดกลุ่มนี้จะให้ผลิตผลได้ไม่ดี
นอกจากนั้น การใช้ข้าวโพดลูกผสมจะต้องซื้อเมล็ดใหม่มาปลูกทุกปี ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ได้
เพราะจะเกิดการกลายพันธุ์ ทั้งนี้ ข้าวโพดลูกผสมอาจเป็นลูกผสมเดี่ยว (single
cross) ลูกผสมคู่ (double cross) หรือลูกผสมสามทาง
(three-way cross) ก็ได้ ขึ้นกับจำนวนสายพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ถ้าเป็นลูกผสมเดี่ยวจะมีสายพันธุ์ ๒ สายพันธุ์ (สายพันธุ์ ก x สายพันธุ์ ข) ลูกผสมคู่มี ๔ สายพันธุ์ (สายพันธุ์ ก x สายพันธุ์ ข) x (สายพันธุ์ ค x สายพันธุ์ ง) และลูกผสมสามทางมี ๓ สายพันธุ์ (สายพันธุ์ ก x สายพันธุ์ ข) x สายพันธุ์ ค ลูกผสมเดี่ยวโดยทั่วไป
จะให้ผลิตผลสูงที่สุด แต่มีข้อเสียตรงที่ค่าใช้จ่ายในการผลิตเมล็ดพันธุ์สูง
ประเภทที่
๒ คือ พันธุ์ผสมปล่อยหรือพันธุ์ผสมเปิด (open-pollinated variety) พันธุ์ข้าวโพดชนิดนี้ หากได้รับการปรับปรุงพันธุ์อย่างดี อาจให้ผลิตผลได้ใกล้เคียงกับพันธุ์ลูกผสม
ข้อดี คือ พันธุ์เหล่านี้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้อย่างกว้างขวาง
แม้ดินฟ้าอากาศจะเปลี่ยนแปรไป ก็ยังให้ผลผลิตได้ นอกจากนั้น เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์ได้
อย่างน้อย ๒-๓ ปี หรือถ้ารู้จักคัดเลือกพันธุ์เอง อาจไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่อีกก็ได้
พันธุ์ข้าวโพดกลุ่มนี้แยกออกได้เป็น ๒ ชนิด คือ (๑) พันผสมรวม (composite) เป็นการรวมพันธุ์ หรือสายพันธุ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน วิธีรวมง่ายๆ ด้วยการนำเมล็ดจำนวนเท่าๆ
กัน จากแต่ละพันธุ์ หรือสายพันธุ์มารวมกันเข้า
แล้วนำไปปลูกในแปลงอิสระห่างไกลจากข้าวโพดพันธุ์อื่นๆ
ปล่อยให้ผสมกันเองตามธรรมชาติแล้วเก็บเกี่ยวเมล็ดไว้ปลูกเป็นพันธุ์ต่อไป ชนิดที่ (๒) พันธุ์สังเคราะห์ (synthetics)
เป็นพันธุ์ที่ได้จากการรวมสายพันธุ์ที่ได้รับการทดสอบการรวมตัว (combining
ability) มาแล้ว
วิธีการรวมสายพันธุ์อาจทำได้เช่นเดียวกับพันธุ์ผสมรวม
การพัฒนาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ลูกผสม
ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ของเอกชน โดยพันธุ์ที่เป็นของหน่วยงานราชการที่สำคัญ คือ
พันธุ์นครสวรรค์ ๓ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรพัฒนาและปรับปรุงขึ้น โดยศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน ผ่านการรับรองพันธุ์ในปี ๒๕๕๑ เดิมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ดังกล่าว
มีชื่อรหัส
NSX492029 เป็นข้าวโพดลูกผสมเดี่ยว เกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวโพดลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า๑
(พันธุ์แม่) และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สายพันธุ์แท้ตากฟ้า ๓ (พันธุ์พ่อ) มีลักษณะเด่น
คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ย ๑,๑๐๖ กิโลกรัม ต่อไร่ มีความทนทานแล้งในระยะออกดอก มีความต้านทานโรคราน้ำค้างและโรคราสนิม
และ เก็บเกี่ยวด้วยมือง่าย
ระยะออกดอกตัวผู้ ๕๔ วัน ระยะออกไหม ๕๕ วัน อายุเก็บเกี่ยวประมาณ ๑๑๐-๑๑๕
วัน ความสูงของฝัก ๑๑๐ เซนติเมตร ความสูงของต้น ๑๙๖ เซนติเมตร พื้นที่ที่เหมาะสำหรับปลูกข้าวโพดพันธุ์นี้ควรเป็นพื้นที่ดอน
ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำดี สภาพดินไม่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป
โดยสามารถปลูกได้ทั้งต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
และปลายฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะปลูกเวลาใดควรคำนึงถึงช่วงที่ข้าวโพดออกดอก
(ประมาณ ๕๐ วันหลังปลูก)
ต้องมีน้ำเพียงพอและช่วงเก็บเกี่ยวไม่ควรตรงกับช่วงฝนตกชุก ทั้งนี้ก่อนปลูกเกษตรกรควรมีการเตรียมดินโดยทำการไถ
๒ ครั้ง ระยะห่างกันประมาณ ๑ สัปดาห์ ครั้งแรกไถดะ (ผาล๓) และครั้งที่ ๒
เป็นการไถพรวน (ผาล ๗) สำหรับการปลูก ระยะห่างระหว่างแถวประมาณ ๗๕เซนติเมตร
ระหว่างหลุม ๒๐ – ๒๕ เซนติเมตร หลุมละ ๑ ต้น ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ ๓ กิโลกรัม/ไร่
ส่วนการใส่ปุ๋ยควรใส่ตามค่าวิเคราะห์ดินประมาณ ๑-๒ ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของดินแต่ละพื้นที่
เกษตรกรอาจใส่ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนลงได้ ทั้งนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์๓
เป็นพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม
ไม่แนะนำให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ทำพันธุ์ปลูกในรุ่นต่อไป
ข้าวโพดหลังนา ?
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของชาวนาให้มาเป็นชาวไร่ มิใช่เรื่องง่าย
แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ประเด็นของข้าวโพดหลังนาที่ควรระมัดระวัง
คือ คุณสมบัติของดิน ซึ่งต้องไม่ใช่ดินเหนียวจัด
มีปริมาณเพียงพอโดยเฉพาะในช่วงออกดอก การจัดการน้ำที่เหมาะสม
อีกทั้งช่วงการออกดอกที่ต้องไม่กระทบหนาวจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลให้ออกดอกช้ากว่าปกติ
และต้องไม่ร้อนจนเกินไปจนกระทั่งข้าวโพดไม่สามารถผสมเกสรได้ รวมไปถึงช่วงการเก็บเกี่ยวที่ต้องไม่กระทบฝน
ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพของเมล็ดหากมีความชื้นสูง การปฏิบัติดูแลระหว่างการปลูกข้าวและการปลูกข้าวโพดก็แตกต่างกัน
ความคุ้นเคยที่มีมายาวนานกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ๆ
จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายไม่น้อย การสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนพฤติกรรม
เป็นอีกแนวทางหนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่เขตชลประทานที่มีศักยภาพใน
๓๕ จังหวัด พื้นที่เป้าหมายรวม ๒ ล้านไร่
เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้มีโอกาสในการเรียนรู้
และมีประสบการณ์ในการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนการทำนาข้าวรอบ ๒
ควบคู่กับการตลาดร่วมกับภาคเอกชนในการสร้างความมั่นใจในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกร
โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๙ – มิถุนายน ๒๕๖๐
พื้นที่เป้าหมาย ๓๕ จังหวัด เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และเหมาะสมกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาในเขตชลประทาน
หรือแหล่งธรรมชาติ
หรือแหล่งน้ำอื่นๆ ที่มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (500 – 700
ลูกบาศก์เมตรต่อไร่) แบ่งเป็น ภาคเหนือ ๑๓ จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร
เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ สุโขทัย
อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๗ จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น
ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุดรธานี และอุบลราชธานี ภาคกลาง ๘ จังหวัด ได้แก่
ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ภาคตะวันออก
๓ จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี และภาคตะวันตก ๔ จังหวัด
ได้แก่ นครปฐม เพชรบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี
คุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ
ต้องมีสัญชาติไทย และบรรลุนิติภาวะแล้ว เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นหัวหน้าครัวเรือนในทะเบียนเกษตรกร
(ทบก.01) ของกรมส่งเสริมการเกษตร
ก่อน วันที่ 1 พฤษภาคม 2559และต้องเคยปลูกข้าวนาปรังอย่างน้อย 1 ปี ในรอบ 4
ปีที่ผ่านมา(ปี 2555/56 - 2558/59) พื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย
รวมทั้งเกษตรกรต้องมีบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
(ธ.ก.ส. ) หากไม่มีต้องขอเปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส.
เพื่อประโยชน์ในการรับเงินตามโครงการหลังจากได้รับสิทธิ์ และการตรวจสอบเสร็จสิ้นสมบูรณ์ว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์การปลูกข้าวโพดในโครงการฯ
ต้องใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ลูกผสมของภาคเอกชนหรือของทางราชการที่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตร
และเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ฯ โดยภาคเอกชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวต้องตกลงให้ความร่วมมือสนับสนุนการอบรมถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรในการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ถูกต้องเหมาะสมกับพันธุ์ของตนเองร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรตลอดจนติดตามให้คำแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาการปลูก
เพื่อให้การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อพื้นที่ของเกษตรกรได้กำไรสูงสุดใกล้เคียงกับศักยภาพของพันธุ์
และเกษตรกรต้องไม่เผาตอซัง หรือฟางข้าว ก่อนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
กรมส่งเสริมการเกษตรจะรับสมัครเกษตรกรผู้มีความประสงค์จะเข้าร่วมโครงการตามเงื่อนไข
แล้วส่งรายชื่อเกษตรกรผู้สมัครเข้าร่วมโครงการให้ ธ.ก.ส. พิจารณาคุณสมบัติการให้สินเชื่อตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดของธนาคารฯ จากนั้นธนาคารฯจะประกาศรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาให้เกษตรกรทราบ
เพื่อดำเนินการขอสินเชื่อตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารฯ
เพื่อนำไปจัดซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมตามเงื่อนไขโครงการ
ปุ๋ยเคมี การปรับปรุงพื้นที่
ตลอดจนการวางระบบน้ำหรือขุดบ่อสำรองน้ำในพื้นที่เพาะปลูกและกิจกรรมอื่นๆ ในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามความต้องการของเกษตรกร
และธนาคารฯ จะแจ้งรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านหลักเกณฑ์และเข้าสมัครร่วมโครงการโดยสมบูรณ์แล้ว
ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อกำหนดแผนการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานแผนการดำเนินการร่วมกัน
เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยธนาคารฯ จะพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรไร่ละ
4,000 บาท ผ่านบัญชีธนาคารฯของเกษตรกรลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งจ่ายเป็น 3
งวด กล่าวคือ งวดที่ 1 จำนวน 1,800
บาทต่อไร่ สำหรับเป็นค่าเตรียมดิน ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยเคมีรองพื้น
และค่าสารเคมีคุมวัชพืช งวดที่ 2 จำนวน 1,200
บาทต่อไร่ สำหรับเป็นค่าปุ๋ยเคมีครั้งที่ 2 (ปุ๋ยแต่งหน้า) และค่าดูแลรักษา และงวดที่
3 จำนวน 1,000 บาทต่อไร่ สำหรับเป็นค่าเก็บเกี่ยว ทั้งนี้
การพิจารณาให้สินเชื่อในแต่ละงวดจะพิจารณาว่าเกษตรกรนำสินเชื่อที่ได้ไปใช้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามคำแนะนำทางวิชาการหรือไม่
หากเกษตรกรไม่นำสินเชื่อไปใช้ตามวัตถุประสงค์ อาจจะไม่ได้รับสินเชื่อในงวดต่อไป
ซึ่งจะมีการติดตามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินผลการปฏิบัติของเกษตรกรอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ
กำหนดระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559
และสิ้นสุดการจ่ายเงินกู้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR (ปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 7 ต่อปี) โดยเรียกเก็บจากเกษตรกรในอัตราร้อยละ 4
ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ตลอดระยะเวลาโครงการ
กำหนดชำระคืนหนี้เงินกู้แล้วเสร็จไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันจัดทำหนังสือกู้เงิน
และให้ ธ.ก.ส. แยกบัญชีออกจากการดำเนินงานปกติเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ (Public
Service Account: PSA) เพื่อขอรับการชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตจากรัฐบาล
วงเงินกู้ สำหรับโครงการนี้กำหนดไว้ที่ ๘,๐๐๐ ล้านบาท
สำหรับการรับซื้อผลผลิตและการจ่ายเงินให้เกษตรกร
ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯจะรับซื้อผลผลิตโดยผ่านสหกรณ์การเกษตรเพื่อตลาดลูกค้า
ธ.ก.ส. (สกต.) หรือสหกรณ์การเกษตร หรือเครือข่ายของภาคเอกชนที่มีอยู่ในท้องถิ่น
ซึ่งเป็นผู้รวบรวมผลผลิตและดูแลระบบการรับซื้อให้เป็นไปตามเงื่อนไข
โดยรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ชนิดเมล็ดกิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า 8 บาท ในมาตรฐานคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์
ข้าวโพดเบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5 เปอร์เซ็นต์ ณ หน้าโรงงานอาหารสัตว์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการลดทอนตามชั้นคุณภาพ
และระยะทางอย่างเป็นธรรมแก่เกษตรกร ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ กำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไว้ดังนี้
ความชื้นไม่เกิน 14.5 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดเสียไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์ เมล็ดไม่สมบูรณ์ไม่เกิน
8 เปอร์เซ็นต์ สิ่งเจือปนไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ และอะฟลาทอกซินไม่เกิน 20 ppb.
สำหรับภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
จะประกาศจุดรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการให้เกษตรกรทราบล่วงหน้า
ส่วนการบริหารจัดการหนี้สิ้นให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติของธนาคารฯ
โดยหลังจากเกษตรกรจำหน่ายผลผลิต ณ จุดรับซื้อที่บริหารโดยภาคเอกชนที่ร่วมโครงการแล้ว
ธนาคารจะหักหนี้สิ้นพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดจากโครงการ
และจ่ายเงินส่วนที่เหลือเข้าบัญชีของเกษตรโดยตรง และ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
จะร่วมกันประเมินผลโครงการ สรุปบทเรียนร่วมกับเกษตรกร เพื่อให้ทราบปัญหาอุปสรรค
นำไปใช้ในพัฒนาการดำเนินงานในทุกมิติ
ผลสำเร็จของโครงการฯ
จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีการอบรมและถ่ายทอดความรู้
เนื่องจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชใหม่ของเกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าวมาโดยตลอด
จึงได้กำหนดวิธีการอบรมและถ่ายทอดความรู้ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดทำเอกสารทางวิชาการการ
ตลอดจนสื่อถ่ายทอดความรู้การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาให้แก่นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรในระดับจังหวัด
อำเภอ ตำบล เพื่อนำไปอบรมเกษตรกร และอบรมเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร
เพื่อเตรียมความพร้อมในการถ่ายทอดความรู้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกร โดย
กรมวิชาการเกษตร และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
โดยบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรในพื้นที่มีความต้องการ
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังมีการอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องวิทยาการการบริหารจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว
เพื่อให้ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีคุณภาพตามความต้องการของภาคเอกชน
โดยบริษัทผู้รับซื้อผลผลิตให้แก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตรเพื่อตลาดลูกค้าธ.ก.ส.
(สกต.) ตัวแทนผู้รับซื้อผลผลิตของโครงการตามความจำเป็น ตลอดจนต้องเร่งรัดให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นช่วงที่เหมาะสมต่อการปลูกข้าวโพดเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพตามศักยภาพพันธุ์
และต้นทุนการผลิตต่ำ รวมทั้งร่วมกันจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนา
เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรนอกโครงการได้เรียนรู้วิธีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังการทำนาที่ถูกต้อง
ตลอดจนผลตอบแทนเปรียบเทียบระหว่างระบบการปลูกพืชแบบ ข้าว - ข้าว กับ ข้าว- ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
เพื่อขยายผลการพัฒนาระบบการปลูกข้าวตามด้วยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างยั่งยืน
ความคาดหวังในการนำความรู้ที่ผ่านการศึกษาวิจัยมาอย่างดีแล้ว
ถ่ายทอดสู่เกษตรกรผู้เป็นเป้าหมายของการพัฒนาจะสำเร็จ เป็นจริงหรือไม่
เป็นอีกความท้าทายหนึ่งของนักวิชาการเกษตร และเป็นความท้าทายของนักส่งเสริมการเกษตรด้วยเช่นกัน
คงต้องมาติดตามกันว่าระบบการปลูกพืชของเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย
จะปรับเปลี่ยนมาเป็น ข้าว-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้มากน้อยเพียงใด
เป็นกำลังใจให้ผู้กล้าท้าทายทุกท่าน
(ขอบคุณ
:
สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร / ข้อมูล)
หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมน์ ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบฯ ก้าวใหม่งานวิจัยการเกษตร กรมวิชากาการเกษตร ประจำเดือนพฤศจิกายน 2559
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น