วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2561

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ-ขวัญเกษตรแห่งแผ่นดิน (1)






...เวลานึกถึงทำไมมีข้าวมาก ราคาข้าวก็ตก ก็น่าจะเป็นการดีที่มีข้าวมาก พวกเราที่บริโภคข้าวก็จะได้ซื้อข้าวในราคาถูก แต่หารู้ไม่ว่าข้าวที่บริโภคทุกวันนี้ ราคาก็ยังแพงเป็นที่เดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป ก็ต้องหาเหตุผล ทำไมแพง ข้าวที่บริโภคแพง และข้าวที่ชาวนาขายถูกเข้าไปหากลุ่มชาวนา ถามเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกว่าแย่ ข้าวราคาถูก ก็ถามเขาว่า ยุ้งฉางมีหรือเปล่าที่จะเก็บข้าว เขาบอกว่ามี ก็เลยเห็นว่าควรที่จะเก็บข้าวเอาไว้ก่อน หลังจากที่ข้าวล้นตลาด แต่ว่าไม่ทันนึกดูว่า ทำไมเขาเก็บข้าวไม่ได้ แม้จะมียุ้งฉาง ก็เพราะเขาติดหนี้ เหตุที่ติดหนี้ก็คือ เสื้อผ้าเหล่านั้นหรือกะปิ น้ำปลา หรือแม้กระทั่งข้าวสารก็ต้องบริโภค ถ้าไม่ได้ไปซื้อที่ตลาด หรือร่วมกันซื้อ ก็คงเป็นพ่อค้า หรือผู้ที่ซื้อข้าวเป็นผู้นำมา อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้ข้าวถูก ข้าวเปลือกถูก แล้วก็ทำให้ข้าวสารแพง คือว่าชาวนาทำนาไปตลอดปี ก็ต้องบริโภค เมื่อต้องบริโภคก็ต้องเอาสิ่งของ ต้องไปติดหนี้เขามาสำหรับหาสิ่งของบริโภค แล้วก็เอาเครื่องบริโภคก็ได้รับบริการอย่างดีที่สุดจากผู้ที่มาซื้อข้าว บอกว่าไม่ต้องเอาข้าวมาเดี๋ยวนี้ เวลาได้ผลแล้วก็จะเอา แต่ว่าเอาสิ่งของมาให้แล้วก็เชื่อ ของนั้นก็มีราคาแพง เพราะว่านำมาถึงที่ ข้าวที่เวลาได้แล้วจะขายก็ต้องขายในราคาถูก เพราะว่าเขามักรับถึงที่ อันนี้เป็นปัญหาสำคัญถ้าจะแก้ปัญหานี้ ก็จะต้องแก้จุดนี้ ต้องแก้ด้วยการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มผู้บริโภคเหมือนกัน แล้วก็ไปติดต่อกับกลุ่มผู้ผลิต โดยที่ไปตกลงกันและอาจจะต้องตั้ง หรือไปตกลงกับโรงสีให้แน่ จะได้ไม่ต้องผ่านหลายมือ ถ้าทุกคนที่บริโภคข้าวตั้งตัวเป็นกลุ่ม แล้วก็ไปซื้อข้าวเปลือก แล้วไปพยายามสีเองหรือให้ผู้แทนของตัวสี ก็ผ่านมือเพียงผู้ที่ผลิต ผู้ที่สี และผู้ที่บริโภค ก็ตัดปัญหาอันนี้ (คนกลาง) ลงไป...
                                      พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงดนตรี ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันเสาร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2514

          ปัญหาเรื่องข้าวและชาวนาไทย เป็นปัญหาที่มีมาเนิ่นนาน เหมือนเป็นวัฎจักรหมุนวนไป มีชาวนาน้อยรายมากที่ทำนาแล้วสามารถซื้อที่นาเพิ่มขึ้นมาเป็นของตัวเอง จากผลกำไรของการทำนา ในทางกลับกัน มีชาวนาจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียที่นาของตนเองไปให้กับเถ้าแก่โรงสี กลายสภาพจากเจ้าของที่นาเป็นเพียงผู้เช่าที่นา และบางรายถึงกลับออกจากอาชีพการทำนา ไปสู่อาชีพอื่นแทน ผู้ที่ยังทำนาอยู่ก็มักจะสอนลูกสอนหลานให้ประกอบอาชีพอื่น อย่าได้ทำนา เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่ยากลำบาก รายได้ต่ำ ไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม อาชีพการทำนาก็ยังเป็นอาชีพของเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทย เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์และสภาพภูมิอากาศมีความเหมาะสม ชาวนาสะสมและถ่ายทอดประสบการณ์มาจากรุ่นสู่รุ่น การเปลี่ยนแปลงวิถีของชาวนา จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายยอมรับว่ายากมาก
          ด้วยวิถีสังคมเกษตรกรรมของไทย การสร้างขวัญกำลังใจให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชาวนา” เป็นสิ่งที่สถาบันมหากษัตริย์ให้ความสำคัญมาแต่โบราณกาล จึงได้กำหนดให้พิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นหนึ่งในพระราชพิธีที่สำคัญของประเทศไทย เป็นมาอย่างไร ปัจจุบันเป็นอย่างไร โปรดติดตามใน “ฉีกซอง” ฉบับนี้

พืชมงคล-จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
          พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีกรรม 2  พิธีที่ทำร่วมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล และพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยพระราชพิธีพืชมงคล เป็นพิธีสงฆ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงกำหนดเป็นครั้งแรก เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพันธุ์ต่างๆ เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่ว งา เผือก มัน เป็นต้น เพื่อเป็นสิริมงคลให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ ปราศจากโรคต่างๆ เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี ส่วนพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ มีมาแต่โบราญ เป็นพิธีเริ่มต้นการไถเพื่อหว่านเมล็ดข้าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งสัญญาณว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปฤดูการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว ทั้งสองพิธีนี้ได้ทำอย่างเต็มรูปแบบมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี พ.ศ. 2479 จึงได้เว้นการจัดไป เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองไม่เหมาะสม  ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ได้กำหนดให้จัดพิธีพืชมงคลขึ้นมาใหม่ ด้วยภาครัฐในสมัยนั้นเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา จึงควรจะฟื้นฟูประเพณีโบราณที่เป็นมงคลต่อการเพาะปลูกขึ้นมาอีกครั้ง แต่มีเฉพาะพิธีพืชมงคลเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2503 จึงได้จัดพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ทั้งสองพิธีสำคัญของการเกษตรได้กลับมาจัดพร้อมกันใหม่ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
          พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในอดีตของไทย ปรากฏในหนังสือนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สมัยกรุงสุโขทัย โดยมีข้อความว่า “...ในเดือนหก พระราชพิธีไพศาขจรดพระนังคัล พราหมณ์ประชุมกันผูกพรดเชิญเทวรูปเข้าโรงพิธี ณ ท้องทุ่งละหานหลวงหน้า พระตำหนักห้าง เขากำหนดฤกษ์แรกนาว่าใช้วันอาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องต้นอย่างเทศ ทรงม้าพระที่นั่ง พยุหยาตรา เป็นพระบวนเพชรพวง พระอัครชายาและพระราชวงศานุวงศ์ พระสนมกำนัลเลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัย ขึ้นรถประเทียบตามเสด็จไป ในกระบวนหลังประทับที่พระตำหนักห้าง จึงโปรดให้ออกญาพลเทพธิบดีแต่งตัวอย่างลูกหลวง มีกระบวนแห่ประดับด้วย กรรเชิงบังสูร พราหมณ์เป่าสังข์โปรยข้าวตอกนำหน้า ครั้นเมื่อถึงมณฑลท้องละหาน ก็นำพระโคอุสภราชเทียมไถทอง พระครูพิธีมอบยามไถและประฎักทอง ให้ออกญาพลเทพเป็นผู้ไถที่หนึ่ง พระศรีมโหสถ ซึ่งเป็นบิดานางนพมาศเอาแต่งตัวเครื่องขาวอย่างพราหมณ์ ถือไถหุ้มด้วยรัตกัมพลแดง เทียมด้วยโคกระวินทั้งไม้ประฎัก พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางค์ดนตรี ออกเดินไถเวียนซ้ายไปขวา  ชีพ่อพราหมณ์ปรายข้าวตอกดอกไม้ บันลือเสียงสังข์ไม้บัณเฑาะว์ นำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญา นายนักงานนาหลวงแต่งตัวนุ่งเพลาะ คาดรัดประคตสวมหมวกสาน ถือกระเช้าโปรยหว่านพืชธัญญาหาร ตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนสามรอบ ในขณะนั้นมีการมหรสพ ระเบงระบำโมงครุ่มหกคะเมนไต่ลวดลอดบ่วงรำแพนแทงวิสัยไก่ป่าช้าหงส์ รายรอบปริมณฑลที่แรกนาขวัญ แล้วจึงปล่อยพระโคทั้งสามอย่างออกกินเสี่ยงทายของห้าสิ่ง แล้วโหรพราหมณ์ก็ทำนายตามตำรับไตรเทพ ในขณะนั้นพระอัครชายาก็ดำรัสพระสนมให้เชิญเครื่องพระสุพรรณภาชน์มธุปายาสขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวย ราชมัลก็ยกมธุปายาสเลี้ยงลูกขุนทั้งปวง...”
          ต่อมาในสมัยอยุธยา ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่า “พระเจ้าแผ่นดินไม่ได้เสด็จไปในพิธี โปรดให้เจ้าพระยาจันทกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์มอบพระแสงอาญาสิทธิ์ให้ ส่วนพระพลเทพคงเป็นตำแหน่งเสนาบดี สำหรับพระเจ้าแผ่นดินนั้น ในตอนนี้ทรงทำเหมือนหนึ่งออกจากอำนาจความเป็นกษัตริย์ทรงจำศีลเงียบเสียสามวัน” และในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวว่า “ พระราชพิธีจรดพระนังคัล พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้พระจันทกุมารแรกนาต่างพระองค์ ส่วนพระมเหสีก็จัดนางเทพีต่างพระองค์เหมือนกัน นั่งเสลี่ยงเงิน มีกระบวนแห่เป็นเกียรติยศไปยังโรงพิธีซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลวัดผ้าขาว ครั้นถึงเวลามงคลฤกษ์พระจันทกุมาร ถือคันไถเทียมด้วยโคอุสุภราช ออญาพลเทพ จูงโคไถ 3 รอบ นางเทพีหว่านข้าวเสร็จแล้ว จึงปลดโคอุสุภราชให้กินน้ำ ถั่ว งา ข้าวเปลือก ถ้ากินสิ่งใดก็มีคำทำนายต่างๆ” ทั้งนี้ ภายในเวลาการพระราชพิธีจรดพระนังคัลสามวันนี้ ยกพระราชทานภาษี ค่าท่าและอากรขนอนแก่พระจันทกุมารผู้แรกนา เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ราษฎรจึงจะลงมือไถหว่านทำนาต่อไป และหากบางปีไม่มีฝนตก ก็จะมีพิธีขอฝนตามมาด้วย
          สมัยรัตนโกสินทร์ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยตำแหน่งเจ้าพระยาพลเทพจะต้องยืนชิงช้า หรือ ทำพิธีโล้ชิงช้าด้วย ซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ หากมีการตกชิงช้าหรือป่วยก็จะเปลี่ยนให้พระยาประชาชีพแทน หรือเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ยืนชิงช้าก็โปรดให้แรกนาด้วย กล่าวได้ว่า เมื่อครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นธรรมเนียมว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้เป็นผู้แรกนาด้วย พิธีแรกนาในสมัยนั้นไม่ได้เป็นการกระทำหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเมื่อใด จึงได้ทอดพระเนตร เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ขณะเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในปีมะแมเบญจศก ศักราช ๑๑๘๕ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการบูรณะทุกวัน ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลจึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณฯ           ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่า และที่เพชรบุรีได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร พระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง        
            จะเห็นได้ว่าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้งมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในพิธีจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหาก เรียกว่า พิธีพืชมงคล โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นในที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลและพุทธศาสตร์ สมัยก่อนนั้นพระยาผู้จะแรกนาจะไม่ได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมปวาย กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้พนักงานกรมนาหาบ ไม่ได้มีนางเทพีเหมือนเช่นปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น จึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะพอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้ไม้สอย ติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้มีราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเจ้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่ แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลอีกชั้นหนึ่ง การพระราชพิธีนี้ ในเวลาบ่ายวันที่จะสวดมนต์ก็มีกระบวนแห่พระพุทธรูปออกไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  พระราชพิธีจรดพระนังคัล จึงเริ่มตั้งแต่เวลาบ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่ๆ พระเทวรูปพระอิศวร  พระอุมาภควดี  พระนารายณ์  พระมหาวิฆเนศวร  และพระพลเทพแบกไถ  กระบวนแห่นี้มีธงคู่แห่เครื่องสูงกลองชนะ คล้ายกันกับที่แห่พระพุทธรูป แต่จะลดหย่อนลงไป ออกจากพระบรมมหาราชวังเข้าโรงพิธีที่ทุ่งส้มป่อยนาหลวง เวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีก็จะทำพิธีปกติ
           วันรุ่งขึ้น เวลาเช้า กระบวนแห่แห่พระยาผู้แรกนา กำหนดเกณฑ์คนเข้ากระบวนแห่ 500 กระบวน แต่ไม่เป็นกระบวนใหญ่เหมือนอย่างแห่ยืนชิงช้า โดยพระยาแรกนาแต่งตัวเหมือนยืนชิงช้า เมื่อถึงโรงพระราชพิธีเข้าไปจุดเทียนบูชาพระพุทธรูป แล้วตั้งจิตอธิษฐานจับผ้าสามผืน ผ้านั้นเป็นผ้าลายหกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ถ้าจับได้ผ้าที่กว้างเป็นคำทำนายว่าน้ำจะน้อย ถ้าได้ผ้าที่แคบว่าน้ำจะมาก โดยเมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้น ทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนออกไปแรกนา มีราชบัณฑิตคนหนึ่ง เชิญพระเต้าเทวบิฐประน้ำพระพุทธมนต์ข้างหน้า พราหมณ์เชิญพระพลเทพคนหนึ่งเป่าสังข์ 2 คน พระยาจับยามไถ พระมหาราชครูพิธียื่นประตักด้านหุ้มแดะไถดะไปโดยรีสามรอบ แล้วไถแปรโดยกว้างสามรอบ นางเทพีทั้ง 4 จึงได้หาบกระเช้าข้าวปลูก กระเช้าทอง 2 คน กระเช้าเงิน 2 คน ออกไปให้พระยาโปรยหว่านข้าว และไถกลบอีกสามรอบจึงกลับเข้ามายังที่พัก ปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย 7 สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว เหล้า น้ำ หญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งไรก็มีคำทำนาย แต่คำทำนายมักจะว่ากันว่า ถ้าพระโคกินสิ่งใดสิ่งนั้นจะบริบูรณ์ จึงเป็นการเสร็จพระราชพิธีจรดพระนังคัล จากนั้นแห่พระยาและเทวรูปกลับ    พอพระยากลับผู้ที่มาร่วมพิธีต่างก็พากันเข้าแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนา เมื่อรัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย เมื่อทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตำรวจหลายนายออกไปค้นหาเมล็ดข้าว ว่าจะเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ก็ไม่ได้มาเลยสักเมล็ดหนึ่ง เมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้น เกษตรกรมักจะใช้เจือในพันธุ์ข้าวปลูกของตัว ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นา หรือนำไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงาม



           พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ได้กล่าวถึงพิธีแรกนาไว้ว่า "การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมโบราณ เช่น ในเมืองจีนสี่พันปีล่วงแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ที่มีปรากฎอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจำให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตัวตามปรกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝน น้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วยเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงได้ต้องแส่หาทางที่จะแก้ไข และทางที่จะอุดหนุน และที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ ก็การที่จะแก้ไขเยียวยาน้ำฝนน้ำท่าซึ่งเป็นของเป็นไปโดยฤดูปรกติเป็นเอง โดยอุบายลงแรงลงทุนอย่างไรไม่ได้ จึงต้องอาศัยคำอธิฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคล ตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเช่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สุด...."



           ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือ พิธีแรกนา มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ราษฎร สร้างความมั่นใจในการทำนา อันเป็นอาชีพหลักที่สำคัญของคนไทยแต่โบราณสืบมาจนปัจจุบัน เพราะการเกษตรซึ่งมีการทำนาเป็นหลักนั้น ยังเป็นสิ่งสำคัญแก่ชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประเทศเสมอมา โดยวันประกอบพิธีนั้น ต้องเป็นวันที่ดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วย ขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์ แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน 6 เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝน เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนา เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทานในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้กำหนดไว้ว่าวันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตามที่กล่าวมา
          เนื่องจากข้อจำกัดขอหน้ากระดาษ “ฉีกซอง” ขอนำเนื้อหาในส่วนที่เหลือยกยอดไปในฉบับต่อไป โปรดติดตาม
         
(ขอบคุณ : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง , สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , กรมส่งเสริมการเกษตร , กรมปศุสัตว์ , กรมการข้าว/ข้อมูล)

หมายเหตุ ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง จดหมายข่าวผลิใบ คอลัมม์ฉีกซอง ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น