วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561

จัดระบบการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา



"... เรื่องน้ำนี้ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้น แม้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อ หรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต แม้สิ่งไม่มีชีวิตก็ต้องการน้ำเหมือนกัน มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นอะไรไม่ทราบ เช่นในวัตถุต่างๆ ในรูปผลึก ก็ต้องมีน้ำในนั้นด้วย ถ้าไม่มีน้ำก็จะไม่เป็นผลึก กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีรูป ฉะนั้นน้ำนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่กล่าวถึงข้อนี้ ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า ทำไมการพัฒนาขั้นแรกหรือสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือโครงการชลประทาน แล้วก็โครงการสิ่งแวดล้อมทำให้น้ำดี สองอย่างนี้อื่นๆ ก็จะเป็นไปได้ ถ้าหากว่าปัญหาของน้ำนี้ เราได้สามารถที่จะแก้ไข หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เรามีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ฉะนั้นการพัฒนานั้น สิ่งสำคัญก็อยู่ตรงนี้ นอกจากนั้น ก็เป็นสิ่งที่ต่อเนื่อง เช่นวิชาการในด้านการเพาะปลูก เป็นต้น ตลอดจนถึงการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม หรือการค้า หรือการคลัง อะไรพวกนี้ก็ต่อเนื่องต่อไป... "

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒

          พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ว่าด้วยเรื่องน้ำ ปรากฏตามสื่อต่างๆ เป็นจำนวนมาก ต่างกรรมต่างวาระ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศนั้น พระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำมากเป็นพิเศษ ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า น้ำเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำเนินชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง หรือในชนบทที่ต้องใช้น้ำเพื่อการทำการเกษตร นอกเหนือจากการอุปโภค-บริโภค เช่นในสังคมเมือง หากการบริหารจัดการน้ำดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนย่อมมีความอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด      การบริหารจัดการน้ำจึงเป็นงานหนึ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้เกี่ยวข้อง รูปแบบการบริหารจัดการน้ำได้พัฒนารูปแบบมาเป็นลำดับ จนในที่สุดแล้วการบริหารจัดการน้ำในลักษณะของการจัดการลุ่มน้ำ เป็นรูปแบบที่หลายฝ่ายให้การยอมรับ
            จากข้อมูลของวิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความหมายของ “ลุ่มน้ำ” ไว้ว่าเป็นหน่วยของพื้นที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำโดยเฉพาะ มีขนาดตามความต้องการของแต่ละบุคคลและประเภทของการศึกษา พื้นที่ประเทศไทยทั้งจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ ๆ หนึ่ง และสามารถแบ่งออกเป็นลุ่มน้ำย่อยๆ ลงไปได้อีก ขึ้นกับความต้องการ เป้าหมายสำคัญของการจัดการลุ่มน้ำ คือ การผสมผสานหลักการทางวิชาการ และการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อดำเนินการที่จะให้พื้นที่ลุ่มน้ำ มีทรัพยากรน้ำใช้อย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมทั้งในส่วนของปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการใช้ มีระยะเวลาการไหลของน้ำที่เหมาะสมสม่ำเสมอ คุณภาพของน้ำที่ดีเหมาะสมต่อการอุปโภค/บริโภค การควบคุมการพังทลายของดิน การลดความเสียหายจากอุทกภัย รวมถึงการใช้ทรัพยากรในลุ่มน้ำอย่างถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ ได้แก่ การใช้ การเก็บกัก การซ่อมแซม การฟื้นฟู การพัฒนา การป้องกัน การสงวน และการแบ่งเขต ดังนั้นในการจัดการลุ่มน้ำจึงต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจากการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม การสร้างมาตรการการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีประสิทธิภาพ และการควบคุมมลพิษ ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของการจัดการลุ่มน้ำต่อไป หน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ต่างมุ่งที่จะแสวงหาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในลุ่มน้ำกันอย่างเต็มที่ และส่งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงอย่างเป็นลูกโซ่จากการดำเนินงานในกิจกรรมต่าง ๆ
          “ฉีกซอง” ฉบับเดือนเมษายน ขอนำเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ในส่วนของพื้นที่ลุ่มต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีในการจัดระบบการปลูกพืช มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านทุกท่าน โปรดติดตาม

ท่วม-แล้ง-ซ้ำซาก
          หากจะกล่าวถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาพจำในใจของคนไทย คือ แหล่งอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยากินพื้นที่รวมประมาณ 99.12 ล้านไร่ หรือร้อยละ 30.85 ของพื้นที่ทั้งประเทศ จึงนับว่าเป็นลุ่มน้ำสายหลักที่สำคัญของประเทศ โดยมีลุ่มน้ำสาขาหลัก จำนวน 8 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน เจ้าพระยา สะแกกรัง ป่าสัก และท่าจีน ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง รวมทั้งสิ้น 31 จังหวัด พื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเป็นพื้นที่เทือกเขาแหล่งต้นน้ำลำธาร มีที่ราบตามหุบเขาและริมน้ำ ตอนกลางพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง ตอนล่างเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ น้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นประเด็นที่จะนำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบในครั้งนี้
            สำหรับการใช้พื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาดังกล่าว ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 45 เป็นการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร รองลงมาเป็นการใช้ที่ดินประเภทป่าไม้ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง และเป็นการใช้ที่ดินประเภทอื่น ๆ และแหล่งน้ำ ตามลำดับ ความสำคัญของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ภาครัฐลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก โดยมีการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำ เพื่อการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ รวมทุกประเภทของโครงการราว 49,000 โครงการ (ข้อมูลปี 2559)  คิดเป็นพื้นที่ชลประทานและพื้นที่รับประโยชน์รวมราว 21ล้านไร่ มีความจุอ่างเก็บน้ำรวม 27,400 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาตรเก็บกักน้ำของโครงการขนาดใหญ่ที่มีความจุอ่างเก็บน้ำมากกว่า 100 ล้าน ลูกบาศก์เมตร จำนวน 11 โครงการ อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ชะลอตัวลง ตั้งแต่ปี 2530 ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ฤดูฝนช่วงน้ำหลากก็จะขาดแหล่งเก็บน้ำเพื่อบรรเทาอุทกภัย จึงส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา กลายเป็นแหล่งรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยไม่สามารถกักเก็บเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้เต็มที่
           เป็นที่ทราบดีว่า พื้นที่เกษตรท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโครงการเจ้าพระยาที่มีพื้นที่ชลประทานกว่า 7 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังที่ใหญ่ที่สุดเนื่องจากมีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก แต่ในบางปีที่การวางแผนและควบคุมการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวในฤดูแล้งกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เกิดการแย่งกันใช้น้ำของเกษตรกร โดยเฉพาะในปีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ปัญหาจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่การจัดการกับปัญหาน้ำหลากในฤดูฝนไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นไปอีก วิธีการที่เกษตรกรจะต้องยอมรับ คือ เสียสละไม่ใช้น้ำเพื่อการเกษตร เพื่อให้สังคมส่วนใหญ่อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นระบบนิเวศน์ ภาคอุตสาหกรรม และสังคมเมือง
สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับความจริง คือ ชาวนาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสูงอายุ การทำนาไม่ใช่การลงมือทำด้วยตนเองแล้ว แต่เป็นการทำนาด้วยการว่าจ้าง มีทั้งการหว่านข้าวแบบสำรวย และการหว่านน้ำตม ถึงแม้ว่าปัจจุบันมีการทำนาดำด้วยเครื่องจักรกันมากขึ้น แต่นาหว่านยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย การเริ่มฤดูการทำนา หากเป็นการทำนาแบบสำรวย จะเป็นการหว่านข้าวแห้งรอฝน สำหรับพื้นที่ที่อาศัยน้ำฝนราวเดือนเมษายนก็เริ่มมีการหว่านกันแล้ว เรียกว่าเป็นรูปแบบการทำนาที่มีความเสี่ยงสูงทีเดียว พันธุ์ข้าวที่ใช้ส่วนใหญ่ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาจะเป็นข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์และรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว และยังคงมีปัญหาการใช้เมล็ดพันธุ์ในอัตราสูงเกินความจำเป็นเริ่มฤดูปลูกอย่างจริงจังสำหรับนาหว่านน้ำตมหรือนาดำ จะเริ่มราวช่วงกลางเดือนพฤษภาคม และจะเก็บเกี่ยวราวเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูน้ำหลากเป็นประจำทุกปี เนื่องจากพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง จะเป็นพื้นที่รองรับการระบายน้ำ หรือ เรียกว่า เป็นแก้มลิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท- ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ้ง และทุ่งบางบาล  หลังจากเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกันยายน ชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวก็จะเตรียมทำนาปรังต่อทันที ซึ่งเป็นระบบการปลูกพืชปกติของพื้นที่ดังกล่าว
           บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เป็นรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่ 15 จังหวัด 51 อำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 1,150,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นาทั้งหมด ในช่วงฤดูแล้งพื้นที่เหล่านี้มักจะประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูก เรียกว่า การบริหารจัดการน้ำของพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา เป็นปัญหาที่ท้าทายมาก เพราะมีโอกาสน้ำมากสูงพอๆกับน้ำแล้งเช่นกัน ประเด็น คือ จะทำอย่างไรให้สามารถอยู่ร่วมกับสภาพที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ได้เป็นอย่างดี

จัดระบบปลูกพืช-จัดระบบน้ำ
          จากสถานการณ์น้ำและสภาพการผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง หากยังคงปลูกพืชแบบเดิมๆ ทำเช่นที่เคยทำมาโดยตลอด ผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมไม่แตกต่างไปจากเดิม สิ่งที่นักวิชาการพยายามขยายผลมาโดยตลอด คือ การจัดระบบการปลูกพืชในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถแก้ปัญหาท่วม-แล้ง-ซ้ำซาก ได้อย่างเห็นผล แต่เป็นวิธีที่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกคนในลุ่มน้ำเดียวกัน การจัดระบบการปลูกพืช เป็นวิธีการที่เพิ่มผลผลิตพืชจากความเป็นไปได้ของทรัพยากรกายภาพที่มีอยู่ (ดิน น้ำ แสง) วิธีการจัดการดังกล่าวต้องช่วยเพิ่มคุณภาพและปริมาณของทรัพยากรที่มีอยู่ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตใน 1 หน่วยพื้นที่ให้ได้จากเดิม ด้วยการรูปแบบการปลูกพืช (Cropping pattern) ซึ่งหมายถึงการปลูกพืชในรอบปีที่มีการปลูกพืชชนิดเดียวหรือหลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยมองว่าระบบการปลูกพืช (Cropping System) เป็นรูปแบบการปลูกพืชที่ใช้ในพื้นที่และมีความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรในฟาร์มที่มีความเหมาะสมกับเงื่อนไขของเกษตรกร แต่กรณีที่เกษตรกรทำหลายๆ กิจกรรมร่วมกันในฟาร์ม จะถือว่าเป็นระบบการทำฟาร์ม (Farming System) ซึ่งเป็นการผสมผสานของการพัฒนาการดำเนินการและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในฟาร์ม รวมถึงการตัดสินใจของเกษตรกร การจัดการที่มีความเหมาะสมทั้งทางด้านการผลิต การตลาด และวิธีบริหารจัดการ
          ผลงานวิจัยของคุณสมชาย บุญประดับ และคณะนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร ได้ทำการสำรวจและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงนิเวศน์เกษตรในพื้นที่รับน้ำภาคกลาง ในช่วงปี 2556  ได้แก่ อุณหภูมิอากาศและดิน ความยาวนานของแสง ความเข้มของแสง ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน สมบัติทางฟิสิกส์ของดิน ได้แก่ ความลึกของตะกอนดิน เนื้อดินและสีของดินในแต่ละชั้น การซึมของน้ำผ่านผิวดิน การนำน้ำในแต่ละชั้นดิน ความหนาแน่นของดิน ความแข็งของดินในแต่ละชั้น สมบัติทางเคมีของดิน ได้แก่ ค่าความเป็นกรดเป็นด่าง ค่าอินทรีย์วัตถุ ค่าฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ ค่าโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ ธาตุอาหารรองและอาหารเสริม ค่าความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุในดิน และการเปลี่ยนแปลงของจุลินทรีย์ในดิน รวมทั้งเก็บข้อมูลด้านชีวภาพ ตั้งแต่ชนิดพืชที่ปลูก พันธุ์ ช่วงเวลาปลูก การดูแลรักษา จนกระทั่งการเก็บเกี่ยวและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การจำหน่าย และระบบการปลูกพืชในพื้นที่ รวมทั้งเก็บข้อมูลด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย ในพื้นที่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี และสระบุรี และได้ศึกษาระบบการปลูกพืชอย่างยั่งยืนในพื้นที่รับน้ำภาคกลาง โดยนำผลการสำรวจและวิเคราะห์ระบบนิเวศน์เกษตรในพื้นที่เป้าหมายจังหวัดชัยนาท เพื่อวางแผนการจัดระบบการปลูกพืชอย่างยั่งยืนในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากหลังน้ำลด โดยยึดหลักรูปแบบระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นพืชหลัก โดยปลูกพืชล้มลุกอายุสั้น สร้างรายได้ในช่วงหลังน้ำลด ได้แก่ พืชไร่ อายุสั้น พืชผัก พืชสมุนไพร ฯลฯ จากนั้นปลูกข้าวนาปี ซึ่งจะต้องเลือกพันธุ์ข้าวที่กำหนดอายุเก็บเกี่ยวได้ (ไม่ไวแสง) ปลูกให้เร็วและเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ดำเนินการในพื้นที่รับน้ำภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี และสระบุรี ระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2558
          ผลการศึกษา พบว่าระบบการปลูกพืชในพื้นที่รับน้ำภาคกลาง (floodway) โดยพืชอายุสั้นที่มีศักยภาพและเหมาะสำหรับใช้ปลูกในพื้นที่รับน้ำจังหวัดชัยนาท คือ ถั่วเหลืองฝักสดและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวนาปรัง จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า พืชอายุสั้นที่มีศักยภาพ คือ ข้าวโพดฝักสด โดยเฉพาะข้าวโพดข้าวเหนียว เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวนาปรัง จังหวัดอ่างทอง พบว่า พืชอายุสั้นที่มีศักยภาพ คือ ถั่วเหลืองฝักสด และข้าวโพดฝักสด เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวนาปรัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่า พืชอายุสั้นที่มีศักยภาพ คือ ถั่วเหลืองฝักสด และข้าวโพดฝักสด เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวนาปรัง จังหวัดลพบุรีและสระบุรีพบว่า พืชอายุสั้นที่มีศักยภาพ คือ ข้าวโพดฝักสด ในขณะที่พื้นที่รับน้ำจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี พบว่าระบบเกษตรผสมผสาน โดยเฉพาะระบบการปลูกพืชที่มีไม้ผลเป็นพืชหลักร่วมกับการปลูกผักและการเลี้ยงปลาในร่องสวนไว้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนใช้บริโภคในครัวเรือน หากเหลือสามารถนำไปจำหน่ายได้ และการปลูกผักปลอดสารเคมีตกค้างเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะถั่วฝักยาว ด้วยการใช้เทคโนโลยีการจัดการศัตรูพืชตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร ในการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนการใช้สารเคมี ทำให้เกษตรกรในจังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 9 และ 61.8 ตามลำดับ


          การขยายผลงานวิจัยดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา ยังคงยึดข้าวเป็นพืชหลัก ด้วยความร่วมมือของกรมชลประทานในการปล่อยน้ำให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ได้เริ่มฤดูการทำนาตั้งแต่ต้นฤดู คือ ตั้งแต่วันที่  1 พฤษภาคม 2560 โดยหากเป็นไปได้เกษตรกรจะต้องปลูกข้าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2560 กล่าวคือช่วงเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ คือ วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 – 31 สิงหาคม 2560 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน หรือราว 120 วัน ด้วยเงื่อนไขของระยะเวลาดังกล่าว กรมการข้าวจึงได้แนะนำพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ รวม 4 พันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์ปทุมธานี1 กข29 (ชัยนาท80)    กข41 และ กข49 โดยแต่ละพันธุ์มีลักษณะเด่นและข้อจำกัด ดังนี้
          ปทุมธานี1 เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 110 วัน ทรงกอตั้ง คุณภาพข้าวสุกนุ่ม เหนียว มีกลิ่นหอม ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 650-774 กิโลกรัม/ไร่ ให้ผลผลิตสูง คุณภาพคล้ายหอมมะลิ105 ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคไหม้ และโรคขอบใบแห้ง ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยจักจั่นสีเขียว โรคใบหงิก และโรคใบสีส้ม เป็นพันธุ์แนะนำในพื้นที่ชลประทานภาคกลาง
          กข29 (ชัยนาท80) เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 103 วัน ทรงกอตั้งตรง ไม่ล้มง่าย ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 876 กิโลกรัม/ไร่ อายุเก็บเกี่ยวสั้น ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคขอบใบแห้ง แต่อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี และฉะเชิงเทรา ไม่แนะนำให้ปลูกในช่วงกลางเดือนกันยายน-ปลายเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากจะกระทบอากาศเย็น ทำให้เมล็ดลีบ ผลผลิตต่ำ เป็นพันธุ์แนะนำในพื้นที่ชลประทานภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน หรือ หลังน้ำท่วมในฤดูฝน
          กข41 เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 105 วัน ทรงกอตั้ง ต้นแข็ง ใบธงตั้งตรง คุณภาพการสีดี ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 722 กิโลกรัม/ไร่ ให้ผลผลิตสูง ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ สามารถสีเป็นข้าวสาร 100% อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) สูงเกินไป  และอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในพื้นที่จังหวัดนครปฐมและจังหวัดปทุมธานี เป็นพันธุ์แนะนำในพื้นที่ชลประทานภาคเหนือตอนล่าง
          กข49 เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยว 102-107 วัน ทรงกอตั้ง ใบธงตั้ง รวงแน่นปานกลาง คอรวงสั้น เมล็ดเรียวยาว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดี ผลผลิตเฉลี่ย ประมาณ 733 กิโลกรัม/ไร่ ให้ผลผลิตสูง ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ในพื้นที่ภาคกลาง สามารถสีเป็นข้าวสาร 100% ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งและอ่อนแอต่อโรคไหม้ในเขตพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นพันธุ์แนะนำในพื้นที่ชลประทานภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง
          หลังจากที่เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม จะเป็นช่วงของฤดูน้ำหลาก เกษตรกรจะต้องพักการทำนา  พื้นที่ลุ่มต่ำดังกล่าวจะถูกใช้เป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตชุมชน ตลอดจนเป็นการตัดยอดน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบกับพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกทางหนึ่ง พื้นที่ดังกล่าวสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือน ช่วงเวลาดังกล่าวสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากการทำอาชีพประมง หรือรวมกลุ่มเพื่อแปรรูปผลผลิตการเกษตรหรือการทำหัตถกรรม นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้ในพื้นที่ลุ่มต่ำยังสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการเป็นน้ำต้นทุนในการทำนาปรัง และการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งได้ด้วย โดยเกษตรกรจะต้องพิจารณาตัดสินใจเลือกชนิดพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่และปริมาณต้นทุนที่มีอยู่ รวมทั้งช่องทางการตลาด เพื่อตัดสินใจปลูกพืชในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน ซึ่งตามผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร สนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวปลูกพืชไร่อายุสั้น หรือพืชผัก เช่น ข้าวโพดฝักสด ถั่วเหลืองฝักสด การผลิตผักปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างด้วยระบบการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน เป็นต้น


          กาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป รูปแบบการทำการเกษตรก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามข้อจำกัดและเงื่อนไขที่แตกต่างไป การบริหารจัดการลุ่มน้ำไม่สามารถสำเร็จด้วยภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย หากทุกคนรับทราบและเข้าใจในเป้าหมายเดียวกันแล้ว การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคงไม่ยากเกินไป ลองทบทวนและเริ่มลงมือทำไปพร้อมกัน มาเป็นกำลังใจให้กันและกัน ความสำเร็จรออยู่ข้างหน้าทุกท่านแล้ว

(ขอบคุณ: วิทยาลัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,กรมการข้าว,กรมชลประทาน,กรมส่งเสริมการเกษตร,คุณสมชาย บุญประดับ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการปลูกพืช กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าชุดโครงการวิจัยและพัฒนาระบบการปลูกพืชอย่างยั่งยืนในพื้นที่เสี่ยงภัย / ข้อมูล)

หมายเหตุ ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๖๐

หนอนหัวดำ ภาคต่อ จัดการด้วยกฎหมาย



“…แต่ละคนมีหน้าที่ที่จะต้องทำ ต้องทำให้ดีที่สุด แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องนึกด้วยว่า งานของตัวจะต้องสัมพันธ์กับงานของคนอื่น เพราะถ้าไม่สัมพันธ์กับงานของคนอื่น งานที่ตัวทำอาจเปล่าประโยชน์ก็ได้ หรือถ้าไปปืนเกลียวกับหน่วยงานอื่น ก็อาจเป็นผลร้ายยิ่งขึ้นไปอีก..
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต 
วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างงานของตนเองกับงานของผู้อื่น แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมใดๆ ไม่สามารถเสร็จสิ้นสมบูรณ์ได้ด้วยบุคคลเดียว ยังมีผู้คนอีกมากมายที่เกี่ยวข้อง ยิ่งภาคราชการของไทย ซึ่งมีการจัดระบบการบริหารแบบแยกส่วน แบ่งงานกันทำ ความสัมพันธ์ระหว่างงานที่เชื่อมต่อกัน จะส่งผลต่อความสำเร็จของงาน และผลประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
ปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชเป็นประเด็นปัญหาที่หมุนเวียนเปลี่ยนกลับไปมาได้ มีทั้งช่วงที่ระบาดรุนแรง ช่วงที่ระบาดเล็กน้อย และช่วงที่ไม่พบการระบาด ขึ้นกับปัจจัยหลายๆอย่าง เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งเป็นช่วงเวลาของการระบาดของแมลงหลายชนิด ด้วยปัจจัยที่เหมาะสมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพดินฟ้าอากาศ ความอ่อนแอของพืชอาศัย การดูแลรักษา หรือแม้แต่ช่วงวงจรชีวิตของแมลงที่เหมาะสมต่อการเข้าทำลายพืชอาศัย หากปัจจัยหลายๆอย่างเหมาะสมปัญหาการระบาดของแมลงศัตรูพืชจึงเป็นประเด็นที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้เลย
“ฉีกซอง” ฉบับเดือนมีนาคม ขอนำเรื่องหนอนหัวดำในมะพร้าว มานำเสนอกับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในจังหวะเวลาที่ปัจจัยต่างๆเหมาะสม ทางออกของการควบคุมหนอนหัวดำ ณ จุดนี้ เดินทางมาไกลเพียงใด โปรดติดตาม

ทำความรู้จัก

          อันที่จริงแล้ว เรื่องราวของหนอนหัวดำไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะจดหมายข่าวผลิใบฯ มีการนำเสนอเรื่องหนอนหัวดำ ต่างกรรมต่างวาระกันไป ตามจังหวะของการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำ หากค้นข้อมูลลึกลงไป ก่อนปี 2550 จะเห็นว่าหนอนหัวดำเป็นแมลงที่ไม่เคยมีรายงานการพบในประเทศไทยมาก่อน   หนอนหัวดำมีชื่อสามัญว่า Coconut black-headed caterpillar ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Opisina arenosella  โดยนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่จับเรื่องนี้มาแต่แรกคือ ดร.อัมพร วิโนทัย นักกีฏวิทยาคนสำคัญของกรมวิชาการเกษตร สังกัด กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช (เสียดายที่ท่านถึงแก่กรรมหลังจากเกษียณอายุราชการไม่นานนัก เป็นอีกหนึ่งในนักวิชาการรุ่นพี่ที่ผู้เขียนเคารพรัก ยังจำสายตาและความมุ่งมั่นที่เปล่งประกายเสมอเมื่อได้มีโอกาสพบปะและประสานการทำงาน)

          จากรายงานของ ดร.อัมพร  พบรายงานการระบาดของหนอนหัวดำครั้งแรกในปี 2550 ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่รวมประมาณ 50 ไร่ แมลงดังกล่าวเป็นแมลงศัตรูสำคัญของมะพร้าวในอินเดีย และพบรายงานของหนอนดังกล่าวในอินโดนีเชีย เมียนมาร์ บังคลาเทศ และปากีสถาน สำหรับประเทศไทย หลังจากพบรายงานการระบาดในปี 2550 วงการระบาดของหนอนหัวดำได้ขยายตัวออกมาเรื่อยๆ โดยในปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดรุนแรงอีกช่วงเวลาหนึ่ง พื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำ ขยายตัวไปถึง 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 6 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอกุยบุรี อำเภอทับสะแก อำเภออ่าวน้อย อำเภอบาสะพาน และ อำเภอบางสะพานน้อย ซึ่งนอกจากจะพบในมะพร้าวแล้ว จะพบการระบาดในตาลโตนด และปาล์มประดับอีกด้วย จังหวัดศรีสะเกษ  จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอชุมแสง พบทำลายมะพร้าว ตาลโตนด และกล้วย จังหวัดปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด พบทำลายตาลโตนด และปาล์มประดับ จังหวัดนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย และ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอเมือง ดังนั้น จะเห็นว่า พืชอาศัยของหนอนหัวดำมีหลายชนิดด้วยกัน ส่วนใหญ่เป็นพืชตระกูลปาล์ม และกล้วย ตามที่กล่าวมา
          จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร ในช่วงปี 2555-2559 พื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำ ขยายเป็น 60,000 – 100,000 ไร่ โดยความรุนแรงของระบาดในช่วงฤดูแล้ง และลดลงในช่วงฤดูฝน สำหรับปี 2560 พบรายงานการระบาดในพื้นที่ 29 จังหวัด รวมเป็นพื้นที่ประมาณ 79,000 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี อ่างทอง ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา อุดรธานี สงขลา สตูล นราธิวาส บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ระนอง ชุมพร และปัตตานี
          ลักษณะตัวเต็มวัยของหนอนหัวดำมะพร้าว เป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลำตัววัดจากหัวถึงปลายท้องยางประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย ปีกสีเทาอ่อน มีจุดสีเทาเข้มที่ปลายปีก ลำตัวแบน ชอบเกาะนิ่งแนบตัวติดกับผิวของพื้นที่เกาะ เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าว หรือในที่ร่ม  การวางไข่ ตัวเมีย 1 ตัวจะวางไข่ได้ประมาณ 200 ฟอง ไข่มีลักษณะกลมรีแบน วางเป็นกลุ่ม เมื่อวางไข่ใหม่ๆ ไข่จะมีสีเหลือง และสีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้ฟักเป็นตัว โดยมีระยะไข่ประมาณ 4-5 วัน สำหรับระยะตัวหนอนรวมประมาณ 32-48 วัน มีการลอกคราบ 6-10 ครั้ง เมื่อฟักออกจากไข่จะรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม 1-2 วัน  ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว ลักษณะเด่นของหนอนที่ฟักตัวออกมาใหม่ หัวจะมีสีดำ โดยจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนลำตัวเมื่อฟักออกมาใหม่ๆ จะมีสีเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและมีลายสีน้ำตาลเข้มพาดยาวตามลำตัว เมื่อโตเต็มที่ ความยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร การทำลายพืชอาศัยจะเกิดขึ้นเฉพาะในระยะตัวหนอนเท่านั้น ซึ่งตัวหนอนจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ และสร้างอุโมงค์เป็นทางยาว อาศัยกันกินใบอยู่ในอุโมงค์ ชอบทำลายใบแก่ ใบที่ถูกทำลายจะมีลักษณะแห้งเป็นสีน้ำตาล เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้ภายในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ระยะเวลาเป็นดักแด้ประมาณ 9-11 วัน หลังจากออกจากดักแด้เป็นผีเสื้อจะวางไข่เมื่ออายุประมาณ 2 วัน และมีช่วงระยะการเป็นผีเสื้อประมาณ 3-10 วัน ความรุนแรงของการทำลาย หากระบาดรุนแรง จะทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดลงได้ถึงร้อยละ 50 และหากระบาดต่อเนื่องรุนแรง อาจทำให้มะพร้าวยืนต้นตายได้
ระยะหนอนของหนอนหัวดำมะพร้าว
(cr ภาพ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร)

          การป้องกันกำจัด สามารถใช้การตัดทางใบล่างของมะพร้าวที่มีทางใบมากกว่า 13 ใบแล้วนำไปเผาทำลาย เพื่อตัดวงจรการระบาดในระยะไข่ ระยะตัวหนอน และระยะดักแด้ แต่วิธีการนี้ไม่แนะนำสำหรับพื้นที่ที่การระบาดทับซ้อนของด้วงงวงหรือด้วงสาคู เพราะรอยแผลที่เกิดขึ้นจะเป็นช่องทางเข้าทำลายของด้วงงวง การตัดทางใบดังกล่าว ต้องใช้มีดทีคม ตัดให้เหลือโคนทางใบ และตัดทางใบที่พบหนอนหัวดำจำนวนมาก และต้องมีใบสีเขียวเหลือไม่ต่ำกว่า 13 ทางใบ เพื่อไม่ให้กระทบกับผลผลิต หากเหลือทางใบน้อยกว่า 13 ทางใบ ให้ใช้วิธีการอื่น

          วิธีการอื่น คือ การใช้ศัตรูธรรมชาติ ซึ่งพบว่าหนอนหัวดำมีศัตรูธรรมชาติ 6 ชนิด ได้แก่ แตนเบียนหนอน 2 ชนิดคือ Bracon hebetor และแตนเบียนวงศ์   Eulophidae 1 ชนิด ส่วนอีก 3 ชนิด เป็นแตนเบียนดักแด้ ได้แก่ Trichospilus pupivorus  , Brachymerua sp. และ Eurytoma sp. และด้วงตัวห้ำ 1 ชนิด ได้แก่ ด้วงตัวห้ำในวงศ์ Cleridae   นอกจากนี้ ผลการศึกษาของนักวิจัยกรมวิชาการเกษตร พบว่า เชื้อราเขียว สามารถทำให้หนอนหัวดำตายได้ ประมาณร้อยละ 60-88 และสามารถใช้เชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringienesis kurstaki และ Bacillus thuringienssis aizawai ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ใช้ควบคุมศัตรูพืชจำพวกหนอนผีเสื้อได้ดี วิธีการใช้เชื้อ BT ดังกล่าวต้องเป็นชีวภัณฑ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมวิชาการเกษตร อัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ผสมสารจับใบ 5 มิลลิลิตร พ่นให้ทั่วใบ ในช่วงเย็นเพื่อไม่ให้แสงแดดทำลายเชื้อให้มีประสิทธิภาพลดลง พ่นติดต่อกัน 3-5 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 5-7 วัน โดยต้องเก็บรักษาเชื้อ BT ไว้ในที่ร่มไม่ถูกแสงแดด และเครื่องพ่นต้องเป็นเครื่องพ่นชนิดแรงดันน้ำสูง ปรับความดันได้ไม่น้อยกว่า 30 บาร์ หัวฉีดต้องเป็นหัวแบบกรวยกลวง เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2- 2.0 มิลลิเมตร ทั้งนี้ การใช้แตนเบียน แนะนำให้ใช้หลังจากการพ่นเชื้อ BTครั้งสุดท้าย โดยปล่อยแตนเบียนในช่วงเย็น หลังเวลา 17.30 น. ไม่ควรปล่อยในวันที่มีฝนตก อัตรา 200 ตัว ต่อ ไร่ ต่อ ครั้ง กระจายทั่วแปลงทุก 15 วัน ต่อเนื่อง 14 ครั้ง สำหรับ  Bracon hebetor ส่วนแตนเบียน Goniozus nephantidis  ให้ปล่อยทุก 1 เดือน ติดต่อกัน 7 ครั้ง ในอัตรา 200 ตัวเท่ากัน



          สำหรับการใช้สารเคมี กรณีมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ใช้วิธีทางฉีดเข้าลำต้น โดยใช้สารเคมี emamectin benzoate 1.92% EC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อ ต้น โดยการเจาะลำต้นมะพร้าว สูงจากพื้นดินราว 1 เมตร จำนวน 2 รู ให้อยู่ตรงข้ามกัน กว้างประมาณ 4 หุน ลึก 10 เซนติเมตร ใส่สารรูละ 15 มิลลิลิตร และปิดรูด้วยดินน้ำมัน สารดังกล่าวห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ สำหรับมะพร้าวที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวกะทิ สามารถใช้วิธีการพ่นสารเคมีได้ โดยใช้สาร cholrantraniliprol 5.17% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร  หรือ flubendiamide 20% WG อัตรา 5 กรัม ต่อ  น้ำ 20 ลิตร หรือ spinosad 12%EC อัตรา  20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ lufenuron 5%EC อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร  เลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง พ่นทางใบมะพร้าว สามารถใช้เครื่องพ่นแบบเดียวกับการพ่นเชื้อ BT อัตราการพ่นขึ้นกับขนาดลำต้นและความหนาแน่นของใบมะพร้าว โดยถ้าต้นสูง 3-5 เมตร ใช้อัตราการพ่นประมาณ 3-5 ลิตร แต่ถ้าหากต้นสูง 6-12 เมตรใช้อัตราการพ่นประมาณ 6-10 ลิตร ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามหลักการพ่นสารเคมีทางการเกษตรอย่างเคร่งครัด สำหรับสารเคมีทั้ง 4 ตัว พบว่า  cholrantraniliprol และ flubendiamide มีความเป็นพิษต่อผึ้งน้อย ส่วน spinosad มีความเป็นพิษต่อผึ้งสูง และ lufenuron มีความเป็นพิษต่อกุ้งสูง


กฎหมาย แก้ปัญหาได้?
          เมื่อเกิดปัญหาระบาดเข้ามาของศัตรูพืชหรือศัตรูสัตว์ หากเกิดความเสียหายรุนแรง สิ่งที่ถูกนำมาใช้สำหรับให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจัดการปัญหาดังกล่าว คือ กฎหมาย ซึ่งอาจออกมาในรูปแบบต่างๆ กัน ในส่วนของปศุสัตว์ที่เห็นว่า เมื่อมีปัญหาระบาดของโรคสัตว์ขึ้นจะออกประกาศเป็นเขตควบคุมการระบาดของโรคสัตว์ เพื่อให้สามารถจัดการควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการระบาดโรคสัตว์ ทั้งยังกำหนดการกักกันโรคทั้งที่มาจากต่างประเทศ และทั้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยมีด่านกักสัตว์ระหว่างประเทศ และด่านกักสัตว์ภายในประเทศ เรียกว่า มีระบบ In Land Quarantine เข้ามาด้วย ทำให้การกักกันโรคและการควบคุมโรคระบาดสัตว์สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างฉับไว เนื่องมีระบบการติดตามและเฝ้าระวังที่ชัดเจน
          หันกลับมามองกฎหมายว่าด้วยการกักพืชของเรา ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สิ่งหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือ ระบบการกักกันพืช ไม่มี in land quarantine เหมือนกับระบบการกักกันสัตว์ กฎหมายว่าด้วยการกักพืช เน้นการป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชจากต่างประเทศเข้ามาระบาดและตั้งรกรากในประเทศเป็นสำคัญ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเคลื่อนย้ายของศัตรูพืชและพาหะภายในประเทศ เมื่อเกิดปัญหาการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช จึงทำให้การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถสกัดกั้นได้ เพราะการเคลื่อนย้ายศัตรูพืชและพาหะเป็นไปอย่างเสรี
          อย่างไรก็ตาม กฎหมายว่าด้วยการกักพืชของไทย ยังเปิดช่องให้สามารถควบคุมแหล่งที่มีศัตรูพืชระบาดรุนแรงได้ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 กล่าวคือ เมื่อมีศัตรูพืชชนิดที่อาจก่อความเสียหายร้ายแรงปรากฎขึ้นในท้องที่ใด หรือมีเหตุอันสมควรควบคุมศัตรูพืชในท้องที่ใด ให้อธิบดีมีอํานาจประกาศกําหนดท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชและประกาศระบุชื่อ ชนิดของพืช ศัตรูพืชและพาหะที่ควบคุมและให้กําหนดสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นขึ้นเท่าที่จําเป็น ประกาศดังกล่าวให้ปิดไว้ ณ ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอําเภอ ที่ทําการของกํานันและที่ทําการของผู้ใหญ่บ้านใน ท้องที่นั้น และในมาตรา 18 ได้กำหนดให้เมื่อประกาศกําหนดเขตควบคุมศัตรูพืชตามมาตรา 17 แล้ว ห้ามมิให้บุคคลใด นําพืช ศัตรูพืชหรือพาหะออกไปนอก หรือนําเข้ามาในเขตควบคุมศัตรูพืช ตามที่ประกาศระบุไว้ เว้นแต่จะได้ผ่านการตรวจและได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น
          การประกาศเขตควบคุมศัตรูพืชตามกฎหมายฉบับดังกล่าว เคยประกาศใช้มาแล้วในสมัยที่จอกหูหนูยักษ์ระบาดในพื้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดไม่กว้างขวางมาก และจอกหูหนูยักษ์มีลักษณะที่เห็นชัดเจน ไม่กระทบต่อพืชเศรษฐกิจอื่น จึงสามารถจัดการได้ง่ายกว่า และอยู่ในวิสัยที่สามารถควบคุมได้ สำหรับหนอนหัวดำ การจัดการแตกต่างจากจอกหูหนูยักษ์อย่างสิ้นเชิงแม้จะใช้กฎหมายในมาตราเดียวกันก็ตาม
          สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานผลกระทบจากการระบาดของหนอนหัวดำ พบว่า จากตัวเลขรายงานการระบาดของกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณการได้ว่า พื้นที่การระบาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 78,954 ไร่ เพิ่มเป็น 81,009 ไร่ ในเดือนสิงหาคม 2560 โดยการระบาดจะเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนประมาณเดือนละ 400 ไร่ ส่งผลให้ผลผลิตมะพร้าวรวมของประเทศลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 7 (ตัวเลขปี 2559) และหากการระบาดของหนอนหัวดำก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสิ้นเชิง จะเกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1 พันล้านบาท แต่หากระดับความเสียหายลดลงเป็นเสียหายปานกลาง จะเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า เดือนละไม่ต่ำกว่า 550 ล้านบาท


          การประกาศเขตควบคุมศัตรูพืชของกรมวิชาการเกษตร ตามกฎหมายว่าด้วยการกักพืช จะต้องกำหนดขอบเขตของการควบคุม ชนิดศัตรูพืชที่จะควบคุม ชนิดพืชหรือพาหะที่ควบคุม และสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่น ณ สถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน พื้นที่เป้าหมายที่จะประกาศเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชในครั้งนี้ คือ พื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  สำหรับสถานตรวจพืชเฉพาะถิ่นของเกาะสมุย กำหนดไว้ที่ท่าเทียบเรือเกาะสมุย ส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กำหนดไว้ที่ จุดตรวจปราณบุรี และจุดตรวจไชยราช อำเภอบางสะพาน  ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคุมและกำจัดให้หนอนหัวดำหมดสิ้นไปจากพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชทั้งสองแห่งโดยเร็ว จึงจะประกาศยกเลิกการเป็นเขตควบคุมศัตรูพืชต่อไป
          ในทางปฏิบัติ อาจเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องจัดการหนอนหัวดำให้หมดสิ้นไป และการป้องกันไม่ให้หนอนหัวดำกลับเข้ามาระบาดในพื้นที่ได้ใหม่ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่และทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพราะการระบาดของหนอนหัวดำได้กระจายตัวออกจากจุดเริ่มต้นไปไกลพอสมควรแล้ว การกำจัดในพื้นที่หนึ่ง ในขณะอีกพื้นที่หนึ่งยังเป็นแหล่งอาศัยของหนอนหัวดำ อีกทั้งพาหะของหนอนหัวดำไม่ได้มีเฉพาะมะพร้าวเท่านั้น ยังมีพืชตระกูลปาล์มอีกหลายชนิด รวมทั้งกล้วยด้วย ระบบการเฝ้าระวังและติดตามการระบาดของหนอนหัวดำที่ยังไม่เป็นเอกเทศและเข้มแข็งเพียงพอ การใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องไม่มีจิตสำนึกที่ดีต่อระบบกักกันของประเทศไทย
          ถึงเวลาแล้วหรือไม่ ที่จะทบทวนและพัฒนาระบบกักกันพืชของไทยให้มีความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ ถึงเวลาของการนำระบบ in land quarantine มาใช้ในประเทศแล้วหรือไม่ ถึงเวลาของการทบทวนระบบการติดตามและเฝ้าระวังศัตรูพืช โดยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่แล้วหรือไม่ ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่งาน quarantine จะไม่ใช่งานที่ทำเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า แต่เป็นงานที่อำนวยความมั่นคงและปลอดภัยทางชีวภาพให้กับประเทศ ถึงเวลาแล้วหรือ... คำถามและคำตอบลอยอยู่ในอากาศ

(ขอบคุณ: สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร/ ข้อมูล)


หมายเหตุ ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนมีนาคม 2560

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2561

ฟื้นฟูหลังน้ำท่วมด้วยเกษตรทางเลือก




“…การที่ประชาชนประสบเคราะห์ร้ายเมื่อใด เคราะห์ร้ายนั้นไม่ใช่เฉพาะผู้ที่ประสบภัย เคราะห์ร้ายนั้นตกกับประชาชนทั้งประเทศ เพราะว่าถ้าผู้ที่เคราะห์ร้ายโดยตรงไม่ได้รับการช่วยเหลือ ก็ทำให้ความเดือนร้อนนั้นแผ่มาสู่ส่วนอื่นของประเทศด้วย คนในชาติก็เดือนร้อนด้วย การที่จะบรรเทาความเดือนร้อนก็ทำได้อย่างที่ท่านทำ คือ ผู้ที่ยังพอมีกินอยู่ ก็ควรเผื่อแผ่แก่ผู้ที่เดือดร้อนอย่างนี้ด้วยความสามัคคี ด้วยความเมตตา เราจะบรรเทาความ   เดือนร้อนส่วนรวมได้ จะนำความเป็นปึกแผ่นแก่บ้านเมืองได้ และเป็นกุศลด้วยเพราะว่าไปแผ่เมตตา...
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมกลุ่มอาชีพการเกษตรชลบุรี อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต 
วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๓

ช่วงปลายปี 2559 ต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2560 เกิดปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะเขตพื้นที่สุราษฏร์ธานี พัทลุง สงขลา ตรัง นครศรีธรรมราช และบางส่วนของประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนปกติของภาคใต้ แต่ปัญหาอุทกภัยกลับไม่ใช่เรื่องปกติ ด้วยลักษณะทางภูมิประเทศของภาคใต้ที่มีภูเขาอยู่ตรงกลางก่อนที่จะเป็นที่ราบลงสู่ทะเลทั้งสองด้าน อีกทั้งระยะทางจากภูเขาลงสู่ทะเลไม่ไกลเป็นหลักร้อยกิโลเมตรแต่อย่างใด การระบายน้ำจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่ราบลุ่มภาคกลาง โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมขังจึงมีน้อยกว่า แต่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น และน้ำท่วมก็เกิดขึ้นในฤดูฝนนี้ โดยเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ หลายระลอก เฉพาะในพื้นที่นครศรีธรรมราช เกิดภาวะน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า ระลอก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง การให้ความช่วยเหลือในช่วงที่ประสบอุทุกภัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ปัญหาที่ตามมาคือ การฟื้นฟูหลังน้ำท่วมต้องดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตร เกษตรกรจะดำรงชีพได้อย่างไร เป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากเกษตรกรไม่มีทางเลือกมากนัก และเป็นโอกาสอันดีเช่นกันที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาสาเหตุและหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก เพราะในที่สุดแล้ว ธรรมชาติย่อมยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์เสมอ
ฉีกซอง ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ขอนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกระบวนการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เกษตรกรมีทางเลือกและแนวทางในการฟื้นฟูอาชีพของตัวเองอย่างไร โปรดติดตาม

หลังน้ำท่วม ต้องฟื้นฟู
อุทกภัยในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรในระดับต่างๆ กัน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างทั้งชนิดพืช อายุพืช ความสมบูรณ์ของพืช ระดับน้ำ และระยะเวลาการท่วมขัง เป็นต้น ในส่วนของความสามารถทนต่อสภาพน้ำท่วมขังของไม้ผล พิจารณาได้จากชนิดของไม้ผล โดยกลุ่มที่อ่อนแออย่างมาก ซึ่งอาจตายภายหลังจากน้ำท่วมขังเพียง 24 ชั่วโมง ได้แก่ มะละกอ และจำปาดะ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่อ่อ่อนปานกลาง อาจทนอยู่ได้ระหว่าง 3-5 วัน ได้แก่ กล้วย ส้มเขียวหวาน ทุเรียน มะม่วงกะล่อน มะนาว และขนุน เป็นต้น สำหรับกลุ่มที่ทนทานได้พอสมควร โดยสามารถทนอยู่ได้ระหว่าง 7-15 วัน ได้แก่ ชมพู่ พุทรา ละมุด มะขาม และมะพร้าว ทั้งนี้ สำหรับปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไป อาจสามารถทนน้ำขังได้เป็นเดือน หากน้ำยังไม่ท่วมถึงระดับใบ และในสภาพน้ำท่วมที่เป็นน้ำไหล ต้นไม้มีโอกาสได้รับออกซิเจนที่ละลายมาทำให้ระบบรากนำไปใช้ได้ แต่ถ้าหากน้ำที่ท่วมขังเป็นน้ำนิ่ง ออกซิเจนในน้ำมีน้อย โอกาสการอยู่รอดของต้นไม้ก็น้อยลงไปด้วย ขณะเดียวกันหากต้นไม้มีความสมบูรณ์ ยังไม่มีการติดผล ไม่มีการแตกใบอ่อน ต้นไม้จะสามารถทนน้ำขังได้นานขึ้น เพราะยังมีการสะสมอาหารไว้ในลำต้นสูง ไม่ได้ถูกนำไปพัฒนาเป็นผล ซึ่งจะทำให้การสะสมอาหารในลำต้นน้อยลง เมื่อถูกน้ำท่วมขังจึงมีโอกาสตายได้มากกว่า 
นอกจากนี้อายุหรือขนาดไม้ผลที่มีขนาดใหญ่และอายุมากจะมีความทนทานต่อน้ำท่วมขังได้มากกว่าต้นไม้ที่มีขนาดเล็กและมีอายุไม่มาก เพราะต้นไม้ขนาดใหญ่และอายุมากมีระบบรากที่สมบูรณ์และแข็งแรงกว่า ขณะเดียวกัน ระดับความสูงของน้ำที่ท่วมขัง หากระดับสูงมากจนท่วมกิ่งและใบหรือพุ่มต้นแล้ว โอกาสที่ต้นไม้จะอยู่รอดจะมีต่ำมาก แต่ถ้าระดับน้ำไม่สูงมาก อยู่เพียงระดับเหนือดินเล็กน้อย ต้นไม้ก็มีโอกาสรอดสูง เพราะออกซิเจนสามารถซึมผ่านลงในน้ำ และเข้าไปในระบบรากของพืชได้ง่ายกว่า  
สภาพการท่วมขังของน้ำ หากเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ หลังจากน้ำลดแล้วมีน้ำท่วมอีกระลอกใหม่ ความทนทานของต้นไม้ต่อน้ำท่วมขังก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ตามรอบของน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นไม้ยังไม่ได้ฟื้นตัวดี ยิ่งเมื่ออยู่ในสภาพที่อากาศร้อนจัด ความรุนแรงของความเสียหายจากน้ำท่วมขังจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่หากมีลมพัดแรงในขณะน้ำท่วม จะส่งผลให้ระบบรากมีปัญหาโยกคลอนได้ด้วย
ดังนั้นการจัดการดินและน้ำหลังน้ำท่วมในสวนไม้ผลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เกษตรกรควรทำหลังน้ำลด เพราะสภาพน้ำท่วมขังทำให้ดินขาดการระบายอากาศ ส่งผลให้รากขาดออกซิเจนซึ่งจำเป็นต่อการหายใจและเป็นที่สะสมของคาร์บอนไดออกไซด์ อินทรียวัตถุในดิน เศษซากพืชและสัตว์ต่างๆ จะถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายโดยกระบวนการไม่ใช้ออกซิเจน ทำให้เกิดก๊าซที่เป็นอันตรายต่อระบบราก รวมทั้งประสิทธิภาพการดูดน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ของระบบรากจะลดลง ทำให้ต้นไม้ขาดน้ำและธาตุอาหารพืช ลำต้นของไม้ผลจะอ่อนแอ ง่ายต่อการที่โรคและแมลงจะเข้าทำลาย ในเบื้องต้นหลังน้ำท่วมใหม่ๆ  ขณะที่ดินยังเปียกอยู่  ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่ และห้ามเข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาด  เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมขังจะมีโครงสร้างง่ายต่อการถูกทำลาย  และเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ซึ่งเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ รวมทั้งจะกระทบกระเทือนต่อระบบรากของพืช ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรม และอาจตายได้ ตลอดจนหาทางระบายน้ำออกจากบริเวณโคนต้นพืชโดยเร็ว   โดยอาจขุดร่องระบายน้ำให้ไหลออกจากพื้นที่ให้มากที่สุด ใช้ไม้ยาวค้ำยันไม้หากพบต้นไม้มีสภาพล้มเอน และระมัดระวังไม่ให้เหยียบบริเวณโค่นต้น และให้ดึงเศษพืชและสัตว์ต่างๆ ที่ดินเลนทับถมออกให้หมด เพราะการสลายตัวของเศษพืชที่ฝังดินและน้ำท่วม ทำให้เกิดความร้อนและก๊าซที่เป็นอันตรายต่อรากพืช 
เมื่อดินแห้งควรขุดหรือปาดเอาดินหรือทรายออกจากโคนต้น และควรตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง  เป็นการลดการคายน้ำของพืชและเร่งให้พืชแตกใบใหม่เร็วขึ้น สำหรับไม้ผลที่กำลังติดผลให้ทำการปลิดผลออกบ้าง เพื่อช่วยต้นพืชอีกทางหนึ่ง จากนั้นเพื่อให้ไม้ผลตั้งตัวเร็วขึ้น ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่พืช เพราะในระยะนี้ระบบรากของพืชยังไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารพืชจากดินได้ตามปกติ  ปุ๋ยทางใบอาจใช้ปุ๋ยน้ำสูตร 12 – 12 - 12  หรือ 12 – 9 – 6  หรือจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21 – 21 – 21 และ 16 – 21 – 27  ละลายน้ำพ่นให้แก่พืชก็ได้  นอกจากนี้สามารถเตรียมปุ๋ยทางใบที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเด็กซ์โตรส 600 กรัม (6 ขีด) ฮิวมิคแอซิด 20 ซีซี (2.5 ช้อนแกง) ปุ๋ยเกล็ดสูตร 15 – 30 - 15  จำนวน 20 กรัม (1.5 ช้อนแกง)   โดยผสมสารดังกล่าวในน้ำ 20 ลิตร (1 ปี๊บ) ควรเติมสารจับใบลงไปเล็กน้อย และอาจใส่สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามความจำเป็นควรพ่น 2 - 3 ครั้ง




นอกจากนี้ควรมีการพรวนดิน เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ทำให้รากพืชแตกใหม่ได้ดีขึ้น สำหรับพืชที่มีปัญหาของโรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา หลังจากน้ำลดแล้ว หากพืชยังมีชีวิตอยู่ ให้ราดโคนต้นพืช หรือทาด้วยสารเคมีกันรา  เช่น เมตาแลคซิล หรือ ฟอสเอทิล- อลูมินั่ม (อาลิเอท)   (กรณีเกิดแผลที่โคนต้นพืชจะถากเนื้อเยื่อพืชที่เสียออกแล้วทาด้วยสารเคมี) โดยสารเคมีดังกล่าวจะใช้กับอาการรากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราพิเที่ยม (Pythium spp.) หรือไฟทอปธอรา (Phytophthora spp.) ส่วนโรครากเน่าและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อราชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อราฟูซาเรี่ยม (Fusarium spp.)  ไรซ็อกโทเนีย  (Rhizoctonia spp.) หรือสเคลอโรเที่ยม(Sclerotium spp.) ให้ราดโคนต้นด้วยสารเคมีพีซีเอ็นบี หรือ เทอร์ราคลอร์ นอกจากนี้อาจมีการปรับปรุงสภาพของดินไม่ให้เหมาะสมต่อการเกิดโรค โดยการโรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ เพื่อให้ดินมีสภาพเป็นด่างเพียงเล็กน้อย
กรณีไม่ใช้สารเคมี สามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาทดแทนได้ โดยเชื้อดังกล่าวเป็นเชื้อราชั้นสูงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืช ซากสัตว์และอินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญได้รวดเร็วบนอาหารเลี้ยงเชื้อราหลายชนิด สร้างเส้นใยสีขาวและผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่ เรียกว่า “โคนิเดีย” หรือ “สปอร์” จำนวนมากรวมเป็นกลุ่มหนาแน่นจนเห็นเป็นสีเขียว เชื้อราไตรโคเดอร์มา เป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราสาเหตุโรคพืชหลายชนิดโดยวิธีการเบียดเบียน หรือเป็นปรสิต และแข่งขันหรือแย่งใช้อาหารที่เชื้อโรคต้องการ นอกจากนี้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ยังสามารถผลิตสารปฏิชีวนะ และสารพิษ ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืช คุณสมบัติพิเศษของเชื้อราไตรโคเดอร์มา คือ สามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชและชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรคพืชทั้งเชื้อราและแบคทีเรียสาเหตุโรคทั้งโรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่ใต้ดิน เช่น โรคเมล็ดเน่า โรคเน่าระดับดิน (โรคกล้ายุบ) รากเน่า หัวหรือแง่งเน่า และโคนเน่า เป็นต้น โรคที่เกิดบนส่วนของพืชที่อยู่เหนือดินไม่ว่าจะเป็นส่วนของ กิ่ง ผล ใบ หรือดอก เช่น โรคลำต้นไหม้ของหน่อไม้ฝรั่ง โรคแคงเกอร์ของมะนาว โรคราดำของมะเขือเทศ โรคใบปื้นเหลืองและโรคดอกสนิมของกล้วยไม้ โรคแอนแทรคโนสของมะม่วงและพริกทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นอกจากนี้ยังสามารถใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรครากเน่าของพืชผักสลัดและผักกินใบต่างๆที่ปลูกในสารละลายธาตุอาหาร (ระบบไฮโดรโพนิกส์) และสามารถแช่เมล็ดข้าวเปลือกก่อนใช้หว่านลงในนาข้าว ช่วยลดการเกิดโรคเมล็ดด่าง เมล็ดลีบ ของข้าวที่เกิดจากการเข้าทำลายของเชื้อราหลายชนิด ตลอดจนช่วยเพิ่มความสมบูรณ์และน้ำหนักเมล็ด และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ด้วย
การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด สามารถใช้ได้หลายวิธีตามโอกาสและความสะดวกของเกษตรกร เช่น ใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์ในสัดส่วน 1:4:100 โดยน้ำหนักสำหรับใส่หลุมปลูก อัตรา 10-20 กรัม (1-2 ช้อนแกง) คลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ก่อนการหยอดเมล็ดพืช หรือหว่านลงแปลงปลูก ด้วยอัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร หรือใช้ผสมรวมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าโดย ใส่ส่วนผสมของเชื้อสด+ปุ๋ยอินทรีย์ ผสมร่วมกับดินหรือวัสดุปลูกอัตรา 1: 4 โดยปริมาตร (20%) นำดินหรือวัสดุปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุงหรือกระถางปลูกพืช กรณีของการคลุกเมล็ดพืชก่อนปลูก สามารถใช้เชื้อสดล้วนๆ อัตรา 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี และถ้าต้องการเชื้อสดในรูปน้ำสามารถใช้เชื้อสดผสมน้ำในอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ จะได้เชื้อชนิดน้ำสำหรับใช้พ่น ราด รดลงดิน หรือพ่นส่วนบนของต้นพืช หรือใช้ปล่อยไปพร้อมระบบการให้น้ำใต้ทรงพุ่มของพืช และใช้แช่ส่วนขยายพันธุ์พืช เช่นเมล็ด หัว เหง้า แง่ง ท่อนพันธุ์ ก็ได้




สร้างทางเลือก

หลังจากการฟื้นฟูสภาพของพื้นที่หลังน้ำลดแล้ว นอกจากการบำรุงรักษาไม้ผลให้กลับมาแข็งแรงสมบูรณ์อีกครั้งในกรณีที่ยังสามารถฟื้นฟูได้แล้ว กรณีที่เสียหายสิ้นเชิงจะต้องวางแผนการผลิตใหม่ทั้งหมด สามารถทำได้ โดยการปลูกแบบไถพรวนน้อยครั้ง โดยใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบา หลังจากที่ดินเริ่มแห้งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วยในตัว และลดการรบกวนดิน ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง คือ การปลูกแบบไม่ไถพรวน  วิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังเปียกชื้นอยู่ และหากยังจะปลูกไม้ผลต่อไป เป็นโอกาสดีที่จะจัดการสวนใหม่ ทั้งวิธีการปลูก และชนิดของไม้ผล ซึ่งสามารถทำได้ ด้วยการปลูกไม้ผลที่ให้ผลผลิตเร็ว เพื่อให้ตอบแทนระยะสั้น ควบคู่ไปกับไม้ผลที่ให้มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนาน ซึ่งเป็นการวางแผนในระยะยาวของเกษตรกรแต่ละราย
สำหรับพื้นที่นา หากข้าวที่ปลูกได้รับความเสียหายเล็กน้อยและอยู่ในช่วงเจริญเติบโต ให้ระบายน้ำออก ควบคุมระดับน้ำให้เหลือประมาณ 5-10 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยให้ข้าวตามอัตราที่กำหนด เมื่อข้าวอายุ 50 วัน และ 60 วัน เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยว กรณีข้าวที่ปลูกได้รับความเสียหายมาก ไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ระบายน้ำออก ปล่อยให้ดินแห้ง ไถกลบตอซังข้าว เตรียมดินปลูกพืชอายุสั้น เช่น ผักอายุสั้นต่างๆ ได้แก่ ผักคะน้า ถั่วฝักยาว ข้าวโพดอ่อน ผักบุ้งจีน เป็นต้น ปล่อยดินแห้ง สามารถไถเตรียมดินได้ ไถกลบตอซังใส่ปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก 2 ตัน ต่อไร่ คลุกเคล้ากับดิน ตากดินประมาณ 14 วัน คลุกปูนขาว เตรียมดินละเอียด ยกแปลงกว้าง 4-5 เมตร และทำร่องน้ำ กว้าง 50 เซนติเมตร ปรับหน้าแปลงให้เรียบ ปลูกผักชนิดต่างๆ ใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำเฉพาะพืช โดยการเพะเมล็ดผักของแต่ละชนิดจะแตกต่างกันไป สำหรับผักบุ้งซึ่งเป็นผักที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ภาย 20-25 วัน ให้นำเมล็ดแช่น้ำไว้ประมาณ 6-12 ชั่วโมง แล้วคัดเอาเฉพาะเมล็ดที่จมไปเพาะ ใช้เวลางอกประมาณ 5-14 วัน อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอก อยู่ที่ 18-25 องศาเซลเซียล หากเป็นผักชี ให้นำเมล็ดมาห่อด้วยกระดาษหรือผ้า แล้วใช้ท่อพีวีซีคลึงให้เมล็ดแตกเป็น 2 ซีก แล้วนำไปแช่น้ำอุ่นประมาณ 2-3 ชั่วโมง หรือจนกว่าเมล็ดจะจม แล้วนำไปเพาะตามปกติ จะทำให้ผักชีงอกเร็วขึ้น ใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน อายุเก็บเกี่ยวของผักชีไทยประมาณ 40-50 วัน ผักชีลาว ประมาณ 55-60 วัน และผักชีฝรั่ง ประมาณ 100-120 วัน  ส่วนพืชตระกูลแตงและกลุ่มพริก ให้นำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่นประมาณ 40-50 องศาเซลเซียล โดยแช่ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง นำเมล็ดที่จมมาเพาะในกล่องพลาสติกถนอมอาหาร โดยวางรองด้วยกระดาษชำระ พรมน้ำให้ชุ่ม ปิดฝาให้สนิท นำไปตากแดดในช่วงเช้าประมาณ 2-3 ชั่วโมง จะทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น ใช้เวลาในการงอก 4-7 วัน  
กรณีปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ การเตรียมพื้นที่ ปล่อยดินแห้งแล้วเข้าเตรียมดินโดยไถดะ ไถแปร หรือคราด นำเมล็ดถั่วคลุกเชื้อไรโซเบียมก่อนนำไปปลูก โดยถั่วพร้า ปลูกแบบโรยเป็นแถว ระยะระหว่างแถว 75-100 เซนติเมตร ใช้เมล็ด 5-8 กิโลกรัม ต่อไร่ ปลูกแบบหยอดเป็นหลุม หลุมละ 2-3 เมล็ด ระยะระหว่างต้น 50-75 เซนติเมตร ใช้เมล็ด 3-5 กิโลกรัม ต่อไร่ อายุ 2-3 สัปดาห์ ถอนแยกเหลือหลุมละ 1-2 ต้น พรวนดินกลบโคนต้น ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 3-9-6 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 20-25 กิโลกรัม ต่อไร่ เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 120-150 วัน ตากเมล็ดไว้ 4-5 วัน นวดเก็บให้มิดชิด เก็บรักษาได้นาน 1-2 ปี สำหรับปอเทือง ปลูกแบบโรยเป็นแถว ระยะระหว่างแถว 75-100 เซนติเมตร ใช้เมล็ด 3-5 กิโลกรัม ต่อไร่ ปลูกแบบหยอดเป็นหลุม  หลุมละ 3-5 เมล็ด ระยะระหว่างต้น 50-75 เซนติเมตร ใช้เมล็ด 3-5 กิโลกรัม ต่อไร่ อายุ 2-3 สัปดาห์ ถอนแยกเหลือหลุมละ 1-2 ต้น พรวนดินกลบโคนต้น ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 3-9-6 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 20-25 กิโลกรัม ต่อไร่ เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 120-150 วัน ตากเมล็ดไว้ 4-5 วัน นวดเก็บให้มิดชิด เก็บรักษาได้นาน 1-2 ปี
นอกจากนี้ กิจกรรมทางการเกษตรที่น่าสนใจ และให้ผลตอบแทนเร็วอีกกิจกรรมหนึ่ง คือ การเพาะเห็ด โดยเฉพาะเห็ดฟาง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสูงมากนัก ใช้เวลาประมาณ 7-9 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ เห็ดฟาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Volvariella volvacea เป็นเห็ดรับประทานได้ชนิดหนึ่ง มีการเพาะในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจำนวนมาก ใช้เป็นส่วนผสมในการประกอบอาหารเอเชียอย่างแพร่หลาย และเรียกชื่อแตกต่างกันไปในหลายประเทศ แต่ก็ยังมีความหมายว่า เห็ดฟาง เหมือนกัน เห็ดฟางที่จำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่มักเป็นเห็ดสด แต่ก็สามารถพบรูปแบบการบรรจุกระป๋องหรืออบแห้งจำหน่ายนอกฤดูเก็บเกี่ยวด้วย
ลักษณะดอกของเห็ดฟาง เมื่อยังอ่อนจะเป็นรูปไข่หรือรูปสามเหลี่ยมมุมป้าน และเมื่อเจริญขึ้นจะปริแตกคงเหลือเยื่อหุ้มรูปถ้วยอยู่ที่โคน ผิวนอกของเยื่อหุ้มส่วนมากจะเปลี่ยนเป็นสีขาวหม่นหรือสีเนื้อ หมวกเห็ดรูปไข่ เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 4–10 เซนติเมตร กลางหมวกมีขนละเอียดสีน้ำตาลดำหรือสีน้ำตาลแดง ครีบสีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน ไม่ยึดติดกับก้าน สั้นยาวไม่เท่ากัน ก้านยาว 4–10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5–1 เซนติเมตร ผิวสีขาวนวลมีขนสีขาว เนื้อเป็นเส้นหยาบสีขาวรวมกันแน่น ตรงกลางก้านกลวง สปอร์รูปรี สีชมพู ขนาด 5–6 × 7–9 ไมโครเมตร ผิวเรียบ เห็ดฟางตามธรรมชาติเจริญเติบโตบนกองฟางข้าวเป็นกลุ่ม 2–6 ดอก และจะถูกเก็บเกี่ยวในระยะที่ยังเจริญไม่เต็มที่ คือยังเป็นตุ่มกลม ๆ ก่อนที่หมวกเห็ดจะผุดออกมา ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4–5 วัน เจริญได้ผลดีที่สุดในภูมิอากาศเขตร้อนที่มีฝนตกชุก เห็ดชนิดนี้ไม่เคยปรากฏประวัติการเพาะปลูกมาก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19
ปัจจุบันการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมเนื่องจากไม่เปลืองพื้นที่ การจัดการง่าย และให้ผลผลิตสูง วัสดุอุปกรณ์สำหรับการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก ประกอบด้วย เชื้อเห็ดฟาง ต้องเป็นเชื้อที่เส้นใยเริ่มเดินใหม่ๆ สังเกตจากเส้นใยที่เดินจากบนลงล่างจนถึงก้นถุง ยังไม่มีดอกเห็ด ไม่มีกลิ่นแอมโมเนีย วัสดุเพาะเห็ดฟางหลักๆ ได้แก่ ฟางแห้ง หญ้าแห้งที่มีเนื้อแน่น เช่น หญ้าขน หรือ หญ้าแฝก ต้นปรือตากแห้ง ต้นเตยตากแห้ง ต้นกล้วยตากแห้ง เปลือกถั่วเขียว   ต่อมาคือ อาหารเสริม เช่น ผักตบชวาสดหรือแห้ง ผักบุ้ง มูลวัว/ควายแห้ง รำ เศษฝ้าย ไส้นุ่น ก้อนเชื้อนางรม/นางฟ้าเก่า เป็นต้น อาหารกระตุ้นเชื้อเห็ด เช่น แป้งสาลี หรือ แป้งข้าวเหนียว โครงครอบตะกร้า ลักษณะโค้งลง และพลาสติกใสคลุมเพื่อรักษาความชื้นและอุณหภูมิ โดยโครงที่ครอบควรห่างจากขอบตะกร้าด้านข้างประมาณ 15-20 เซนติเมตร และด้านบนประมาณ 30 เซนติเมตร สำหรับน้ำที่ใช้เพาะเห็ดฟางควรเป็นน้ำสะอาด หากใช้น้ำประปาต้องปล่อยให้คลอรีนระเหยออกไปอย่างน้อย 1 วัน 
สำหรับพื้นที่ที่ใช้เพาะเห็ดฟางในตะกร้า ควรปราศจากมด และแมลงต่างๆ โดยอาจพลิกดินตากแห้ง และใช้ปูนขาวโรย ปรับพื้นที่ให้เหมาะกับการวางตะกร้า  พื้นซีเมนต์ก็สามารถใช้ได้ แต่พื้นดินมีความเหมาะสมมากกว่าเพราะสามารถเก็บความชื้นและรักษาอุณหภูมิให้สม่ำเสมอได้ดีกว่า จุดวางตะกร้าเพาะเห็ดสามารถวางไว้กลางแจ้ง หรือ ใต้ร่มไม้ก็ได้ แต่ควรมีการป้องกันลมแรงและสัตว์เลี้ยง
วิธีการเพาะเห็ดในตะกร้า ตะกร้าที่ใช้ควรเป็นตะกร้าที่มีขนาดความกว้างของช่องตั้งแต่ ๑ นิ้วขึ้นไป เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว ความสูงประมาณ 11 นิ้ว ส่วนด้านล่างตะกร้าต้องมีช่องระบายน้ำ ถ้าไม่มีต้องเจาะ อย่างน้อย ๕ รู เพื่อช่วยระบายน้ำ หากเป็นตะกร้าที่เคยใช้เพาะเห็ดมาแล้ว ต้องตากแดดฆ่าเชื้อโรคก่อน หากแดดจัดๆ ตากเพียงด้านละ ๑ ชั่วโมงก็เพียงพอ เมื่อตะกร้าพร้อมแล้วให้ใส่วัสดุเพาะที่เตรียมไว้ (ฟาง หญ้าแห้ง ต้นเตย ต้นปรือ ต้นกล้วยตากแห้ง ฯลฯ) ลงไปในตะกร้าความสูงประมาณ ๒-๓ นิ้ว หรือ ราว ๒ ช่องของตะกร้า กดให้แน่นและสม่ำเสมอ หากกดไม่แน่นพอเห็ดจะออกดอกน้อย เพราะเส้นใยเดินเชื่อมถึงกันลำบาก และฟางจะสูญเสียความชื้นได้ง่าย ในทางกลับกัน ถ้ากดแน่นเกินไป ออกซิเจนไม่เพียงพอ เส้นใยเจริญเติบโตไม่ดี ออกดอกน้อยและมีขนาดเล็ก  หลังจากนั้นให้โรยอาหารเสริม ให้ชิดขอบตะกร้า หนาประมาณ 1 นิ้ว ถ้าใช้ผักตบชวาสด ให้ใช้อัตรา ๑ ลิตร ต่อ ๑ ชั้น แต่ถ้าเป็นอาหารเสริมชนิดอื่นให้ปรับสัดส่วนลงมาน้อยกว่าผักตบชวา โดยถ้าเป็นมูลสัตว์ใช้ในอัตราประมาณ ๑ ลิตร ต่อ การเพาะเห็ดฟาง ๑ ตะกร้า หลักการที่สำคัญคือ หากใส่อาหารเสริมมากเกินไป ดอกเห็ดจะเน่าเสียได้ แต่ถ้าใส่น้อยเกิดไป ผลผลิตจะลดลง แต่ไม่มีการเน่าเสีย จากนั้นนำหัวเชื้อเห็ดฟาง ถ้าเป็นชนิดถุงปอนด์ ให้ใช้ในอัตราส่วน ๑ ถุง ต่อ ๒ ตะกร้า ก่อนที่จะใช้ ให้นำหัวเชื้อเห็ดออกมาจากถุง ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ ลงในภาชนะ จากนั้นโรยด้วยอาหารกระตุ้นหัวเชื้อเห็ดฟาง (แป้งสาลีหรือแป้งข้าวเหนียว) ประมาณ ๑ ช้อนโต๊ะ เติมน้ำสะอาดลงไปเล็กน้อย คลุกให้ทั่ว ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง แบ่งออกเป็น ๒ ส่วนเท่ากัน เพื่อใช้สำหรับการเพาะ ๒ ตะกร้า โดยแต่ละส่วน แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนย่อย เนื่องจากแต่ละตะกร้าทำเป็น ๓ ชั้น นำหัวเชื้อเห็ดที่ผสมแล้ว ส่วนย่อยที่ ๑ หยิบเป็นก้อนขนาดประมาณหัวนิ้วมือ วางกดลงเป็นจุดๆ บนอาหารเสริมในบริเวณช่องตะกร้าที่จะให้เกิดดอก ช่องตะกร้าที่ ๒ ทุกช่องจากด้านล่างของตะกร้า ส่วนที่เหลือให้ใส่เป็นจุดๆ บนอาหารเสริม จากนั้นในทำชั้นต่อไปด้วยวิธีการเดียวกัน ความสูงของวัสดุเพาะ จะอยู่ประมาณช่องที่ ๔ ของตะกร้า โดยใช้หัวเชื้อเห็ดที่ผสมแล้ว ส่วนย่อยที่ ๒ ส่วนชั้นสุดท้าย หรือ ชั้นที่ ๓ ก็ทำแบบเดียวกัน แต่การโรยอาหารเสริมให้โรยเต็มพื้นที่ เกลี่ยให้ทั่ว สูงประมาณ ๑ นิ้ว จากนั้นนำหัวเชื้อเห็ดที่ผสมแล้ว ส่วนย่อยที่ ๓ วางตามแบบชั้นที่ ๑ หลังจากนั้น จึงนำวัสดุเพาะมาโรยทับด้านบนอีกทีจนทั่ว ซึ่งจะเหลือความสูงจากปากตะกร้าอีกราว ๓-๔ นิ้ว เมื่อสิ้นสุดการจัดชั้นทั้ง ๓ ชั้น ให้รดน้ำให้ชุ่ม ใช้น้ำประมาณ ๒ ลิตร ต่อ ๑ ตะกร้า หลังจากนั้น ให้นำตะกร้าไว้วาง โดยหนุนให้สูงจากพื้น ๔-๖ นิ้ว เพื่อให้ตะกร้าสัมผัสพื้นโดยตรง สามารถวางตะกร้าเรียงซ้อนทแยงกันได้ แต่ไม่ควรเกิน ๔ ชั้น วางโครงครอบตะกร้าตามระยะห่างที่กำหนด แล้วครอบด้วยพลาสติกใส เพื่อรักษาความชื้นและอุณหภูมิให้พอเหมาะ และใช้วัสดุพรางแสงหากแสงแดดจ้าเกินไป 
ในช่วง ๑-๔ วันแรก เป็นช่วงเป็นเส้นใย เห็ดเริ่มใช้อาหารในการเจริญเติบโต การคายคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่มาก จึงไม่จำเป็นต้องมีการระบายคาร์บอนไดออกไซด์ แต่พอเข้าวันที่ ๔ ต้องเริ่มเปิดพลาสติกคลุมด้านล่างเพื่อระบายก๊าซออก ในช่วงเช้าและเย็น ครั้งละประมาณ ๑๕ นาที จนกว่าจะเลิกเก็บผลผลิต อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของเห็ด อยู่ประมาณ ๓๘ องศาเซลเซียล ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านั้นให้เปิดวัสดุคลุมด้านบนออกให้เป็นช่องขนาดประมาณ ๓ นิ้ว เพื่อช่วยระบายอากาศออกไปช้าๆ โดยอากาศร้อนมักลอยอยู่ด้านบน จะได้ระบายออกไปได้ แต่ถ้าหากเปิดช่องระบายอากาศกว้างเกินไปจะกระทบต่อการเจริญเติบโตของเห็ด เนื่องจากการลดต่ำลงของอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว เมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงตามต้องการก็คลุมพลาสติกไว้ตามปกติ หรือใช้วิธีการคลุมด้วยวัสดุพรางแสงเพิ่มก็ได้ หากไม่สามารถเปิดช่องระบายอากาศ เมื่ออุณหภูมิสูงได้ กรณีการควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ให้สังเกตจากปริมาณหยอดน้ำที่คิดอยู่ที่วัสดุคลุม โดยเมื่อคลุมวัสดุครั้งแรก ประมาณ ๓๐ นาที จะเริ่มมีหยดน้ำเกาะที่พลาสติกด้านใน ในช่วงแรกที่เป็นเส้นใยความชื้นสัมพัทธ์ต้องอยู่ในระดับดังกล่าว คือ ความชื้นสัมพัทธ์ ประมาณ ๘๕% กรณีที่มีความชื้นมากเกินไป เช่น หลังฝนตกหนัก ให้เปิดวัสดุคลุมด้านล่างออกเล็กน้อย เช่นเดียวกับการระบายก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ ทิ้งไว้ประมาณ ๓๐ นาที จึงคลุมไว้ดังเดิม
สำหรับการเปิดวัสดุคลุมเพื่อกระตุ้นเส้นใยเห็ดฟาง สามารถทำได้เมื่อเส้นใยเจริญเติบโตเต็มวัสดุเพาะ ประมาณช่วงเย็นของวันที่ ๔ หลังจากการเพาะในฤดูหนาว หรือ วันที่ ๕-๖  สำหรับการเพาะในฤดูร้อน เป็นการกระตุ้นให้เส้นใยเปลี่ยนเป็นดอกเห็ด ด้วยการเปิดวัสดุพรางแสงออก และเปิดพลาสติกคลุมออกทั้งหมดในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นที่อุณหภูมิต่ำ เป็นเวลา ๓๐ นาที  ห้ามเปิดในช่วงกลางวัน เพราะเส้นใยจะฝ่อไม่สามารถพัฒนาเป็นดอกเห็ดได้ หลังเปิดวันต่อมา เส้นใยจะรวมตัวกันเป็นดอกเห็ดขนาดเล็ก คล้ายเม็ดผงซักฟอก กระจายบนวัสดุเพาะ  ช่วงวันที่ ๕ เป็นต้นไปจะเป็นช่วงที่พัฒนาเป็นดอกเห็ด จะต้องเปิดพลาสติกคลุมด้านล่างในช่วงเช้าและเย็น นานประมาณช่วงละ ๑๕ นาที เพื่อระบายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รักษาอุณหภูมิให้อยู่ประมาณ ๓๔ องศาเซลเซียล ให้สังเกตความชื้นในกระโจมพลาสติกที่คลุม โดยนำบิดฟางดูถ้าแห้งไม่มีน้ำซึมออกมาแสดงว่าแห้งเกินไป ให้รดน้ำรอบๆ พลาสติกที่คลุม และปล่อยให้น้ำซึมผ่าน ระวังไม่ให้น้ำหยดใส่วัสดุเพาะโดยตรง เพราะจะทำให้ดอกเห็ดฟ่อ หากความชื้นสูงเกินไป การระบายอากาศไม่ดี เส้นใยจะไม่สามารถเจริญเติบโตได้  
ในช่วงวันที่ ๗ จะเป็นช่วงที่ดอกเห็ดเจริญเติบโตพร้อมเก็บ โดยลักษณะดอกเห็ดที่ตลาดต้องการต้องเป็นดอกตูม ด้านโคนเห็ดกว้างด้านหมวกเห็ด  อย่างไรก็ตาม หากเพาะรับประทานเอง สามารถเก็บเห็ดที่ระยะขนาดความกว้าของโคนกับหมวกเห็ดเท่ากันก็ได้ สำหรับการเลือกดอกเห็ดที่ออกเป็นกลุ่มขึ้นเป็นกระจุก ทั้งอ่อนและแก่ ถ้ามีดอกเล็กมากกว่าดอกใหญ่ ควรรอเก็บเมื่อดอกเล็กโต หรือให้ดอกส่วนใหญ่ในกลุ่มมีขนาดตามต้องการ ใช้มีดที่มีคมหรือคัตเตอร์ ตัดออกจากวัสดุเพาะได้เลย หลังจากนั้นสามารถเก็บเห็ดได้ต่อไปอีกประมาณ ๑ สัปดาห์ ผลผลิตเห็ดรวม ๑ ตะกร้า ประมาณ ๘-๑๐ กิโลกรัม ขึ้นกับวัสดุเพาะและการดูแล


ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยในครั้งนี้ นอกจากได้เห็นน้ำใจของคนไทยด้วยกันแล้ว ยังได้เห็นหัวใจนักสู้ของชาวใต้ เกษตรกรรายหนึ่งเล่าให้ฟังอย่างขำๆ ว่ามันก็เป็นอย่างนี้ทุกปี เสียแต่ว่าปีนี้มาหลายรอบหน่อย เหตุการณ์ครั้งนี้ยังทำให้หลายฝ่ายได้ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งเกษตรกรเองจะได้ทบทวนระบบการผลิตของตนเองว่า ควรจะพัฒนาไปแนวทางใด จึงจะสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง เพราะแต่ละรายก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ขอเพียงให้มั่นใจได้ว่าภาควิชาการยังคงพร้อมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตรของเกษตรกรในทุกๆด้าน 
การพึ่งพาตนเองได้ ยืนบนขาของตนเอง คือ ความภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตร ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน 

(ขอบคุณ: สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน, สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8  สุราษฎร์ธานี ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร/ ข้อมูล)

หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมน์ ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือน กุมภาพันธ์ 2560