ความรู้สึกส่วนตัวในช่วงนี้เหมือนจะแปรปรวนไปกับสภาวะอากาศของไทย นับว่าเป็นปีที่อากาศหนาวยาวนานกว่าหลายๆปีที่ผ่านมา ความแปรปรวนของอากาศที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของเราๆ
ท่านๆ แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการออกดอกติดผลของไม้ผลอีกด้วย อย่างเช่นลิ้นจี่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม
คาดว่าปีนี้น่าจะติดดอกออกผลกันไม่น้อย
การบริหารจัดการไม้ผลในประเทศไทย
จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากเราเป็นประเทศแหล่งผลิต ไม้ผลเมืองร้อนที่สำคัญ มีไม้ผลเด่นๆ
หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียนที่ได้รับสมญานามว่าเป็น ราชาแห่งผลไม้ เคียงคู่กับราชินีแห่งผลไม้เช่นมังคุด
หรือแม้แต่ลำไย เงาะ มะม่วง ส้มโอ สละ ลองกอง ชมพู่ ฝรั่ง มะละกอ กล้วยหอม
และสับปะรด เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของคนรักผลไม้เมืองร้อนเป็นอย่างมาก
และด้วยความหลากหลายของชนิดผลไม้จึงทำให้ประเทศไทยมีผลไม้บริโภคทั้งปี
ผลไม้ชนิดเดียวกัน หากปลูกคนละพื้นที่ก็จะทำให้การสุกแก่แตกต่างกัน
เช่นลำไยภาคตะวันออก จะสุกแก่ก่อนลำไยภาคเหนือ ทุเรียนและมังคุดภาคตะวันออกก็จะสุกแก่ก่อนทุเรียนและมังคุดภาคใต้
เป็นต้น
“ฉีกซอง” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก ขออุทิศให้กับคนรักผลไม้ทุกท่าน
โดยจะขอนำท่านผู้อ่านไปรับทราบสถานการณ์ของไม้ผลในฤดูการผลิตนี้
เขาบริหารจัดการประมาณการกันอย่างไร โปรดติดตาม
Fruit Board ?
สำหรับท่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการไม้ผลอาจไม่ทราบว่าภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการไม้ผลเพียงใด
ถึงกับออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาและบริหารจัดการไม้ผล
ในสมัยรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2550 และให้มีผลหลังจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป
ระเบียบฉบับนี้ได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รักษาการ
เหตุผลหลักของการออกระเบียบดังกล่าว คือ
เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับผลไม้ในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
รวมทั้งสร้างเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ
เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก
และสร้างความมั่นคงในอาชีพการปลูกและการผลิตผลไม้
ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง
เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการไม้ผล หรือ Fruit Board โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
และมีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเลขานุการ
พร้อมกับเจ้าหน้าทีของกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ช่วยเลขานุการรวมไม่เกิน 2 คน คณะกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
ทำหน้าที่รองประธาน คนที่ 1 และ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทำหน้าที่ รองประธานคนที่ 2 นอกนั้นเป็นผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรวม
16 หน่วยงาน 18 คน ผู้แทนเกษตรกร 1
คน ผู้แทนสถาบันเกษตรกร 2 คน ผู้แทนภาคเอกชน 2
คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน
รวมคณะกรรมการทั้งสิ้น 30 คน
คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ
เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี และสนับสนุนให้หน่วยของรัฐ ผู้ประกอบการ
และสถาบันเกษตรกรร่วมมือดำเนินการให้มีเอกภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประสานงานหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร
ในการกำหนดมาตรฐานการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
ส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและภาคเอกชนในการรวมกลุ่ม
หรือจัดตั้งองค์กร เพื่อให้มีบทบาทในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
รวมทั้งสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานของรัฐ
คณะกรรมการภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการผลิต การพัฒนาคุณภาพ
การแปรรูป การตลาด
และการบริหารจัดการผลไม้เพื่อแก้ไขปัญหาในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
รวมทั้งประสานการจัดทำแผนและโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
และให้มีอำนาจในแรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ออกประกาศหรือคำสั่ง และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดให้กรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ
ทำหน้าที่รวบรวมและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
ประสานงาน ให้คำแนะนำ
และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
คณะกรรมการฯดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ
รวม 6
คณะ และคณะทำงาน 1 คณะ ประกอบด้วย
คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ
คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย คณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มไม้ผลเศรษฐกิจ
1 (มะม่วง กล้วยหอม
กล้วยไข่ ส้มโอ มะละกอ มะปราง มะยงชิด และทับทิม) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มไม้ผลเศรษฐกิจ
2 (ฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร ขนุน องุ่นมะขามหวาน กระท้อน
น้อยหน่า และอื่นๆ) คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคเหนือ
คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคอื่นๆ
และคณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ
สถานการณ์ไม้ผล
ปี 61
จากที่กล่าวมาข้างต้น
ภายใต้คณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board มีคณะทำงานอยู่คณะหนึ่ง
คือ คณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ
ซึ่งมีรองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน
และผู้อำนวยการส่วนสารสนเทศการผลิตพืชสวน ศูนย์สารสนเทศการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นเลขานุการ สำหรับผู้ช่วยเลขานุการ ประกอบด้วย
ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และวางระบบข้อมูล ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร และ
ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร คณะทำงานดังกล่าวทำหน้าที่วางระบบและมาตรฐานการดำเนินงานด้านการจัดทำข้อมูลการผลิตไม้ผล
และการประมาณการผลผลิตล่วงหน้า เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตามสถานการณ์ผลไม้ประจำปี และประกาศข้อมูลพื้นที่การผลิต
ประมาณการผลผลิตล่วงหน้าและต้นทุนการผลิตประจำปี ตามกำหนดเวลา
โดยผลไม้ภาคตะวันออกและลิ้นจี่ภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ภายในเดือนมกราคม
และครั้งที่ 2 ภายในเดือนกุมภาพันธ์
ผลไม้ภาคใต้และลำไยภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ภายในเดือนมีนาคม
และครั้งที่ 2 ภายในเดือนเมษายน สุดท้ายส้มเขียวหวานภาคเหนือ
ครั้งที่ 1 ภายในเดือนกรกฎาคม และครั้งที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม
สำหรับฤดูการผลิต ปี 2561 คณะทำงานฯ ได้สรุปผลการจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิตผลไม้ 6 ชนิด ประกอบด้วย ลำไย ภาคเหนือ 8 จังหวัด (เชียงใหม่
ลำพูน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ตาก ลำปาง) ลิ้นจี่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน) และทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง
ภาคตะวันออก 3 จังหวัด (จันทบุรี ระยอง และตราด) ณ
เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ดังนี้ ลำไย ภาคเหนือ ประมาณการผลผลิตรวม 659,134 ตัน
เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 7.45 เป็นลำไยในฤดู
386,303 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.28)
ออกมากในช่วงเดือนสิงหาคม ในขณะที่ประมาณการลำไยนอกฤดูราว272,831 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.74) ออกมาในช่วงเดือนมกราคม
สำหรับลิ้นจี่ ภาคเหนือ ปริมาณผลผลิตรวม 39,705 ตัน
ผลผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.5 เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น
และในพื้นที่เชียงราย ช่วงที่ลิ้นจี้แตกตาดอก
เกิดฝนตกส่งผลให้ตาดอกเปลี่ยนเป็นตาใบแทน ผลผลิตรวมจึงลดลง ทั้งนี้คาดว่าผลผลิตลิ้นจี่ภาคเหนือจะออกมากในเดือนพฤษภาคม
ส่วนทุเรียนภาคตะวันออกในปีนี้
คาดว่าผลผลิตรวมอยู่ที่ 436,117
ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.26 เนื่องจากพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
แต่ผลผลิต/ไร่ลดลง เพราะเกิดปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า ทำให้ทุเรียนยืนต้นตาย ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนกรกฎาคม
และออกมากในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงปลายเดือนพฤษภาคม
ในขณะที่ประมาณการผลผลิตมังคุดภาคตะวันออกสำหรับฤดูการผลิตนี้อยู่ที่ 152,839
ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.55 เนื่องจากปีที่ผ่านมามังคุดออกผลมาก
คาดว่าปีนี้มังคุดจะพักตัวสะสมอาหาร การออกดอกไม่เต็มต้น
อีกทั้งมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคตะวันออกส่งผลให้มังคุดแตกยอดอ่อนแทนการออกดอก
คาดว่าผลผลิตมังคุดจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม
และผลผลิตจะออกสู่ตลาดสูงสุดในช่วงกลางเดือนมิถุนายน
สำหรับเงาะภาคตะวันออก
ประมาณการผลผลิตอยู่ที่ 198,283
ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.24
เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้เงาะออกดอกเร็ว
ปัจจุบันเงาะออกดอกแล้วกว่าร้อยละ 80 ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม
และจะกระจุกตัวในช่วงเดือนมิถุนายน ส่เวนลองกองประมาณการผลผลิตไว้ที่ 23,781
ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.97 เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่จันทบุรี
ได้ตัดต้นลองกองที่ปลูกแซมพืชหลัก เช่น ทุเรียน ลงเป็นจำนวนมาก
คาดว่าผลผลิตลองกองจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนตุลาคม
และจะออกมากในช่วงเดือนกรกฎาคม
คาดการณ์ผลผลิตไม้ผล
ปี 2561
(ประมาณการ ณ กุมภาพันธ์ 2561)
ผลไม้
|
ภาค
|
ผลผลิต
(ตัน)
|
||||
2560
|
2561
|
+/-
|
%
|
ออกมาก
|
||
ลำไย
|
เหนือ
8
จว.
|
613,416
|
659,134
|
45,718
|
7.45
|
ส.ค.
|
-ในฤดู
|
377,679
|
386,303
|
8,624
|
2.28
|
ส.ค.
|
|
-นอกฤดู
|
235,737
|
272,831
|
37,094
|
15.74
|
ม.ค.
|
|
ลิ้นจี่
|
เหนือ
4
จว
|
42,0037
|
39,705
|
-2,332
|
-5.55
|
พ.ค.
|
ทุเรียน
|
ตะวันออก
|
422,365
|
436,117
|
13,752
|
3.26
|
เม.ย.-
พ.ค.
|
มังคุด
|
ตะวันออก
|
153,678
|
152,839
|
-839
|
-0.55
|
มิ.ย.
|
เงาะ
|
ตะวันออก
|
192,055
|
198,283
|
6,228
|
3.24
|
มิ.ย.
|
ลองกอง
|
ตะวันออก
|
24,015
|
23,781
|
-234
|
-0.97
|
ก.ค.
|
ที่มา : คณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ คณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ (2561)
สำหรับการบริหารจัดการผลไม้ในปี 2561
คณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ ได้กำหนดหลักการการบริหารจัดการไว้ คือ มีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน
เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสม
โดยเน้นให้จังหวัดบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตนเอง ผ่านทางคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด
(คพจ.) ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ
ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลไม้ทั้งในและนอกฤดู
ประกอบด้วย การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิต
จัดฝึกอบรมและศึกษาดูงานสวนไม้ผลที่ประสบความสำเร็จ จัดทำแปลงเรียนรู้แก่เกษตรกร
เช่น การควบคุมทรงพุ่ม ตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งช่อดอก ช่อผล ห่อผล
การจัดการดิน-น้ำ-ปุ๋ย การใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ถูกวิธี
การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธีและเหมาะสม
ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์
ส่งเสริมการผลิตไม้ผลนอกฤดูในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีตลาดรองรับ
รวมทั้งการจัดระ-ปุ๋ย การใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ถูกวิธี
การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธีและเหมาะสม
ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์
ส่งเสริมการผลิตไม้ผลนอกฤดูในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีตลาดรองรับ
รวมทั้งการจัดระบบการผลิต
และการวางแผนการผลิตในแต่ละพื้นที่เพื่อให้มีผลผลิตต่อเนื่องตลอดปี นอกจากนี้ยังส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านไม้ผลอื่นๆ
ส่วนการบริหารจัดการเชิงปริมาณ
เน้นการบริหารจัดการด้วยการจัดสมดุลอุปสงค์
ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต (Supply) อย่างละเอียด ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเชื่อมโยงและหาตลาดรองรับผลผลิต
โดยจัดทำข้อมูลทางการตลาด (Demand) อย่างละเอียดเช่นกัน
จากนั้น คพช. จะนำข้อมูลทั้งสองด้านมาปรับสมดุลและสอดคล้องกัน เน้นผลลัพธ์สุทธิ
ทั้งนี้หลังการปรับสมดุลแล้ว
ข้อมูลประมาณการผลผลิตไม่ควรอยู่ในภาวะที่สูงกว่าข้อมูลความต้องการของตลาด
และต้องกำหนดแผนเผชิญเหตุรองรับในช่วงที่ผลผลิตออกมาก
ทั้งการกระจายผลผลิตด้วยกลไกของ คพช. หรือหากไม่สามารถดำเนินการได้สามารถใช้กลไกของคณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ได้
การกำหนดมาตรการดำเนินการเชิงรุกของคณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้
แบ่งออกเป็น 3
ระยะ คือ ระยะก่อนเก็บเกี่ยว ระยะเก็บเกี่ยว และระยะหลังเก็บเกี่ยว โดยระยะก่อนเก็บเกี่ยว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบในการส่งเสริมการผลิตไม้ผลนอกฤดู
เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของผลผลิต ตลอดจนเน้นการพัฒนาคุณภาพผลผลิตเป็นหลัก
สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตไม้ผลคุณภาพ การจัดการเรื่องดิน-น้ำ-ปุ๋ย
ให้สอดคล้องกับความต้องการของพืช การตัดแต่งช่อดอก การตัดแต่งผล
การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระยะออกดอกติดผล การห่อผล การเก็บเกี่ยว
การคัดแยกชั้นคุณภาพ การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกวิธี
รักษาความสดให้ถึงมือผู้บริโภค และส่งเสริมระบบการรับรองคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับ
นอกจากนี้ยังส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลคุณภาพตามระบบแปลงใหญ่
และทำหน้าที่จัดทำข้อมูลเอกภาพและพยากรณ์ผลผลิตเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาผลผลิตและการตลาด
รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการเชื่อมโยงและเจรจาการค้าล่วงหน้า
ส่งเสริมให้เกษตรกรเสนอแผนการผลิตให้แก่ผู้รับซื้อ
หรือให้ผู้รับซื้อเข้าถึงแหล่งผลิตคุณภาพ
เพื่อให้เกิดการเจรจาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าโดยสมัครใจ
ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต
กำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการชี้เป้าแหล่งผลผลิตผลไม้คุณภาพ
รณรงค์ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะสุกแก่ที่เหมาะสม
ส่งเสริมการบริโภคและประชาสัมพันธ์คุณค่าของการบริโภคผลไม้สด
เพื่อขยายตลาดผลไม้สดภายในประเทศ ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยให้ คพช.
เป็นผู้ดำเนินการและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและรองรับปริมาณผลไม้ในเกรดรองๆ ลงไป
รวมทั้งส่งเสริมการรวบรวม คัดแยก และจัดขั้นคุณภาพผลผลผลิต
การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ
ส่วนกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบดำเนินการสนับสนุนการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ให้มีความคล่องตัว
จัดทำข้อมูลและกำกับสถานประกอบการรับซื้อผลผลิตให้เป็นไปตามกฎหมาย
ผลักดันการส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น ส่งเสริมการเปิดตลาดต่างประเทศใหม่ๆ
ไม่พึงพาตลาดเก่ามากเกินไป ตลอดจนส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายอื่นๆที่ทันสมัย เช่น e-commerce เป็นต้น ส่วนระยะหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต
เป็นระยะของประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในข้างต้น
เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์การกำหนดมาตรการในปีต่อๆ ไป ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ที่เกิดขึ้น ระบบการค้าขายไม้ผลของไทย เพื่อตอบสนองนโยบายการตลาดนำการผลิต
อาจไม่ไปถึงไหน หากภาคการผลิตยังคงหวังให้ภาคการตลาดมาช่วยเพียงฝ่ายเดียว
การสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตให้สามารถพัฒนาเป็นผู้จำหน่ายผลผลิตของตนเองได้
ยังเป็นความหวังสำหรับภาคการเกษตรของไทย
ถึงแม้ว่าความหวังดังกล่าวมันจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์รออยู่
เรียนรู้เพื่อจะเติบโตกันต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน
(ขอบคุณ :
สำนักจัดการและส่งเสริมสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร/ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี……อังคณา
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความดังกล่าวเป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น