Cr: https://globalvillage.world/proudly-europe/denmark/
หลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผ่านพ้นไป ยังคงไม่อาจกล่าวได้ว่าประชาชนชาวไทยคลายความทุกข์โศก แต่ทุกคนเริ่มจัดการกับแนวทางการดำเนินชีวิตของตนเองได้ดีขึ้น น้อมนำกระแสพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานและการดำเนินชีวิต หลายๆคนที่ผู้เขียนรู้จักได้ใช้โอกาสนี้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น นึกถึงตัวเองน้อยลง ทั้งหมดนี้เพื่อประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม โดยทุกคนทุกฝ่ายต่างยึดแนวทางของพระองค์เป็นแบบแผนของตนเอง และทำต่อไป
ช่วงเวลาดังกล่าว
เริ่มมีกระแสเกี่ยวกับสารเคมีทางการเกษตรปะทุขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง
เป็นประเด็นในการใช้หรือห้ามใช้สารกำจัดวัชพืช “พาราควอต”
ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการให้ใช้สารกำจัดวัชพืชดังกล่าวต่อไป ก็ออกมาชี้แจงให้ข้อมูลอีกกด้านหนึ่ง
ในขณะที่ฝ่ายที่คัดค้านก็ออกมาให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง
มีการสร้างกระแสสื่อระหว่างกันไปมา ผู้เขียนในฐานะคนชายขอบอดคิดตามไม่ได้ว่า
การใช้หรือไม่ใช้สารกำจัดวัชพืชดังกล่าว มันมีอะไรซ่อนอยู่หรือไม่
มีอะไรอยู่เบื้องหลังมากกว่าที่ต่างฝ่ายต่างแสดงออกมาให้สาธารณชนได้เห็นเพียงใด
ผู้เขียนจึงขอมองข้ามสถานการณ์ดังกล่าวไปยังจุดที่ไม่ต้องมีการใช้สารเคมีทางการเกษตร
สถานการณ์ดังกล่าวมีโอกาสจะเกิดขึ้นในแผ่นดินแหลมทองนี้ได้หรือไม่
น่าสนใจมิใช่น้อย ดังนั้น “ฉีกซอง” ฉบับเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ขอนำท่านผู้อ่านไปเรียนรู้วิถีของนโยบายลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรของประเทศผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมเช่นประเทศเดนมาร์ก
แผ่นดินแห่งโคนม หนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรป เรียนรู้จากเขาแล้วหันกลับมามองเรา
โปรดติดตาม
วิธีคิด มองเกษตรอินทรีย์
เริ่มลดการใช้สารเคมี
เดนมาร์ก หรือชื่อทางการคือ
ราชอาณาจักรเดนมาร์ก เป็นประเทศในกลุ่มนอร์ดิก มีแผ่นดินหลักตั้งอยู่บนคาบสมุทร Jutland ทางทิศเหนือของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางบกเพียงประเทศเดียว
ทางทิศใต้ของประเทศนอร์เวย์ และตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสวีเดน
มีพรมแดนจรดทะเลเหนือและทะเลบอลติก เดนมาร์กมีดินแดนนอกชายฝั่งห่างไกลออกไปสองแห่ง
คือ หมู่เกาะแฟโรและกรีนแลนด์ ซึ่งแต่ละแห่งมีอำนาจปกครองตนเองสำหรับการปกครอง
ปกครองในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป
แต่ยังไม่เข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโร เดนมาร์กเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ
หรือ NATO มีเมืองหลวง
คือ กรุงโคเปนเฮเกน อยู่บนเกาะ Zealand เมืองสำคัญ
ประกอบด้วย Århus, Aalborg, และ Esbjerg ซึ่งอยู่บนคาบสมุทร Jutland และ เมือง Odense
อยู่บนเกาะ Funen พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นที่ราบไม่มีภูเขา นอกจากหมู่เกาะแฟโร
และเกาะกรีนแลนด์ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลจะมีทั้งที่ราบสูง และภูเขาสูง ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นที่ราบ
มีที่ราบสูงเพียงเล็กน้อย ความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลเพียง 31 เมตร
จุดที่อยู่สูงที่สุดตามธรรมชาติคือเนินเขา Møllehøj อยู่ที่ความสูง
170.86 เมตร เนินเขาอื่นๆในบริเวณ Århus
ตะวันตกเฉียงใต้ คือ Yding Skovhøj ที่ 170.77
เมตร และ Ejer Bavnehøj ที่ 170.35 เมตร
ขนาดผืนน้ำบนผืนดินคือ 210 ตารางกิโลเมตร ในเดนมาร์กตะวันออก และ 490
ตารางกิโลเมตร ในเดนมาร์กตะวันตก
เดนมาร์กคือหนึ่งในประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมนอกจากนี้ยังเป็นรัฐสวัสดิการขนาดใหญ่ที่มีสวัสดิการแก่ประชาชนมากมายอีกทั้งยังติดอันดับประเทศที่มีรายได้เข้าประเทศในอันดับต้นของโลกอีกด้วย
ประสิทธิภาพทางการตลาดของเดนมาร์กก็อยู่ในระดับสูง
นอกจากนี้มาตรฐานการอยู่อาศัยของเดนมาร์กก็อยู่สูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยของยุโรป
รวมทั้งมีการค้าขายเสรีจำนวนมากภายในประเทศ
เดนมาร์กมีตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อประชากรสูงกว่าประเทศในแถบยุโรปทั่วไป
และสูงกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณร้อยละ 15 – 20 ทั้งนี้ยังเป็นประเทศที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูงอีกด้วย
ตลาดแรงงานของเดนมาร์กเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาได้มากที่สุดในยุโรปตามการจัดลำดับของโออีซีดี
(OECD)
ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายสวัสดิการของรัฐที่ให้ตลาดแรงงานยืดหยุ่น ส่งผลให้ตลาดแรงงานในประเทศสามารถว่าจ้าง,
ไล่ออก, หรือหางานใหม่ได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นแรงงานในประเทศจึงไม่ต้องกังวลเรื่องตกงาน
และยังเป็นประเทศที่สามรถขายหรือหาซื้อสินค้าได้อย่างง่ายดาย โดยสิ่งต่างๆ
เหล่านี้เป็นผลมาจากลัทธิเสรีนิยมที่เปิดกว้างทางธุรกิจมาตั้งแต่ในยุคทศวรรษที่
1990 สกุลเงินของเดนมาร์ก คือ โครนเดนมาร์ก โดยอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินของเดนมาร์กถือว่ามั่นคงมาก
สำหรับสินค้าส่งออกมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ส่งไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญ
ได้แก่ อาหารสัตว์, ผลิตภัณฑ์เคมี, ผลิตภัณฑ์จากนม,
ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า, ปลา, เฟอร์นิเจอร์, หนังสัตว์, เครื่องจักร,
เนื้อสัตว์, น้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ และน้ำตาล
ดังนั้น
จะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญและใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก คือ
อุตสาหกรรมสินค้าอาหาร (food
industry) โดยมีสินค้าที่ส่งออก ได้แก่ เนื้อสุกร ไก่ วัว
ผลิตภัณฑ์ประเภทนม เนย (dairy products) เบียร์ สินค้าประมง
และภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญรองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกในการผลิตสินค้าเกษตร
รวมทั้งการขนส่งสินค้าที่เสียง่าย ได้แก่ ตู้แช่แข็ง/แช่เย็นในรถบรรทุก/เรือ
อุตสาหกรรมเคมี (chemical industry) เพื่อป้องกันแมลง โรคพืช
อุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ ขนมิ้งค์ (mink) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์
อุตสาหกรรมด้านเวชภัณฑ์ (pharmaceutical industry) ได้แก่
อินซูลิน (insulin) โดยเดนมาร์กเป็นประเทศผู้นำในการผลิตอินซูลินแห่งหนึ่งของโลก
อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและเครื่องแต่งบ้าน
โดยเดนมาร์กเป็นประเทศที่เอกลักษณ์ในเรื่องการออกแบบที่โดดเด่นและมีคุณภาพ
อุตสาหกรรม software ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT
Industry) เครื่องมือสื่อสารและโทรคมนาคม และอุตสาหกรรม shipbuilding
จากศักยภาพในการผลิตอาหารรองรับประชากรมากกว่า
15 ล้านคนต่อปี หรือมากกว่า 3 เท่าของประชากรในประเทศ นอกเหนือจากศักยภาพในแง่ปริมาณ
เดนมาร์กยังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารที่ก้าวหน้าเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป
เช่นเดียวกับ สินค้าเกษตรและอาหารที่ขึ้นชื่อด้านคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย
และผลิตจากกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากการผลิตสินค้าเกษตรในระบบเกษตรอินทรีย์
ซึ่งเดนมาร์กมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ โดยเดนมาร์กเป็นประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์สูงที่สุดในโลก
และเป็นตลาดเกษตรอินทรีย์ที่มีการพัฒนามากที่สุด ซึ่งยอดขายของเกษตรอินทรีย์ในเดนมาร์กเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลปี 2558
เดนมาร์กมียอดการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ร้อยละ 8.40 ของยอดขายเกษตรอินทรีย์ของโลก และเพิ่มเป็นร้อยละ 9.6 ในปี 2559 รองลงมาได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ร้อยละ 7.7
ลักเซมเบิร์ก ร้อยละ 7.5 และสวีเดน ร้อยละ 7.3 สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับความนิยมบริโภคมากเป็น
10 อันดับแรก ประกอบด้วย ข้าวโอ้ต ร้อยละ 43,8 โยเกริต์รสธรรมชาติ ร้อยละ 41.2 แครอท ร้อยละ 3
น้ำมันปรุงอาหาร/น้ำมันสลัด ร้อยละ 33.1 ไข่
ร้อยละ 31.2 นม ร้อยละ 30.7 แป้ง
ร้อยละ 27.3 กล้วย ร้อยละ 27.3 น้ำผลไม้
ร้อยละ 26.5 และส้ม ร้อยละ 25.9 โดยช่องทางการจำหน่ายที่สำคัญที่สุด
คือ ร้านซุปเปอร์มาร์เก็ตประเภท discount stores และ
super market มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 41.2 และ
39.40 ตามลำดับ
ในขณะที่การซื้อขายผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 13.5
ของยอดขายทั้งหมด
กว่าสถานการณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ของเดนมาร์กจะพัฒนาอย่างโดดเด่นในปัจจุบัน
ย้อนหลังไปในปี 2536 รัฐบาลเดนมาร์กตัดสินใจลดราคาขายปลีกสินค้าเกษตรอินทรีย์ลงเพื่อกระตุ้นยอดขาย
โดยในปี 2538 ได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan for the Advancement of
Organic Food Production) และปี 2542 หน่วยงาน Organic Food
Council ของกระทรวงอาหาร เกษตรและประมง (Ministry of Food,
Agriculture and Fisheries) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์ฉบับที่สอง
เพื่อจัดทำแผนพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระยะปานกลาง ปี 2542-2547
แนวทางการปรับเปลี่ยนสินค้าเกษตรสู่วิธีเกษตรอินทรีย์ การพัฒนาสินค้าและคุณภาพ
การตลาด การกระจายสินค้า การส่งออก การฝึกอบรม การวิจัย
และมีการรวมกลุ่มตั้งชมรม/สมาคมต่างๆ เช่น Danish Association for Organic
Farming (LØJ) และ Danish Organic Trade Association และปัจจุบันอยู่ในช่วงของแผนปฏิบัติการเกษตรอินทรีย์
ปี 2559 – 2561
ในปี
2543 มีผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเดนมาร์ก 3,466 ราย
พื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ (รวมพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยน) รวม 165,258
เฮคตาร์ มีสัดส่วน 6.2% ของพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตร เป็นพื้นที่ที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยสมบูรณ์
93,354 เฮคตาร์ หรือ 2.3% ของพื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรของประเทศ
พื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่อยู่ในเขต Jutland (85.2%),
Zealand (12.0%) และ Funen (2.8%) ตามลำดับ โดยแผนในระยะยาวรัฐบาลเดนมาร์กคาดหวังว่าในปี
2579 สัดส่วนพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์จะเพิ่มเป็นร้อยละ 12
ของพื้นที่การเกษตรของประเทศ และอาหารที่ใช้ในหน่วยงานของรัฐ เช่น
โรงพยาบาล โรงเรียน โรงเรียนอนุบาล และบ้านพักคนชรา
จะต้องเป็นอาหารที่ทำจากผลผลิตอินทรีย์ รวม 5 แสน มื้อต่อวัน
ด้วยวิธีคิดดังกล่าว เดนมาร์กจึงได้กำหนดแผนลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรมาตั้งแต่ปี
2529 ล่วงหน้าก่อนการส่งเสริมการผลิตและการบริโภคเกษตรอินทรีย์ในประเทศกว่า
7 ปี
เพื่อเป็นรากฐานในการเข้าสู่ระบบการผลิตแบบอินทรีย์ทั้งระบบ นับว่าเป็นวิธีคิดที่น่าสนใจมาก
Cr : https://www.lifegate.com/people/lifestyle/denmark-organic-farming
เริ่มแผนปฏิบัติการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
เป็นที่ทราบกันดีว่า
กฎหมายกลุ่มสหภาพยุโรปไม่ได้เรียกสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชว่าเป็น Pesticide แต่เรียกเป็น Plant Protection Product (PPP) รูปแบบและวิธีการปฏิบัติต่อ
PPP มีความแตกต่างไปจากระบบที่ใช้ในประเทศไทย
แต่ยังยึดความปลอดภัยและความเป็นอันตรายเช่นเดียวกัน
สำหรับเดนมาร์กได้เริ่มกำหนดแผนปฏิบัติการลดการใช้สารเคมีทางการเกษตรในปี 2529
เนื่องจากปรากฏข้อมูลว่าในช่วงเวลา 20 ปี (ปี 2513-2533) ความหลากหลายของชนิดพันธุ์พืชป่าในพื้นที่ทำการเกษตรเริ่มลดน้อยลงราวร้อยละ
60 และระหว่างปี 2513-2528 ปริมาณนกที่จับได้ในพื้นที่การเกษตรลดลงถึงร้อยละ
70 ดังนั้นเหตุผลหลักในการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
คือ
การปกป้องผู้บริโภคและผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่การเกษตรไม่ให้เป็นอันตรายหรือเกิดความเสี่ยงจากการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
รวมทั้งการกินสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ปนเปื้อนไปกับอาหารหรือน้ำดื่มตลอดจนการปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นอันตรายจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ทั้งทางตรงและทางอ้อมในพื้นที่การเกษตรแหล่งน้ำ ฃฃฃฃฃและแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ
แผนปฏิบัติการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ฉบับแรก ดำเนินการในปี 2529
ครอบคลุมระยะเวลา 10 ปี โดยสิ้นสุดในปี 2540
ซึ่งเป็นการยากที่จะหาระดับที่เหมาะสมของสิ่งแวดล้อมที่สามารถรองรับการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้เพราะในระยะยาวยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของมนุษย์ดังนั้นแผนปฏิบัติการดังกล่าวจึงมุ่งที่จะลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในแผนปฏิบัติการฉบับแรก
จึงกำหนดเป้าหมายให้ลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชลดร้อยละ 25 ในปี 2535 และลดลงร้อยละ 50 ในปี
2540 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของแผนปฏิบัติการ
และสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะต้องเป็นสารที่มีความเป็นอันตรายต่ำ
แนวทางการดำเนินงานที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการ
จะเน้นให้นักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำแนะนำกับเกษตรกรเพื่อลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช อย่างไรก็ตามในช่วงปีแรกของแผนปฏิบัติการการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชกลับเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากการให้คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญกับเกษตรกรไม่ประสบผลสำเร็จ ในปี 2535
เป้าหมายลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชลดร้อยละ 25 ไม่ประสบผลสำเร็จ
กลายเป็นว่าในปีดังกล่าวการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องปรับแนวทางการดำเนินงานใหม่
แนวทางการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการฉบับแรก
ได้รวมการปรับปรุงพฤติกรรมของเกษตรกรในการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้มีความรู้และทักษะที่ถูกต้อง
ตลอดจนการบำรุงรักษาเครื่องพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เหมาะสม ตั้งแต่ปี 2536 รัฐบาลเดนมาร์ก
กำหนดให้ผู้ทำทำหน้าที่พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อการค้า
จะต้องมีใบประกาศรับรองการพ่นสารดังกล่าวด้วย
ซึ่งผู้ที่จะได้รับใบประกาศจะต้องเข้ารับการอบรมหลักสูตรการพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพื่อการค้าเป็นระยะเวลา
2 สัปดาห์ (74 ชั่วโมง)
เนื้อหาหลักประกอบด้วย การพ่นสาร ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประเด็นด้านสุขภาพ หลักสูตรดังกล่าวมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่ดำเนินการมาก่อนวันที่
1 มกราคม 2534 จะใช้เวลาอบรมเพียง 12
ชั่วโมงเท่านั้น และตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา
เกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 10 เฮกตาร์ ( 62.5 ไร่ ขึ้นไป) จะต้องเก็บข้อมูลผลิตภัณฑ์สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ อัตราการใช้
ชนิดพืช แยกเป็นแปลงให้ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้
รวมทั้งในปีดังกล่าวได้มีการสุ่มตรวจคุณภาพของเครื่องมืออุปกรณ์พ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
จากจำนวนเครื่องพ่นสาร 45,000 เครื่อง พบว่าร้อยละ
70-80 ไม่เป็นที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นรัฐบาลยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานต่ำของเครื่องพ่น
ทั้งนี้ได้ริเริ่มให้มีการเก็บภาษีสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในปี 2539
ผลจากการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฉบับแรก
พบว่า ปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชมีแนวโน้มลดลง
โดยพิจารณาจากปริมาณสารออกฤทธิ์ (active ingredient) แต่ยังคงไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
คือ สิ้นสุดแผนฉบับแรกปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอยู่ที่ราว 4,000
ตัน ของสารออกฤทธิ์ ขณะที่เป้าหมายอยู่ที่ 3,500 ตันของสารออกฤทธิ์ (ร้อยละ 50) โดยที่ปริมาณสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ลดลง
เพราะมีการประกาศห้ามใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมรุนแรง
ในขณะที่เป้าหมาย Treatment Frequency Index (TFI) ซึ่งใช้วัดความถี่ของการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
พบว่า ยังไม่บรรลุเป้าหมายเช่นกัน ค่า TFI ลดลงเพียงร้อยละ 8
เท่านั้น (จาก 2.67 เป็น 2.45) เพื่อทำให้แผนการปฏิบัติการดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย
จึงได้แต่งตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระขึ้นมาเรียกว่า The Bichel Committee ทำหน้าที่ศึกษาและประเมินสถานการณ์กรณีลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระดับต่างๆ
และคณะกรรมการดังกล่าวได้รายงานผลการศึกษาครั้งแรกในปี 2534 ซึ่งได้นำมาพัฒนาเป็นแผนปฏิบัติการ
ฉบับที่ 2 ปี 2543 – 2546 โดยแนะนำให้ใช้กลยุทธ
3 ด้าน ประกอบด้วย การลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชทั่วไป
การลดการเข้าทำลายเขตนิเวศน์ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติ และการเพิ่มการทำการเกษตรแบบอินทรีย์
ซึ่งการทำเกษตรแบบอินทรีย์จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและกลุ่มของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้อง
โดยกำหนดเป้าหมายให้ก่อนสิ้นสุดปี 2546 ค่า TFI ต้องต่ำกว่า 2.0 และพื้นที่โดยรอบแหล่งน้ำและทะเลสาบ
ต้องเป็นเขตปลอดสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ไม่น้อยกว่า 20,000 เฮกตาร์
(125,000 ไร่) ผลปรากฏว่าในปี 2545 ค่า
TFI ลดลงมาอยู่ที่ 2.04 และมีเขตปลอดสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
รวม 8,000 เฮกตาร์ (50,000 ไร่)
สำหรับแผนปฏิบัติการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ฉบับที่ 3 ปี 2547-2552 กำหนดเป้าหมายให้ปีสิ้นสุดแผน ค่า TFI
ต้องต่ำกว่า 1.7 ส่งเสริมการเพาะปลูกโดยไม่ใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
และบริเวณรอบแหล่งน้ำและทะเลสาบเป้าหมายต้องเป็นเขตปลอดสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
อย่างน้อย 25,000 เฮกตาร์ (156,250 ไร่)
โดยเริ่มนำผลไม้และผักมาเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าค่า
TFI สามารถลดลงมาจาก 3.1 ในปี 2533-2536
เป็น 2.1 ในปี 2544-2546 ซึ่งค่าดังกล่าวสามารถลดได้ถึง 1.4 โดยไม่มีผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งในส่วนของเกษตรกรและสังคม
กล่าวโดยสรุปแล้ว
การเปลี่ยนแปลงการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชของเดนมาร์ก เริ่มต้นจากช่วงปี 2524-2528 ปริมาณการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มมากขึ้น ในปี 2529 จึงเริ่มดำเนินการแผนลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ฉบับที่ 1 โดยกำหนดเป้าหมายลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน 10 ปี
และเริ่มพบอนุพันธ์ของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในน้ำใต้ดินในปี 2536 ในปี 2537 จึงเริ่มมีการประกาศห้ามใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายรุนแรง
จากนั้นในปี 2539 ได้นำระบบภาษีมาใช้จากเดิมเก็บภาษีที่อัตราร้อยละ
3 เท่ากันทั้งหมด ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 35 สำหรับสารป้องกันและกำจัดแมลง และร้อยละ
27 สำหรับสารป้องกันและกำจัดวัชพืช และอัตราร้อยละ 3 สำหรับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ใช่สารเคมี และปี 2540 สิ้นสุดแผนการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแผนที่ 1 ช่วงปีดังกล่าวถึงปี 2542 จัดตั้ง Bichel
Committee ศึกษาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้การลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นไปตามเป้าหมาย
และในปี 2542 ดังกล่าวได้เพิ่มอัตราภาษีเป็นร้อยละ 54
สำหรับสารป้องกันและกำจัดแมลง
และร้อยละ 34 สำหรับสารป้องกันและกำจัดวัชพืชและสารป้องกันและกำจัดเชื้อรา
ต่อมาปี 2543 ได้ประกาศใช้แผนลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ฉบับที่ 2 กำหนดเป้าหมายค่า TFI ไว้ที่
2.0 และในปี 2547 ประกาศใช้แผนลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ฉบับที่ 3 กำหนดเป้หมายค่า TFI ที่ 1.7
เมื่อสิ้นสุดแผน ทั้งนี้แผนปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วย
แนวทางการปฏิบัติ 6 แนวทาง คือ การลดความถี่ของการใช้
การสร้าง buffer zone ตลอดแนวแหล่งน้ำ ความเข้มงวดด้านกฎระเบียบในการขึ้นทะเบียน
มาตรการทางภาษี การให้การศึกษาและการฝึกอมรม
และมาตรการสมัครใจเข้าร่วมการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการสนับสนุนองค์ความรู้และเทคนิควิชาการจากงานวิจัยและนักวิจัย
Cr :https://www.copenhagencvb.com/copenhagen/denmark-leads-organic-food-consumption
ก้าวต่อไปคืนสู่ธรรมชาติ
การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชของรัฐบาลเดนมาร์ก
ในปี 2553
พบว่า การใช้ค่า TFI เป็นเกณฑ์พิจารณา
ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ และการใช้มาตรการทางภาษีที่ดำเนินการมาถึงปี 2556
ก็ไม่เพียงพอที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชลงได้ตามเป้าหมายที่กำหนด
ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดใหม่ด้วยการใช้ค่า PLI หรือ
Pesticide Load Indicator ซึ่งเป็นค่าที่สะท้อนผลกระทบของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแต่ละชนิดต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ค่า PLI จึงถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือให้เกษตรกรในการเลือกใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
และเป็นฐานในการกำหนดอัตราภาษีตามระดับความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
สำหรับแผนปฏิบัติการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ฉบับปี 2556-2558 ได้ขยายระยะเวลาออกไปถึงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา กำหนดเป้าหมายให้ลดค่า
PLI ได้ร้อยละ 40 ในปีสุดท้าย โดยคิดจากฐานปี
2554
ระบบของรัฐบาลเดนมาร์ก
การคิดค่าสิ่งแวดล้อมที่รองรับสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช (the
environmental load of pesticide) จะพิจารณาจากสูตรและสารออกฤทธิ์ กรณีเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อม
จะพิจารณารวมถึงการตกค้างในดิน ความสามารถในการสะสมและเคลื่อนย้ายไปกับน้ำ
กรณีความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์
จะพิจารณาจากการสะสมความเป็นพิษในปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ส่วนกรณีความเป็นพิษต่อสุขภาพจะแบ่งออกเป็นระดับ 10-100 จากข้อมูลความเป็นพิษที่แสดงในฉลากผลิตภัณฑ์
รวมไปถึงความเป็นอันตรายในการเก็บรักษาและการใช้ด้วย ค่า Pesticide Load คิดเป็นหน่วยต่อน้ำหนักของผลิตภัณฑ์ (pesticide load/kg of
product) หรือ หน่วยต่ออัตราการใช้มาตรฐาน (pesticide
load/ha) ซึ่งการคำนวณค่า PLI
จะไม่นำไปรวมกับการวัดการลดความเสี่ยงของเกษตรกร โดยสรุปแล้ว ค่า PLI จะใช้ประเมินประสิทธิภาพของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมากกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง
สำหรับระบบภาษีที่นำมาใช้เมื่อวันที่
1 กรกฎาคม 2556 เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
เรียกว่าเป็นภาษีพื้นฐาน
ซึ่งขึ้นกับปริมาณของสารออกฤทธิ์ในสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
3 ส่วน คือ ค่าความเป็นพิษ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และความเป็นพิษต่อระบบนิเวศน์
ระบบภาษีแบบใหม่ทำให้เกิดความแตกต่างของราคาอย่างชัดเจนมากขึ้น
ส่งผลให้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเป็นพิษสูงมีราคาแพง ในขณะเดียวกันสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเป็นพิษต่ำก็มีราคาถูกลงเช่นกัน
โดยอัตราภาษีทีสูงที่สุด คือ cypermethrin ซึ่งเป็นสารกำจัดแมลง
อัตราภาษีอยู่ที่ 1,040 ยูโร ต่อ กิโลกรัม
เปรียบเทียบกับสารกำจัดวัชพืช glyphosate อัตราภาษีอยู่ที่ 6.90
ยูโร/ลิตร ผลจากการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าว พบว่า
สามารถลดค่า PLI ได้ร้อยละ 40 จากข้อมูลการค้าเมื่อสิ้นปี
2558 (ลดลงจาก 3.27 เป็น 1.95) อย่างไรก็ตามยังไม่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นผลมาจากแผนปฏิบัติการดังกล่าวทั้งหมดหรือไม่
ทั้งนี้ แนวทางการใช้สารป้องกันกำจัดวัชพืชที่มีความเป็นพิษต่ำ
เป็นแนวทางที่ดีอีกแนวทางหนึ่งในการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ในภาพรวมของสหภาพยุโรปกำหนด Directive2009/128/EC
ว่าด้วยการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างยั่งยืน
เป็นแนวทางให้กับประเทศสมาชิกปฏิบัติตาม
โดยให้ประเทศสมาชิกกำหนดแผนปฏิบัติการของตนเองภายในปี 2557 และให้ทบทวนในปี
2560 ซึ่งเป็นออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
กลุ่มประเทศสมาชิกที่ยึดหลักความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
และกลุ่มซึ่งยึดหลักความเสี่ยงร่วมกับการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
กลุ่มหลังนี้ ประกอบด้วย ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ ทั้งนี้แต่ละประเทศสามารถกำหนดเป้าหมายและมาตรการของตนเอง
แต่จะต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน สามารถอธิบายได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล
มาตรการที่ดำเนินการมุ่งเน้นให้เกิดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างมีความรับผิดชอบ
ถูกต้อง ถูกวิธี มีการฝึกอบรมอย่างจริงจังสำหรับผู้ใช้เพื่อการค้า ผู้จำหน่าย
และผู้ที่แนะนำการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช มาตรฐานของเครื่องพ่นที่เหมาะสม
การใช้และอุปกรณ์การป้องกันสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชส่วนบุคคลที่ถูกต้องตามหลักความปลอดภัย
มาตรการต่อต้านการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชปลอมไม่ได้มาตรฐาน
แนวทางการดำเนินการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชของสหภาพยุโรป
มุ่งให้เกิดการทำการเกษตรที่ยั่งยืน นำระบบการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสานมาใช้
เพื่อสร้างความสมดุลกลับคืนสู่ธรรมชาติ โดยที่แนวทางของเดนมาร์ก
มีความเข้มข้นมากกว่า นอกจากจะลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชแล้ว
ยังส่งเสริมให้มีการบริโภคและการผลิตสินค้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์
ขยายฐานผู้บริโภคและผู้ผลิตให้กว้างขวางขึ้น
ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตที่จะต้องลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอีกทางหนึ่ง
ประเด็นที่ทางสหภาพยุโรปให้ความเห็นต่อแนวทางการลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่น่าสนใจ
คือ หากมาตรการที่กำหนดมุ่งที่จะควบคุมและลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพียงด้านเดียว
แทนที่จะมุ่งให้เกิดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างยั่งยืน
เป้าหมายของระเบียบที่กำหนดอาจไปไม่ถึง และสุขอนามัยพืช
รวมทั้งการผลิตทางการเกษตรอย่างยั่งยืน อาจจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง
บางทีการตั้งหน้าตั้งตาปฏิเสธ
โดยไม่ได้มองบริบทอื่นๆ อาจทำให้สิ่งที่มุ่งหวัง ผิดเพี้ยนไปได้เช่นกัน
เปิดใจให้กว้าง กายจะได้เป็นสุขกันทุกท่าน หรือท่านผู้อ่านคิดเห็นเช่นไร
(ขอบคุณ :กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์,กรมยุโรป กระทรวงต่างประเทศ http://www.ceureg.com/14/docs/presentations/Session_II_2_Laurent_OGER.pdf
http://eur-lex.europa.eu/LexUriServ/LexUriServ.do?uri=OJ:L:2009:309:0071:0086:en:PDF
http://ec.europa.eu/environment/archives/ppps/pdf/pesticides_en.pdf
http://ec.europa.eu/food/audits-analysis/overview_reports/act_getPDF.cfm?PDF_ID=107 ภาพประกอบ/ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า
สวัสดี……อังคณา
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความดังกล่าวเป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนพฤศิกายน 2560 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น