วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ชั่งหัวมัน...ไร่ของพ่อ

ชั่งหัวมัน...ไร่ของพ่อ




“...คนที่ไปดูก็เห็นว่า เริ่มต้นไม่มีอะไรเลยแต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนที่อยู่ในท้องที่นั้น ก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ ระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะว่าถ้าไม่มีการร่วมมือกัน ก็ไม่ก้าวหน้า ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าอย่างไร ก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำ มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำแล้วก็ทำให้ก้าวหน้า แต่อันนี้มันไม่ใช่กลุ่มหนึ่ง มันทั้งหมดร่วมกันทำ และก็มีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์ และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศชาติจะมีความสำเร็จ...
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชดำรัสพระราชทานให้แก่คณะผู้เข้าเฝ้าฯ ถวายสิทธิบัตรฝนหลวง
ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล
วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๒

          วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐ เป็นวันประวัติศาสตร์และความทรงจำของคนไทยทุกคน เนื่องจากเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิผลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั่วทั้งแผ่นดินตกอยู่ในความทุกข์ระทม เป็นห้วงเวลาที่คนไทยทุกคนมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตลอดระยะเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงครองพระราชย์สมบัติมายาวนานกว่า 70 ปี พระองค์ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทรงปฏิบัติตามพระปฐมบรมราชองค์การอย่างเคร่งครัด นั่นคือ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่มหาชนขาวสยาม” พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ได้สร้างคณูปการให้กับประเทศชาติบ้านเมือง แม้แต่ในช่วงท้ายของพระชนม์ชีพ พระองค์ก็ยังทรงคิดและลงมือปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง นับต่อนี้ไปแนวทางที่พระองค์ทรงดำเนินมาตลอดพระชนม์ชีพ จะยังผลให้กับคนรุ่นหลังๆ ได้ลงมือทำ ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ สร้างความเจริญและความอยู่ดีกินดีให้เกิดขึ้นโดยทั่วกัน
          “ฉีกซอง” ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ ขอนำท่านผู้อ่านไปร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ กับอีกหนึ่งโครงการพระราชดำริในแผ่นดินของพ่อ “โครงการชั่งหัวมัน”

ไร่ของพ่อ
          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีความผูกพันกับพื้นที่โดยรอบพระราชวังไกลกังวลเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากโครงการพระราชดำริจำนวนมากเกิดขึ้นในพื้นที่รอบต่อระหว่างอำเภอหัวหินที่ตั้งพระราชวังไกลกังวลกับอำเภอใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นโครงการหุบกะพงในพระราชประสงค์ โครงการห้วยสัตว์ใหญ่ หรือโครงการห้วยทราย เป็นต้น เช่นเดียวกับโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ
          “ชั่งหัวมัน” เกิดขึ้นจากการที่ราษฎร์ได้นำมันเทศมาถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระราชวังไกลกังวล และมันเทศดังกล่าวถูกวางทิ้งไว้บนตาชั่ง ณ เวลานั้น พระองค์ต้องเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ เป็นเวลาหลายวันกว่าที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวลอีกครั้ง เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไป พระองค์สังเกตเห็นว่า มันเทศได้งอกออกมาเป็นต้นอ่อน จึงดำริว่ามันเทศอยู่ที่ไหนก็สามารถงอกงามและเติบโตได้ แม้จะไม่มีดินก็ตาม จึงเหมาะที่จะปลูกในดินแบบไหนก็ได้ พระองค์จึงได้นำมันเทศนั้นไปปลูกไว้ในกระถางในพระราชวังไกลกังวลก่อนก่อนที่จะหาพื้นที่ทดลองปลูกมันเทศในดินที่สภาพไม่อุดมสมบูรณ์ ระหว่างนั้นในปี ๒๕๕๑ พระองค์ได้ตัดสินพระทัยซื้อที่ดินในพื้นที่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำหนองเสือ จำนวน ๑๒๐ ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคอไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเจ้าของเดิมประกาศขายมาหลายปี แต่ไม่สามารถขายได้ เนื่องจากสภาพดินไม่สมบูรณ์ แห้งแล้ง แปลงเดิมปลูกต้นยูคาลิปตัสไว้ อาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ มีแปลงมะนาวเดิม ๓๕ ไร่ และแปลงอ้อยราว ๓๐ ไร่ ต่อมาในกลางปี ๒๕๕๒ พระองค์ได้ทรงซื้อที่ดินแปลงติดกับอีก ๑๓๐ ไร่ รวมเป็นพื้นที่โครงการทั้งหมด ๒๕๐ ไร่ มีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างแก่เกษตรกรในพื้นที่ และเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจและพันธุ์พืชท้องถิ่น เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๒ โดยพระองค์ได้ทรงพระราชทานพันธุ์มันเทศที่ทรงปลูกไว้ในกระถางที่พระราชวังไกลกังวลมาให้ปลูกในโครงการด้วย หลักการสำคัญของโครงการชั่งหัวมันฯ คือ การให้ประชาชนในพื้นที่มามีส่วนร่วมในการพัฒนา ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน เสียสละให้กิจการเจริญก้าวหน้า แต่ละคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตามความรู้ความสามารถของแต่ละคน ทั้งหน่วยงานราชการ เกษตรกรในพื้นที่ และหน่วยงานด้านการปกครอง มีการปรึกษาหารือร่วมกัน เป็นการทำให้เห็น เกษตรกรในพื้นที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งจากศาลาเก้าเหลี่ยม ริมอ่างเก็บน้ำหนองเสือ เสด็จมาเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมัน ด้วยพระองค์เอง
โดยมีสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม และคุณทองแดง ร่วมตามเสด็จมาในรถพระที่นั่ง เมื่อเสด็จมาถึง ทรงเปิดป้ายโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ โดยวางถุงใส่หัวมันเทศลงบนตาชั่ง เปิดแพรคลุมป้ายชื่อโครงการ มีข้าราชการ ข้าราชบริพาร พสกนิกรที่ปฏิบัติงานในโครงการ และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง มาร่วมกันเป็นสักขีพยาน หลังจากเปิดป้ายโครงการแล้ว ทรงมีพระราชปฏิสัณถารกับข้าราชการที่มาปฏิบัติงาน และราชทานวโรกาสให้ผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคนได้เข้าเผ้าทูลละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด  นายชาย พานิชพรพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีในขณะนั้น (พ.ศ.๒๕๕๒) ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระมาลาที่ทำจากป่านศรนารายณ์ ประดับด้วยตราประจำจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากสมาชิกในโครงการสหกรณ์หุบกะพง ตามพระราชประสงค์ หลังจากนั้น ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรรอบพื้นที่โครงการ ก่อนเสด็จกลับวังไกลกังวล  และพระองค์ได้เสด็จเป็นการส่วนพระองค์มายังพื้นที่โครงการหลายครั้ง จนกระทั่งพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ ต้องเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช โครงการดังกล่าว พระองค์ประสงค์ให้โครงการนี้ เป็นแบบอย่างของความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นจากความสามัคคี ร่วมมือกันของหลายฝ่ายอย่างแท้จริง       
ในระยะเริ่มแรก ได้จัดสรรพื้นที่โครงการปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ มะเขือเทศ มะเขือเปราะ พริก กระเพราะ โหระพา มะนาวแป้น และผักชี  ผลไม้ ได้แก่ สับปะรดปัตตาเวีย แก้วมังกร มะละกอแขกดำ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง ชมพู่เพชรสายรุ้ง กล้วยน้ำว้า กล้วยหักมุก พืชเศรษฐกิจ ได้แก่ อ้อยโรงงาน มันเทศญี่ปุ่น มันเทศออสเตรเลีย มันต่อเผือก มันปีนัง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวเหนียวพันธุ์ซิวแม่จัน ข้าวเจ้าพันธุ์ลีซอ ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวขาว และยางพารา สำหรับการเลี้ยงสัตว์ในโครงการชั่งหัวมัน ดำเนินการในระยะต่อมา มีการเลี้ยงโคนมและเลี้ยงไก่ไข่ โดยให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่มาร่วมดำเนินงานภายในโครงการฯ ทำให้เกิดการเรียนรู้และนำไปปรับใช้กับพื้นที่เกษตรของตนเอง
          โครงการชั่งหัวมันได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรในพื้นที่ ๒ ตำบล คือ ตำบลกลัดหลวง และตำบลเขากระปุก ในระยะแรกเกษตรกรเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร ทรงซื้อผืนดินแห่งนี้ไว้ทำอะไร แต่หลังจากที่พระองค์ได้ทรงริเริ่มโครงการ มีการวางแผนการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ ให้ครบ ซึ่งพระองค์มีพระประสงค์ให้เป็นการทำการเกษตรที่ใช้สารเคมีน้อยที่สุด โดยให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และให้นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ รวมทั้งได้ทรงให้ปรับปรุงระบบระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำหนองเสือ เพื่อสามารถนำน้ำมาใช้ในโครงการนี้ได้ด้วย

โครงการชั่งหัวมัน
 ภาพจาก JoePortfolio / Shutterstock.com 

บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๕ 
          ย้อนกลับไปในระยะแรก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงขับรถยนต์มาจากพระราชวังไกลกังวล ระยะทางประมาณ ๔๐ กิโลเมตรเป็นประจำ ไม่เคยเสด็จมาโดยเฮลิคอปเตอร์  ที่ดินที่พระองค์ทรงซื้อไว้ก็ไม่ใช่ของคนพื้นที่ เพราะที่ดินส่วนใหญ่บริเวณนี้เจ้าของเป็นคนกรุงเทพฯ ในระยะแรกยังไม่มีไฟฟ้าใช้  ปัจจุบันมีไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว เมื่อตอนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน กรมที่ดินทูลถามว่าจะใช้ชื่อผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดิน พระองค์ทรงให้ใช้ชื่อพระองค์เอง และทรงขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่ายาง กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นเกษตรกรทำไร่ รหัสทะเบียนเกษตรกร ๗๖๐๕๑๓-๐๙๒๐-๑-๑ ทะเบียนบ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๕ บ้านหนองคอไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี โดยได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๖ แบ่งออกเป็นทั้งหมด ๖ แปลง โดยเป็นตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ ถึงปี ๒๕๕๙  มีการปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกผลไม้  เพาะเห็ด เลี้ยงโคนม และเลี้ยงไก่ไข่  จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร ทรงเป็นเกษตรกรตัวจริง จากจุดเริ่มต้นด้วยการซื้อที่ดินที่มีสภาพทรุดโทรม เข้าไปสำรวจดินว่าบริเวณนั้นปลูกอะไรได้บ้าง เพื่อศึกษาว่าสามารถเพาะปลูกพืชใด โดยไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงในทันที จากนั้นจึงพัฒนาดินให้ดีขึ้นด้วยวิธีทางธรรมชาติ จากการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ บำรุงดิน ปรับปรุงคุณภาพของดินด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้ดินมีสภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช จึงทรงให้ปลูกพืชตามพระประสงค์ของพระองค์ ซึ่งได้นำพืชผักชนิดต่างๆ พืชท้องถิ่น พืชสุมนไพร ไม้ผล และพืชไร่หลายชนิดมาปลูก ที่สำคัญพระองค์ได้ให้ความสำคัญต่อการปลูกข้าว เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย ดังนั้นในโครงการชั่วหัวมันจึงมีการปลูกข้าวเป็นพื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ นับว่าเป็นศูนย์เรียนรู้ทางการเกษตรที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่ง
          สำหรับการเลี้ยงโคนม เริ่มดำเนินการในปี ๒๕๕๓ โดยนำโคนมที่ปลดระวางจากโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา จำนวน ๑๔ ตัว มาเลี้ยงเพื่อเป็นศูนย์สาธิตการเลี้ยงโคนมให้เกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้ศึกษา การดูแลโคนมแรกคลอดถึงสามเดือนจะให้น้ำนมโคเป็นอาหารหลักวันละ ๔ ลิตร วันละ ๒ เวลา เมื่อโคอายุครบ ๓ เดือน จะเริ่มให้อาหารหยาบ ด้วยการปล่อยให้แทะเล็มหญ้าในแปลง โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนารถบพิตร ได้ให้ความสำคัญกับหญ้าที่ใช้เป็นอาหารโคนม พระองค์ให้ทำแปลงหญ้าแพงโกล่า ใช้เป็นอาหารโคเหล่านี้ เนื่องจากเป็นหญ้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ส่งผลให้โคมีสุขภาพดี และสามารถให้น้ำนมได้ดีด้วย
           ภายในโครงการชั่วหัวมัน ได้ก่อสร้างบ้านพักส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนารถบพิตร เป็นเรือนไม้สองชั้น ครึ่งไม้ครึ่งปูน แบบเรียบง่าย เพื่อให้พระองค์ได้ใช้ประทับเมื่อเสด็จมาทรงงานในโครงการดังกล่าว เรือนไม้ดังกล่าว เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของความพอเพียงในโครงการแห่งนี้ ซึ่งผู้เข้าเยี่ยมชมส่วนใหญ่มักแวะไปเยี่ยมชมเสมอ
          นอกจากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์แล้ว ในบริเวณโครงการชั่งหัวมัน ซึ่งเป็นทุ่งกว้างตั้งอยู่กลางหุบเขาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนารถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสให้นำพลังลมมาใช้ประโยชน์ จึงมีแนวคิดติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้า กลายเป็นทุ่งกังหันลม (Wind Farm) ที่เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของโครงการ กังหันลมเหล่านี้ออกแบบและติดตั้งโดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี  ซึ่งเป็นผลงานของ ผศ.วิรชัย โรยนรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และคณะ ซึ่งได้ออกแบบกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำ เป็นกังหันลมที่เหมาะสมกับกระแสลมในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน มีกระแสลมเบา ความหนาแน่นของลมน้อย ความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ที่ ๔ - ๕ เมตรต่อวินาที ในขณะที่กังหันลมที่ผลิตในยุโรปและอเมริกา ถูกผลิตมาเพื่อใช้กับความเร็วลมสูง เฉลี่ย ๗ เมตรต่อวินาที ทำให้เมื่อติดตั้งในประเทศไทยแล้ว กังหันไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ 
ในปี ๒๕๕๔ สำนักพระราชวังได้ขอความร่วมมือให้ทางศูนย์วิจัยพลังงานไปสำรวจโครงการชั่งหัวมัน เป็นช่วงที่กำลังเริ่มโครงการได้ไม่นาน ผลจากการสำรวจ พบว่า ลมพัดน้อย เบา ไม่แรงมากนัก เหมาะกับการใช้กังหันลมที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ลมความเร็วต่ำ ราคาต้นทุนในขณะนั้นประมาณต้นละ ๑.๒ ล้านบาท แต่จากความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  และมีความต้องการที่จะสร้างถวายพระองค์ สามารถลดต้นทุนให้เหลือเพียงต้นละประมาณ ๐.๗ ล้านบาท และติดตั้งได้จำนวน ๑๐  ต้น ซึ่งเป็นส่วนของศูนย์วิจัยพลังงานสร้างถวาย จำนวน ๑ ต้น และเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๙ ต้น  ทีมวิจัยใช้เวลา ๑ ปีสำหรับการผลิตกังหันลม โดยใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศกว่าร้อยละ ๘๐ มีชิ้นส่วนนำเข้ามาเฉพาะเจนเนอร์เรเตอร์เท่านั้น จากนั้นทดลองผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเพียงพอสำหรับใช้ในโครงการ รวมถึงมีเหลือพอที่จะขายคืนให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกด้วย ต่อมาพระองค์มีพระราชดำริให้สร้างเพิ่มอีก ๑๐ ต้น โดยได้รับงบสนับสนุนจากกองทัพบก ๗ ล้านบาท โครงการชั่งหัวมันจึงเป็นฟาร์มกังหันลมแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีกังหันลม ๒๐ ต้น รวมกำลังการผลิต ๕๐ กิโลวัตต์  ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นฟาร์มไฮบริด โดยนำโซลาร์เซลล์เข้ามาร่วมผลิตไฟฟ้าด้วย ฟาร์มกังหันลมจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของโครงการ และยังสามารถช่วยให้พื้นที่ข้างเคียงมีกระแสไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึงด้วย
          จากที่กล่าวมาข้างต้น โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ มีเป้าหมายหลักในการสนองพระราชประสงค์และพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนารถบพิตร ให้เป็นศูนย์รวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจของอำเภอท่ายาง และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งการจัดการฟาร์มโคนมและโรงเลี้ยงไก่ไข่ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมพาสเจอร์ไรส์และสเตอริไรส์ มีหน่วยทดลองพลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นทุ่งกังหันลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไบโอดีเซล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงโครงการ เข้ามาร่วมกันบำรุงรักษาและแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นตามวิถีการดำรงชีวิตเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
          แนวทางการดำเนินงานของโครงการชั่งหัวมัน เป็นการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการ เพื่อใช้ทรัพยากรธรรมชาติทีมีอยู่อย่างคุ้มค่า ได้แก่ การพัฒนาอ่างเก็บน้ำหนองเสือ เพื่อส่งไปใช้ในโครงการ โดยมีสระเก็บน้ำ ๒ สระ ไว้รองรับน้ำการดละกระจายน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่โครงการ เพื่อใช้เพาะปลูก  ทำฟาร์มปศุสัตว์ และโรงงานแปรรูปนม นอกจากนี้ยังได้เจาะน้ำบาดาล เพื่อใช้ในการอุปโภคอีกด้วย ด้านการตลาดของผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่จากโครงการ จัดจำหน่ายผ่านร้านโกลเด้นเพลช (Golden Place) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทสุวรรณชาด จำกัด ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อควบคุมคุณภาพผลผลิตให้มีคุณภาพและจำหน่ายถึงผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งมีร้านสาขาอยู่ในพื้นที่โครงการอีกด้วย 
          สำหรับการเป็นแหล่งสาธิตทางการเกษตร นอกจากภาคราชการที่เข้าไปร่วมดำเนินการแล้ว ยังมีภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเข้าไปดำเนินการในพื้นที่โครงการด้วย เพื่อให้โครงการเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น โดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดทำแปลงสาธิตยางพาราที่ทันสมัย และนาข้าวทดลองแบบใช้น้ำบังคับให้ได้ผลผลิตสูงและลดต้นทุนการผลิต เครือไทยเบฟ จัดทำแปลงสาธิตการปลูกมันเทศญี่ปุ่น สลับกับการปลูกข้าว เป็นอาชีพที่สามารถทำรายได้เลี้ยงครอบครัวขนาดเล็กได้ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำแปลงสาธิตสำหรับการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงในพื้นที่จำกัด ๑ ไร่ และเงินลงทุน ๑ แสนบาท รวมทั้งการเพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อประโยชน์ในการบำรุงดิน และเป็นรายได้เสริมให้เกษตรกรได้ด้วย
          ปัจจุบันโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากอย่างอัศจรรย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนารถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้สนใจศึกษาดูงานและเปิดให้เข้าชมได้ โดยหยุดทุกวันจันทร์ อัตราค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ ๒๐ บาท เด็ก ๑๐ บาท โดยเมื่อเข้ามาในพื้นที่โครงการในส่วนบริการผู้เข้าชม ประกอบด้วย อาคารร้านโกลเด้นเพลส พิพิธภัณฑ์ดิน สถานีจ่ายน้ำมันที่ใช้ในโครงการ รวมทั้งมีจักรยานไว้บริการ พร้อมกันรถชมโครงการ และมี Land Mark ที่น่าสนใจหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นป้ายชื่อโครงการ สัญลักษณ์ตาชั่งหัวมัน ทุ่งกังหันลม เรือนทรงงาน โรงนม หรือบริเวณสันอ่างเก็บน้ำ หากสนใจเยี่ยมชมโครงการเป็นหมู่คณะ สามารถติดต่อไปได้ที่ ผู้จัดการโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๕ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ๗๖๑๓๐  โทรศัพท์ ๐๓๒ ๔๗๒ ๗๐๐ – ๓ โทรสาร ๐๓๒ ๔๗๒ ๗๐๒ อีเมล์ chmrpth@gmail.com

ทั้งหมดนี้ คือ การสอนให้ประชาชนของพระองค์รู้จักวิธีการตกปลาเองอย่างแท้จริง เป็นการทำให้เห็น จึงเป็นโอกาสอันดีที่เราๆ ทั้งหลายจะได้เรียนรู้ ไม่ใช่เฉพาะการทำการเกษตรเท่านั้น แต่กลับเป็นการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคอันใด วันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงเป็นเสมือนวันแห่งการเรียนรู้ในศาสตร์ของพระราชาให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นต่อไป เรียนรู้เพื่อน้อมนำมาปฏิบัติให้เห็นผลจริง ตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงปฏิบัติให้เห็นจริงมาตลอดพระชนม์ชีพ
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ตราบนิรันดร์

(ขอบคุณ : โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ http://chmrp.weebly.com/ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี http://www.pr.rmutt.ac.th/news/5752 ข้อมูล)

พบกันใหม่ฉบับหน้า                                                                                สวัสดี……อังคณา 

หมายเหตุ
บทความดังกล่าวเป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนตุลาคม 2560 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น