วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

อ้อยและน้ำตาลเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลง

Image may contain: plant, grass, sky, outdoor and nature   
Cr : FB ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี          

                
             บรรยากาศเดือนสุดท้ายของปี 2560 ไม่ได้รู้สึกถึงความสนุกสนานรื่นรมย์เหมือนทุกปีที่ผ่านมา เป็นปีที่บรรยากาศรอบตัวคล้ายกับว่าทุกสิ่งคงต้องดำเนินไปเช่นนั้น ท่ามกลางความเป็นไปของเหตุการณ์ต่างๆในสังคม
เกิดมุมสะท้อนกลับที่ส่งสัญญาณมาพอสมควรแล้ว จนทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดคำหนึ่งที่ว่า เราจะเปลี่ยนตัวของเราเอง หรือ เราจะต้องให้สิ่งอื่นมาเปลี่ยนตัวเรา การเปลี่ยนแปลงเช่นใดที่จะทำให้เรากำหนดทิศทางของตัวเราได้ดีกว่ากัน คงไม่ต้องเฉลยกันในที่นี้
          “ฉีกซอง” ฉบับท้ายปี 2560 จึงขอนำท่านผู้อ่านไปรับทราบการเปลี่ยนแปลงของอ้อยและน้ำตาลทรายไทย พลิกไปอย่างไร ถึงไหน โปรดติดตาม

อ้อยและน้ำตาล
          ในภาพรวมความต้องการน้ำตาลทรายดิบของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะความต้องการของประเทศในเขตภูมิภาคเอเชีย คือ อินเดีย และ กลุ่มสหภาพยุโรป ช่วงปี 2555/56-2559/60 การบริโภคน้ำตาลทรายดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ต่อปี จาก 165.29 ล้านตันในปี 2555/56 เป็น 171.87 ล้านตัน ในปี 2559/60 ทำให้การส่งออกน้ำตาลทรายดิบเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ยิ่งในช่วงที่ราคาน้ำตาลทรายดิบปรับตัวสูงขึ้น (ปี 2556 และปี 2559) ปริมาณการส่งออกก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่ถ้าราคาน้ำตาลทรายดิบลดต่ำลง ปริมาณการส่งออกก็จะลดลงและถูกนำไปผลิตเป็นเอทานอลเพิ่มมากขึ้น
          สำหรับตลาดน้ำตาลโลกนับเป็นตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย ผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก คือ บราซิล (ร้อยละ 49)  ไทย (ร้อยละ 14) ออสเตรเลีย (ร้อยละ 7) ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ บราซิล (ร้อยละ 22) อินเดีย (ร้อยละ 14) สหภาพยุโรป (ร้อยละ 9) และ ไทย (ร้อยละ 6) ส่วนผู้บริโภคที่สำคัญ คือ อินเดีย (ร้อยละ 16) สหภาพยุโรป และแอฟริกา (ร้อยละ 11) จีน และ สหรัฐอเมริกา ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าในภูมิภาคเอเชีย ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีศักยภาพในการส่งออกน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอุตสาหกรรมน้ำตาลในไทย เกี่ยวข้องกับครัวเรือนเกษตรกรราว 427,000 ครัวเรือน จำนวนเกษตรกรประมาณ 927,000 คน มูลค่ารวม 250,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของ GDP ภาคการเกษตร และร้อยละ 48 ของ GDP อุตสาหกรรมอาหาร มีสินเชื่อหมุนเวียนในระบบกว่า 100,000 ล้านบาท จัดเป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญลำดับ 3 รองจากยางพาราและข้าว พื้นที่เพาะปลูกอ้อยของไทยประมาณ 8.5 ล้านไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 100 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 12 ตัน/ไร่ และผลผลิตน้ำตาลประมาณ 10-11 ล้านตัน โดยมีปริมาณการบริโภคน้ำตาลภายในประเทศประมาณ 2.4 – 2.6 ล้านตันต่อปี ส่วนที่เหลือราว 7-8 ล้านตัน ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
          อ้อยในประเทศไทยเป็นพืชที่ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่อย่างใด แต่เป็นพืชในกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านทางสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย ด้วยมุมมองที่ว่าอ้อยจะต้องผ่านกระบวนการผลิตในโรงงานจึงจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ จำเป็นต้องพึ่งพิงกันระหว่างชาวไร่อ้อยกับโรงงานน้ำตาล ต่างฝ่ายต่างก็ต้องอาศัยกัน ในระยะเริ่มแรกอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทย ยังไม่มีระบบการจัดสรรผลประโยชน์ที่ชัดแจ้ง ทำให้เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล ราคาที่ชาวไร่อ้อยได้รับไม่เป็นที่พอใจ และช่วงที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำอย่างหนัก จึงเกิดเหตุประท้วงปิดถนน โรงงานน้ำตาลไม่สามารถรับซื้อในราคาประกันได้ สมัยนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คือ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ร่วมกับนายมนู เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทรายในยุคนั้น ได้ริเริ่มนำรูปแบบการจัดสรรผลประโยชน์ในรูปแบบ 70:30 มาใช้ คือ การนำรายได้จากการขายน้ำตาลในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศมารวมกัน แล้วแบ่งให้ชาวไร่อ้อย ร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 ให้โรงงานน้ำตาล  เป็นการกำหนดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527  ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เกิดขึ้นมาจากความจำเป็นที่ต้องรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ  และคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยในด้านการผลิตและการจำหน่าย  เห็นควรจัดระบบและควบคุมการผลิตและจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้ชาวไร่อ้อยและเจ้าของโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงเข้าร่วมมือกับทางราชการ ตั้งแต่การผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและนอกราชอาณาจักรระหว่างชาวไร่อ้อยและเจ้าของโรงงานน้ำตาลทราย เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เกิดความเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อย เจ้าของโรงงานน้ำตาลและผู้บริโภค
          การบริหารระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วยคณะกรรมการทั้งหมด 5 คณะ  กล่าวคือ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.)   ทำหน้าที่กำหนดนโยบายเพื่อบริหารจัดการระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย  กำหนดระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติและมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการคณะอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด   ซึ่ง กนอ. ได้แก่ ผู้แทนฝ่ายราชการ 5 คน ผู้แทนชาวไร่อ้อย 9 คน และผู้แทนฝ่ายโรงงาน 7 คน ลำดับต่อมา  คือ คณะกรรมการบริหาร (กบ.)   ประกอบด้วย ผู้แทนจากส่วนราชการ 3 คน ผู้แทนชาวไร่อ้อย 4 คน ผู้แทนฝ่ายโรงงาน 4 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน ทำหน้าที่หลักในการให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อ กอน.และควบคุมการปฏิบัติงานของ กอน.  
สำหรับคณะกรรมการอ้อย(กอ.) ประกอบด้วย  ผู้แทนจากส่วนราชการ 4 คน  ผู้แทนชาวไร่อ้อย 6 คน และผู้แทนฝ่ายโรงงาน 4 คน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อ กอน.และ กบ. ในกิจการที่เกี่ยวกับอ้อย ส่วนคณะกรรมการน้ำตาลทราย (กน.)  ประกอบด้วย ผู้แทนจากส่วนราชการ 5 คน ผู้แทนชาวไร่อ้อย 5 คน   และผู้แทนฝ่ายโรงงาน 5 คน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อ กอน. และ กบ.  ในกิจการที่เกี่ยวกับน้ำตาลทราย คณะกรรมการชุดสุดท้าย คือ คณะกรรมการบริหารกองทุน (กท.) ประกอบด้วย  ผู้แทนจากส่วนราชการ 6 คน ผู้แทนชาวไร่อ้อย 3 คน  และผู้แทนฝ่ายโรงงาน 3 คน ทำหน้าที่กำหนดระเบียบว่าด้วยการเก็บรักษา การหาผลประโยชน์และการใช้จ่ายเงินกองทุน และบริหารควบคุมการปฏิบัติงานกองทุนให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รวมทั้งมีภารกิจเกี่ยวกับการกำหนด นโยบาย กำกับดูแล ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพโดยการกำหนดนโยบายส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตลอดจนสร้างความเป็นธรรมและรักษาผลประโยชน์ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและผู้บริโภค
คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นผู้ประกาศกำหนดพันธุอ้อยที่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยปลูกในท้องที่ที่คณะกรรมการกำหนด  ซึ่งมีความเหมาะสมแตกต่างกันไปตามพื้นที่ปลูกของแต่ละภาค  โดยมีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายประจำภาคต่างๆ ได้แก่ ภาค 1 กาญจนบุรี  ภาค 2 กำแพงเพชร  ภาค 3 ชลบุรี และภาค 4 อุดรธานี  ทำหน้าที่ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ในภาพรวมแล้วอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมีสถาบันชาวไร่อ้อยอยู่เป็นจำนวนมาก    แต่มีเพียงไม่กี่สถาบันที่มีคุณลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด  คือ มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 600 คน และมีปริมาณอ้อยส่งโรงงานไม่น้อยกว่า 55%   ซึ่งทั้งสถาบันที่ผ่านเกณฑ์เหล่านี้ได้รวมตัวกันเป็น 3 องค์กรชาวไร่อ้อย ได้แก่ สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย  สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และชมรมชาวไร่อ้อยภาคอีสาน ในส่วนของโรงงานน้ำตาลมีทั้งสิ้น 47 โรงงาน  ก่อตั้งเป็น 3 สมาคมเช่นกัน ได้แก่ สมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล สมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทย และสมาคมโรงงานน้ำตาลไทย


Image may contain: 1 person, smiling, plant, grass, sky, outdoor and nature
Cr : FB ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี

        สำหรับระบบการจำหน่ายน้ำตาลทรายของประเทศไทยตามพระราชบัญญัติดังกล่าว  กำหนดจัดสรรโควตาน้ำตาลทรายของประเทศออกเป็น 3 ส่วน  ประกอบด้วย         
           น้ำตาล โควตา ก   คือ น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ และน้ำตาลชนิดอื่นๆ   ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตายทรายกำหนดให้ผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะกำหนดเป็นแต่ละฤดูการผลิต
          น้ำตาล โควตา ข คือ น้ำตาลทรายดิบที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดให้ผลิตเพื่อส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด ส่งออกและจำหน่ายไปยังต่างประเทศ จำนวน 8 แสนตัน เพื่อใช้ทำราคาในการคำนวณราคาน้ำตาลส่งออก
           น้ำตาล โควตา ค คือ น้ำตาลทรายดิบ  หรือ น้ำตาลทรายขาว  หรือ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ที่คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายกำหนดให้โรงงานผลิตเพื่อการส่งออกหลังจากที่โรงงานผลิตน้ำตาลทรายได้ครบตามปริมาณที่จัดสรรให้ตาม โควต้า ก และ โควต้า ข แล้ว
          ส่วนระบบการซื้อขายอ้อยจะซื้อขายกันตามค่าความหวาน ระบบดังกล่าวเริ่มใช้มาตั้งแต่ปีการผลิต 2535/36 เป็นระบบที่นำมาจากออสเตรเลีย ค่าคุณภาพความหวานวัดเป็น C.C.S   หรือ Commercial Cane Sugar หมายถึง ปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ในอ้อย ซึ่งสามารถหีบสกัดออกมาเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยในระหว่างผ่านกรรมวิธีการผลิต ถ้ามีสิ่งไม่บริสุทธิ์ที่ละลายอยู่ในน้ำอ้อย 1 ส่วน จะทำให้สูญเสียน้ำตาลไป 50% ของจำนวนสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ อ้อย 10 C.C.S. จึงหมายถึง เมื่อนำอ้อยมาผ่านกระบวนการผลิต จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 10%  กล่าวคือ อ้อย1 ตัน หรือ 1,000 กิโลกรัม จะได้น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 100 กิโลกรัม โดยมีสูตรการคำนวณราคาอ้อยดังนี้
          ราคาอ้อย = รายได้ส่วนที่ 1 + (รายได้ส่วนที่ 2  x ค่า C.C.S)+ รายได้จากกากน้ำตาล
โดย     รายได้ส่วนที่ 1 = รายรับจากการขายน้ำตาลที่คิดตามน้ำหนัก
                   รายได้ส่วนที่ 2 = รายรับจากการขายน้ำตาลที่คิดตามค่าความหวาน
          สำหรับระบบการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในประเทศ หรือน้ำตาลโควต้า ก คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มอบหมายให้คณะกรรมการน้ำตาลทราย เป็นผู้วางแผนควบคุมและกำหนดวิธีการจำหน่าย  โดยมีศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่าย และการขนย้ายน้ำตาลทราย เป็นฝ่ายปฏิบัติการ โดยจำหน่ายเป็นลักษณะตลาดกลาง  ซึ่งโรงงานน้ำตาลดำเนินการขายอย่างเสรี  คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจะควบคุมปริมาณน้ำตาลทรายที่จะเข้าสู่ตลาดกลาง และรักษาเสถียรภาพของราคาไว้ โดยคณะกรรมการจะกำหนดงวดการนำน้ำตาลทรายออกมาจำหน่ายตามความต้องการของตลาด ซึ่งปริมาณน้ำตาลทรายแบ่งเป็นงวดจำหน่าย จำนวน 52 งวด (จำนวนสัปดาห์ในรอบปี) เพื่อให้โรงงานน้ำตาลนำน้ำตาลออกจำหน่ายสัปดาห์ละ 1 งวด ให้แก่ผู้ค้าส่งหรืออุตสาหกรรมต่างๆที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ โดยศูนย์บริหารฯเป็นหน่วยงานควบคุม ด้วยระบบใบอนุญาตขนย้ายน้ำตาลของโรงงานน้ำตาลต่างๆ ให้กับผู้ซื้อภายหลังจากชำระค่าน้ำตาลให้กับผู้แทนโรงงานแล้วและผู้ซื้อน้ำตาลจะนำใบอนุญาตดังกล่าวของโรงงานไปรับน้ำตาลเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป

สำหรับระบบการผลิตอ้อยจะมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง  นั่นคือ หัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย หรือ หัวหน้าโควต้า หมายถึง บุคคลที่โรงงานน้ำตาลทำสัญญาให้รวบรวมจัดหาอ้อยส่งให้กับโรงงานน้ำตาล  ส่วนใหญ่จะเป็นชาวไร่อ้อยที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยจำนวนมาก  โดยทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อกับโรงงาน และรับจัดสรรปริมาณอ้อยที่จะส่งให้โรงงานในแต่ละฤดูหีบ หากโควตาที่ได้รับเกินกว่าปริมาณที่ตนผลิตได้ก็จะนำส่วนที่เกินไปจัดสรรต่อให้ชาวไร่อ้อยรายย่อยที่ตนรู้จักให้ครบจำนวนตามโควตาที่ได้รับจากโรงงาน และดูแลควบคุมชาวไร่อ้อยรายเล็กแต่ละรายให้ผลิตอ้อยให้ได้ตามปริมาณที่ได้รับการจัดสรร
          ส่วนอีกคำที่ต้องกล่าวถึงเช่นกัน  คือ เงินเกี๊ยวหรือเงินบำรุงอ้อย หมายถึง เงินมัดจำในการขายอ้อยล่วงหน้า โดยชาวไร่อ้อยทำสัญญาขายอ้อยให้โรงงาน และโรงงานจ่ายเงินมัดจำเป็นเช็คล่วงหน้า ซึ่งชาวไร่อ้อยมักจะนำไปขายกับธนาคารที่โรงงานมีเครดิตอยู่ แต่ก็มีบางรายที่เก็บเช็คไว้รอเข้าบัญชีเมื่อเช็คครบกำหนดในช่วงที่มีการส่งอ้อยเข้าโรงงาน   สำหรับการให้เงินเกี๊ยวผ่านหัวหน้าโควตานั้น  หัวหน้าโควตามักจะนำเงินเกี๊ยวไปปล่อยต่อให้กับลูกไร่ของตนในรูปแบบเดียวกัน

ประเด็นขัดแย้ง ถึงเวลาเปลี่ยน!
          ระบบการบริหารจัดการอ้อยและน้ำตาลทรายดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยยังคงสามารถรักษาสถานะการเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายในระดับต้นๆ ของโลกมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 บราซิลได้ยื่นคำร้องต่อองค์การค้าระหว่างประเทศ หรือ WTO กล่าวหาว่ารัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออกและอุดหนุนภายในประเทศให้กับน้ำตาลทราย จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลและอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศบราซิล อาจต้องปิดโรงงานน้ำตาลกว่า 50 โรงงาน ซึ่งตามกระบวนการยื่นฟ้องของ WTO หลังจากที่ประเทศผู้เสียหายยื่นคำร้อง จะต้องมีการหารือ (Consultation) ระหว่างประเทศคู่กรณีภายใน 60 วัน หน่วยงานของไทย ประกอบด้วย กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย และกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เดินทางไปหารือกับผู้แทนของบราซิล ในเดือนมิถุนายน ซึ่งผลการหารือจะต้องตอบคำถามของฝ่ายบราซิลประมาณ 80 คำถาม เป็นประเด็นที่บราซิลร้องว่าไทยอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลสูงมากเมื่อเทียบกับการผูกพันไว้ที่ WTO (ปีละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในสินค้าเกษตรทั้งหมด) และการจัดระบบการจำหน่ายน้ำตาลทราย เข้าข่ายลักษณะ Cross Subsidy คือ การอุดหนุนที่ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งซื้อน้ำตาลถูกหรือแพงกว่าผู้บริโภคอีกกลุ่ม รวมทั้ง “เงินชดเชย” ในพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งกำหนดให้จ่ายกับชาวไร่อ้อยอัตรา 160 บาท/ตัน โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งบราซิลเห็นว่าเป็นรัฐบาลไทยมีส่วนเกี่ยวข้องการอุดหนุน เนื่องจาก ธ.ก.ส. ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในความเป็นจริงแล้วเงินดังกล่าวเป็นเงินที่มาจากการวางระบบจัดสรรผลประโยชน์ตามกลไกอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยที่ดำเนินการมากว่า 30 ปี ทั้งนี้หลังจากหารือดังกล่าว ยังมีการหารือกันอีกรอบ ก่อนที่จะมีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา (Panel) โดยตามหลักของ WTO เมื่อได้รับหนังสือยื่นขอหารือจะต้องหารือให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หากไม่แล้วเสร็จตามกำหนดก็จะเป็นการจัดตั้งคณะผู้พิจารณา และดำเนินการตามขั้นตอนการฟ้องร้อง ซึ่งกระบวนทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถึง 1 ปี ครึ่ง ทั้งนี้หากกระบวนการหารือเป็นกลไกหนึ่งของการระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO (Dispute Settlement) สามารถทำความเข้าใจและหาข้อยุติจนเป็นที่พึงพอใจทั้งสองฝ่าย อาจไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งคณะผู้พิจารณาก็ได้ แต่เดิมนั้นไทยเคยร่วมกับบราซิลและออสเตรเลีย ฟ้องสหภาพยุโรปในประเด็นการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลใน WTO เช่นกัน กรณีในครั้งนั้นปรากฏว่าฝ่ายสหภาพยุโรปเป็นฝ่ายแพ้ สำหรับครั้งนี้ คาดว่าบราซิลใช้เวลาศึกษาระบบอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยมานาน และได้แสดงความกังวลว่าไทยอุดหนุนน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ทั้งระบบโควตา และมาตรการจูงใจให้เกษตรกรมาปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้ไทยมีน้ำตาลในระบบมากขึ้นจึงสามารถส่งออกน้ำตาลได้มากขึ้น กระทบต่อตลาดโลกและกระทบการส่งออของบราซิล เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังงมองว่าไทยอุดหนุนการส่งออก ทำให้แม้น้ำตาลราคาตกต่ำไทยก็สามารถส่งออกได้ โดยบราซิลมองว่าระบบอ้อยและน้ำตาลของไทย คล้ายกับของสหภาพยุโรป ที่ไทย บราซิล และออสเตรเลียร่วมกันฟ้อง WTO จนชนะมาแล้ว กอรปกับช่วงปี 2558 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกไม่ดี ส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลลดลงในสัดส่วนที่สูงกว่าปกติ จึงเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องในครั้งนี้
อย่างไรก็ตามผลจากการเจรจาในรอบแรก บราซิลมีแนวโน้มพอใจต่อท่าทีของไทย โดยขอแผนที่ชัดเจนในการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมการนำน้ำอ้อยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่น เข่น เอทานอล ไบโอพลาสติก ไบโอเคมี เหมือนกับที่บราซิลนำไปผลิตเอทนอลกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตอ้อย จะช่วยลดการส่งออกน้ำตาลทรายให้น้อยลง ตลอดจนการนำผลพลอยได้จากการหีบอ้อย เช่น กากน้ำตาลหรือโมลาส ไปทำเอทานอล กากอ้อยนำไปผลิตไฟฟ้า กากตะกรันนำไปทำปุ๋ย ให้นำมาเป็นรายได้ส่งเข้าระบบ เพื่อให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยทั้งหมดจะต้องจัดทำแผนให้ชัดเจนสอดคล้องกับข้อท้วงติงของ WTO และบราซิล อีกทั้งต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ผนวกการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายในประเทศไว้ด้วย จึงเป็นที่พึงพอใจของบราซิล
การดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว ฝ่ายไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสามหน่วยงานต่างร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ในส่วนคณะกรรมการกองทุนอ้อยน้ำตาลทราย (กอน.) ได้มีการประชุมพิจารณาแนวทางการดำเนินงานมาเป็นลำดับ จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายน 60 ที่ประชุม กอน. จึงมีมติกำหนดให้มีการเปิดเสรีอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้ประกาศราคาทุกเดือน และให้ใช้ราคาอ้างอิงจากราคาปิดเฉลี่ยขายน้ำตาลทรายรายวันของตลาดลอนดอน หมายเลข 5 ย้อนหลังไปได้ 1 เดือนบวกราคาน้ำตาลไทยพรีเมี่ยมประมาณร้อยละ 3 ให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ผ่านความเห็นชอบกฎหมายรองรวม 4 ฉบับ ประกอบด้วย ประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการจัดทำประมาณการรายได้ การกำหนดและการชำระราคาอ้อยและค่าผลิตน้ำตาลทรายและอัตราส่วนของผลตอบแทนระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน ระเบียบเรื่องการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา สถานที่เก็บรักษา การสำรวจ การขนย้าย การส่งมอบ และจำหน่ายน้ำตาล ระเบียบเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลทราย และ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดเก็บเงินจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักรเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาล เพื่อรองรับการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับราคาในตลาดโลก ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
การเปลี่ยนแปลงระบบอ้อยและน้ำตาลทรายใหม่ ทำให้ระบบโควตา ก. ข. และ ค. ถูกยกเลิกไป เปลี่ยนเป็นน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร น้ำตาลทรายที่ส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด และ น้ำตาลทรายเพื่อการส่งออก โดยมี คณะกรรมการกำหนดราคาขาย เป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำตาลทรายที่ส่งมอบให้บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด และกำหนดราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดลอนดอนหมายเลข 5 บวกพรีเมียมน้ำตาลทรายไทย (มูลค่าที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาตลาดโลกของน้ำตาลทรายไทย) กำหนดฤดูการผลิต เป็นตั้งแต่1 ตุลาคม ถึง 30 กันยายน ของปีถัดไป ทั้งนี้ ราคาอ้อยขั้นต้น ได้จากประมาณการรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของร้อยละ 70 ของประมาณการรายได้ หารด้วยปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบในฤดูการผลิตนั้น และราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ได้จากร้อยละ 70 ของรายได้สุทธิ บวกด้วยร้อยละ 70 ของผลตอบแทนรายได้จากกากน้ำตาลตามที่คณะกรรมการกำหนด แล้วหารด้วยปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในฤดูการผลิตนั้น ในขณะที่ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ได้จากประมาณการรายได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของร้อยละ 30 ของปริมาณการรายได้ หารด้วยประมาณการปริมาณอ้อยที่คาดว่าจะเข้าหีบ และ ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ได้จากร้อยละ 30 ของรายได้สุทธิ บวกผลตอบแทนรายได้จากการน้ำตาลที่คณะกรรมการกำหนด หารด้วยปริมาณอ้อยที่เข้าหีบ โดยที่อัตราส่วนผลตอบแทนยังคงที่สัดส่วน 70: 30 เช่นเดิม แต่ที่มาของรายได้และรายจ่ายมีรายละเอียดแตกต่างไปจากเดิม


Image may contain: 1 person, standing, outdoor and nature
Cr : FB ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี

ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นและขั้นสุดท้ายเมื่อแบ่งรายได้ของฝ่ายชาวไร่อ้อยและฝ่ายโรงงานตามสัดส่วนการแบ่งปันผลประโยชน์แล้ว ให้โรงงานชำระราคาอ้อยขั้นต้นแก่ชาวไร่อ้อยตามราคาอ้อยขั้นต้นที่คณะกรรมการกำหนด และให้ถือว่าโรงงานได้รับชำระผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นแล้ว ส่วนผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายผลผลิตน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ให้ถือว่าโรงงานได้รับไว้แล้ว เมื่อมีประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย กรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้น และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ให้โรงงานชำระค่าอ้อยเพิ่มให้แก่ชาวไร่อ้อยจนครบตามราคาอ้อยขั้นสุดท้ายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ประกาศราคาอ้อยขั้นสุดท้าย และผลตอบแทนการผลิตและการจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย
กล่าวโดยสรุป การดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้ยกเลิกมาตรการให้เงินช่วยเหลือ 160 บาท/ตันอ้อยที่ชาวไร่อ้อยเคยได้รับ พร้อมกับระบบโควตา ก. โควตา ข. และ โควตา ค. และการกำหนดราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศ จากการควบคุมราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศหน้าโรงงานโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และราคาขายปลีกโดยกระทรวงพาณิชย์ เป็นการปล่อยให้ราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้เป็นไปตามกลไกของตลาด โดยให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สนอ.) สำรวจราคาเฉลี่ยของน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ขายจริงใน 1 เดือน และกำหนดวิธีการคำนวณเงินเพื่อให้ทุกโรงงานนำส่งเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายทุกเดือน ทั้งหมดนี้จะทำให้ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยเป็นไปตามข้อตกลงการค้าภายใต้ WTO และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) รวมทั้งคาดว่าจะเป็นที่น่าพึงพอใจของบราซิล และจะสามารถระงับข้อพิพาทระหว่างกันได้
อย่างไรก็ตาม โดยธรรมชาติของระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เป็นระบบที่ต้องพึ่งพากันระหว่างโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย ต่างฝ่ายจำเป็นต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายสามารถเติบโตไปได้ ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส และเป็นธรรม การเล่นแง่ระหว่างคู่แข่งขัน คงต้องกลับไปเรียนรู้อีกฝ่ายให้ถ่องแท้เช่นกัน เพราะในที่สุดแล้ว การกล่าวหาว่าอีกฝ่ายอุดหนุนและทุ่มตลาด แท้จริงแล้ว อีกฝ่ายอาจจะกระทำเช่นกัน แต่เนียนกว่ากันแค่นั้นเอง ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงความอ่อนด้อยของงานวิจัยและพัฒนาที่เกิดการแบ่งงานกันทำ แบบต่างคนต่างทำ

(ขอบคุณ : สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย/ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า                                                                      สวัสดี……อังคณา 
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความดังกล่าวเป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนธันวาคม 2560 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น