เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน
การเพาะปลูกได้เริ่มขึ้น
การใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ก็ได้เริ่มขึ้นเช่นกัน จากเมล็ดพันธุ์ที่เพาะปลูก
มายังปุ๋ย และสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ตามลำดับ
โดยเฉพาะสารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืชในระยะที่เริ่มการเพาะปลูก ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นสารป้องกันกำจัดแมลงและโรคพืช
ตามระยะที่พืชเจริญเติบโต และสภาพของการระบาดในแต่ละแห่ง หากเมื่อกล่าวถึงสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร หลายๆ
ฝ่าย ต่างก็มองว่าสารเคมีทางการเกษตรเป็นผู้ร้ายที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม
สร้างปัญหาต่อสุขภาพ กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่ต่างคนต่างมอง
ในขณะที่ฝ่ายผู้ใช้สารเคมี ย้ำถึงความจำเป็นที่จะใช้
หากไม่ใช้สารเคมีควบคุมและกำจัดศัตรูพืชแล้ว
ผลผลิตทางการเกษตรจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร
และการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในฉลาก คือ
การใช้ที่ปลอดภัยที่สุด ไม่มีคำแนะนำการใช้สารเคมีทางการเกษตรใดที่ไม่ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการใช้จริง
ดังนั้น การใช้สารเคมีทางการเกษตรให้ได้ผลดี เป็นไปตามคุณลักษณะของสารเคมีชนิดนั้น
และมีความปลอดภัยสูง ต้องเป็นการใช้ตามฉลาก นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม
สารเคมีทางการเกษตรแต่ละชนิด ต่างก็มีคุณสมบัติทางเคมีที่แตกต่างกัน หากมีการใช้สารเคมีชนิดเดิมๆ
โดยไม่มีการสลับการใช้กับสารเคมีชนิดอื่น
และยิ่งใช้ในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่แนะนำ
มีความเป็นไปได้ว่าอาจส่งผลให้มีการตกค้างในสิ่งแวดล้อม และโรคแมลงศัตรูพืช
สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาต้านทานต่อสารเคมีชนิดนั้นได้
หรือบางกรณีสารเคมีบางชนิดอาจมีฤทธิ์ส่งเสริมกัน
สามารถกำจัดศัตรูพืชได้กว้างขวางขึ้น แต่เมื่อสลายตัวออกมาอาจให้อนุพันธ์ที่เป็นสารก่อมะเร็งได้
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เกิดจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามคำแนะนำ
การกำกับดูแลสารเคมีทางการเกษตรจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด บทบาทในการควบคุมและกำกับดูแลสารเคมีทางการดังกล่าวโดยเฉพาะสารเคมีทางการเกษตรที่ใช้กับพืช
เป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติฉบับนี้
“ฉีกซอง” ฉบับเดือนกรกฎาคม
ขอนำท่านผู้อ่านไปรับทราบการดำเนินงานของกรมวิชาการเกษตรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับต้นทางของวัตถุอันตรายทางการเกษตร
โปรดติดตาม
กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย
ปัจจุบันกฎหมายที่ควบคุมเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร
อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุวัตถุอันตรายทางการเกษตร พ.ศ. 2535
และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติขึ้นเพื่อสนองตอบต่อการควบคุมวัตถุอันตรายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากมีการนำวัตถุอันตรายมาใช้ในกิจการประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมาก
และวัตถุอันตรายบางชนิดก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงแก่มนุษย์ สัตว์ พืช
ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้
แม้ว่าเดิมจะมีกฎหมายที่ใช้ควบคุมวัตถุที่ก่อให้เกิดอันตรายอยู่บ้างก็ตาม แต่กฎหมายที่มีก่อนหน้านั้นมีด้วยกันหลายฉบับ ต่างยุคต่างสมัย ทำให้บทบัญญัติแตกต่างกันรวมทั้งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน
และยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ จึงได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวัตถุมีพิษ
โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุม วัตถุอันตรายทุกชนิด
และกำหนดวิธีการในการควบคุมให้เหมาะสมมากขึ้น พร้อมทั้งจัดระบบบริหารให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ
ที่เกี่ยวข้อง โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 เมษายน
2535 และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบรวมทั้งหมด
6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กรมโยธาธิการ
กระทรวงมหาดไทย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
วัตถุอันตราย ตามความหมายในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.
2535 จึงหมายถึง วัตถุที่มีคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ
วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์
วัตถุมีพิษ
วัตถุที่ทำให้เกิดโรค
วัตถุกัมมันตรังสี วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม
วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
และวัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล
สัตว์ พืช ทรัพย์ และสิ่งแวดล้อม
สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมวัตถุอันตรายที่ใช้ทางการเกษตร ประกอบด้วย
สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช และวัตถุอันตรายที่ใช้ในการประมง ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้สามารถควบคุมวัตถุอันตรายดังกล่าวได้ตามความจำเป็น
โดยจำแนกวัตถุอันตรายออกเป็น 4 ชนิด
กล่าวคือ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 หมายถึง
วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก
หรือการมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
ซึ่งกำกับดูแลโดยผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่วางไว้
โดยไม่ต้องขออนุญาตและแจ้งการประกอบกิจการล่วงหน้า
โดยวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบในปัจจุบันไม่มีการจัดไว้ในกลุ่มดังกล่าว
ส่วนวัตถุอันตรายชนิดที่
2 หมายถึงวัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก
หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
โดยต้องแจ้งประกอบกิจการล่วงหน้าและต้องขอขึ้นทะเบียน แต่ไม่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการ
ซึ่งมีการควบคุมมากกว่าชนิดที่ 1 โดยในกลุ่มนี้มีวัตถุอันตรายทางการเกษตร ได้แก่ BT , NPV , สารสกัดจากสะเดา ไส้เดือนฝอยที่ใช้กำจัดแมลง และ White Oil เป็นต้น
สำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 หมายถึง วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า
การส่งออก
หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาต
ควบคุมโดยการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตประกอบกิจการตามลักษณะ ได้แก่ การนำเข้า
การส่งออก การผลิต การมีไว้ในครอบครอง ซึ่งหมายถึงมีไว้เพื่อขาย การเก็บรักษา
การใช้และการรับจ้าง
ซึ่งสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว
ในขณะที่ วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หมายถึง
วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต
การนำเข้า การส่งออก
หรือการมีไว้ในครอบครอง
ควบคุมโดยการห้ามประกอบกิจการใดๆ ได้แก่ สารซึ่งเป็นอันตรายและห้ามใช้ สำหรับในส่วนที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ
ได้ประกาศให้สารเคมีทางการเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จำนวนทั้งสิ้น 98 รายการ
ระบบการควบคุมวัตถุอันตรายตามนัยแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การควบคุมด้วยการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย การควบคุมด้วยการอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนแล้ว ต้องขออนุญาตในการนำเข้า ส่งออก ผลิต และมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่
3
และการควบคุมหลังการขึ้นทะเบียนและการอนุญาต ซึ่งเป็นการกำกับดูแลให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกําหนดให้สารป้องกันกําจัดศัตรูพืชทุกชนิดเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่
2, 3 และ4
ที่ต้องกํากับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งการผลิตหรือการนําเข้าซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่2
หรือ3
จะต้องนํามาขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนและเมื่อได้รับใบสําคัญการขึ้นทะเบียนแล้วจึงจะผลิตหรือนําเข้าได้
ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ
ขั้นตอนในการดําเนินการขึ้นทะเบียนไว้คือ
ผู้ผลิตหรือผู้นําเข้าต้องยื่นคําขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร ซึ่งแบ่งออกเป็น3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่1 การทดลองเบื้องต้นเพื่อทราบประสิทธิภาพและข้อมูลพิษเฉียบพลัน
ขั้นตอนที่2 การทดลองชั่วคราวเพื่อสาธิตการใช้และข้อมูลพิษระยะปานกลาง และขั้นตอนที่3
การประเมินผลขั้นสุดท้ายเพื่อรับการขึ้นทะเบียนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะประเมินผลการทดลองความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเพียงพอต่อการใช้
ซึ่งรวมทั้งพิษเรื้อรังระยะยาว(2 ปี) ต่อสัตว์ทดลอง
องค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมประมง อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ
เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงคมนาคม
ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสิค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ
ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสิบคนเป็นกรรมการ
และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนกรมธุรกิจพลังงาน ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
และผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องเป็นผู้มีความรู้
ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี วิทยาศาสตร์
วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือกฎหมาย
และอย่างน้อยห้าคนในแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์
การดำเนินการคุ้มครองสุขอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน
ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านสิ่งแวดล้อม
ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี
และเมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
คณะกรรมการวัตถุอันตรายดังกล่าว
ทำหน้าที่ในการกำหนดปริมาณองค์ประกอบ คุณสมบัติ
และสิ่งเจือปน ภาชนะบรรจุ วิธีตรวจและทดสอบภาชนะ ฉลาก การผลิต
การนำเข้า การส่งออก การขาย
การขนส่ง การเก็บรักษา การกำจัด การทำลาย
การปฏิบัติกับภาชนะของวัตถุอันตราย การให้แจ้งข้อเท็จจริง การให้ส่งตัวอย่าง
หรือการอื่นใดเกี่ยวกับวัตถุอันตรายเพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทา
หรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล
สัตว์ พืช ทรัพย์
หรือสิ่งแวดล้อม
โดยคำนึงถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศประกอบด้วย รวมทั้งกำหนดให้มีการดำเนินการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตราย
และให้มีการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย
ชีวิต หรือทรัพย์สิน
ซึ่งเกิดจากการประกอบกิจการ
และกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรเฉพาะซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการ
และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งต้องรับผิดชอบกรณีเกิดปัญหาขึ้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ดังกล่าว
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติฉบับใหม่ได้ให้ความสำคัญต่อการกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
มาให้คำแนะนำและควบคุมการประกอบกิจการวัตถุอันตราย
รวมทั้งการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย
ชีวิต
หรือทรัพย์สินจากการประกอบกิจการดังกล่าว ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ในพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว
ซึ่งจำเป็นต้องมีกฎหมายลูกมารองรับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้
ได้กําหนดให้สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีอํานาจหน้าที่ตามมาตรา 51
โดยกําหนดให้การควบคุมโฆษณาวัตถุอันตรายทางการเกษตรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค
โดยสรุปแล้วมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร
ประกอบด้วย กำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย
เพื่อเลือกใช้วัตถุอันตรายที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย
โดยใบอนุญาตขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย มีอายุ 6 ปี กำหนดให้มีการขออนุญาตประกอบกิจการ
เพื่อควบคุมการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง และการควบคุมหลักการได้รับการขึ้นทะเบียนและการอนุญาต
ได้แก่ การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย
เส้นทางการควบคุม
ภายใต้คณะกรรมการวัตถุอันตราย
ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานตามกฎหมายหลายคณะด้วยกัน
แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร มีคณะอนุกรรมการที่สำคัญ 3 คณะด้วยกันคือ คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลและกลั่นกรองความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ คณะอนุกรรมการพิจารณายกร่างกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย
พ.ศ. 2535 และคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร
โดยที่คณะอนุกรรมการแต่ละคณะสามารถตั้งคณะทำงานมารองรับการปฏิบัติงานในแต่ละด้านได้ด้วย
สำหรับ คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลและกลั่นกรองความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ เป็นคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่งตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่เสนอความเห็น
และปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการจัดประเภทและชนิดของวัตถุอันตรายต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย
พิจารณา ศึกษา ทบทวนความเป็นอันตรายของสารต่างๆ ที่จะประกาศ ระบุชื่อ ชนิด เป็นวัตถุอันตราย รวมทั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
เช่น ประเมินค่าข้อมูลด้านพิษวิทยาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้นรวมทั้งให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเกี่ยวกับความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ
และปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมอบหมาย
ส่วนคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย
พ.ศ. 2535
มีหน้าที่ยกร่างกฎกระทรวงและประกาศกระทรวง
ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
พิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวงที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย
ตลอดจนใหัความเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย
พ.ศ. 2535 ต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายและปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการวัตถุนตรายมอบหมาย
สำหรับคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร
มีหน้าที่เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอันจำเป็น ตลอดจนขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร
พิจารณาแผนการทดลองเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร ติดตามดูแลผลการทดลองการประเมินผล และรับรองผลการทดลองของผู้ประสงค์จะขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตลอดจนพิจารณาความถูกต้องของฉลากวัตถุอันตรายที่ใช้ในทางการเกษตร
ให้ความเห็นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่ใช้ในทางการเกษตร เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายที่มีปัญหาภายหลังการพิจารณารับขึ้นทะเบียนแล้ว
รวมทั้งการห้ามใช้และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนด ทั้งนี้ยังให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว สามารถแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความจำเป็น
องค์ประกอบของคณะอนุกรรมการชุดนี้
ตามคำสั่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานคณะอนุกรรมการ
รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธาน และอนุกรรมการประกอบด้วย
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวัตถุอันตรายทางการเกษตร
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช หัวหน้ากลุ่มกีฎและสัตววิทยา
หัวหน้ากลุ่มวิจัยโรคพืช หัวหน้ากลุ่มวิจัยวัชพืช
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร (ปัจจุบัน เปลี่ยนชื่อ เป็น
กอง ) หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตรจากสารธรรมชาติ
หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบตรวจสอบคุณภาพวัตถุมีพิษการเกษตร
หัวหน้ากลุ่มงานสารพิษตกค้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน
หัวหน้ากลุ่มงานนิติการและสิทธิประโยชน์ สำนักงานเลขานุการกรม (ปัจจุบัน ชื่อภายใน
คือ สำนักนิติการและสิทธิประโยชน์) ผู้อำนวยการสำนักความคุมพืชและวัสดุการเกษตร
ผู้อำนวยการกลุ่มสารวัตรเกษตร ผู้แทนกรมประมง ผู้แทนกรมปศุสัตว์
ผู้แทนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นางประภัสสรา พิมพ์พันธ์โดยมีหัวหน้ากลุ่มวัตถุมีพิษ
(ปัจจุบัน คือ ผู้อำนวยการกลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
และนักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
เป็นอนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
ภายใต้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว
ได้แต่งตั้งคณะทำงานมา 3
คณะ คือ คณะทำงานเพื่อประเมินเอกสารข้อมูลพิษวิทยาและพิษตกค้างของวัตถุอันตรายทางการเกษตรเพื่อการขึ้นทะเบียน
โดยมีผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร
(กปฝ.) เป็นประธานคณะทำงาน และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร
คณะทำงานเพื่อพิจารณาชีวภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชที่ใช้ควบคุมศัตรูพืช มีผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร
(สคว.) เป็นประธาน และ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย เป็นเลขานุการ คณะทำงานชุดสุดท้าย คือ คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง
ซึ่งมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน
และนักวิชาการชำนาญการพิเศษ กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สคว. เป็นเลขานุการ
สำหรับคณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่เฝ้าระวัง
มีหน้าที่ศึกษา ติดตาม และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นพิษ พิษตกค้าง
และผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว
เสนอชื่อวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ควรจัดเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวังการใช้
กำหนดระยะเวลาการเฝ้าระวังการใช้
กำหนดเรื่องเกี่ยวกับวัตถุอันตรายและผลกระทบที่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งเสนอผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลหรือศึกษาวิจัย
ประเมินความเป็นอันตรายและผลกระทบภายหลังจากการเฝ้าระวัง เพื่อเสนอห้ามใช้หรือจำกัดการใช้ต่อคณะอนุกรรมการฯ
และปฏิบัติงานอื่นที่คณะอนุกรรมการฯ มอบหมาย สำหรับสถานะในปัจจุบันคณะทำงานชุดดังกล่าวได้จัดให้วัตถุอันตรายทางการเกษตร
11
ชนิด เป็นวัตถุอันตรายที่เฝ้าระวัง ได้แก่ aldicarb
blasticidin-S carbofuran dicrotophos endosulfan (สูตร CS)
ethoprophos formetanate methomyl methidathion และ oxamyl ในจำนวนนี้มีวัตถุอันตรายที่ได้พิจารณาเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่
4 จำนวน 2 ชนิด คือ dicrotophos
และ EPN ตลอดจนคณะทำงานอยู่ระหว่างการพิจารณาให้วัตถุอันตรายทางการเกษตรอีกหลายชนิดเป็นกลุ่มสารเคมีที่เฝ้าระวังการใช้
จากข้อมูลการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตร
พบว่า ประเภทของสารเคมีที่นำเข้าสูงสุด คือ สารกำจัดวัชพืช
การนำเข้าสูงอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่าปีละ 60,000 ตัน ของสารสำคัญ
รองลงมาคือ กลุ่มของสารป้องกันและกำจัดโรคพืช ปีละประมาณ 6,000 ตัน และลำดับ 3 คือ กลุ่มสารกำจัดแมลง
นำเข้าประมาณปีละ 5,000 ตัน
และเมือพิจารณาฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร พบว่า
มีจำนวนของทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งสิ้น ราย 8,400 ทะเบียน
และยังมีผู้ยื่นขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่รอความสมบูรณ์ของข้อมูลเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ
ประมาณ 1,000 ทะเบียน นับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแข่งขันด้านสารเคมีทางการเกษตรสูงมาก
ถ้ามองในด้านดี อาจมองได้ว่าสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรในการเลือกใช้สารเคมีทางการเกษตรตามความเหมาะสม
ในขณะที่ในมุมที่กลับกัน
อาจมองได้ว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณมากมายขนาดนั้นหรือ
และย้อนกลับมาพิจารณาการใช้สารเคมีทางการเกษตรของเกษตรกร ในความเป็นจริงแล้ว มีการใช้ตามคำแนะนำในฉลากหรือไม่
มีระบบการบริหารจัดการศัตรูพืชที่ดีเพียงพอหรือไม่
เพราะที่สุดแล้วการใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นคำแนะนำลำดับท้ายๆ
ที่นักวิชาการจะแนะนำให้เกษตรกรใช้
ระบบควบคุมจะดีเพียงใด
หากผู้เกี่ยวข้องกับระบบไม่ทำตามนั้น ระบบคงไม่อาจเรียกว่าเป็นระบบได้ หรือท่านผู้อ่านคิดเห็นเช่นใด
(ขอบคุณ
:
สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร /ข้อมูล)
หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2559 ขอนำมาเผยแพร่ใน Blogger อีกครั้งหนึ่ง เมื่อประเด็นสารเคมีทางการเกษตรกลับมาอยู่ในกระแส ทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น