วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เกษตรพันธสัญญา?


“…การที่จะทำงานให้สัมฤทธิผลที่พึงปรารถนา คือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั่นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ทำให้ยวดยานเคลื่อนที่ไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมเป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทาง ด้วยความสวัสดี คือ ปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ ดังนั้น ในการที่จะประกอบการงานเพื่อตนเพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้สำนึกไว้เป็นนิตย์ โดยตระหนักว่า การงาน สังคม และบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้ยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และบ้านเมืองใด ก็ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรม ความสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย...
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง  ณ อาคารใหม่สวนอัมพร
วันศุกร์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในหลายโอกาสว่าด้วยเรื่อง ความรู้และคุณธรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพัฒนาบ้านเมืองและสังคม  ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปมิได้ ความรู้และคุณธรรม จึงเป็นสองเงื่อนไขของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกเหนือจาก ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน  ซึ่งเป็นสามห่วงหลักที่จะต้องมี 
          ในปลายปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ซึ่งอยู่ในช่วงของปลายฤดูฝนและจะเข้าสู่ฤดูหนาว ในบางพื้นที่ยังคงมีน้ำหลาก บางพื้นที่เริ่มสัมผัสอากาศเย็น หลายฝ่ายต่างก็หวังว่าปีนี้อากาศน่าจะหนาวกว่าทุกปี คงต้องมาติดตามกันว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ปีน้ำมาก อากาศจะเย็น โบราณกล่าว
            ช่วงปี ๒๕๕๙ ต่อเนืองมาถึงปีนี้ ความพยายามในการตรากฎหมายว่าด้วยระบบการเกษตรแบบพันธสัญญา บรรลุผลสำเร็จไปได้ในระดับหนึ่ง “ฉีกซอง” มีโอกาสได้รับรู้ความเป็นไปของการยกร่างกฎหมายดังกล่าวมาในชั้นการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯ เนื่องจากคุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในคณะอนุกรรมาธิการฯ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจมาก และในที่สุดกฎหมายว่าด้วยระบบเกษตรพันธสัญญา ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๔ ตอนที่ ๔๖ ก เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ภายใต้ชื่อ “พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา   เป็นไปอย่างไร โปรดติดตามได้ใน “ฉีกซอง” ฉบับนี้

Credit ภาพประกอบ :Achara Uthayopas

ทำเกษตร- ทำสัญญา
          สำหรับการทำการเกษตรแบบมีสัญญา หรือ  Contract Farming หมายถึง  ระบบการเกษตร ทั้งการเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร ผู้ผลิต หรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา คือ "ผู้รับประกัน"  ส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า "ราคาประกัน" และจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญาเท่านั้น หรือ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา
ข้อดีของการทำการเกษตรแบบมีสัญญา หรือ เกษตรพันธสัญญา สำหรับเกษตรกรแล้ว ประเด็นที่เห็นชัดเจนคือ เกษตรกรมีตลาดรับซื้อแน่นอน ได้ความรู้ทั้งด้านวิชาการ มาตรฐานฟาร์ม และเทคนิคในการปรับลดต้นทุนในการผลิต การจัดหาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมไปถึงการสนับสนุนสินเชื่อทางการเงินให้ด้วยในบางกรณี มีการตกลงราคาและเวลารับมอบสินค้ากันชัดเจน ลดความผันผวนของรายได้ของเกษตรกร โดยสามารถทำให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอนและสูงขึ้น และช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและจัดการได้ด้วย รวมทั้งยังช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐในการพยุงราคา ตลอดจนช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม ในขณะที่บริษัทสามารถนำวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ ควบคุมต้นทุนได้ สามารถคาดการณ์วางแผนการตลาด รวมถึงบริษัทยังประหยัดได้จากขนาดกิจกรรม (Economy of Scale) เนื่องจากเป็นการผลิตขนาดใหญ่ ส่วนผู้บริโภคได้ประโยชน์จากคุณภาพสินค้าที่สูงขึ้นและราคาถูกลง
          ในอีกมุมหนึ่ง เกษตรพันธสัญญา ถูกมองว่า ภาคเอกชนหรือบริษัทมักจะทำสัญญาในรูปแบบสัญญาเชิงเอาเปรียบเกษตรกร ในเรื่องของผลตอบแทน ความเสี่ยง และความเป็นธรรม ส่งผลให้เกษตรกรเสียเปรียบบริษัท นอกจากนี้ การทำการเกษตรบางประเภท เช่น การปศุสัตว์ เงินลงทุนต่อฟาร์มค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่จะเกิดขึ้น ทำให้การคืนทุนต้องใช้เวลาหลายปี ขณะที่แหล่งเงินทุนของเกษตรกร มาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ดังนั้น หากบริษัทยกเลิกพันธสัญญากับเกษตรกรในระยะสั้นหรือไม่วางแผนการผลิตให้ เกษตรกรอาจล้มละลายได้ นอกจากนี้ พบว่าสัดส่วนของรายจ่าย (ต้นทุน) ต่อรายได้ของฟาร์มค่อนข้างสูง ประมาณ ๒๗-๙๒% จึงถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก อีกทั้งเกษตรกรยังมีความเสี่ยงสูง และเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อได้รับผลกระทบทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือโรค-แมลงระบาด เป็นต้น ส่งผลต่อความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตมากขึ้นและค่าดำเนินการต่างๆที่ตามมา  รวมถึงการที่สัญญาไม่ได้คำนวณรายได้ค่าตอบแทนจากการผลิตที่เป็นขั้นบันไดเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะถึงจุดคุ้มทุน และมีกำไรจากการลงทุนเมื่อใด
          จะว่าไปแล้ว ผู้เขียนมีความคุ้นเคยกับระบบเกษตรพันธสัญญาพอสมควร เพราะสมัยที่เริ่มทำงานแรกๆ กับบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์แห่งหนึ่ง ผู้เขียนประจำการอยู่ฝ่ายไร่ ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลของสัญญาจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ วางแผนการผลิต ในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ลักษณะสัญญาจึงเป็นสัญญาจ้างปกติ แต่เนื้อหาภายในจะระบุรายละเอียด และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีปัญหาอะไรมาก เกษตรกรในฐานะผู้รับจ้างยอมรับในเงื่อนไขที่กำหนด  อาจมีบางส่วนที่มีการสลับขาหลอก แต่ก็ไม่เป็นปัญหารุนแรงที่ขั้นต้องฟ้องร้องกัน รุนแรงสุดก็คือการขึ้นบัญชีดำไว้เท่านั้น ผู้เขียนจึงไม่ได้ต่อต้านระบบเกษตรพันธสัญญาแบบหัวชนฝา ในความคิดของผู้เขียน ระบบเกษตรพันธสัญญาที่มีคุณธรรม  ก็ช่วยให้การพัฒนาการเกษตรก้าวหน้าและยั่งยืนได้เช่นกัน
   
มีกฎหมาย มีบทบัญญัติ
          พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา” เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีการนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิตและบริการทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย หากมีการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรมตามหลักสากล จะช่วยสร้างความไว้วางใจ ความร่วมมือ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการผลิตผลผลิตหรือบริการทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้ และได้รับการถ่ายทอดความรู้อันจำเป็น ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน มีการควบคุมต้นทุนในการผลิต  มีการป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถประกอบธุรกิจโดยได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งทางธุรกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้ต่อไป
              อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทำการเกษตรแบบในระบบเกษตรพันธสัญญา มีลักษณะผสมระหว่างสัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างแรงงาน และสัญญาซื้อ-ขาย ซึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยาก ในการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าและต้นทุนในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ส่งผลให้ในกรณีที่คู่สัญญาเป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีอำนาจการต่อรองในการทำสัญญาน้อยกว่าผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร มีความเสี่ยงในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา สมควรที่รัฐจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งกำหนดกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาระบงผูบเกษตรพันธสัญญา
             พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นกฎหมายที่ไม่ยาวนัก มีทั้งสิ้น ๔๘ มาตรา ๔ หมวด และ ๑ บทเฉพาะกาล มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นคือ มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ให้ความหมายของเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตร

            ระบบเกษตรพันธสัญญา” หมายถึง ระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรประเภทเดียวกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรฝ่ายหนึ่งกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สิบรายขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรรมอีกฝ่ายหนึ่งที่มีเงื่อนไขการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรหรือบริการทางการเกษตรอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเกษตรกรตกลงที่จะผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือ ระยะเวลาที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าว หรือจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ตามสัญญา โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิต เข่น เป็นผู้กำหนดวิธีการผลิต จัดหาพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้การทำสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเกษตรกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ถึงสิบรายแต่ไม่น้อยกว่าสองรายขึ้นไปประเภทใด ต้องนำระบบเกษตรพันธสัญญาตามพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
              “ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร” หมายถึง บุคคลที่ประกอบธุรกิจการผลิต แปรรูป จำหน่าย หรือการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร หรือให้บริการด้านระบบการผลิตสินค้าหรือปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา
               “เกษตรกร” หมายความถึง บุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม และให้หมายความรวมถึงสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม
                “เกษตรกรรม” หมายถึง การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเพาะสัตว์น้ำ หรือเกษตรกรรมอื่นที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
                 “หน่วยงานของรัฐ” หมายถึง ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้ง
                  “คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
                   “คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” หมายถึง คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อมพิพาทกรุงทพมหานคร หรือคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี
                  “ข้อพิพาท” หมายถึง ข้อโต้แย้งที่เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา
               “รัฐมนตรี” หมายถึง รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ นั่นคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้มีอำนาจในการออกระเบียนหรือประกาศตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

               สำหรับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา  มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ คณะกรรมการโดยตำแหน่งรวม ๑๓ คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย อัยการสูงสุด ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน ๙ คน โดยรัฐมนตรีแต่งตั้งจากเกษตรกร จำนวน ๓ คน ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร ๓ คน และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีการเกษตร หรือเศรษฐศาสตร์ จำนวนไม่เกิน ๓ คน โดยมีผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายทำหน้าที่เลขานุการ


Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มนำ้มันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

        อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กำหนดไว้ ๑๐ ข้อ ดังนี้ (๑) เสนอแผนพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ (๒) กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามให้เป็นไปแผนพัฒนาฯ (๓) กำหนดรูปแบบสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาและส่งเสริมให้นำรูปแบบสัญญาดังกล่าวไปใช้ (๔) ส่งเสริมให้มีการทำประกันภัยในระบบเกษตรพันธะสัญญา (๕) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้มีการตรากฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการเกษตรพันธสัญญา  (๖) ติดตาม ประสานงาน หรือเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามแผนฯ (๗) ให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐด้วย (๘) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตาม (๒) หรือ (๖)  และ (๙) ออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องต่างๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ สุดท้าย (๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย และได้ให้อำนาจคณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนคณะกรรมการได้ด้วย
                 นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ ทำหน้าที่ รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อประกอบการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จัดให้มีการศึกษาวิจัยหรือสนับสุนนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พิจารณาปัญหาเกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญา และนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เผยแพร่ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการทำสัญญา การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีทางการเกษตรและการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นใดที่คณะกรรมการมอบหมาย
                 กรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้และผลของคดีถึงที่สุด หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีพฤติกรรมเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศโดยระบุรายละเอียดของการฝ่าฝืนหรือพฤติกรรม รวมทั้งระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด การดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการ สำนักงานฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องรับผิดแม้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
                                           Credit ภาพประกอบ :Achara Uthayopas

ระบบและกลไก
          การดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในลำดับแรก ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่มีความประสงค์จะทำการเกษตรตามระบบเกษตรพันธสัญญาจะต้องจดแจ้งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร กับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งสำนักงานฯ ต้องจัดทำทะเบียนและเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปไปได้รับทราบ ตรวจสอบได้ รวมทั้งเผยแพร่ในระบบสารสนเทศ สื่ออื่นๆที่ประชาชนเข้าถึงง่าย และปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันเสมอ หากผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรใด ประสงค์จะยกเลิกการจดแจ้ง ต้องทำเป็น หนังสือแจ้งต่อสำนักงานฯ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ทั้งนี้การเลิกประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาหรือการเลิกนิติบุคคล ไม่ว่าจะมีการแจ้งหรือไม่ ไม่มีผลให้สัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาสิ้นสุด
          ลำดับต่อมา การทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนไว้ ต้องจัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญา โดยส่งเอกสารให้กับสำนักงานฯ เพื่อตรวจสอบ และส่งให้เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาข้อมูลของเอกสารชี้ชวนและร่างสัญญาก่อนตกลงใจเข้าทำสัญญา เมื่อเกษตรกรตกลงใจทำสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจัดทำสัญญา โดยมีรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ ซึ่งเอกสารชี้ชวนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย และส่งสัญญาคู่ฉบับให้เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรจะได้รับสัญญาคู่ฉบับในวันทำสัญญา หลังจากนั้นต่างฝ่ายก็ต่างปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา
          ข้อมูลเบื้องต้นที่ระบุไว้ในเอกสารชี้ชวน ต้องประกอบด้วย ข้อมูลทางพาณิชย์หรือข้อมูลอื่นใดอันเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเกี่ยวเนื่องกับสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาที่ประสงค์จะชี้ชวนต่อเกษตรกร ข้อมูลแผนการผลิต เงินลงทุน คุณภาพ ตลอดจนประมาณการของจำนวนหรือปริมาณของผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่จะทำการผลิตหรือบริการตามสัญญา ระยะทางที่เหมาะสมในการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร ประมาณการระยะเวลาคืนทุน ความคุ้มค่าในการผลิต และภาระความเสี่ยงที่อาจต้องแยกความรับผิดชอบหรือรับผิดชอบร่วมกัน ข้อมูลที่จำเป็นในกระบวนการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องตามสัญญาและให้รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานของพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ อาหาร ยา ปัจจัยการผลิต สารเคมี เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรตามสัญญานั้น ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพและมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และข้อมูลอื่นที่กฎหมายกำหนด
          สำหรับสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ต้องจัดทำเป็นหนังสือ ใช้ข้อความภาษาไทยที่เข้าใจง่าย หากมีศัพท์ทางเทคนิคจะต้องมีคำอธิบายประกอบ นอกจากนี้ ต้องมีรายละเอียดของชื่อคู่สัญญา สถานที่ติดต่อระหว่างคู่สัญญา และวันที่ทำสัญญา วัตถุประสงค์ของสัญญา โดยระบุลักษณะหรือประเภทของการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร และคุณภาพของผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ระยะเวลาในการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งต้องสอดคล้องกับระยะเวลาในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร หรือ ประมาณการระยะเวลาคืนทุน รายละเอียดของสถานที่ผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร โดยระบุขนาดพื้นที่และที่ตั้งของสถานที่ดังกล่าว หน้าที่ของคู่สัญญา ราคาและวิธีการคำนวณราคาวัตถุดิบและผลิตผลทางการเกษตร หากกำหนดราคาโดยอ้างอิงจากราคาตลาด ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าราคาตลาดนั้นจะกำหนดอย่างไร และใช้ราคาตลาด ณ เวลาใด หากเป็นสัญญาบริการทางการเกษตร ต้องกำหนดค่าตอบแทนและวิธีการคำนวณค่าตอบแทนให้ขัดเจน วันและสถานที่ส่งมอบ การชำระเงินในวันส่งมอบหรือก่อน/หลังวันส่งมอบกี่วัน เหตุยกเว้นไม่ปฏิบัติตามสัญญาเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ผู้รับความเสี่ยงในผลิตผลทางการเกษตร และความเสี่ยงทางการค้ากรณีจำหน่ายไม่ได้ตามราคาที่กำหนด การเยียวยาความเสียหายจากการผิดสัญญา สิทธิในการบอกเลิกสัญญา และรายละเอียดอื่นๆ ที่คณะกรรมการกำหนด ข้อตกลงอื่นใดที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรถือว่าผิด ห้ามบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับสภาพพื้นที่ หรือภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงไป ยกเว้นมีการชดเชยให้อีกฝ่ายหนึ่งอย่างเป็นธรรม และห้ามแบ่งสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเกษตรกร พันธสัญญาหรือการทำการใดๆเพื่อให้การทำสัญญาไม่เช้าในระบบเกษตรพันธสัญญา
          ในส่วนของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หากเกิดการพิพาทขึ้นทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อน จึงจะมีสิทธินำข้อพิพาทไปสู่การพิจารณาของอนุญาโตลาการ หรือนำคดีไปสู่ศาล ซึ่งแบ่งเป็น ๒ คณะ คือ คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรุงเทพมหานคร มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการเขตกรุงเทพฯ ในท้องที่ที่เกิดเหตุ  และผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญก้านการเกษตร หรือ การบริหารธุรกิจซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งไม่เกิน ๓ คน เป็นกรรมการ โดยมีผู้แทนสำนักงาน ฯ  เป็นกรรมการและเลขานุการ และอีกคณะคือ คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัด มี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อัยการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย พาณิชย์จังหวัด ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม นายอำเภอในท้องที่ที่มีข้อพิพาท และผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญก้านการเกษตร หรือการบริหารธุรกิจซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน ๓ คน เป็นกรรมการ โดยมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ อย่างไรก็ตามหากพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทมากกว่า ๑ จังหวัด ให้คณะกรรมการฯ จังหวัดที่มีพื้นที่มากกว่าเป็นคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ทั้งนี้จะต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยในแล้วเสร็จภายใน ๒๐ วัน นับจากวันที่ประธานคณะกรรมการฯได้รับคำร้อง และสามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน ๑๐ วัน โดยต้องแจ้งคู่กรณีเป็นหนังสือล่วงหน้าก่อนครบกำหนด หากสามารถตกลงกันได้ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และถ้าหากตกลงกันไม่ได้ให้จำหน่ายข้อพิพาท และคู่สัญญามีสิทธินำข้อพิพาทไปสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการหรือนำคดีไปสู่ศาล


                      Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตร

          บทลงโทษตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ  ซึ่งมี ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด  ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตร ไม่จดแจ้งประกอบธุรกิจ/แจ้งยกเลิก ไม่ส่งเอกสารชี้ชวน ไม่ส่งสัญญาให้เกษตรกรหรือทำการแบ่งสัญญา ต้องระวางโทษปรับ หรือ คู่สัญญาฝ่าฝืนกระทำผิดในระหว่างการไกล่เกลี่ย ปัจจุบันสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ขึ้น และเร่งดำเนินการให้คณะกรรมการพิจารณากฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาเป็นลำดับ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบเนื้อหาและวิธีการปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว คงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง ท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจรายละเอียดของพระราชบัญญัติฉบับนี้ สามารถติดต่อสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๒๒๘๑ ๕๙๕๕ ต่อ ๓๕๔ หรือ E-mail : moaccontractfarming@gmail.com 
          ในภาพรวมแล้ว กฎหมายว่าด้วยระบบเกษตรพันธสัญญา พยายามบัญญัติขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรสูงสุด ด้วยเล็งเห็นว่า การทำการเกษตรลักษณะดังกล่าว ความเสี่ยงมักจะถูกผลักไปให้เกษตรกรมากกว่าบริษัทซึ่งเป็นผู้ประกอบการ อันที่จริงแล้ว ใดๆในโลกนี้ ย่อมมีสองด้านเสมอ ขึ้นกับว่าผู้มองจะมองในแง่มุมใด ผ่านประสบการณ์อย่างไร เพราะหากทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน กระจายสุข กระจายทุกข์ ชดเชยความขาดความเกินระหว่างกัน กฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างละเอียดและรัดกุมอาจไม่จำเป็นต้องมีเลยก็ได้ หรืออย่างไร

(ขอบคุณ : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์/ข้อมูล)

หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
ฉบับเดือนกันยายน 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น