วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ปาล์มน้ำมันกับเกษตรกรรมยั่งยืน


“…การทำการเกษตรกรรมนั้นจะต้องมีวิชาการ วิชาการแผนใหม่ สมัยใหม่ ที่ก้าวหน้า เช่น ใช้ปุ๋ย วิธีใช้ปุ๋ย วิธีใช้ยาต่างๆ วิธีใช้เครื่องกลต่างๆ อันนี้ทุกคนก็ปรารถนาที่จะก้าวหน้าเป็นคนสมัยใหม่ เป็นคนที่ใช้วิชาการวิทยาการแผนใหม่ คือ หมายความว่าอะไร เครื่องจักรกลทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ค้นคว้ามาก็ได้ใช้ ในข้อนี้ ต้องคิดดีๆ บางคนมุ่งที่จะเป็นคนสมัยใหม่ มุ่งจะเป็นคนก้าวหน้า ใช้วิชาการ ใช้วิทยาการ ใช้ที่เรียกว่าเทคโนโลยี คำนี้ก็คงจะเข้าใจ เทคโนโลยีก็หมายความถึงเครื่องกลต่างๆ ที่เขาค้นคว้ามา เขาเอามาขายเราในราคาแพง แล้วก็เวลาปฏิบัติก็ต้องมีความรู้ช่างกล มีความรู้ในทางวิชาการมากขึ้น ข้อนี้เป็นข้อดีเหมือนกันที่จะก้าวหน้า แต่หมายความว่าทุกคน สมาชิกทุกคน ต้องเรียนรู้วิชาการให้ใช้วิทยาการต่างๆ นี้ให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลเสียหายได้…”
                                      พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
จากหนังสือ น้อมนำตามคำพ่อประมวลพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิมพ์โดย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรกฎาคม ๒๕๕๔

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นกษัตริย์เกษตรโดยแท้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรและบริบทของสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง  สามารถรับรู้จากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เช่นกรณีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อพัฒนาการเกษตร ไม่ใช่เพียงแต่การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเทคโนโลยีนั้น อาจส่งผลเสียได้ในภายภาคหน้า จำเป็นต้องมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจเทคโนโลยีนั้นอย่างถ่องแท้ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรของตนได้
          สำหรับปาล์มน้ำมันที่นำเสนอใน “ฉีกซอง” ฉบับเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ เป็นเรื่องราวของมาตรฐานในการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ว่ากันว่าพระยาประดิพัทธ์ภูบาลเป็นผู้นำเข้าปาล์มน้ำมันพันธุ์เทเนอร่าจากประเทศมาเลเชียมาปลูกเป็นไม้ประดับที่สถานีทดลองยางคอหงส์  จังหวัดสงขลา  ในราวปี พ.ศ. 2480 เป็นคนแรก จากนั้นหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ได้ขยายไปปลูกเพื่อการค้าที่ตำบลบ้านปริก  อำเภอสะเดา  จังหวัดสงขลา  พื้นที่เริ่มแรกประมาณ 1,000 ไร่  ก่อนที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ โดยแหล่งปลูกหลักของโลกอยู่ที่มาเลเซียและอินโดนีเชีย ทั้งนี้ การปลูกปาล์มน้ำมันถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญการบุกรุกทำลายป่าในเขตเส้นสูตรศูนย์ จึงมีความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานขึ้นมา เพื่อควบคุมให้การปลูกปาล์มน้ำมันเป็นไปได้อย่างยั่งยืน สิ่งใดคือยั่งยืน โปรดติดตามใน “ฉีกซอง” ฉบับนี้
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

ปาล์มน้ำมัน – ทำลายป่า?
          ข้อมูลจาก USDA เมื่อปี 2558 และข้อมูลของ FAO มีความสอดคล้องกันเรื่องความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ทั้งทางด้านอาหารและพลังงาน ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.1 ต่อปี โดยเพิ่มจาก 34.2 ล้านตันในปี 2549 เป็น 58.5 ล้านตันในปี 2558  เมื่อคิดเทียบสัดส่วนแล้ว พบว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ศักยภาพในการผลิตน้ำมันต่อพื้นที่สูงถึง 6-10 เท่า เมื่อเทียบกับพืชน้ำมันชนิดอื่น จึงส่งผลให้การผลิตน้ำมันปาล์มสูงถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตพืชน้ำมันชนิดอื่น
          อย่างไรก็ตาม ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่อ่อนไหวต่ออุณหภูมิและปริมาณน้ำสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส และสภาพฝนแล้งเกินกว่า 3 เดือน จะให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 300 เมตร ความลาดเอียงไม่เกิน 12 เปอร์เซ็นต์  เป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีการระบายน้ำดีถึงปานกลาง ลักษณะดินที่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน  เป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง ความลึกของหน้าดินมากกว่า 75 เซนติเมตร ไม่มีชั้นดินดาน ค่าความเป็นกรดด่างของดินอยู่ระหว่าง 4-6 และระดับน้ำใต้ดินลึก 75-100 เซนติเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส และที่สำคัญปริมาณน้ำฝนต้องไม่น้อยกว่า 1,800 มิลลิเมตรต่อปี มีการกระจายของฝนสม่ำเสมอ มีช่วงแล้งต่อเนื่องน้อยกว่า 3 เดือน และมีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในช่วงแล้งอย่างเพียงพอ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จึงอยู่ในแนวเส้นศูนย์ แหล่งผลิตปาล์มน้ำมันหลักของโลก คือ อินโดนีเชีย และมาเลเซีย มีผลผลิตรวมกันราว 85 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตรวมโลก ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงเป็นประเทศที่มีบทบาทสูงต่อการชี้นำและกำหนดทิศทางของราคาน้ำมันปาล์มโลก ส่วนประเทศผู้บริโภคและนำเข้าหลัก คือ อินเดีย สหภาพยุโรป และจีน มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันราว 50 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าน้ำมันปาล์มทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันราว 5.18 ล้านไร่ ผลผลิตน้ำมันปาล์มประมาณ 1.9 ล้านตัน เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยมักจะสูงกว่าราคาของประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีความพยายามนำเข้าในช่วงที่ขาดแคลนบ่อยครั้ง ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นรองประธาน ฝ่ายเลขานุการ ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และผู้แทนกรมการค้าภายใน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

          สภาพการปลูกปาล์มน้ำมันในมาเลเซียและอินโดนีเชียเป็นสวนขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่หลายพันหลายหมื่นไร่ ในลักษณะของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง โดยในอินโดนีเชียพื้นที่ปลูกกว่า 96 เปอร์เซ็นต์อยู่เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา รวมพื้นที่ผลิตทั้งสองเกาะนี้ประมาณ 50 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ให้ผลผลิตแล้วราว 40 ล้านไร่ ส่งผลให้อินโดนีเชียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (crude palm oil - CPO) หลายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม ผลจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันดังกล่าว ทำให้เกิดการทำลายป่าในเขตร้อนชื้นของอินโดนีเชียและมาเลเชีย โดยกลุ่ม Green Peace ได้รายงานว่าในช่วงปี 2009-2011 การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันส่งผลให้เกิดการทำลายป่าเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเสือสุมาตรา ลิงอุรังอุตัง และช้างสุมาตรา เป็นต้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ที่กล่าวถึง ในขณะที่พื้นที่ของกาลิมันตันก็ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาศัยของชนพื้นเมืองเข่นกัน อินโดนีเชียจึงมีความพยายามที่จะหยุดยั้งการขยายพื้นที่ปลูก และหันกลับมาเพิ่มผลผลิตต่อไร่แทน ด้วยการปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีทดแทนปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตต่ำ ในขณะที่มาเลเชีย มีเป้าหมายที่จะรักษาพื้นที่ป่าให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในมาเลเชียชะลอตัวลง ทั้งนี้ การปลูกปาล์มน้ำมันในสองประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตรายสำคัญของโลก เป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการทำลายป่า การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อให้เกิดจุดเสี่ยงของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น และเป็นสาเหตุของปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ปลูกพืชอาหารของชนพื้นเมืองในซาราวัก กาลิมันตัน ในเกาะบอร์เนียว และรัฐซาบาร์ มาเลเซีย รวมไปถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็กในสวนปาล์มน้ำมัน ตลอดจนปัญหามลพิษทางน้ำและกลิ่นในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มอีกด้วย

                     Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

มาตรฐาน RSPO?
          เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อการผลิตสินค้าเกษตรมีความก้าวหน้ามาระดับหนึ่ง และมีแนวโน้มว่าจะสร้างผลตอบแทนในระดับที่สูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการกำหนดมาตรฐาน และมาตรฐานแทบทั้งหมดมักจะถูกกดดันให้กำหนดโดยกลุ่มผู้บริโภค ในส่วนของกลางน้ำและปลายน้ำ มากกว่าในส่วนของต้นน้ำ มาตรฐาน RSPO ก็ไม่ต่างกันนัก
          จากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้เป็นพลังงานทดแทน ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก เกิดการทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ การเอารัดเอาเปรียบแรงงานและเกษตรกรรายย่อย ส่งผลกระทบต่อสังคมและชุมชนท้องถิ่น จนเกิดการต่อต้านน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป  ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงริเริ่มโครงการ Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO ขึ้นในปี 2004 หรือ พ.2547 ณ เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีสถานะเป็นองค์กรภายใต้กฎหมายของสวิสเซอร์แลนด์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนทั่วโลกประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมกิจกรรมที่สนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน การพัฒนาวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการผลิตปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์ม ตลอดห่วงโซ่การผลิต บริหารจัดการการเงินขององค์กร และเผยแพร่การดำเนินงานขององค์กรต่อสาธารณะตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
                        Credit ภาพประกอบ  https://rspo.org/about/who-we-are
          
            สมาชิกของ RSPO ประกอบด้วย ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ผู้สกัดน้ำมันปาล์ม ผู้ค้า ผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ นักลงทุน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยึดถือปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศมีรายละเอียดเกณฑ์แตกต่างกัน เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ระบบของ RSPO จึงเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศกำหนดหลักเกณฑ์เป็นของตนเอง แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของ RSPO ซึ่งประกอบด้วยหลักการ (Principles) 8 ข้อ และเกณฑ์กำหนด 39 ข้อ โดยครอบคลุมถึงการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านกฎหมาย ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม และความเป็นประโยชน์ต่อสังคม หลักการ 8 ข้อ มีดังนี้
(1)    ความมุ่งมั่นให้เกิดความโปร่งในและตรวจสอบได้
(2)    การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ
(3)    ความมุ่งมั่นให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว
(4)    การใช้วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
(5)    ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
(6)    ความรับผิดชอบต่อบุคลากรและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
(7)    การพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ
(8)    ความมุ่งมั่นในการปรับปรุงสวนปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มอย่างต่อเนื่อง



Credit ภาพประกอบ  https://rspo.org/about/who-we-are

            
              ดังนั้น RSPO จึงมีลักษณะเป็นองค์กรเอกชนที่เกิดจากความร่วมมือจากหลายฝ่ายในระดับนานาชาติ โดยมี Board of Governors เป็นคณะกรรมการบริหาร ซึ่งต้องได้รับความคัดเลือกจากการประชุมใหญ่  มีระยะการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี Board of Governors ชุดแรก เลือกตั้งในวันที่ 6 ตุลาคม 2004 แบ่งเป็น ตัวแทนจากผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 4 คน (มาเลเชีย อินโดนีเชีย กลุ่มผู้ปลูกรายย่อย และกลุ่มผู้ปลูกที่เหลือ กลุ่มละ 1 คน) ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นตัวแทนผู้ค้า/ผู้สกัดน้ำมันปาล์ม  ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตสินค้าจากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม กลุ่มผู้ค้ารายย่อย/ผู้ค้าปลีก กลุ่มธนาคาร/นักลงทุน  NGOs ด้านสิ่งแวดล้อม/อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ NGOs ด้านสังคมและการพัฒนา กลุ่มละ 2 คน รวมทั้งสิ้น 16 คน   โดยมีสำนักงานเลขานุการ ซึ่งมี CEO เป็นผู้บริหาร  และมีคณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน ที่เรียกว่า Standard Committees เป็นคณะที่พิจารณาการกำหนดมาตรฐาน โดยผ่านการทำงานของคณะทำงานยกร่างมาตรฐานก่อน คณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน ประกอบด้วย มาตรฐานด้านการค้าและความโปร่งใส มาตรฐานด้านการสื่อสารและการเรียกร้อง มาตรฐานด้านการมาตรฐานและระบบการรับรองและมาตรฐานทางการเงิน ทั้งนี้ อาจมีการกำหนดให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาพิจารณาในแต่ละประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
             สำหรับการประชุมปีของ RSPO มี 2 กิจกรรมหลักๆ คือ RSPO Roundtable Meeting จัดขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนอีกการประชุมคือ RSPO European Roundtable  จัดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของทุกปี ในภูมิภาคยุโรป สมาชิกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ สมาชิกสามัญ สามารถออกเสียง ลงมติ และร่วมกิจกรรมได้ทุกกิจกรรม  สมาชิกวิสามัญ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง  และสมาชิกที่เป็นองค์กร/สมาคม โดยต้องเป็นองค์กรที่อยู่ใน Supply Chain ของปาล์มน้ำมัน และมีการซื้อปาล์มน้ำมันไม่น้อยกว่า 500 เมตริกตัน/ปี สมาชิก โดยสมาชิกกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิในการออกเสียง แต่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ กลุ่มที่ 4 คือ สมาชิกกิตติมศักดิ์ เป็นผู้มีอุปาระคุณและสนับสนุนกิจกรรมของ RSPO  โดยไม่สิทธิออกเสียง ทั้งนี้ สามารถเป็นได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรต่างๆก็ได้  สมาชิกสามัญต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี จำนวน 2,000 ยูโร / ปี เว้นแต่สมาชิกที่เป็นผู้ปลูกปาล์มรายย่อย ค่าธรรมเนียมจะลดหลั่นมาตามขนาดของพื้นที่ปลูก โดยอยู่ในอัตรา 250 – 2,000 ยูโร/ปี  ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิกในครั้งแรก มีกำหนดเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว หากไม่ทำหนังสือลาออกล่วงหน้า 3 เดือน จะถือว่ายังคงสมาชิกภาพ และต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี สำหรับสมาชิกวิสามัญ อัตราค่าธรรมเนียม 250 ยูโร/ปี สมาชิกที่เป็นองค์กร/สมาคมใน Supply Chain ค่าธรรมเนียม 100 ยูโร/ปี ในขณะที่สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ปัจจุบัน RSPO มีสมาชิกสามัญ 1,572 ราย สมาชิกวิสามัญ 96 ราย และสมาชิกที่เป็นองค์กร/สมาคม 1,794 ราย รวมสมาชิกทั้งสิ้น 3,462 ราย  (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2560 จาก www.rspo.org)
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

RSPO จำเป็นต่อการปลูกปาล์มน้ำมัน ?  

          ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน รวม 5.18 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 4.56 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2.4 ตัน/ไร่ มีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันราว 2 แสนครัวเรือน ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในประเทศในรูปของการบริโภคน้ำมันบริสุทธิ์ อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ และการผลิตไบโอดีเซล ในขณะที่ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มปี 2558-2569 กำหนดเป้าหมาย ด้านอุปทาน ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เพิ่มอีก 3 ล้านไร่ พัฒนาผลผลิตเฉลี่ยเป็น 3.5 ตัน/ไร่ และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตการแปรรูปให้ได้น้ำมันอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มเป็นกว่า 21 ล้านตัน หรือ เพิ่มจากเดิมราว 2 เท่า ด้านอุปสงค์ เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคประมาณ 3 แสนตัน หรือเพิ่มเฉลี่ย 3 เปอร์เซ็นต์/ปี และเพิ่มการใช้เป็นพลังงานทดแทนอีก 1 เท่า รวมทั้งรักษาระดับการส่งออกน้ำมันปาล์มให้ได้ประมาณ 3-5 แสนตัน/ปี  ตลอดจนภายในปี 2562 จะผลักดันให้เกิดมาตรฐานน้ำมันปาล์มอาเซียน (ASEAN Sustainable Palm Oil : ASPO) และผลักดันให้มีกฎหมายรองรับโครงสร้างถาวรในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนา
            สำหรับปัญหาการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทย พบว่า กว่าครึ่งของปาล์มน้ำมันที่ปลูกเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำ และมีเปอร์เซ็นต์การให้น้ำมันต่ำเพียง 14-17 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับมาเลเซียที่ 20 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเชียที่ 22 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย พื้นที่ถือครองประมาณ 10-20 ไร่ เกษตรกรยังขาดความรู้ในการบำรุงรักษาต้นปาล์มน้ำมัน  ในขณะที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งอ้างอิงยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มฉบับดังกล่าว และประเมินผลผลิตปาล์มน้ำมันจากพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศและปริมาณน้ำมันปาล์มคงเหลือจากการบริโภคเป็นศักยภาพในการผลิตไบโอดีเซลในอนาคต  โดยมีเป้าหมายผลิตไบโอดีเซลให้ได้ 14 ล้านลิตร/วัน ในปี 2579 จาก 5.6 ล้านลิตร/วัน ในปี 2559

Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

           กรณีเกษตรกรรายย่อยที่จะขอรับรองมาตรฐาน RSPO จะต้องมีการรวมกลุ่มกันขึ้น มีระบบบริหารจัดการกลุ่ม ระบบการควบคุมภายใน เกษตรกรแต่ละรายจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด และกลุ่มต้องผ่านการตรวจสอบรับตามมาตรฐาน RSPO ยกตัวอย่างเช่น หลักเรื่องความโปร่งใส ต้องมีการบันทึกการร้องขอและการตอบสนองด้านต่างๆ ต่อคำขอของสมาชิกกลุ่มและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งมีการเก็บรักษาบันทึกไว้ มีเอกสารการบริการจัดการของกลุ่มเกี่ยวกับกฎหมาย สังคม และสิ่งแวดล้อมที่พร้อมเปิดเผยต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสิทธิที่ดิน สิทธิในการใช้ที่ดิน โดยไม่มีการคัดค้านจากชุมชนและผู้เสียสิทธิ มีข้อตกลงระหว่างสมาชิกกลุ่มและผู้จัดการกลุ่ม ซึ่งต้องสำเนาให้สมาชิกทุกคนหรือติดประกาศไว้ที่สำนักงานด้วย มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความรู้เรื่องมาตรฐานให้กับสมาชิก ตลอดจนเอกสารบริหารจัดการกลุ่มที่พร้อมเปิดเผยกับสมาชิก หลักการหนึ่ง คือ การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ โดยต้องมีหลักฐานการทำตามกฎหมายของสมาชิก มีการติดตามจากผู้จัดการกลุ่ม มีรายชื่อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันที่มีความสำคัญและทันสมัย ที่สำคัญสมาชิกต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงสิทธิการถือครองที่ดิน การใช้ที่ดิน และถูกคัดค้านสิทธิ หากมีปัญหาด้านการถือครองที่ดิน ต้องมีการแก้ไขและมีรายงานความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหา รวมทั้งมีผังแปลงของสมาชิกแต่ละราย และทำเป็นผังแปลงรวมของกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม อีกหลักการคือ การสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว สมาชิกต้องทีส่วนร่วมในการจัดทำแผนบริหารจัดการงบประมาณประจำปี และต้องมีแผนการปลูกทดแทนที่เหมาะสมในแต่ละปีด้วย หลักการที่สำคัญหลักการหนึ่ง คือ การดูแลรักษาปาล์มน้ำมันตามวิธีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ประกอบด้วย การดูแลเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดิน การป้องกันความเสื่อมโทรมและพังทลายของดิน การบริหารจัดการน้ำ การป้องกันแนวตลิ่ง การใช้สารเคมีทางการเกษตร ระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ระบบอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน  โดยต้องมีเอกสารคู่มือแนวทางการปฏิบัติ และระบบการบันทึกข้อมูลที่ดี ตลอดจนมีการฝึกอบรมให้ความรู้และติดตามจากผู้จัดการกลุ่มด้วย
             นอกจากนี้ ยังต้องมีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีเอกสารหรือแผนที่ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการปลูกทดแทนหรือขยายพื้นที่ปลูก แผนที่แปลงกลุ่มเกษตรกร มีมาตรการในป้องกันและปกปักรักษาพืชและสัตว์หายากที่พบในพื้นที่ และระบบการกำจัดภาชนะบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีทางการเกษตรที่ถูกต้อง ไม่มีการใช้ไฟในการปรับพื้นที่เพื่อการปลูกปาล์มน้ำมัน อีกทั้งมีความรับผิดชอบต่อลูกจ้างและชุมชน โดยพิจารณาจากการจัดการประชุมหารือผลกระทบทางสังคม การกำหนดช่องทางและกลไกในการจัดการข้อร้องเรียน การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน การอนุญาตให้เด็กทำงานได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด การปลูกปาล์มใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ปลูกในเขตต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการพังทลายสูง และต้องการพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
             โดยสรุปแล้ว มาตรฐาน RSPO มุ่งเน้นให้เกิดการปลูกปาล์มน้ำมันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน เพื่อสกัดกั้นการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไปในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การปฏิบัติตามมาตรฐาน RSPO จะส่งผลให้เกษตรกรได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่การปลูก การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การบริหารจัดการดินและน้ำ การเก็บเกี่ยว การแบ่งปันเทคโนโลยีในการปรับปรุงกระบวนการผลิต การนำของเสียมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะส่งผลต่อระบบการผลิตของเกษตรกร ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่เพิ่มขึ้น อัตราการให้น้ำมันเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงมีรายได้ที่สูงขึ้น สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น


Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

               สถานการณ์ปัจจุบัน การแข่งขันทางการค้าสูงมากขึ้น บริษัทชั้นนำของโลกหลายบริษัท เริ่มสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นด้วยการนำเงื่อนไขของการรับรองมาตรฐาน RSPO มาเป็นองค์ประกอบหนึ่ง เป็นเกณฑ์เพื่อใช้ในการรับซื้อวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในส่วนของต้นน้ำ แสดงจุดยืนของการเป็นผู้ประกอบการที่รักษ์สิ่งแวดล้อมในส่วนของปลายน้ำ เช่น กลุ่มบริษัท Mark & Spencer Carrefour Cargill เป็นต้น นอกจากนี้ ในปี 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำเข้าน้ำมันปาล์ม 6 ประเทศ (เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก) ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า จะนำเข้าน้ำมันปาล์มที่มีการผลิตอย่างยั่งยืนเท่านั้น ขณะเดียวกัน เยอรมันได้ออกกฎหมายรองรับแหล่งผลิตนำมันปาล์มที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่นเดียวกัน มาตรฐาน RSPO ได้พัฒนามาสู่ RSPO Next โดยเน้นการลดการปล่อยคาร์บอนในรูปแบบต่างๆ เพื่อรักษาป่า การห้ามปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ป่าพรุ หลังวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 มีการตรวจสอบ/จัดการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิตและมีระบบรายงานสถานะให้ทราบด้วย อีกทั้งมาตรฐาน RSPO Next กำหนดให้มีการวางแผนและมีแนวป้องกันไฟในพื้นที่ด้วย มีอัตราค่าแรงที่เหมาะสม โดยเห็นชอบร่วมกันทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง กรณีที่ไม่มีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังห้ามใช้พาราครอตเป็นสารกำจัดศัตรูพืช และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งปลูกได้อีกด้วย
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

            เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า มาตรฐาน RSPO เป็นมาตรฐานที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เมื่อการพัฒนามาถึงจุดๆหนึ่ง มนุษย์ที่กินอิ่มนอนหลับ ก็จะเริ่มไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ เริ่มแสวงหาความแตกต่างไปเรื่อยๆ และเริ่มจะสำนึกได้ว่า ผลกระทบของการพัฒนา ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร สะเทือนต่อดาวสีน้ำเงินดวงนี้มากน้อยเพียงใด บางทีผู้เขียนยังเคยคิดเล่นๆว่า หากมนุษย์รู้จักคำว่า “พอ” มาตรฐานต่างๆ คงไม่ต้องถูกกำหนดขึ้นมา คงไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐาน Next และ Next เพื่อบังคับให้มนุษย์ด้วยกันนำไปปฏิบัติ หรือท่านผู้อ่านว่าอย่างไร

(ขอบคุณ : www.rspo.org ,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยพืชไร่ฯ กรมวิชาการเกษตร /ข้อมูล)

หมายเหตุ ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น