วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กักกันพืชกับการมีส่วนร่วมของสังคม


“…ทุกคนจะต้องตั้งมั่นในความสามัคคีและความไม่ประมาท จะต้องใช้ปัญญา และความรอบคอบ คิดอ่านก่อนที่จะกระทำการทั้งปวง จะต้องร่วมกันป้องกันแก้ไขและกำจัดสิ่งชั่วร้ายเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ หมั่นประกอบสัมมนาอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คิดถึงประโยชน์สุขส่วนรวมของบ้านเมืองเป็นนิตย์เป็นสำคัญ    ...
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่
วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในหลายโอกาสว่าด้วยเรื่องความสามัคคีและความไม่ประมาท ซึ่งต้องถึงพร้อมด้วยปัญญา ให้กับประชาชนคนไทย ได้น้อมนำไปปฏิบัติ สร้างสังคมที่มีความอยู่ดีกินดี และเกิดความยั่งยืนในการพัฒนา ประเทศใดถ้าขาดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะด้วยแล้ว เป็นไปได้ยากที่ประเทศนั้นจะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
          เดือนสิงหาคมของทุกปี มีกิจกรรมที่สำคัญหนึ่งอย่างสำหรับสังคมไทย นั่นคือ วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิ์ติ์พระบรมราชินีนารถในรัชกาลที่ ๙  ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกๆปี และยังเป็นวันแม่แห่งชาติอีกด้วย ช่วงวันดังกล่าวจึงอบอวลไปด้วยความรักระหว่างแม่กับลูก ด้วยสายใยความผูกพันที่ไม่สามารถตัดขาดจากกันได้ สำหรับผู้คนที่อยู่นอกวงการกักกันพืช อาจจะไม่ทราบว่าเดือนสิงหาคมยังมีวันหนึ่งที่เป็นวันสำคัญสำหรับผู้คนในวงการกักกันพืช นั่นคือ วันที่ ๑๘ สิงหาคม วันกักกันพืชไทย
          การกำหนดวันที่ ๑๘ สิงหาคม เป็น วันกักกันพืชไทย เกิดขึ้นจากการตราพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๕ ในยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๕๒ เล่มที่ ๖๙ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๙๕ เป็นกฎหมายฉบับสั้น ๆ มีเพียง ๑๔ มาตราเท่านั้น ดังนั้นวันที่ ๑๘ สิงหาคม ของทุกปีจึงเป็นวันกักกันพืชไทย เหตุผลความจำเป็นในการตรากฎหมายฉบับนี้ คือ การปกป้องการระบาดเข้ามาของศัตรูพืชต่างถิ่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจได้ โดยใช้หลักการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชในการวินิจฉัย
          ฉีกซอง ฉบับเดือนสิงหาคม ขอนำท่านผู้อ่านไปรับทราบแนวทางการเฝ้าระวังศัตรูพืชของประเทศยักษ์ใหญ่แห่งอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกา วิธีปฏิบัติเป็นอย่างไร โปรดติดตาม


หลักการกักกันพืช
           หากจะกล่าวง่ายๆ หลักการสากลการกักกันพืช คือ การป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชติดเข้ามา ดังนั้น ระบบกักกันที่มีประสิทธิภาพต้องพิจารณาจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นสำคัญ หรือในทางวิชาการจะเรียกว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยง สำหรับการกักกันพืช จะใช้คำว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช หรือ Pest Risk Analysis ซึ่งจะเห็นว่าระบบกักกันพืชให้ความสำคัญกับศัตรูพืชและการจัดการศัตรูพืชไม่ให้ติดเข้ามาในราชอาณาจักรมากกว่าชนิดพืช การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช จึงเป็นกระบวนการประเมินหลักฐานด้านชีววิทยา หรือด้านวิทยาศาสตร์อื่น ๆ และด้านเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาว่าศัตรูพืชชนิดหนึ่งควรได้รับการควบคุมหรือไม่ และมาตรการสุขอนามัยพืชใดที่เหมาะสมต่อการจัดการศัตรูพืชชนิดนั้น การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช จึงแบ่งได้ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย การเริ่มกระบวนการ (initiation) การประเมินความเสี่ยง (pest risk assessment) และการจัดการความเสี่ยง (pest risk management)
         ขั้นตอนที่ 1 การเริ่มกระบวนการ (Initiation)  สามารถเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์เส้นทางศัตรูพืช (PRA Initiate by Pathway) ความจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงจากศัตรูพืชใหม่หรือต้องมีการทบทวนของเดิมนั้น อาจเกิดขึ้นจากการนำเข้าสินค้าที่เป็นพืช หรือผลิตผลพืชชนิดใหม่ (new commodity)หรือจากแหล่งใหม่ (new origin) ซึ่งอาจจะมีศัตรูพืชชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้ หรือการนำเข้าพืชชนิดใหม่เข้ามาเพื่อใช้ในการทดลอง เช่น การคัดเลือกพันธุ์ หรืองานวิจัยอื่น ๆ หรือ ตรวจพบว่าศัตรูพืชสามารถเข้ามาได้ทางอื่น ๆ นอกเหนือจากสินค้าที่นำเข้า เช่น สามารถระบาดเข้ามาได้โดยธรรมชาติ หรือติดมากับ container เป็นต้น
          แนวทางหนึ่ง คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากศัตรูพืช (PRA Initiation by Pest) การเริ่มต้นวิเคราะห์ความเสี่ยงแนวทางนี้ เกิดขึ้นจากหลายกรณี ทั้งในภาวะฉุกเฉินเนื่องจากตรวจพบการทำลายของศัตรูพืชหรือเกิดการระบาดของศัตรูพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ประเมินความเสี่ยง หรือตรวจพบศัตรูพืชชนิดใหม่มากับสินค้าที่นำเข้า หรือ นักวิชาการได้ตรวจพบอันตรายจากศัตรูพืชชนิดใหม่ รวมทั้งมีผู้ขอนำเข้าศัตรูพืชและเชื้อจุลินทรีย์อื่น ๆ เพื่อมาทำการทดลองวิจัย หรือมีการตรวจพบศัตรูพืชซ้ำบ่อยครั้ง อีกทั้งพบว่าลักษณะทางพันธุกรรมของศัตรูพืชเปลี่ยนไป ทำให้ความรุนแรงของศัตรูพืชเปลี่ยนไปด้วย
          อีกแนวทาง คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากนโยบายของรัฐ (PRA Initiation by Policy) ซึ่งเกิดจากรัฐบาลมีนโยบายทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขอนามัยพืช หรือเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับมาตรการกักกันพืช รวมทั้งมีวิธีการใหม่ในการกำจัดศัตรูพืช หรือ มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับศัตรูพืชหรือสินค้านั้น ๆ ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ประเมิน เช่น เปลี่ยนแปลงเขตแดนอันเนื่องมาจากประเทศเกิดใหม่ หรือ ถูกท้าทาย (challenge) โดยประเทศอื่น หรือได้รับคำแนะนำจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น FAO, RPPO เป็นต้น
   
    
          ขั้นตอนที่ 2 การประเมินความเสี่ยงศัตรูพืช (Pest Risk Assessment) เป็นการจำแนกศัตรูพืชที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 ว่ามีศัตรูพืชชนิดใดบ้างที่มีลักษณะตรงตามคำจำกัดความของ ศัตรูกักกันพืช” (quarantine pest) แล้วจึงประเมินแนวโน้มที่ศัตรูพืชเหล่านั้นติดเข้ามาเจริญเติบโตและแพร่ระบาดในพื้นที่ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบที่ตามมาจากศัตรูพืชนั้น ซึ่งการจำแนกประเภทศัตรูพืช (Pest Categorization) ให้เป็น “quarantine pest”  จะต้องเป็นศัตรูพืชที่มีศักยภาพที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญต่อพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และยังไม่มีในพื้นที่นั้น หรือมีแต่ยังไม่ระบาดแพร่หลายและได้รับการป้องกันอย่างเป็นทางการปัจจัยที่จะต้องพิจารณา ได้แก่ ลักษณะของศัตรูพืช (identity of pest) การมีหรือไม่มีศัตรูพืชนั้นในพื้นที่ที่ได้รับการประเมิน มีการป้องกันกำจัดอย่างเป็นทางการหรือไม่ และมีศักยภาพที่จะระบาดในพื้นที่ที่ประเมินความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงอาจเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา
           สำหรับการประเมินศักยภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น (Assessment of Potential Economic Consequence) พิจารณาจากประเภทของผลกระทบ (Type of Effect) และผลทางเศรษฐกิจที่ตามมา (Economic Consequences) กล่าวคือ ผลกระทบที่เกิดจากศัตรูพืชโดยตรง (direct effect) ได้แก่ ศัตรูพืชที่ทำความเสียหายต่อพืชหรือผลิตผลโดยตรง ซึ่งจะต้องพิจารณาจากชนิดพืชต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ประเภท ปริมาณ และความถี่ของความเสียหายที่ได้รับ ผลิตผลที่ลดลงและคุณภาพของผลิตผลที่ต่ำ รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการก่อให้เกิดความเสียหายจากศัตรูพืช อัตราการระบาด ค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
            ผลกระทบอีกทางหนึ่ง คือ ผลกระทบทางอ้อม (indirect effect) เป็นผลกระทบที่ไม่เกิดแก่พืชหรือผลผลิตโดยตรงแต่เป็นที่เกิดจากการที่ศัตรูพืชนั้นเข้ามา เช่น ผลกระทบต่อตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่ต่างประเทศนำมาใช้เพื่อกีดกันสินค้าเหล่านั้น ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายและปัจจัยการผลิต  ผลกระทบต่อความต้องการของผู้ซื้อทั้งภายในและต่างประเทศสืบเนื่องจากคุณภาพของผลผลิตที่เปลี่ยนไป ผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการกำจัดศัตรูพืช ความยากลำบากในการกำจัดให้หมดไปหรือไม่ระบาดเพิ่มขึ้น และผลกระทบด้านสังคม เช่น การว่างงาน การสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
             การประเมินอีกส่วนหนึ่ง คือ การประเมินศักยภาพในการที่จะติดเข้ามาและแพร่ระบาด (Assessment of Potential Introduction and Spread) โดยพิจารณาศักยภาพในการติดเข้ามาของศัตรูพืช (Probability of Entry) ประกอบด้วย การพิจารณาโอกาสที่ศัตรูพืชติดมากับสินค้าในแหล่งผลิต ความน่าจะเป็นที่ศัตรูพืชมีชีวิตรอดระหว่างการขนส่งและจากการป้องกันกำจัดต่าง ๆ ในระหว่างเตรียมสินค้าจนกระทั่งถึงปลายทาง แหล่งและจำนวนจุดหมายปลายทางที่ส่งสินค้า ลักษณะการใช้ประโยชน์ของสินค้า รวมทั้งความยากง่ายในการตรวจพบศัตรูพืชที่ติดมา สำหรับศักยภาพในการเจริญเติบโตของศัตรูพืช (Probability of Establishment) พิจารณาจากมีพืชอาศัยของศัตรูพืชในพื้นที่ความเสี่ยงหรือไม่ หากมีจำนวนปริมาณมากน้อยเพียงไร และการกระจายของพืชอาศัยมีลักษณะเป็นอย่างไร ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ประเมิน ศักยภาพในการปรับตัวของศัตรูพืช วิธีการขยายพันธุ์ของศัตรูพืช และวิธีการดำรงชีวิตของศัตรูพืช 

               ศักยภาพอีกด้านที่ต้องประเมิน คือ ศักยภาพในการแพร่ระบาดของศัตรูพืช (Probability of Spread) พิจารณาสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของศัตรูพืช การติดกับสินค้าหรือยานพาหนะที่นำสินค้าไปในแหล่งต่าง ๆ การใช้ประโยชน์ของสินค้า การมีพาหะนำโรคหรือศัตรูพืชในพื้นที่ประเมินหรือไม่มากน้อยเพียงใด ปริมาณศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืชในแหล่งประเมิน
                ในส่วนของผลทางเศรษฐกิจที่ตามมา (Economic Consequences) การวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของศัตรูพืช มีปัจจัยหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมกัน อาทิ เวลาและสถานที่ การวิเคราะห์ผลกระทบด้านการค้า และการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอื่น ๆ เป็นต้น

              ขั้นตอนที่ 3 การจัดการความเสี่ยงศัตรูพืช (Pest Risk Management) เป็นการนำข้อสรุปของการวิเคราะห์ความเสี่ยงนำไปสู่การจัดการความเสี่ยง ว่าจะใช้มาตรการใดจัดการกับความเสี่ยง ทั้งนี้ความเสี่ยงที่เป็นศูนย์ (Zero risk) ไม่ใช่ทางเลือกที่มีเหตุผล ดังนั้นความเสี่ยงจึงควรจัดการให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสามารถปฏิบัติได้ หรืออีกนัยหนึ่งการจัดการความเสี่ยงต้องมีวิธีการการจัดการกับความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยสามารถชี้วัดผลและสามารถแนะนำวิธีที่เหมาะสมที่จะจัดการความเสี่ยงต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ ถ้ามีข้อให้เลือกหลายวิธีควรคำนึงถึงข้อจำกัดทางการค้า หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาด้วย การจัดการความเสี่ยง ปัจจัยในการพิจารณาต้องประกอบด้วย ระดับของความเสี่ยง (Level Risk) ข้อมูลทางวิชาการ (Technical Information Required) การยอมรับความเสี่ยง ( Acceptability of Risk) การเลือกวิธีที่เหมาะสมในการจัดการความเสี่ยง (Appropriate Risk Management Option)
การจัดการความเสี่ยงยังต้องนำประเด็นของประสิทธิภาพในการป้องกัน (ทางชีววิทยา) ต้นทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับ ผลกระทบจากข้อกำหนดที่มีอยู่ ผลกระทบต่อการค้า สังคม นโยบายการกักกันพืช ประสิทธิภาพของข้อกำหนดที่มีต่อศัตรูพืชชนิดอื่น และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาพิจารณาเพื่อให้ได้มาตรการในการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุด สำหรับวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดการความเสี่ยง (Pest Risk Management Options) แบ่งได้ 4 ลักษณะใหญ่ๆ คือ (1) วิธีการกำจัดศัตรูพืชที่ใช้กับสินค้าโดยตรง เช่น การรมด้วยแก๊สพิษ การอบด้วยไอน้ำ เป็นต้น (2) การป้องกันหรือการลดระดับการทำลายศัตรูพืชในแหล่งผลิต เช่น การกำหนดให้มีเวลาตรวจและกำจัดศัตรูพืชในแหล่งปลูก (3) การกำหนดแหล่งปลอดศัตรูพืชสำหรับสินค้าในแหล่งผลิต และ (4) การห้ามนำเข้า
     
   
                อย่างไรก็ตาม  ในระหว่างกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชทั้ง 3 ขั้นตอน จะต้องมีการสื่อสารความเสี่ยง (Risk communication) ไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการกำหนดมาตรการสุขอนามัยพืชและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการกักกันพืช


ALB กับ APHIS USDA
          สำหรับกรณีตัวอย่างที่ “ฉีกซอง” จะขอนำเสนอในโอกาสนี้คือการจัดการความเสี่ยงของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านกักกันพืชและสัตว์ของสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า Animal and Plant Health Inspection Service หรือ APHIS อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา หรือ United States Department of Agriculture (USDA)  กรณีดังกล่าว คือ มาตรการที่ใช้สำหรับการเฝ้าระวังด้วงหนวดยาว ศัตรูป่าไม้ ที่เรียกว่า Asian Longhorned Beetle (ALB) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anoplophora glabripennis  
Cr :  www.aphis.usda.gov
   
       ด้วงหนวดยาว มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่คาบสมุทรเกาหลีและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน อยู่ในวงศ์ Cerambycidae เป็นพวกด้วงเจาะไม้ ตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว หนวดมีขนาดยาวกว่าลำตัว ลักษณะเป็นปล้องสีขาวสลับดำ ลำตัวมีสีดำและมีจุดสีขาวกระจายทั่วตัว ตัวเมียขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ โดยจะวางไข่ไว้ภายในเปลือกของไม้เนื้อแข็ง ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ราว 90 ฟอง ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากการวางไข่  ไข่จะฟักเป็นตัวหนอนกัดกินเนื้อไม้เป็นอาหาร เจริญเติบโตอยู่ภายใต้เนื้อไม้ รวมระยะการเป็นตัวหนอนทั้งหมด 13 ระยะ โดยเจาะเป็นอุโมงค์อยู่ตามกิ่งและลำต้นของต้นไม้ จะพบเป็นรูอย่างชัดเจน มีขุยของเนื้อไม้หลุดออกมาอยู่ตรงบริเวณปากรู และบริเวณโคนต้นไม้ ก่อนที่จะเข้าดักแด้ และพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาราว 13-14 วัน จากนั้นจะออกจากรูที่เจาะเป็นอุโมงค์ออกมา ขนาดรูอาจกว้างถึง   เมื่อตัวเต็มวัยออกมาจากรูได้ จะเริ่มกัดกินใบไม้และเปลือกไม้เป็นอาหาร ใช้เวลา 10-14 วัน ก่อนที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป ซึ่งตัวเต็มวัยสามารถออกหากินและผสมพันธุ์เป็นบริเวณกว้างราว 400 หลา จากจุดที่ออกมาจากการเป็นดักแด้ เราจะสังเกตเห็นด้วงหนวดยาวในระยะตัวเต็มวัยได้ในช่วงเดือนเมษายน – ธันวาคม ระยะวางไข่จึงอยู่ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน และฝักออกมาเป็นตัวหนอนในช่วงฤดูหนาว ความรุนแรงของการทำลายในระยะ 3-4 ปีแรก ถ้าต้นไม้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ จะยังไม่แสดงอาการมาก แต่ต้นไม้จะเริ่มตายเมื่อเข้าปีที่ 10 15 ช้าเร็วขึ้นกับสภาพแวดล้อมและความสมบูรณ์ของต้น
Cr :  www.aphis.usda.gov

          ต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยของด้วงหนวดยาวชนิดนี้ ในสหรัฐอเมริกา รวม 12 จีนัส ประกอบด้วย Ash (Fraxinus) Birch (Betula) Elm (Ulmus) Golden rain tree (KoelreuteraiI) Horse chestnut / buckeye (Aesculus) Katsura (Cercidiphyllum) London plane tree (Platanus) Maple (Acer) Minosa (Albizia) Mountain ash (Sorbus) Poplar (Populus) และ Willow (Salix) ทั้งนี้ พบมากที่สุดในต้น Maple Elm และ Willow  ด้วงหนวดยาวดังกล่าวจึงสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรม maple syrup  อุตสาหกรรมป่าไม้ สถานเพาะเลี้ยงต้นไม้ ตลอดจนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย
           การเข้ามาของด้วงหนวดยาวชนิดนี้ในพื้นที่ทวีปอเมริกาเหนือ พบรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 1996 ที่ New York ต่อมาเดือนกรกฎาคม 1998  พบที่ Chicago รัฐ Illinois เดือนตุลาคม 2002 พบที่ Jersey City รัฐ New Jersey หลังจากนั้นมีรายงานการพบที่ Toronto ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนกันยายน 2003 และในเดือนสิงหาคม ปีต่อมาก็พบในเมือง Middle Six/Union Countries รัฐ New Jersey  ก่อนที่จะพบในเมือง Worcester Country รัฐ Massachusetts ในเดือนสิงหาคม 2008 และขยายไปเมือง Suffolk Country รัฐเดียวกันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 สันนิษฐานว่าการเข้ามาของด้วงหนวดยาวจากแหล่งกำเนิดที่ไกลถึงคาบสมุทรเกาหลีและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แพร่มายังประเทศในแถบยุโรปก่อน โดยมีรายงานการพบในโปแลนด์ เยอรมัน ออสเตรีย ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือ คาดว่าน่าจะติดมากับลังไม้ (wood packaging) ที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุหีบห่อในการขนส่งระหว่างกัน ประเด็นการเข้ามาตั้งรกรากของศัตรูพืชต่างถิ่น เป็นประเด็นที่ทาง APHIS ให้ความสนใจมาก เพราะเมื่อศัตรูพืชต่างถิ่นเข้ามา จะไม่มีศัตรูธรรมชาติอยู่เลย หรือถ้ามีก็มีน้อยมาก พืชอาศัยของศัตรูพืชต่างถิ่นไม่มีภูมิคุ้มกันตนเองตามธรรมชาติ (เพราะไม่เคยเผชิญกับศัตรูชนิดนี้มากก่อน จึงไม่ได้สร้างภูมิคุมกันตามธรรมชาติไว้ ) ยิ่งไปกว่านั้น หากศัตรูพืชต่างถิ่นตั้งรกรากได้และสามารถรุกรานและแข่งขันกับแมลง/ศัตรูพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งที่มีอยู่เดิม จะเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศในภาพรวมได้
Cr :  www.aphis.usda.gov

          วิธีการดำเนินการของ APHIS เพื่อหยุดยั้งการระบาดของด้วงหนวดยาวดังกล่าว อาศัยกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า Plant Protection Act ปี 2000 กำหนดมาตรการในการนำเข้าโดยให้ลังไม้และบรรจุภัณฑ์ไม้จากทุกแหล่งที่นำเข้ามาจะต้องผ่านกระบวนการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธี Heat Treatment หรือ การรมด้วยสารรมตามวิธีการที่กำหนด และประทับตราตามมาตรฐาน ISPM หมายเลข 15  นอกจากนี้ การดำเนินการเพื่อกำจัดด้วงหนวดยาวดังกล่าว รัฐบาลกลางได้ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อลดจำนวนประชากรและกำจัดให้หมดสิ้นไป ภายใต้คำแนะนำของ APHIS ประกอบด้วย การกำหนดเขตกักกันในระยะ 1.5 ไมล์จากต้นไม้ที่พบการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาว โดยห้ามมีการเคลื่อนย้ายพาหะทุกชนิดออกนอกพื้นที่กักกัน การสำรวจต้นไม้อาศัยของดวงหนวดยาวทั้งบริเวณรอบต้นและบนต้นไม้ เพื่อหาร่องรอยของการทำลาย  การเคลื่อนย้ายและกำจัดต้นไม้อาศัยที่มีความเสี่ยงสูงและต้นที่ถูกทำลายในเขตกักกัน การฉีดสารเคมีชนิดดูดซึมเข้าลำต้นไม้ที่มีเป็นพืชอาศัยและยังไม่มีการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาว ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันกำจัด และสร้างการรับรู้และสื่อสารกับสาธารณะให้เข้าใจไปในทางเดียวกัน
          การกำหนดเขตกักกันศัตรูพืชสำหรับด้วงหนวดยาวชนิดนี้ เมื่อมีการตรวจพบการเข้าทำลาย APHIS และหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น จะร่วมกันประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม โดยกักกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายและแพร่ระบาดออกไปด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายศัตรูพืชและพาหะของศัตรูชนิดนี้ไม่ให้เคลื่อนย้ายออกไปจากจุดที่พบการเข้าทำลาย ซึ่งจะเป็นการป้องกันเบื้องต้นที่จะไม่ให้ศัตรูพืชชนิดนี้แพร่กระจายออกไป
Cr :  www.aphis.usda.gov

          เจ้าหน้าที่ของ APHIS ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นจะทำการสำรวจบริเวณที่พบการเข้าทำลายโดยละเอียด เพื่อกำหนดขอบเขตของเขตควบคุมศัตรูพืช โดยส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่รัศมี 1.5 ไมล์จากจุดที่พบรอยเจาะออกมาของด้วงหนวดยาวชนิดนี้ และรัศมี 0.5 ไมล์ จากจุดที่พบร่องรอยของไข่ ภายใต้ข้อกำหนดของการกักกันนี้จะรวมด้วงหนวดยาวในทุกระยะของวงจรชีวิต ท่อนฟืนจากต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัย ไม้แปรรูปที่ยังไม่แห้งสนิท รวมไปถึงชิ้นส่วนของต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยทุกส่วน รากไม้ ตอไม้ ต้นกล้า กิ่ง ก้าน รวมถึงเศษไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 0.25 นิ้วขึ้นไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกไปนอกเขตควบคุมได้เป็นอันขาด ตามกฎระเบียบของรัฐบาลท้องถิ่น เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ประเด็นสำคัญสำหรับการควบคุมการระบาดของด้วงหนวดยาวชนิดนี้ คือ การค้นพบการระบาดของด้วงชนิดนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งจากการศึกษาของ APHIS กำหนดให้มี Year-round survey ประกอบด้วย การค้นหาต้นไม้ที่ถูกด้วงหนวดยาวเข้าทำลายและกำหนดขอบเขตของการทำลาย กำหนดเขตกักกันศัตรูพืช พิจารณาตัดสินใจว่าด้วงหนวดยาวมีการแพร่ระบาดออกไปจากเขตกักกันหรือไม่ ถ้ามีให้ขยายพื้นที่ให้ครอบคลุม โดยจัดเป็นพื้นที่ควบคุมศัตรูพืช และพิจารณาประกาศยกเลิกเขตกักกันเมื่อสามารถควบคุมกำจัดศัตรูพืชนั่นได้
          รูปแบบของการสำรวจต้นไม้พืชอาศัย จะใช้ทั้งกล้องส่องทางไกลจากพื้นดินขึ้นไปบนต้นไม้ การปีนขึ้นไปดู หรือ การใช้รถกระเช้า โดยจะพิจารณาว่ามีร่องรอยของไข่ รูที่เจาะออกของตัวเต็มวัย ขุยไม้ และน้ำเลี้ยงที่ไหลออกมาจากรอยที่ถูกทำลาย ซึ่งแบ่งระดับความเข้มข้นของการสำรวจออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 จะสำรวจจากจุดที่พบการเข้าทำลายในรัศมี 0.5 ไมล์ หากยังพบการเข้าทำลายมากกว่า 0.5 ไมล์ จะขยายเป็นระดับที่ 2 รัศมีจากจุดที่พบการระบาดที่ไกลที่สุดไปอีก 1 ไมล์ และหากยังพบการทำลายมากกว่ารัศมี 1 ไมล์ จะยกระดับความเข้มข้นของการกักกันเป็นระดับ 3 ครอบคลุมพาหะทุกชนิด การเคลื่อนย้าย สถานเพาะเลี้ยง และต้น Mable ทุกต้น
Cr :  www.aphis.usda.gov

          สำหรับการการเคลื่อนย้ายและทำลายต้นที่ถูกด้วงหนวดยาวเข้าทำลาย เป็นการลดจำนวนประชากรของด้วงหนวดยาว และลดความรุนแรงลง เมื่อมีการตรวจพบร่องรอยการเข้าทำลายเพียง 1 จุด เจ้าหน้าที่จะแจ้งไปยังเจ้าของพื้นที่นั้นให้ทราบก่อนที่จะเข้าไปดำเนินการ และหากในบริเวณนั้น มีพืชอาศัยอยู่ พืชอาศัยที่อยู่โดยรอบในรัศมี 0.25 ไมล์จะต้องถูกดำเนินการด้วย โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเคลื่อนย้ายต้นไม้ที่ถูกเข้าทำลาย มาย่อยให้เป็นชิ้นไม้ขนาดเล็กไม่เกิน 1 นิ้ว มิเช่นนั้นด้วงหนวดยาวจะกลับเข้ามาทำลายได้ หลังจากนั้น ต้องมีการปลูกพืชคลุมดิน ก่อนที่จะมีการปลูกทดแทน ซึ่งต้องไม่ใช่พืชอาศัยของด้วงหนวดยาวดังกล่าว
Cr :  www.aphis.usda.gov

          กรณีการใช้สารเคมี จะใช้สาร Immidacloprid  ฉีดเข้าลำต้น เพื่อลดจำนวนประชากรของด้วงหนวดยาว และป้องกันไม่ให้ด้วงหนวดยาวเข้าทำลาย โดยจะฉีดเข้าลำต้นหรือฉีดลงพื้นดินในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ช่วงต้นฤดูร้อน และช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเกิดขึ้นของตัวเต็มวัย กรณีการฉีดเข้าลำต้น สารเคมีจะออกฤทธิ์ประมาณ 1-3 สัปดาห์ ส่วนการฉีดเข้าไปในพื้นดิน สารเคมีจะออกฤทธิ์ได้ 3 เดือน ซึ่งในรอบปีหนึ่งต้องมีการใช้สารจำนวน 3 ครั้ง เพื่อให้สามารถควบคุมด้วงหนวดยาวได้ แต่ไม่สามารถกำจัดได้โดยสิ้นเชิง ปัจจุบัน USDA ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับวิธีป้องกันกำจัด วิธีการตรวจหาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนการกระจายการระบาดของด้วงหนวดยาว พฤติกรรม และลักษณะของ DNA
Cr :  www.aphis.usda.gov

          ประเด็นสำคัญในการเฝ้าระวังและการกำจัดศัตรูพืชกักกัน คือ การสื่อสารความเสี่ยงให้สาธารณะได้รับทราบและรณรงค์ขอความร่วมมือในการเฝ้าระวังร่วมกันในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ การจัดรณรงค์การตรวจหาด้วงหนวดยาวในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ด้วงหนวดยาวเป็นตัวเต็มวัย ระบบการรายงานการตรวจพบผ่านระบบอินเตอร์เน็ท การแจ้งทางสายด่วน การจัดนิทรรศการในพื้นที่มีความเสี่ยง ซึ่งมี 3 รัฐด้วยกัน ได้แก่ New York Massachusetts และ Ohio พร้อมคำแนะนำอย่างละเอียดในการเก็บตัวอย่าง การระบุพิกัดการตรวจพบ และการบันทึกภาพ 3 มิติ เพื่อประโยชน์ในการจำแนก รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่อยู่ในเขตกักกันศัตรูพืชและเขตควบคุมศัตรูพืชอย่างเคร่งครัด ณ ปัจจุบันด้วงหนวดยาวในสหรัฐอเมริกายังคงไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปได้ แต่สามารถเฝ้าระวังได้ในระดับหนึ่ง พร้อมกับเรียนรู้และศึกษาพฤติกรรมของด้วงหนวดยาว และให้ความรู้กับผู้เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ
          
       Cr :  www.aphis.usda.gov
   
       งานกักกันพืช เป็นงานชิ้นเล็กๆ สำหรับระบบการผลิตทางการเกษตร แต่ก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำการเกษตรในภาพรวม ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การเพิ่มประสิทธิภาพและการหาแนวร่วมในการทำงานเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ คงถึงเวลาแล้วที่จะปรับระบบงานกักกันพืชของไทย ให้เป็นงานที่ทุกคนมีส่วนร่วม พลังจากทุกภาคส่วน จะสร้างความเข้มแข็งให้การเกษตรไทยได้จริง ขอพลังจงอยู่กับท่าน


(ขอบคุณ : https://www.aphis.usda.gov/publications/plant_health/2016/book-alb.pdf
https://www.aphis.usda.gov/plant_health/plant_pest_info/asian_lhb/downloads/alb_response_guidelines.pdf , สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร / ข้อมูล)

หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
ฉบับเดือนสิงหาคม 2560

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น