วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เกษตรอินทรีย์ เกษตรโลกสวย (ตอนที่ 1)

    organicfood.jpg 
cr : https://www.scbeic.com/th/detail/product/3360
  
          หากเราเอาตัวเองออกจากปัญหา แล้วมองกลับไปยังจุดที่เป็นปัญหาด้วยมุมมองใหม่ๆที่ไม่เหมือนเดิม รูปแบบและวิธีคิดของเราก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม เรื่องที่เครียดๆ อาจกลายเป็นเรื่องขำๆไปได้ เช่นเดียวกับเรื่องการทำการเกษตร ในยุคก่อนระบบการทำการเกษตรยังเป็นการทำการเกษตรที่พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ต่อมาเมื่อจำนวนคนมากขึ้น ความต้องการอาหารสูงขึ้นระบบการทำการเกษตรก็ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่การทำการเกษตรที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ปุ๋ยเคมี สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช พันธุ์พืชลูกผสม หรือจนกระทั่งพันธุ์พืชที่ผ่านการตัดแต่งสารพันธุกรรม การทำการเกษตรที่มองข้ามสิ่งแวดล้อม มองข้ามทรัพยากรธรรมชาติ จนมาถึงจุดหนึ่งที่สมดุลของธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไป โลกจึงได้ดีดกลับผลเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นกลับคืนมายังมนุษย์ผู้เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา บทเรียนราคาแพงนี้สอนให้มนุษย์รู้ว่า อย่าทำตัวยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ แนวทางการทำการเกษตรจึงค่อยๆปรับเปลี่ยนกลับมาสู่ ณ จุดเริ่มต้น คือ การเกษตรที่อยู่กับธรรมชาติ เติบโตและสวยงามไปพร้อมกัน ที่เรียกกันว่า “เกษตรอินทรีย์”
          “ฉีกซอง” ฉบับนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปรับทราบสถานการณ์การทำเกษตรอินทรีย์ เดินทางมาไกล หรือ เดินวนอย่างไร โปรดติดตาม

เกษตรอินทรีย์?
          เกษตรอินทรีย์ (organic agriculture) ตามความหมายของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เล่ม 1: การผลิต แปรรูป แสดงฉลาก และจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000 เล่ม 1-2552) หมายถึง ระบบจัดการการผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวภาพ โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบจากการสังเคราะห์และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากเทคนิคการตัดแปรพันธุกรรม (genetic modification) มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน  
ในขณะที่คำนิยามของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movement – IFOAM) ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรด้านเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศที่มีบทบาทมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ได้สรุปความหมายเกษตรอินทรีย์ หมายถึง ระบบการผลิตที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสุขภาพดิน ระบบนิเวศ และผู้คน เกษตรอินทรีย์พึ่งพาอาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยา ความหลากหลายทางชีวภาพ และวงจรธรรมชาติ ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ แทนที่จะใช้ปัจจัยการผลิตที่มีผลกระทบทางลบ เกษตรอินทรีย์ผสมผสานองค์ความรู้พื้นบ้าน นวัตกรรม และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความสัมพันธ์ที่เป็นธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกผู้คนและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (มติที่ประชุมใหญ่ IFOAM มิถุนายน 2551 อิตาลี)  จะเห็นได้ว่าเกษตรอินทรีย์ตามนิยามของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติมองเกษตรอินทรีย์ในฐานะของการเกษตรแบบองค์รวมให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศการเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจ เพราะความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยแยกออกจากความยั่งยืนทางสังคมและเศรษฐกิจของเกษตรกรและสังคมโดยรวม
          สำหรับหลักการเกษตรอินทรีย์ที่ยอมรับกันทั่วไป คือ หลักการที่กำหนดโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Organic Agriculture Movements – IFOAM) ซึ่งได้ระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ร่างหลักการเกษตรอินทรีย์นี้นำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสหพันธ์ฯ เมื่อปลายปี 2548 และที่ประชุมใหญ่ได้ลงมติรับรองหลักการเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว โดยหลักการเกษตรอินทรีย์ของ IFOAM ประกอบด้วย 4 หลักการ คือ สุขภาพ, นิเวศวิทยา, ความเป็นธรรม, และการดูแลเอาใจใส่ (health, ecology, fairness and care) กล่าวคือ มิติด้านสุขภาพ เกษตรอินทรีย์ควรจะต้องส่งเสริมและสร้างความยั่งยืนให้กับสุขภาพอย่างเป็นองค์รวมของดิน พืช สัตว์ มนุษย์ และโลก บทบาทของเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่การผลิตในไร่นา การแปรรูป การกระจายผลผลิต ไปถึงการบริโภค ต่างมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีของระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิต ทั้งสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กสุดในดินจนถึงตัวมนุษย์เอง เกษตรอินทรีย์จึงมุ่งที่จะผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อสนับสนุนให้มนุษย์ได้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ดังนั้น เกษตรอินทรีย์จึงเลือกที่จะปฏิเสธการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เวชภัณฑ์สัตว์ และสารปรุงแต่งอาหารที่อาจมีอันตรายต่อสุขภาพ
          มิติที่ 2 ด้านนิเวศวิทยา เกษตรอินทรีย์ควรตั้งอยู่บนรากฐานของระบบนิเวศวิทยาและวัฎจักรแห่งธรรมชาติ การผลิตการเกษตรจะต้องสอดคล้องกับวิถีแห่งธรรมชาติ และช่วยทำให้ระบบและวัฎจักรธรรมชาติเพิ่มพูนและยั่งยืนมากขึ้น หลักการเกษตรอินทรีย์ในเรื่องนี้มองเกษตรอินทรีย์ในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของระบบนิเวศที่มีชีวิต ดังนั้น การผลิตการเกษตรจึงต้องพึ่งพาอาศัยกระบวนการทางนิเวศวิทยาและวงจรของธรรมชาติ โดยการเรียนรู้และสร้างระบบนิเวศสำหรับให้เหมาะสมกับการผลิตแต่ละชนิด เช่น การปลูกพืช เกษตรกรจะต้องปรับปรุงดินให้มีชีวิต หรือการเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจะต้องใส่ใจกับระบบนิเวศโดยรวมของฟาร์ม หรือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เกษตรกรต้องใส่ใจกับระบบนิเวศของบ่อเลี้ยง เป็นต้น สอดคล้องกับเงื่อนไขท้องถิ่น ภูมินิเวศ วัฒนธรรม และเหมาะสมกับขนาดของฟาร์ม ใช้ปัจจัยการผลิตและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการใช้ซ้ำ การหมุนเวียน เพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืน
มิติที่ 3 ด้านความเป็นธรรม เกษตรอินทรีย์ควรจะตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่มีความเป็นธรรมระหว่างสิ่งแวดล้อมโดยรวมและสิ่งมีชีวิต ความเป็นธรรมนี้รวมถึงความเท่าเทียม การเคารพ ความยุติธรรม และการมีส่วนในการปกปักพิทักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่ ทั้งในระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง และระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในหลักการด้านนี้ ความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ในทุกระดับควรมีความสัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรม ทั้งเกษตรกร คนงาน ผู้แปรรูป ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้า และผู้บริโภค ทุกผู้คนควรได้รับโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนช่วยในการรักษาอธิปไตยทางอาหาร และช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน เกษตรอินทรีย์ควรมีเป้าหมายในการผลิตอาหารและผลผลิตการเกษตรอื่นๆ ที่เพียงพอ และมีคุณภาพที่ดี รวมไปถึงการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสภาพการเลี้ยงให้สอดคล้องกับลักษณะและความต้องการทางธรรมชาติของสัตว์ ดูแลเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของสัตว์อย่างเหมาะสม สำหรับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่นำมาใช้ในการผลิตและการบริโภคควรดำเนินการอย่างเป็นธรรม ทั้งทางสังคมและทางนิเวศวิทยา รวมทั้งต้องมีการอนุรักษ์ปกป้องให้กับอนุชนรุ่นหลัง ความเป็นธรรมนี้จะรวมถึงว่า ระบบการผลิต การจำหน่าย และการค้าผลผลิตเกษตรอินทรีย์จะต้องโปร่งใส มีความเป็นธรรม และมีการนำต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาเป็นต้นทุนการผลิตด้วย
          มิติสุดท้าย คือ ด้านการดูแลเอาใจใส่ การบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบ เพื่อปกป้องสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งพิทักษ์ปกป้องสภาพแวดล้อมโดยรวมด้วย เนื่องจากเกษตรอินทรีย์เป็นระบบที่มีพลวัตรและมีชีวิตของตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ควรดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มผลผลิตในการผลิต แต่ในขณะเดียวกันจะต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ จะต้องมีการประเมินผลกระทบอย่างจริงจัง และแม้แต่เทคโนโลยีที่มีการใช้อยู่แล้ว ก็ควรจะต้องมีการทบทวนและประเมินผลกันอยู่เนืองๆ ทั้งนี้เพราะมนุษย์เรายังไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างดีพอเกี่ยวกับระบบนิเวศการเกษตรที่มีความสลับซับซ้อน ดังนั้น เราจึงต้องดำเนินการต่างๆ ด้วยความระมัดระวังเอาใจใส่  ในหลักการนี้ การดำเนินการอย่างระมัดระวังและรับผิดชอบเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการ การพัฒนา และการคัดเลือกเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในเกษตรอินทรีย์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจว่า เกษตรอินทรีย์นั้นปลอดภัยและเหมาะกับสิ่งแวดล้อม แต่อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ประสบการณ์จากการปฏิบัติ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะสมถ่ายทอดกันมาก็อาจมีบทบาทในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้เช่นกัน เกษตรกรและผู้ประกอบการควรมีการประเมินความเสี่ยง และเตรียมการป้องกันจากนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ และควรปฏิเสธเทคโนโลยีที่มีความแปรปรวนมาก เช่น เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม การตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีต่างๆ จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็นและระบบคุณค่าของผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ และจะต้องมีการปรึกษาหารืออย่างโปร่งใสและมีส่วนร่วม


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ organic thailand


สถานการณ์เกษตรอินทรีย์
          จากรายงานของ World of Organic Agriculture 2017  (www.organic-world.net) ในปี 2015 มีประเทศที่มีระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ รวม 179 ประเทศ (ในขณะที่ในปี 1999 มีประเทศที่ทำการเกษตรอินทรีย์เพียง 77 ประเทศเท่านั้น) พื้นที่ที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์รวมพื้นที่อนุรักษ์ทั่วโลกประมาณ 50.9 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 318 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 6.5 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 40.62 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 ของพื้นที่ทำการเกษตร โดยในประเทศชั้นนำด้านเกษตรอินทรีย์พื้นที่ที่ทำการเกษตรอินทรีย์คิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ทำการเกษตรเลยทีเดียว มีผู้ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์กว่า 2.4 ล้านคน และในจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนากว่า 3 ส่วน และร้อยละ 35 อยู่ในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย
          สำหรับประเทศที่มีพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์มากที่สุด 10 อันดับแรก คือ ออสเตรเลีย (22.69 ล้านเฮกตาร์) อาร์เจนตินา (3.07 ล้านเฮกตาร์) สหรัฐอเมริกา (2.03 ล้านเฮกตาร์) สเปน (1.97 ล้านเฮกตาร์) จีน (1.61 ล้านเฮกตาร์) อิตาลี (1.49 ล้านเฮกตาร์) ฝรั่งเศส (1.38 ล้านเฮกตาร์) อุรุกวัย (1.31 ล้านเฮกตาร์) อินเดีย (1.18 ล้านเฮกตาร์) และเยอรมัน (1.09 ล้านเฮกตาร์) เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนพื้นที่การเกษตรกับพื้นที่เกษตรอินทรีย์แล้ว พบว่า ประเทศที่มีสัดส่วนพื้นที่เกษตรอินทรีย์กว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 5 อันดับแรก คือ ลิกเตนสไตน์ (ร้อยละ 30.2) ออสเตรีย (ร้อยละ 21.3) สวีเดน (ร้อยละ 16.9) เอสโตเนีย (ร้อยละ 16.5) ซาโตเมและปรินเซเป (ร้อยละ 13.8)
          ด้านการตลาดในปี 2015 ประมาณการมูลค่าทางการตลาดของสินค้าอินทรีย์อยู่ที่ 75,000 ล้านยูโร ตลาดขนาดใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกา 35,800 ล้านยูโร เยอรมัน 8,600 ล้านยูโร และฝรั่งเศส 5,500 ล้านยูโร หากพิจารณาสัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าอินทรีย์ พบว่าเฉลี่ยทั่วโลกมีค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ 10.3 ยูโร ต่อ คน ในขณะที่ประเทศที่มีสัดส่วนสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ สวิตเซอร์แลนด์ 262 ยูโร/คน เดนมาร์ก 191 ยูโร/คน และสวีเดน 177 ยูโร/คน
          ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 มีพื้นที่ปลูกพืชอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานรวม 227,137 ไร่  คิดเป็นร้อยละ 0.15 ของพื้นที่ที่การเกษตรทั้งประเทศ จำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์รวม 10,754 ราย 141 กลุ่ม ผลผลิตรวมประมาณ 5,000 ตัน มูลค่ารวมประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี  เป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง สินค้าส่วนใหญ่ คือ ข้าว และพืชผักต่างๆ
          เป็นที่ทราบกันดีว่า มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ทุกประเทศให้การยอมรับและต้องดำเนินการให้ได้ตามมาตรฐานดังกล่าว คือ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของ Codex ซึ่งเป็นมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ  นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศกลุ่มผู้นำด้านการผลิตและการบริโภคผลิตภัณฑ์จากระบบเกษตรอินทรีย์หลายมาตรฐาน  เช่น มาตรฐานของกลุ่มสหภาพยุโรป (EU Regulation)   มาตรฐานของออสเตรเลีย มาตรฐานของสหรัฐอเมริกา (National Organic Program) และมาตรฐานของญี่ปุ่น (Japan Organic and Natural Foods Association Organic Standard) ในส่วนของประเทศไทย เกษตรอินทรีย์เริ่มรู้จักกันแพร่หลายในช่วงปี 2533 / 34  ซึ่งเป็นช่วงที่ร้านจำหน่ายสินค้าจากระบบเกษตรอินทรีย์กระจายอยู่ในเมืองหลักเป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ในช่วงนั้นผู้ผลิตต่างก็เป็นผู้รับรองสินค้าของตนเอง โดยยังไม่มีหน่วยงานราชการมารับรองระบบการผลิตแต่อย่างใด กรมวิชาการเกษตรในขณะนั้นจึงได้พัฒนามาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ขึ้นมาเป็นลำดับ โดยยึดหลักเกณฑ์ของ Codex และ IFOAM เป็นกรอบในการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งได้ประกาศมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร ในปี 2543 และกำเนิดตราสัญลักษณ์ Organic Thailand ขึ้น ต่อมามีการปรับโครงสร้างหน่วยงานราชการ   จึงมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารโดยเฉพาะ คือ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐาน    มาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรดังกล่าวจึงถูกนำมาปรับปรุงเป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ : เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 : การผลิต การแปรรูป แสดงฉลาก และการจำหน่ายเกษตรอินทรีย์  เมื่อปี 2546  และปรับปรุงล่าสุดในปี 2552 เป็นมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ : เกษตรอินทรีย์ เล่ม 1 : การผลิต การแปรรูป แสดงฉลาก และการจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ซึ่งจัดในกลุ่มของมาตรฐานทั่วไป
          เกษตรอินทรีย์  ตามความหมายของมาตรฐานฉบับนี้   หมายถึง ระบบการจัดการการผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวม   ที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศน์ รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวภาพ  โดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบจาการสังเคราะห์ และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (genetic modification) มีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรความระมัดระวัง  เพื่อรักษาสภาพการเป็นเกษตรอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน
ก่อนการจัดตั้งสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ของภาครัฐเฉพาะส่วนของพืชอินทรีย์ทั้งระบบ   อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร ในรูปของคณะกรรมการเป็นการเฉพาะ คือ คณะกรรมการบริหารงานวิจัยและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตร  และได้ประกาศมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยเป็นฉบับแรกในปี 2543 โดยเป็นความริเริ่มของสามหน่วยงาน คือ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ และกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมาตรฐานฉบับดังกล่าว  เป็นกรอบแนวทางการดำเนินการผลิต  การแปรรูป  การบรรจุหีบห่อ การขนส่ง   และการจำหน่ายผลิตผลหรือผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว และตราสัญลักษณ์ Organic Thailand ก็ได้กำเนิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน
ต่อมาในปี 2546 ได้มีการปรับโครงสร้างระบบราชการ และจัดตั้งสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)  เพื่อมารองรับงานทางด้านการมาตรฐานของสินค้าเกษตร และอาหารของประเทศไทย       สนองรับนโยบายความปลอดภัยทางอาหารและการพัฒนาไปสู่การเป็นครัวของโลก  ซึ่งด้านเกษตรอินทรีย์ มกอช.     มีนโยบายดำเนินการรับรองระบบงาน (Accreditation) ด้านเกษตรอินทรีย์ให้แก่หน่วยงานรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อให้เป็นที่เชื่อถือยอมรับในระดับสากล ในฐานะหน่วยรับรองระบบงาน (Accreditation Body : AB)   ให้การรับรองหน่วยรับรองด้านสินค้าเกษตรและอาหาร (Certification Body : CB)  โดยหน่วยรับรองที่จะขอรับการรับรองจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลว่าด้วยข้อกำหนดทั่วไปสำหรับหน่วยรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ (General Requirements for Bodies Operating Product Certification Systems, ISO/IEC Guide 65 : 1996)   และจะต้องตรวจรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำเกษตรอินทรีย์  ของ มกอช.  โดย มกอช.   จะให้การรับรองระบบงานเฉพาะในขอบข่ายของเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ได้แก่ การผลิตพืชเกษตรอินทรีย์  การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์เกษตรอินทรีย์ และการแปรรูปและการจัดการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นหน่วยรับรอง แต่ยังคงบทบาทการเป็น Competent Agency (CA) หรือหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบรับรองตามกฎหมาย
          สำหรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ประกาศโดยกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี 2543 มกอช. โดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  ได้นำมาปรับปรุงและแก้ไขเพิ่มเติมออกประกาศ เมื่อปี 2546 มีชื่อว่า  ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เรื่อง  กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ : เกษตรอินทรีย์  เล่ม 1 : การผลิต การแปรรูป  แสดงฉลาก  และจำหน่ายเกษตรอินทรีย์ ต่อมาในปี 2552  คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร  ได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร   เรื่อง เกษตรอินทรีย์เล่ม 1 : การผลิต แปรรูป แสดง ฉลาก และจำหน่ายผลิตผลและผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เป็นมาตรฐานทั่วไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และออกเป็นประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 ซึ่งมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ดังกล่าวต่างมีพื้นฐานมาจากมาตรฐานฉบับเดิมเมื่อปี 2543

          ด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษ ขอยกยอดเกษตรอินทรีย์ เกษตรโลกสวยไว้ติดตามกันในฉบับหน้า
(ขอบคุณ : http://www.greennet.or.th/article/317  สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ  สำนักจัดการและส่งเสริมสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร/ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า                                                                               สวัสดี……อังคณา   
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความดังกล่าวเป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนมีนาคม 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น