Cr: https://sites.google.com/site/adecs5901222020/5-khwam-hmay-seiyng-rxng-cinghrid
หากจะพิจารณาพฤติกรรมฤดูฝนของประเทศไทย
ช่วงเดือนกรกฎาคมจะเป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วงเป็นประจำ พอถึงเดือนดังกล่าวจะเริ่มมีข่าวการไถทิ้งของเกษตรกรออกมาเป็นระยะๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาข้าว ภาครัฐต้องไปให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น
ทั้งๆ ที่ภาครัฐเองให้ข้อมูลโดยตลอดว่า ไม่ควรเริ่มปลูกข้าวช่วงต้นฝนในนาข้าวที่อาศัยน้ำฝน
เพราะจะกระทบกับสภาพฝนทิ้งช่วง อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวก็ไม่จางหาย
ยังเกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี สำหรับปีนี้ฝนฟ้ามาเร็วและทิ้งช่วงไปเร็วกว่าทุกปีเช่นกัน
ปลายเดือนมิถุนายนเริ่มมีข่าวการไถทิ้งของเกษตรกรออกมากันแล้ว
สิ่งที่มีมาพร้อมกับฤดูฝน คือ “แมลง”
ไม่ว่าจะเป็นแมลงที่มีประโยชน์หรือแมลงที่เป็นศัตรูพืชและศัตรูสัตว์
สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมส่งผลให้ฤดูฝนเป็นฤดูแห่งแมลงหลายชนิด
มนุษย์เองก็รู้จักการใช้ประโยชน์จากแมลงเช่นกันทั้งใช้เป็นอาหารโดยตรง
ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช หรือใช้เพื่อประโยชน์ในระบบนิเวศน์ แมลงบางชนิดมีการเลี้ยงอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
มีระบบการค้าขายที่ชัดเจนและก้าวหน้าถึงขั้นบรรจุกระป๋องส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
เรื่องของแมลงจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย
“ฉีกซอง” ฉบับเดือนมิถุนายน
ขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “จิ้งหรีด” แมลงเศรษฐกิจมีมาตรฐาน
เขาว่าเป็นแมลงกินอร่อย จริงเท็จอย่างไร โปรดติดตาม
แมลงกินได้
อาหารชาวโลก
สำหรับเรื่องแมลงกินได้ใน FAO
เริ่มต้นเมื่อปี 2003 โดย FAO Forestry Department เผยแพร่รายงานการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนในแถบแอฟริกากลาง
ซึ่งมีเรื่องของการใช้ประโยชน์จากแมลงในการเป็นอาหารคนและเป็นอาหารสัตว์ทำให้เรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ และได้ทำการศึกษาข้อมูลจากทั่วโลกจนกระทั่งมีรายงานออกมา
มุมมองของ FAO ต่อความสำคัญของประเด็นดังกล่าว
เห็นว่าในอนาคตอันไม่ไกลนี้ประชากรโลกต้องประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างแน่นอน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนแหล่งโปรตีน ตลอดจนแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
คือ ถั่วเหลือง ปลาป่น และธัญพืช มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นมากขึ้น
จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหารสัตว์ตามมา
และกระทบต่อปริมาณอาหารที่จะมาหล่อเลี้ยงประชากรโลกในที่สุด
คาดการณ์ว่าในปี
2030 จำนวนประชากรโลกจะมีมากกว่า 9
พันล้านคนที่ต้องการอาหารบริโภค
รวมทั้งสัตว์อีกกว่าพันล้านตัว ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางดิน
มลพิษทางน้ำที่เกิดการของเสียในระบบการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม การขาดแคลนทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น
ขยายไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกในที่สุด จึงจำเป็นที่ต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ ๆ หนึ่งในนั้นคือ
การบริโภคแมลง ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Entomophagy” ทั้งนี้ FAO ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญต่อการนำแมลงจากธรรมชาติมาบริโภคและเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น แต่รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อใช้บริโภคไปพร้อมกัน
ด้วยเห็นว่าแมลงมีลักษณะเหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงมาก ทั้งมีวงจรชีวิตสั้น สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
รวมถึงสร้างผลเสียให้กับสิ่งแวดล้อมในตลอดช่วงอายุขัยไม่มากเท่าสัตว์ประเภทอื่น
เรียกง่าย ๆ ว่าเกิดมาแล้วใช้ทรัพยากรโลกไม่เปลืองนั่นเอง
ความสำคัญของแมลงในทางการเกษตรมีหลายประการด้วยกัน
ส่วนใหญ่แมลงมักจะถูกมองว่าเป็นศัตรูพืช
เนื่องจากเข้าทำลายพืชโดยตรงทั้งการกัดกิน เจาะชอนไช การดูดน้ำเลี้ยง
เป็นต้น รวมถึงสามารถเป็นพาหะนำโรคมาสู่พืช ในทางที่เป็นประโยชน์สำหรับพืช
แมลงบางชนิดเป็นตัวห้ำ (Predator)
ซึ่งเป็นแมลงที่ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินแมลงที่เป็นเหยื่อ(Prey)
ชนิดเดียวกันเป็นอาหาร บางชนิดเป็นตัวเบียน (Parasite)ซึ่งเป็นแมลงที่พัฒนาการเจริญเติบโตระยะไข่ ระยะตัวหนอนในแมลงอาศัย (Host) และอาจจะเข้าดักแด้ภายในหรือภายนอกแมลงอาศัย
ทำให้แมลงอาศัยตายในที่สุด ตลอดจนแมลงบางชนิดช่วยในการผสมเกสรของพืช ทำให้พืชหลายชนิดติดผลได้มากขึ้น
ในปัจจุบันประมาณการว่าประชากรโลกราว
2 พันล้านคนรู้จักและรับประทานแมลงมานาน เป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆและมีแมลงกว่า
1,900 ชนิด (species) ที่สามารถใช้เป็นอาหารได้ โดยจากการศึกษาพบว่า แมลงที่รับประทานโดยทั่วไป ร้อยละ 31 คือ
แมลงพวกด้วง (Coleoptera) ร้อยละ 18 คือ แมลงพวกผีเสื้อ (Lepidoptera) ร้อยละ 14 คือ พวกผึ้ง ต่อ แตน และมด (Hymenoptera) ร้อยละ
13 คือ กลุ่มของตั๊กแตน (Orthoptera) ร้อยละ 10 คือ
กลุ่มของมวน (Hemiptera) ร้อยละ 3 มีสองกลุ่ม คือ กลุ่มปลวก (Isoptera) และกลุ่มแมลงปอ
(Odonata) ร้อยละ 2 คือ กลุ่มของแมลงวัน (Diptera) และอีกร้อยละ 5 เป็นกลุ่มอื่น ๆ
สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้จากแหล่งต่างๆ
โดยคิดจากน้ำหนักสด 100 กรัม ซึ่งเป็นการคำนวณกลับจากน้ำหนักแห้ง 100 กรัม
จากรายงานของ FAO
ฉบับนี้ พบว่า พลังงานที่ได้จากแมลงอยู่ระหว่าง 89 – 1,272 กิโลแคลอรี ขึ้นกับชนิดของแมลง ยกตัวอย่างเช่น หนอนไหม
ให้พลังงานประมาณ 94 กิโลแคลอรี/ น้ำหนักสด 100 กรัม แมลงดานา 165 กิโลแคลอรี /
น้ำหนักสด 100 กรัม จิ้งหรีด 120 กิโลแคลอรี
/ น้ำหนักสด 100 กรัม ตั๊กแตนข้าว 149
กิโลแคลอรี / น้ำหนักสด 100 กรัม ตั๊กแตนปาทังก้า 89 กิโลแคลอรี/น้ำหนักสด 100 กรัม มดเขียว 1,272
กิโลแคลอรี / น้ำหนักสด 100 กรัม เป็นต้น
จากที่กล่าวมาข้างต้น แมลงสามารถใช้เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนโปรตีนจากแหล่งอื่นได้ โดยการศึกษาของ Xiaoming และคณะ เมื่อปี 2010 ในรายงานของ FAO ได้วิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนของแมลงในอันดับ
(Order) ต่าง ๆ
โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง ดังนี้ อันดับ Coleoptera ในระยะตัวเต็มวัยและตัวอ่อน มีปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่าง 23 - 66
เปอร์เซ็นต์ อันดับ Lepidoptera ในระยะดักแด้และตัวอ่อน
มีปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่าง 14 - 68 เปอร์เซ็นต์
อันดับ Hemiptera ในระยะเต็มวัยและตัวอ่อน มีปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่าง 42 - 74
เปอร์เซ็นต์ อันดับ Homoptera ในระยะตัวเต็มวัย ระยะตัวอ่อน และระยะไข่ มีปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่าง 45 -
57 เปอร์เซ็นต์ อันดับ Hymenoptera ทุกระยะการเจริญเติบโต
ให้ปริมาณโปรตีนระหว่าง 13 - 77 เปอร์เซ็นต์ อันดับ Odonata ในตัวเต็มวัยและตัวอ่อน
มีโปรตีน 46 - 65 เปอร์เซ็นต์และอันดับOrthoptera ในระยะตัวเต็มวัยและตัวอ่อน
มีโปรตีนระหว่าง 23 - 65 เปอร์เซ็นต์
เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับแหล่งโปรตีนแหล่งอื่น
เช่น เนื้อวัว มีโปรตีนระหว่าง 19 - 26 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด และเนื้อปลา
มีโปรตีนระหว่าง 18 - 28 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด ในหน่วยวัดเดียวกัน พบว่า
จิ้งหรีด มีโปรตีนระหว่าง 8 - 25 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด ตัวไหมมีโปรตีนระหว่าง
10 - 17 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด ซึ่งใกล้เคียงกับแหล่งโปรตีนที่ทุกท่านคุ้นเคยเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ แมลงยังเป็นแหล่งของกรดไขมัน ธาตุอาหารรอง
รวมทั้งแหล่งของวิตามินเกลือแร่ได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพแทสเซียม โซเดียม
และฟอสฟอรัส แมลงจึงเป็นแหล่งโปรตีนที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
Cr : http://www.ipyosc.com
จิ้งหรีด
แมลงเศรษฐกิจ
จิ้งหรีด
(Cricket)
จัดเป็นแมลงที่เป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่ง
แต่ก็มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ในแง่ของการเป็นสัตว์เลี้ยงมาอย่างยาวนาน
ในหลายวัฒนธรรมและหลายประเทศ มีการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อฟังเสียงร้องและเลี้ยงไว้สำหรับการกัดกัน
โดยถือว่าเป็นแมลงจำพวกหนึ่งที่สามารถนำมาต่อสู้กันได้อย่างด้วงกว่าง
อีกทั้งยังปรากฏในนิทานอีสปในเรื่อง มดกับจิ้งหรีด อีกด้วย
แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจิ้งหรีดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
จิ้งหรีดเป็นแมลงที่อยู่ในวงศ์
Gryllidae
สามารถแบ่งออกได้เป็นวงศ์ย่อยต่าง ๆ อีกหลายวงศ์ย่อย นับว่าเป็นแมลงที่มีขนาดลำตัวปานกลางเมื่อเทียบกับแมลงโดยทั่วไป
มีปีก 2 คู่ คู่หน้าเนื้อปีกหนากว่าคู่หลัง
ปีกเมื่อพับจะหักเป็นมุมที่ด้านข้างของลำตัว
ปีกคู่หลังบางพับได้แบบพัดสอดเข้าไปอยู่ใต้ปีกคู่หน้า ปากเป็นชนิดกัดกิน
หัวกับอกมีขนาดกว้างไล่เลี่ยกัน ขาคู่หลังใหญ่และแข็งแรงใช้สำหรับกระโดด
ตัวผู้มีอวัยวะพิเศษสำหรับทำเสียงเป็นฟันเล็ก ๆ อยู่ตามเส้นปีกบริเวณกลางปีก
ใช้กรีดกับแผ่นทำเสียงที่อยู่บริเวณท้องปีกของปีกอีกข้างหนึ่ง
อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เป็นที่รู้จักกันดีของจิ้งหรีด
ขณะที่ตัวเมียจะไม่สามารถทำเสียงดังนั้นได้
และจะมีอวัยวะสำหรับใช้วางไข่เป็นท่อยาว ๆ บริเวณก้นคล้ายเข็ม เห็นได้ชัดเจน
จิ้งหรีดสามารถพบได้ในทั่วโลก
โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น พบแล้วประมาณ 900 ชนิด สำหรับในประเทศไทย
พบจิ้งหรีดได้ทั่วทุกภูมิภาค ชนิดของจิ้งหรีดที่พบ ได้แก่ จิ้งหรีดทองดำ (Gryllus
bimaculatus),
จิ้งหรีดทองแดง (G. testaceus), จิ้งโกร่ง หรือ จิ้งกุ่ง (Brachytrupes portentosus) เป็นต้น เป็นแมลงที่กัดกินพืชชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร สามารถกินได้หลายชนิด มักออกหากินในเวลากลางคืน
และจะอาศัยโดยการขุดรูอยู่ในดินหรือทราย ในที่ ๆ เป็นพุ่มหญ้า
แต่ก็มีจิ้งหรีดบางจำพวกเหมือนกันที่อาศัยบนต้นไม้เป็นหลัก
จิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตแบบไม่ต้องผ่านการเป็นหนอนหรือดักแด้
ตัวอ่อนที่เกิดมาจะเหมือนตัวเต็มวัย เพียงแต่ยังไม่มีปีก และมีสีที่อ่อนกว่า
ต้องผ่านการลอกคราบเสียก่อน จึงจะมีปีกและทำเสียงได้
จิ้งหรีดจะผสมพันธุ์เมื่อเป็นตัวเต็มวัย
การผสมพันธุ์และวางไข่แต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 15 วันต่อครั้ง ในแต่ละรุ่น
เมื่อหมดการวางไข่รุ่นสุดท้ายแล้วตัวเมียก็จะตาย โดยตัวผู้จะทำเสียงโดยยกปีกคู่หน้าถูกันให้เกิดเสียง
เพื่อเรียกตัวเมีย จังหวะเสียงจะดังเมื่อตัวเมียเข้ามาหา บริเวณที่ตัวผู้อยู่
ตัวผู้จะเดินไปรอบ ๆ ตัวเมียประมาณ 2-3 รอบ ช่วงนี้จังหวะเสียงจะเบาลง
แล้วตัวเมียจะขึ้นคร่อมตัวผู้ จากนั้นตัวผู้จะยื่นอวัยวะเพศแทงไปที่อวัยวะเพศตัวเมีย
หลังจากนั้นประมาณ 14 นาที ถุงน้ำเชื้อก็จะฝ่อลง แล้วตัวเมียจะใช้ขาเขี่ยถุงน้ำเชื้อทิ้งไป
เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว
ตัวเมียใช้อวัยวะวางไข่ที่แทงลงในดินที่มีลักษณะเรียวยาวคล้ายเมล็ดข้าวสาร
ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็จะฟักออกเป็นตัวอ่อน จิ้งหรีดตัวเมียสามารถวางไข่ได้ตั้งแต่
600-1,000 ฟอง ซึ่งจะวางไข่เป็นรุ่น ๆ ได้ประมาณ 4 รุ่น
โดยที่จิ้งหรีดสามารถจับจำหน่ายได้เมื่ออายุประมาณ 35 วัน ขึ้นไป
ปัจจุบันในประเทศไทยนิยมใช้เพื่อการบริโภคเป็นอาหารและใช้เป็นอาหารสัตว์
รวมทั้งมีการนำจิ้งหรีดมาแปรรูปเป็นอาหารขบเคี้ยวอื่นๆ ด้วย
จึงมีการส่งเสริมให้เลี้ยงจิ้งหรีดในฐานะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยนิยมเลี้ยงกันในบ่อปูนซีเมนต์วงกลม
เป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และปริมาณน้ำน้อยในการเลี้ยง พบว่ามีเกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพราว
20,000
ครัวเรือน ปีหนึ่งๆ สามารถเลี้ยงได้ประมาณ 6-7 รุ่น จำนวนบ่อประมาณ 220,000 บ่อ
ผลตอบแทนสุทธิประมาณ 1,000 บาท/บ่อ
ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท
ซึ่งมีการส่งออกไปขายยังสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีจากปี 2557
มูลค่ารวมประมาณ 1 แสนบาท เพิ่มเป็น 9 แสนบาทในปี 2560 แหล่งผลิตสำคัญกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
และภาคเหนือของไทย
Cr :https://www.sanook.com/money/368997/
มาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด
หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป
หรือ EC ได้ประกาศยอมรับกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับอาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่
(Novel Food) โดยแมลงถูกกำหนดให้เป็น Novel Food ตามกฎระเบียบดังกล่าวด้วย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2560 ดังนั้น เพื่อให้สถานประกอบการสามารถนำเข้า Novel Food มายังสหภาพยุโรปได้ตามกฎระเบียบดังกล่าว
และเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้เป็นการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
เปิดโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด
(มาตรฐานเลขที่ มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป
โดยประกาศในราชกิจจานุเษกษา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560
มาตรฐานดังกล่าว
ประกอบด้วยเกณฑ์กำหนด 5 รายการ ได้แก่ องค์ประกอบฟาร์ม
การจัดการฟาร์ม สุขภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล
สำหรับองค์ประกอบฟาร์ม มี 3 ประเด็นย่อย คือ สถานที่ตั้ง ผังและลักษณะฟาร์ม และโรงเรือน โดยสถานที่ตั้ง
ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม
ไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนอันตรายที่จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของจิ้งหรีดและผู้บริโภค
ผังและลักษณะฟาร์ม ต้องมีพื้นที่ขนาดเพียงพอและเหมาะสมในการเลี้ยงจิ้งหรีด
ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของจิ้งหรีดและสิ่งแวดล้อม มีวัสดุล้อมรอบพื้นที่การเลี้ยงจิ้งหรีด
มีการวางผังฟาร์มที่ดีและจัดพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนเหมาะสมตามวัตถุประสงค์
เช่น บริเวณเลี้ยงจิ้งหรีด เก็บอาหาร เก็บอุปกรณ์ รวบรวมขยะและสิ่งปฏิกูล
ที่พักอาศัย เป็นต้น ส่วนโรเรือน ต้องสร้างด้วยวัสดุที่คงทน แข็งแรง ง่ายต่อการทำความสะอาดและบำรุงรักษา
มีการระบายอากาศที่ดีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและจิ้งหรีด
สามารถป้องกันศัตรูจิ้งหรีดไม่ให้เข้ามาในโรงเรือนได้
บ่อเลี้ยงจิ้งหรีดต้องทำด้วยวัสดุแข็งแรง ทนทาน
และง่ายต่อการบำรุงรักษาและทำความสะอาด
ทางด้านการจัดการฟาร์ม จะต้องมีคู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์มที่แสดงรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในฟาร์ม
ได้แก่ ระบบการเลี้ยง การจัดการอาหารและน้ำสำหรับจิ้งหรีด
การทำความสะอาดและบำรุงรักษา การจัดการด้านสุขภาพจิ้งหรีด
การจัดการด้างสิ่งแวดล้อมและแบบบันทึกข้อมูล
ส่วนการจัดการจิ้งหรีด ต้องมีการคัดเลือกพันธุ์จิ้งหรีดที่มีคุณภาพ
เตรียมบ่อเลี้ยง ใช้วัสดุซ่อนตัวที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดโรค
ภาชนะและวัสดุที่ใช้รองไข่ สะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน
และการจัดการเก็บจิ้งหรีดเพื่อจำหน่ายต้องไม่ปนเปื้อนเช่นกัน
การจัดการอาหารและน้ำสำหรับจิ้งหรีด ต้องเป็นอาหารที่ไม่เสื่อมคุณภาพ
และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของจิ้งหรีด แหล่งน้ำที่ใช้ในฟาร์มสะอาด
ไม่ปนเปื้อนสิ่งที่เป็นอันตราย ใช้ภาชนะให้อาหารและน้ำที่สะอาด
เหมาะสมกับจำนวนและอายุของจิ้งหรีด
มีสถานที่เก็บอาหารที่ป้องกันการปนเปื้อนและการเสื่อมสภาพของอาหารได้ ด้านบุคลากร
ต้องเป็นผู้ที่ความรู้และได้รับการฝึกอบรม
หรือได้รับการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้อย่างถูกต้อง
ตลอดจนมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดีและต้องได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี
รวมไปถึงต้องมีการบำรุงรักษาโรงเรือนและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี มีความปลอดภัยต่อจิ้งหรีดและผู้ปฏิบัติงาน
ในขณะที่หากมีการใช้สารเคมี ยาฆ่าเชื้อ หรือวัตถุอันตรายจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์และใช้ตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์
ประเด็นด้านสุขภาพสัตว์ มี 2 ส่วนด้วยกัน คือ การป้องกันและควบคุมโรค กับการบำบัดโรคสัตว์ โดยการป้องกันและควบคุมโรค
ต้องมีการป้องกันและฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ และบุคคลก่อนเข้า-ออกในฟาร์ม
รวมถึงมีการจดบันทึกการผ่านเข้า-ออกฟาร์มของบุคคลภายนอกที่สามารถตรวจสอบได้
ส่วนการบำบัดโรคสัตว์ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของสัตวแพทย์
โดยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม
และตามข้อกำหนดในมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9032 เรื่อง
ข้อปฏิบัติการควบคุมการใช้ยาสัตว์
สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม
กำหนดให้มีการกำจัดหรือจัดการขยะมูลฝอย ของเสีย และมูลจิ้งหรีด
ด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม
กรณีที่ปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะให้บำบัดให้ถูกต้องก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกฟาร์ม
ส่วนประเด็นด้านการบันทึกข้อมูล ซึ่งเป็นเกณฑ์กำหนดสุดท้าย
ต้องมีการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการฟาร์มที่มีผลต่อสุขภาพ
ผลผลิตและการควบคุมโรค ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการด้านบุคลากร
ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการด้านการผลิต เช่น ข้อมูลชนิด รุ่นการผลิต การจัดการฟาร์ม
อาหาร ผลผลิต เป็นต้น ข้อมูลการควบคุมป้องกันและบำบัดโรค เช่น ข้อมูลการใช้ยา
และสารเคมี โดยให้เก็บรักษาบันทึกเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี
การกำหนดมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดขึ้นมารองรับการส่งออกจิ้งหรีดไปยังต่างประเทศ
เป็นการเปิดช่องทางการตลาดของสินค้ากลุ่ม Novel Food ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ด้วยศักยภาพของจิ้งหรีดเอง
รวมทั้งความสามารถของเกษตรกรไทยที่เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริมอยู่แล้ว
เชื่อได้ว่าจะสามารถพัฒนาการเลี้ยงจิ้งหรีดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดให้เป็นที่ต้องการของตลาด
สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับเกษตรกรได้ในที่สุด
ในที่สุด แม้แต่แมลงก็ต้องมีมาตรฐาน
(ขอบคุณ
: องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมส่งเสริมการเกษตร วิกิพีเดีย/ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี……อังคณา
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(คำถามฉีกซอง กองบรรณาธิการผลิใบฯ กรมวิชาการเกษตร
จตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ E-mail: ang.moac@gmail.com)
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนมิถุนายน 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น