วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561

อัศจรรย์วันของผึ้ง

                                                Cr : http://www.mkgp.gov.si/en/world_bee_day_initiative                                                    
            เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่สำคัญของพี่น้องเกษตรกรผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ช่วงเดือนนี้เช่นกันที่กำหนดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นับว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุด สำหรับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของประเทศไทย ความร่มเย็น ความเชื่อมั่นต่อการทำการเกษตร ขวัญกำลังใจสำคัญของเกษตรกรที่จะเริ่มทำการเกษตรในฤดูการผลิตใหม่ เริ่มต้นจากพระราชพิธีสำคัญนี้
           ช่วงเดือนพฤษภาคมดังกล่าวเช่นกัน มีข่าวเล็กๆ ออกมาจากสำนักข่าวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าวในต่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องราวของ “วันผึ้งโลก” (World Bee Day) เป็นวันอีกวันหนึ่งที่สหประชาชาติ หรือ UN ให้ความสำคัญ เรื่องราวของผึ้งเป็นอย่างไร โปรดติดตามใน “ฉีกซอง” ฉบับนี้

ผึ้ง-แมลงตัวนิด
             หากท่านผู้อ่านนึกถึงผึ้งที่เป็นแมลง สิ่งที่ตามมาในความคิดน่าจะเป็นน้ำผึ้งและบทบาทในการเป็นผู้ช่วยผสมเกสร มีรายงานหลายฉบับที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทดังกล่าว กล่าวคือ กว่าร้อยละ 70 ของพืชอาหารของมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยผึ้งในการผสมเกสรเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป ดังนั้นการไม่มีอยู่ของผึ้งจึงเป็นประเด็นที่น่าขบคิด
            ผึ้ง (Bee) เป็นแมลงสังคม (Social insect) ที่มีการแบ่งวรรณะสำหรับทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน จัดอยู่ใน Order  Hymenoptera  Family Apidae  Subfamily Apinae ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Apis spp. สำหรับผึ้งที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 5 Species ประกอบด้วย A. dorsata (ผึ้งหลวง)  A. florae (ผึ้งมิ้ม) A. andreniformis (ผึ้งม้าม)  A. cerana (ผึ้งโพรง)  และ A. mellifera (ผึ้งพันธุ์)  
          ผึ้งหลวง เป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนผึ้งทั้ง 5 ชนิด ลำตัวมีขนาดใหญ่ยาวรี สร้างรังขนาดใหญ่เป็นรังเดียว ขนาดอาจกว้างได้ถึง 2 เมตร มีลักษณะโค้งเป็นวงกลม พบสร้างตามโขดหิน ต้นไม้ใหญ่ เพดานบ้าน มุมตึก หรือที่โล่งแจ้งที่มีแสงแดดและการระบายอากาศดี บางครั้งอาจสร้างรังเป็นกลุ่มในต้นไม้ต้นเดียวกัน ผึ้งชนิดนี้เป็นผึ้งที่มีพฤติกรรมดุร้ายเมื่อถูกรบกวน เป็นผึ้งที่ไม่นำมาเลี้ยงและหายากกว่าผึ้งชนิดอื่น มีความสามารถในการบินออกหาอาหารจากรังเป็นระยะทางมากกว่า 15 กิโลเมตร
          ผึ้งมิ้ม เป็นผึ้งที่มีขนาดลำตัวและสร้างรังเล็กที่สุดที่สุด เส้นผ่าศูนย์กลางรังประมาณ 20 เซนติเมตรเท่านั้น บางทีจะเรียกสั้นๆว่า มิ้ม การสร้างรังจะสร้างเป็นรังเดี่ยว ตามพุ่มไม้หรือกิ่งไม้ที่ไม่สูงมาก มีพฤติกรรมในการย้ายรังเปลี่ยนที่อยู่บ่อย เมื่อขาดแคลนอาหาร
          ผึ้งม้าม เป็นผึ้งที่มีลักษณะขนาดลำตัว ขนาดรัง และนิสัยการสร้างรังคล้ายคลึงกับผึ้งนิ้มมาก แตกต่างกันเฉพาะลักษณะของเหล็กใน เส้นปีก และอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ ซึ่งแยกได้ยากมาก
          ผึ้งโพรง มีหลายสายพันธุ์ เช่น ผึ้งโพรงจีน ผึ้งโพรงญี่ปุ่น และผึ้งโพรงไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเรียกว่า เผิ่ง เป็นผึ้งที่มีขนาดลำตัวเล็กกว่าผึ้งพันธุ์และผึ้งหลวง แต่มีขนาดใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม และผึ้งม้าม มักจะสร้างรังในพื้นที่ที่มิดชิด มืด เช่น ใต้หลังคา ใต้เพดานบ้าน ในโพรงหิน โพรงไม้ สร้างรังแบบหลายรังเรียงซ้อนขนานกัน รังมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นผึ้งที่นำมาเลี้ยงได้ สามารถผลิตน้ำผึ่งได้ประมาณ 30-50 กิโลกรัม/รัง/ปี แต่จะเลี้ยงพันธุ์ต่างประเทศเนื่องจากไม่หนีออกจากรังง่ายแม้ถูกรบกวน ซึ่งแตกต่างจากผึ้งโพรงพันธุ์ไทย

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Cr :https://www.pinterest.com/pin/39054721754117954/

           ผึ้งพันธุ์ ขนาดลำตัวของผึ้งพันธุ์จะใหญ่กว่าผึ้งโพรง แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง เป็นผึ้งที่นิยมนำมาเลี้ยงมากที่สุด มีถิ่นกำเนิดมาจากแอฟริกาและยุโรป มักเรียกในหมู่คนเลี้ยงผึ้งว่า ผึ้งฝรั่ง หรือ ผึ้งอิตาเลียน พันธุ์ที่นิยมมี 4 พันธุ์ ดังนี้
             (1) ผึ้งพันธุ์อิตาเลี่ยน (A. mellifera ligustica Spin) เป็นผึ้งที่มีลำตัวสีเหลือง อวบอ้วน ใหญ่กว่าผึ้งโพรงไทย ช่วงท้องเรียวและมีแถบสีเหลืองหรือสีทอง มีขนบนลำตัวสีทอง โดยเฉพาะในตัวผู้จะมีสีทองเด่นชัดกว่าตัวเมีย นับว่าเป็นผึ้งนิสัยดี เชื่อง เลี้ยงง่าย ไม่ดุร้าย ให้ผลผลิตสูง แต่ใช้น้ำผึ้งเลี้ยงตัวอ่อนมากกว่าพันธุ์สีดำ เป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลก และเรียกชื่อหลากหลายตามถิ่นที่มีการปรับปรุง เช่น พันธุ์อเมริกัน พันธุ์ไต้หวัน พันธุ์ญี่ปุ่น และพันธุ์ออสเตรเลีย เป็นต้น
            (2) ผึ้งพันธุ์คาร์นิโอลาน (A. mellifera carnica Pollman) ผึ้งพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดที่เมืองคาร์นิโอลาน ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย และทางเหนือคาบสมุทรบอลข่าน แถบยูโกสลาเวีย ตลอดจนตามบริเวณฝั่งแม่น้ำดานูบที่ไหลผ่าน ฮังการี่ รูมาเนีย บัลแกเรีย ผึ้งพันธุ์นี้เชื่องกว่าผึ้งพันธุ์อิตาเลี่ยน ไม่ตื่นตกใจง่าย เพิ่มจำนวนประชากรได้ดี ไม่ค่อยแบ่งแยกรัง ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี นับว่าเป็นผึ้งที่ค่อยข้างเลี้ยงง่าย ไม่ชอบเข้าไปแย่งน้ำผึ้งจากรังอื่น ลำตัวค่อนข้างเล็กเพรียว สีน้ำตาลขนที่ปกคลุมมักสั้น ส่วนหลังช่วงท้องผึ้งงานมีจุดน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอ่อน ผึ้งตัวผู้มีขนสีเทาและเทาปนน้ำตาล
           (3) ผึ้งพันธุ์คอเคเซี่ยน (A. mellifera caucasica Gorb) มีถิ่นกำเนิดแถบเทือกเขาคอเคเชี่ยนในรัสเซีย ผึ้งงานมีจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่บนส่วนหลังของช่วงท้องปล้องแรก มีจุดน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาล ขนสีเทาปนน้ำตาล ตัวผู้มีขนที่อกสีดำ เป็นผึ้งที่เชื่องมากไม่ตกใจง่าย ขยันสร้างรัง ชอบเก็บสะสมยางเหนียวมากกว่าผึ้งอื่น ๆ ทำให้เหนียวเหนอะหนะยากต่อการยกคอนออกมาตรวจดู และชอบเข้าไปแย่งน้ำผึ้งจากรังอื่น
         (4) ผึ้งพันธุ์สีดำ (A. mellifera mellifera L.) มีถิ่นกำเนิดในตอนเหนือของยุโรป และทางตะวันตกของเทือกเขาแอลป์กับรัสเซียตอนกลาง ลำตัวมีสีดำ มีจุดสีเหลืองอยู่ทางด้านหลังของช่วงท้องปล้องที่ 2, 3 ไม่มีแถบสีเหลือง บั้นท้ายของช่วงท้องของผึ้งงานมีขนยาวปกคลุมอยู่บนหลัง ตัวผู้มีขนสีน้ำตาลเข้มปกคลุมอยู่ตามส่วนอก บางทีเห็นเป็นสีดำ มีลิ้นสั้นเพียง 5.7 - 6.4 มิลลิเมตร เป็นผึ้งที่ทนทานต่อสภาพอากาศหนาว และแห้งแล้ง ให้ผลผลิตปานกลาง ไม่ดุร้าย แต่เพิ่มประชากรได้ช้า

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ world bee day

           ปัจจุบันการนำผึ้งพันธุ์มาเลี้ยงในประเทศไทยหลาย ๆ พันธุ์ทำให้เกิดการผสมข้ามพันธุ์ เช่น ผึ้งพันธุ์สีเหลือง ผสมกับพันธุ์สีดำ ผึ้งพันธุ์สีดำผสมกับพันธุ์สีน้ำตาล ลูกผสมจึงมีรูปร่าง สีสัน ลักษณะนิสัยแตกต่างกันออกไป และเป็นลูกผสมมีหลาย ๆ ชื่อออกไป เพื่อให้ได้ผึ้งพันธุ์ที่มีลักษณะรูปร่างอวบอ้วนมากขึ้น ไม่ตื่นตกใจง่าย ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานโรคและทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
             ในภาพรวม ส่วนหัวของผึ้ง ประกอบด้วยอวัยวะรับความรู้สึกต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ตารวม มีอยู่ 2 ตา ประกอบด้วยดวงตาเล็ก ๆ เป็นรูปหกเหลี่ยมหลายพันตา รวมกัน เชื่อติดต่อกันเป็นแผง ทำให้ผึ้งสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้รอบทิศ และมีตาเดี่ยว อยู่ด้านบนส่วนหัว ระหว่างตารวมสองข้าง เป็นจุดเล็ก ๆ 3 จุด อยู่ ห่างกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งตาเดี่ยวนี้จะเป็นส่วนที่รับรู้ในเรื่องของความเข้มของแสง ทำให้ผึ้งสามารถแยกสีต่าง ๆ ของสิ่งของที่เห็นได้ พบว่าผึ้งสามารถเห็นสีได้ 4 สี คือ สีอัลตราไวโอเลต สีฟ้า สีฟ้าปนเขียว และสีเหลือง ส่วนช่วงแสงที่มากกว่า 700 มิลลิไมครอน ผึ้งจะมองเห็นเป็นสีดำ สำหรับหนวดประกอบข้อต่อและปล้องหนวดขนาดเท่า ๆ กันจำนวน 10 ปล้อง ประกอบเป็นเส้นหนวด ซึ่งจะทำหน้าที่รับความรู้สึกที่ไวมาก
             สำหรับส่วนอก แบ่งเป็นปล้อง 4 ปล้อง ส่วนด้านล่างของอกปล้องแรกมีขาคู่หน้า อกปล้องกลางมีขาคู่กลางและด้านบนปล้องมีปีกคู่หน้าซึ่งมีขนาดใหญ่หนึ่งคู่ ส่วนล่างของอกปล้องที่ 3 มีขาคู่ที่สาม ซึ่งขาหลังของผึ้งงานนี้จะมีตระกร้อเก็บละอองเกสรดอกไม้ และด้านบนจะมีปีกคู่หลังอยู่หนึ่งคู่ที่เล็กกว่าปีกหน้า ในส่วนท้องของผึ้งงานและผึ้งนางพญาจะเห็นภายนอกเพียง 6 ปล้อง ส่วนปล้องที่ 8-10 จะหุบเข้าไปแทรกตัวรวมกันอยู่ในปล้องที่ 7 ส่วนผึ้งตัวผู้จะเห็น 7 ปล้อง สำหรับอวัยวะภายในของผึ้ง จะมีระบบต่าง ๆ เช่น ระบบย่อยอาหาร ซึ่งมีกระเพาะพักย่อยน้ำหวานให้เป็นน้ำผึ้ง ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบหายใจเป็นลักษณะแบบรูหายใจมีอยู่ 10 คู่ ระบบประสาทและรับความรู้สึกต่าง ๆ ระบบสืบพันธุ์ ในผึ้งงานจะไม่เจริญสมบูรณ์ แต่จะเจริญสมบูรณ์ในผึ้งนางพญา ส่วนผึ้งตัวผู้จะมีอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สมบูรณ์
Image may contain: plant, flower, sky, outdoor and nature
           cr : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จันทบุรี

         ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่าผึ้งเป็นแมลงสังคม ดังนั้นจึงมีการแบ่งวรรณะของผึ้งออกเป็น 3 วรรณะ คือ ผึ้งนางพญา (Queen) ผึ้งตัวผู้ (Drone) และ ผึ้งงาน (Worker)
            ผึ้งนางพญา เป็นผึ้งที่มีลำตัวใหญ่ที่สุด มีอายุขัยมากกว่า 1 ปี อาจได้มากถึง 7 ปี สามารถแยกออกจากผึ้งตัวผู้ และผึ้งงานได้โดยง่าย เพราะผึ้งนางพญาจะมีขนาดใหญ่ และมีลำตัวยาวกว่าผึ้งตัวผู้และผึ้งงาน ปีกของผึ้งนางพญาจะมีขนาดสั้น เมื่อเทียบกับความยาวของลำตัว เนื่องจากส่วนท้องของผึ้งนางพญาจะค่อนข้างเรียวยาว ดูแล้วมีลักษณะคล้ายกับตัวต่อ ผึ้งนางพญาจะมีเหล็กไน ซึ่งมีไว้สำหรับต่อสู้กับนางพญาตัวอื่นเท่านั้น ไม่เหมือนผึ้งงานที่ใช้เหล็กไนไว้ทำร้ายศัตรู การเคลื่อนไหวของผึ้งนางพญาค่อนข้างเชื่องช้า แต่สุขุมรอบคอบ แต่ถ้าจำเป็นก็พบว่านางพญาสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วเช่นกัน ในรังผึ้งนางพญาที่ถูกผสมพันธุ์แล้วเรามักจะพบอยู่บริเวณรวงผึ้งที่มีตัวอ่อนอยู่ภายในหลอดรวง นางพญาจะถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน โดยผึ้งงานจะใช้หนวดแตะหรือใช้ลิ้นเลียตามตัวผึ้งนางพญา ผึ้งงานเหล่านี้ทำหน้าที่คอยให้อาหาร ทำความสะอาดและนำของเสียที่ผึ้งนางพญาขับถ่ายออกไปทิ้ง นอกจากนั้นผึ้งงานยังรับเอาสารที่ผึ้งนางพญาผลิตออกมา แล้วส่งต่อให้ผึ้งงานตัวอื่น ๆ หรือใช้ปีกกระพือให้กลิ่นของสารแพร่กระจายไปทั่วรังผึ้ง
             โดยทั่วไปใน 1 รังจะมีผึ้งนางพญา 1 ตัวเท่านั้น ยกเว้นบางรังที่มีขนาดใหญ่ อาจพบได้ 2-3 ตัว ในระยะเติบโต แต่เมื่อถึงวัยผสมพันธุ์ก็จะแยกออกเหลือเพียง 1 ตัว/รังเหมือนเดิม เมื่อโตเต็มวัยจะผสมพันธุ์กับตัวผู้ และจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิต ดังนั้นผึ้งนางพญาจะมีหน้าที่สำคัญ คือ ผสมพันธุ์ วางไข่ และ ควบคุมสังคมของผึ้งให้อยู่ในสภาพปกติ โดยการผลิตสารแพร่กระจาย ไปทั่วรังผึ้ง ผึ้งนางพญาจึงไม่มีการออกหาอาหาร ไม่มีตะกร้อเก็บเกสร (Pollen basket) และไม่มีต่อมผลิตไขผึ้ง สำหรับนางพญาพรหมจรรย์ (The Virgin Queen) เมื่อตัวอ่อนของผึ้งนางพญาโตเต็มที่แล้ว ผึ้งงานก็จะทำการปิดหลอดรวงด้วยไขผึ้ง ตัวอ่อนภายในก็จะเริ่มเข้าดักแด้ โดยจะถักเส้นไหมห่อหุ้มรอบตัวแล้วกลายเป็นดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด ผึ้งนางพญาที่โตเต็มที่แล้วจะกัดฝาหลอดรวงที่ปิดอยู่ออกมา ถ้าสภาพรังผึ้งขณะนั้น ผึ้งเตรียมตัวจะแยกรัง (Swarming) ผึ้งงานจะคอยป้องกันผึ้งนางพญาตัวใหม่ไม่ให้ผึ้งนางพญาตัวเก่ามาทำร้าย เมื่อผึ้งนางพญาตัวเก่าแยกรังออกไปแล้ว ผึ้งนางพญาตัวใหม่ก็จะออกผสมพันธุ์เป็นนางพญาประจำรังนั้นต่อไป
               ลักษณะการผสมพันธุ์ (Mating) เมื่อผึ้งนางพญามีอายุได้ 3-5 วัน ก็จะเริ่มออกบินเพื่อผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์ของผึ้งจะเกิดขึ้นเฉพาะในกลางอากาศเท่านั้น โดยในวันที่อากาศดี ๆ ท้องฟ้าแจ่มใส ผึ้งนางพญาจะบินออกจากรัง เมื่อผึ้งตัวผู้ได้รับกลิ่นของผึ้งนางพญาก็จะพากันบินติดตามไปเป็นกลุ่ม ผึ้งตัวผู้จะเป็นผึ้งที่มาจากรังผึ้งในบริเวณนั้น การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นในระยะความสูงตั้งแต่ 50-100 ฟุต ถ้าต่ำหรือสูงกว่านี้จะไม่มีการผสมพันธุ์ ผึ้งนางพญาตัวหนึ่งจะผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้ครั้งหนึ่งประมาณ 7-10 ตัว หรือบางทีอาจถึง 20 ตัว ระยะเวลาในการผสมพันธุ์ประมาณ 10-30 นาที โดยที่ผึ้งนางพญา จะมีถุงสำหรับเก็บน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ (Sperm) ไว้ได้ตลอดอายุของผึ้งนางพญา โดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์อีกเลย
            เมื่อผึ้งนางพญาบินกลับมาจากการผสมพันธุ์ ผึ้งงานก็จะเข้ามาช่วยทำความสะอาด และดึงเอาอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ที่ติดมาออกทิ้งไป หลังจากผสมพันธุ์แล้วส่วนท้องของผึ้งนางพญาจะขยายใหญ่ขึ้นภายใน 2-4 วัน ผึ้งนางพญาก็จะเริ่มวางไข่ โดยมุดหัวเข้าไปแล้วกางขาคู่หน้าออกวัดขนาดของหลอดรวง เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรจะวางไข่ชนิดไหน แล้วจะถอนกลับออกมา หย่อนส่วนท้องลงไปวางไข่ที่ก้นหลอดรวงนั้น ถ้าหลอดรวงที่วัดได้มีขนาดเล็ก (ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร) ผึ้งนางพญาจะวางไข่ของผึ้งงาน คือ ไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ มีโครโมโซม 2 n ถ้าหลอดรวงที่วัดได้มีขนาดใหญ่ (ประมาณ 0.7-0.8 มิลลิเมตร) ผึ้งนางพญาจะวางไข่ของผึ้งตัวผู้ คือ ไข่ที่มีการผสมกับน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ มีโครโมโซม n เดียว
               ผึ้งนางพญาจะวางไข่ติดต่อกันในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉลี่ยประมาณ 1,200 ฟองต่อวัน หรือบางตัวอาจถึง 2,000 ฟองต่อวัน ซึ่งคิดแล้วน้ำหนักของไข่ที่วางต่อวันนี้หนักเป็น 1-2 เท่าของน้ำหนักตัวของผึ้งนางพญาปริมาณการวางไข่ของผึ้งนางพญา ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าในเขตร้อนผึ้งนางพญาสามารถวางไข่ได้ตลอดปี ตัวอ่อนของผึ้งจะเจริญได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 32-35 องศาเซลเซียส ผึ้งจะรักษาอุณหภูมิภายในรังให้คงที่อยู่ตลอดเวลา
              ผึ้งตัวผู้ (Drone) เป็นผึ้งที่เจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม มีขนาดใหญ่และตัวอ้วนกว่าผึ้งนางพญาและผึ้งงาน แต่จะมีความยาวน้อยกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้จะไม่มีเหล็กไน ลิ้นจะสั้นมาก มีไว้สำหรับคอยรับอาหารจากผึ้งงาน หรือดูดกินน้ำหวานจากที่เก็บไว้ในรวงเท่านั้น ไม่มีการออกไปหาอาหารกินเองภายนอกรัง จึงไม่มีที่เก็บละอองเกสร เป็นที่ทราบกันดีว่าผึ้งตัวผู้มีหน้าที่อย่างเดียวภายในรัง คือ ผสมพันธุ์ โดยผึ้งตัวผู้จะไม่ทำงานอะไรทั้งสิ้นภายในรัง ปริมาณของผึ้งตัวผู้ภายในรังไม่แน่นอน อาจมีได้ตั้งแต่ศูนย์ถึงหลายพันตัวขึ้นกับฤดูกาล เมื่อตัวอ่อนของผึ้งตัวผู้โตเต็มที่ ผึ้งงานก็จะมาปิดฝาหลอดรวงด้วยไขผึ้ง ผึ้งตัวผู้จะเข้าดักแด้อยู่ภายใน เมื่อครบกำหนดจะกัดไขผึ้งที่ปิดฝาออกมาเป็นตัวเต็มวัย อายุประมาณ 16 วัน ก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ อายุขัยรวมประมาณ 4-6 สัปดาห์
           ในการผสมพันธุ์พบว่า ผึ้งตัวผู้จากรังผึ้งต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันจะบินออกจากรังไปรวมกลุ่มกัน ณ สถานที่ซึ่งเรียกว่า ที่รวมกลุ่มของผึ้งตัวผู้ (Drone Congregation Area) ในวันที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นภายในบริเวณนี้ คือเมื่อมีผึ้งนางพญาสาวบินเข้ามาในบริเวณนี้ ผึ้งตัวผู้เป็นกลุ่มก็จะบินติดตามไปเพื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้แต่ละตัวใช้เวลาประมาณ 3-5 วินาที ในการผสมพันธุ์โดยเริ่มตั้งแต่ผึ้งตัวผู้บินติดตามนางพญาได้ทัน ก็จะใช้ขาเกาะติดกับนางพญาทางด้านหลัง แล้วก็จะออกแรงดันให้อวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งนางพญาแล้วผึ้งตัวผู้นั้นก็จะตกลงมาตาย โดยที่อวัยวะสืบพันธุ์ยังหลุดติดคาอยู่ที่ผึ้งนางพญา ถ้าตัวผู้ตัวไหนยังไม่ได้ผสมพันธุ์ในวันนั้นจะบินกลับรัง เพื่อรอโอกาสในวันต่อไป ถ้าหมดฤดูผสมพันธุ์ ผึ้งตัวผู้ที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ก็มักจะถูกไล่ออกจากรัง หรือผึ้งงานจะหยุดป้อนอาหารและตายไปในที่สุด
            วรรณะสุดท้าย คือ ผึ้งงาน เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุดภายในรังผึ้ง แต่มีปริมาณมากที่สุด ผึ้งงานถือ กำเนิดมาจากไข่ที่ได้รับการผสมกับเชื้อตัวผู้ (Fertilized egg) ผึ้งงานเป็นเพศเมีย เช่นเดียวกับผึ้งนางพญา แต่เป็นเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์ คือส่วนของรังไข่จะมีขนาดเล็กไม่สามารถสร้างไข่ได้ ยกเว้นในกรณีที่รังผึ้งรังนี้เกิดขาดนางพญาขึ้นมาก็พบว่าอาจมีผึ้งงานบางตัวสามารถวางไข่ได้ (Laying Worker) แต่ไข่ที่วางจะเป็นไข่ที่เป็นผึ้งตัวผู้ ทั้งนี้ผึ้งงานมีอวัยวะพิเศษหลายอย่าง เพื่อที่จะปฏิบัติงานสำคัญ ๆ ภายในรังไข่ เช่น มีต่อมไขผึ้ง ตะกร้อเก็บเกสร ต่อมกลิ่น  โดยปัจจัยที่ควบคุมการทำงานของผึ้งงานนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ ความพร้อมทางด้านการพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย คือ ผึ้งจะปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้นั้นขึ้นกับอายุของตัวเต็มวัยของผึ้งงาน โดยผึ้งงานอายุ 1 – 3 วันจะทำหน้าที่ทำความสะอาดรัง เมื่ออายุ 4 – 11 วันทำหน้าที่ให้อาหารตัวอ่อน โดยต่อมพี่เลี้ยง (Nurse Gland) ทำงาน เมื่ออายุ 12 – 17 วัน ทำหน้าที่สร้างและซ่อมแซมรวง โดยต่อมผลิตไขผึ้ง (Wax Gland) ทำงาน ต่อมาอายุ 18 – 21 วัน ทำหน้าที่ป้องกันรัง ต่อมพิษ (Poison Gland) ทำงาน และอายุ 22 วัน – ตาย ทำหน้าที่หาอาหาร ยางไม้และน้ำ ต่อมน้ำลาย (Salivary Gland) และ ต่อมกลิ่น (Scent Gland) ทำงาน อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความต้องการของสังคมผึ้งในขณะนั้น ยามที่สังคมผึ้งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้มีผึ้งจำนวนมากร่วมปฏิบัติภารกิจบางอย่างด้วยกัน การทำงานของผึ้งงานแต่ละตัวก็อาจข้ามหรือถอยหลังจากกำหนดการทำงานปกติตามความพร้อมของร่างกายก็ได้ เช่น ถ้ารวงผึ้งเกิดความเสียหาย หรือจำเป็นต้องเสริมสร้างรวงเพิ่มเติม ผึ้งงานที่อายุมาก ๆ ก็จะไปกินน้ำหวานเป็นปริมาณมาก ซึ่งจะมีผลไปกระตุ้นให้ต่อมผลิตไขผึ้งที่ฝ่อไป แล้วเจริญขึ้นมาสามารถผลิตไขผึ้งได้


ผึ้ง น้อยนิดมหาศาล
              ความสำคัญของผึ้งที่มีต่อระบบนิเวศน์ ในบทบาทของแมลงที่ช่วยผสมเกสรให้กับพืชเป็นประเด็นที่สำคัญมาก โดยผึ้งมีเส้นประสาทรับความรู้สึกและรับสัมผัสที่เชื่อมกับขนบริเวณลำตัวสำหรับรับสัมผัสกับแรงลม และกลิ่นอาหาร รวมถึงรับรู้แรงดึงดูดของโลก ทำให้ทราบระดับความสูง-ต่ำ ขณะบินได้ การบินของผึ้งจะบินในทิศทางทวนลม เริ่มออกหาอาหารในช่วงเช้าหลังพระอาทิตย์ขึ้น สำหรับการสร้างรังใหม่ ผึ้งจะออกสำรวจแหล่งอาหาร และระยะทางก่อน แล้วค่อยสื่อสารให้กับผึ้งตัวอื่น ผ่านการเต้นรำ  2 แบบ คือ  Round dance เป็นการเต้นแบบวงกลม ด้วยการบินวนขวาก่อน แล้วจึงหมุนบินทางซ้ายมือ และทำซ้ำๆ อย่างรวดเร็ว เป็นสื่อสารบอกแหล่งอาหารใหม่ โดยทั่วไปมีระยะทางไม่เกิน 100 หลา และ Tail-Wagging dance มีลักษณะบินตรงไปข้างหน้าในระยะสั้นๆ พร้อมกับขยับส่วนท้องไปมาอย่างรวดเร็ว แล้วบินหมุนเป็นวงกลม ก่อนบินไปข้างหน้าอีกครั้ง จากนั้นจะบินเป็นวงเหมือนกับครั้งแรก แต่ในทิศตรงกันข้ามกัน แล้วค่อยบินตรงไปข้างหน้าอีกครั้ง การบินลักษณะนี้จะสื่อสารให้ทราบว่าแหล่งอาหารอยู่ห่างจากรังมากกว่า 100 หลา โดยจะเต้นช้าลงเมื่อแหล่งอาหารอยู่ไกล เช่น ถ้าเต้น 2 รอบใน 15 วินาที แสดงว่าแหล่งอาหารอยู่ไกลราว 6 กิโลเมตร แต่ถ้าเต้น 7 รอบใน 15 วินาที แสดงว่าแหล่งอาหารอยู่ในระยะประมาณ 600 หลา เป็นต้น
ผึ้งสามารถรับรู้ความสูงต่ำของต้นพืชจากระดับการบิน และจำแนกอายุของดอกไม้ได้ การเคลื่อนย้ายของผึ้งจากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทิศทางที่เป็นเส้นตรงเพื่อที่จะไม่ลงดอกเดิมซ้ำอีก
           ในแต่ละเที่ยวผึ้งจะเลือกเก็บน้ำหวานจากพืชเพียงชนิดเดียว โดยผึ้งจะลงเก็บน้ำหวานสองครั้งจากดอกไม้ดอกเดียว แต่มักพบว่าก้อนเกสรที่ผึ้งเก็บมานั้นจะมีเกสรของพืชหลายชนิดปนอยู่ แต่จะมีพืชอาหารหลักชนิดใดชนิดหนึ่งมากทีสุด และมีเกสรจากพืชอื่นเพียง 2-4 ชนิดเท่านั้นที่ปะปนมา ผึ้งพันธุ์สามารถลงดอกได้มากกว่า 40 ดอกใน 1นาที ผึ้งหนึ่งตัวสามารถออกหาอาหารได้มากถึง 4 ล้านเที่ยว โดยเฉลี่ยแล้วสามารถลงดอกได้ 100 ดอก ด้วยการใช้ proboscis แทงเข้าไปในต่อมน้ำหวานของดอกไม้ ดูดน้ำหวานมาเก็บไว้ใน nectar sac ปริมาณเฉลี่ยของน้ำหวานที่ผึ้งเก็บไว้ในแต่ละเที่ยว ประมาณ 20-40 มิลลิกรัม หรือประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวผึ้ง
No automatic alt text available.
   cr : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จันทบุรี
            สำหรับการเก็บเกสร ผึ้งจะใช้ tongue และ mandibles เจาะและกัดอับละอองเกสร ให้เกสรกระจายออกมาติดตามขน จากนั้นจะใช้ขาคู่กลางและขาคู่หน้ารวมเกสรผสมกับน้ำหวานสำหรับปั้นให้เป็นก้อน ก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ที่ curbicula ของขาคู่หลัง ก้อนเกสรที่เก็บจะมีน้ำหวานประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักก้อนเกสร ประมาณ 8-29 มิลลิกรัม ประมาณการได้ว่าก้อนเกสรน้ำหนัก 20 กิโลกรัม จะมีก้อนเกสรประมาณ 2 ล้านก้อน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงต่อการเลี้ยงประชากรผึ้ง 1 รัง จำนวนครั้งในการบินออกหาอาหารของผึ้งพันธุ์อยู่ที่ 5-10 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่าขึ้นกับความต้องการอาหารของรังผึ้ง ซึ่งความเร็วในการบินของผึ้งที่น้ำหวานอยู่เต็มกระเพาะ และเกสรอยู่เต็มตะกร้าเกสร ประมาณ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผึ้งที่บินออกจากรังมีความเร็วในการบิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นกับกิจกรรมของผึ้งในเส้นทางการบินไปยังแหล่งอาหาร ผึ้งจะหยุดบินเมื่อมีความเร็วลม 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยผึ้งจะเลือกแหล่งอาหารที่อยู่บริเวณใกล้รังในรัศมี 3 กิโลเมตร แต่หากไม่มีแหล่งอาหารที่เหมาะสม ผึ้งสามารถบินไปหาแหล่งอาหารได้ไกลถึง 12 กิโลเมตร ผึ้งงานในระยะแรกจะฝึกบินในระยะ ไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากรังผึ้ง และพื้นที่ของการหาอาหารของผึ้งนั้นไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับ ปริมาณและความหนาแน่นของดอกพืช ปริมาณเกสร และน้ำหวาน
             ดังนั้น เห็นได้ว่าผึ้งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของอาหาร เนื่องจากเป็นผู้ผสมเกสรหลักของพืชอาหาร ถึงกับมีคำกล่าวว่า No life without bee และมีรายงานว่าการคงอยู่ของผึ้งในสวนผลไม้สามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ว่ากันว่าหากผึ้งสูญพันธุ์ไปจากโลกมนุษย์ มนุษย์จะเป็นผู้เดือนร้อนมากที่สุด เพราะผักและผลไม้จะลดปริมาณตามไปด้วย ดอกไม้ป่า พืชป่าหลายชนิดก็จะสูญพันธุ์ แต่ธัญพืชอาจไม่กระทบมากเพราะใช้ลมในการช่วยผสมละอองเกสร พืชเองไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผสมเกสรได้ในทันที กว่าแมลงชนิดอื่นๆ จะเข้ามาทำหน้าที่แทนผึ้งได้คงต้องใช้เวลา แต่แมลงเหล่านั้นไม่สามารถขนละอองเกสรได้ระยะทางไกล ครอบคลุมพื้นที่และชนิดพันธุ์เท่าผึ้ง รวมทั้งหากใช้วิธีการอื่นในการผสมเกสร ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นด้วย
              ประโยชน์จากผึ้งที่เห็นชัดเจน ได้แก่ (1) น้ำผึ้ง (honey) เป็นผลผลิตจากผึ้งที่เป็นของเหลว มีรสหวานที่ได้จากน้ำหวานของดอกไม้หรือน้ำหวานของส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่ผึ้งสะสมไว้ในรังผึ้ง น้ำผึ้งจะมีลักษณะสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำหวานที่ได้จากต้นไม้ต่างๆ นิยมนำมารับประทาน ใช้ผสมเครื่องดื่มหรือน้ำผลไม้ปั่น ใช้ดองสมุนไพร ใช้สมานแผล ส่วนในอุตสาหกรรมใช้มากในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตยา  (2) เกสรผึ้ง (bee pollen) เป็นก้อนเกสรที่นำมาจากรังผึ้ง หรือที่ได้จากการดักเกสรหน้ารังผึ้ง นิยมนำมารับประทาน และผสมในอาหารหรือเครื่องดื่ม (3) นมผึ้ง (royal jelly) เป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนของผึ้งนางพญา มีลักษณะเป็นครีมข้น สีขาว ใช้รับประทานหรือใช้ทาหน้าเพื่อให้ผิวเต่งตึง รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง (4) ไขผึ้ง (bee wax) เป็นสารที่ผลิตได้จากผึ้งงานจากต่อมไขผึ้งสำหรับสร้างรวงผึ้ง นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งสำหรับสร้างคอนผึ้ง รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเทียนไข ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาขัดมัน และเคลือบเครื่องหนัง (5) ชันผึ้ง (propolis) เป็นวัสดุเหนียว สีน้ำตาลหรือสีดำที่ติดตามบริเวณต่างๆของรังผึ้ง เช่น ช่องว่างระหว่างคอนผึ้ง ถูกนำมาใช้สำหรับป้องกันโรคเหงือกบวม เหงือกอักเสบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ และรักษาแผลในปาก บรรเทาอาการเจ็บคอ รักษาอาการไอ นอกจากนั้น ยังใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง (6) ตัวอ่อนผึ้ง เป็นตัวอ่อนของผึ้งงานที่อยู่ภายในรังขณะอยู่ในระยะตัวหนอนหรือฝักเป็นตัวอ่อนในระยะแรก นิยมนำมารับประทาน และปรุงอาหาร เช่น แกง ผัด เป็นต้น ให้รสมัน นุ่ม
Image may contain: 3 people, people standing, tree and outdoor
                                         cr : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จันทบุรี

  ปัจจุบันยังมีสิ่งที่เรียกว่า Bee Venom หรือ พิษผึ้ง ซึ่งนำมาจากตัวผึ้ง โดยการเก็บ Bee Venom นั้นปกติจะทำให้ผึ้งตายหลังจากการปล่อยเหล็กในออกมาแล้วเพื่อจะเก็บถุงพิษผึ้ง (Bee Venom) มาใช้ประโยชน์ แต่สามารถทำได้อีกวิธี คือ วิธีกระตุ้นให้ผึ้งต่อยลงในจานแก้ว ด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าชนิดอ่อนและปลอดภัยสำหรับผึ้ง หลังจากนั้นจะปล่อยให้ผึ้งมีชีวิตต่อไป  Bee Venom นั้นมีการใช้กันอย่างแพร่หลายและยาวนานทางด้านยาและเภสัชกรรม โดยเริ่มจากฝั่งยุโรปก่อนขยายไปในแหล่งเลี้ยงผึ้งที่สำคัญของโลก โดยมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด เพิ่มสมรรถนะทางเพศ ช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อ เป็นสาร Anti Oxidant และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ด้วย
จากความสำคัญของผึ้งดังกล่าว และรายงานของ IUCN ในปี 2015 พบว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผึ้งในยุโรปมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ และ 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ใกล้จะสูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบว่าในปี 2017 จำนวนผึ้งในสหรัฐอเมริกาลดลงถึง 33 เปอร์เซ็นต์ และสหภาพยุโรปลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ จากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ทั้งโรคที่เกิดขึ้นกับผึ้งที่เลี้ยงในยุโรป ปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะสารกลุ่ม neonicotinoids ที่ทำให้เกิดอาการผึ้งตายยกรัง การแพร่ระบาดของศัตรูพืชอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากโลกาภิวัตน์ การขยายของสังคมเมืองที่ส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรลดลง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปัญหาการค้าน้ำผึ้งคุณภาพต่ำซึ่งกระทบต่อผลตอบแทนของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง
              ด้วยเหตุนี้ ประเทศสโลวีเนีย ประเทศในเขตยุโรปกลางตอนใต้ ติดกับอิตาลี เดิมเป็นรัฐหนึ่งของยูโกสลาเวีย ได้เสนอต่อสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 20 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันผึ้งโลก (World Bee  Day) โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2016 และได้รับการรับรองจากสหประชาชาติในปี 2018 นี้ เป็นการให้ความสำคัญต่อผึ้งแมลงผสมเกสรสำคัญ รวมถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่มีหน้าที่ช่วยผสมละอองเกสร และเป็นการยกย่อง Mr. Anton Jansa ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงผึ้งในเชิงพาณิชย์แบบสมัยใหม่คนแรก  โดย Mr. Anton Jansa เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1734 ณ เมือง Breznica ประเทศสโลวาเนียในปัจจุบัน ได้เปิดโรงเรียนสอนการเลี้ยงผึ้งในปี 1766 เป็นโรงเรียนสอนการเลี้ยงผึ้งแห่งแรกชองยุโรป ต่อมาปี 1769 เริ่มมีการประกอบอาชีพเลี้ยงผึ้งแบบเต็มตัว ก่อนจะมีการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งจำหน่ายครั้งแรกในเยอรมัน เมื่อปี 1771 และ Mr. Anton Janza ถึงแก่กรรมในปี 1773 ด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่
           ณ ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีผลผลิตน้ำผึ้งประมาณ 2.5 แสนตัน เป็นอันดับสองรองจากจีน แต่ปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคต้องนำเข้ามาจากจีน อีกทั้งไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับจีนได้ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในยุโรปประมาณ 6 แสนคน โดยอยู่ในเยอรมันประมาณ 1.16 แสนคน รองลงมาคือ โปแลนด์ 6 หมื่นคน และอิตาลี 5 หมื่นคน จำนวนรังทั้งหมดมากกว่า 17 ล้านรัง  ในขณะที่ประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในปี 2560 จำนวน 1,215 ราย จำนวนรังราว 3.53 แสนรัง ปริมาณผลผลิตประมาณ 12.85 ตัน ส่วนผึ้งโพรงมีการเลี้ยง 3,545 ราย จำนวนรัง 0.52 แสนรัง ผลผลิตน้ำผึ้งราว 366 ตัน สามารถผสมเกสรครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ โดยมีการนำเข้าน้ำผึ้งคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 30-50 ล้านบาท ปริมาณน้ำผึ้งราว 50-80 ตัน 
              บทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทย ยังคงเป็นประเด็นที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก หน่วยงานหลักที่กำกับดูแลเรื่องผึ้งกลับเป็นบทบาทของกรมปศุสัตว์ งานวิจัยและพัฒนาด้านผึ้งยังกระจัดกระจายไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรเองหน่วยผึ้งเดิมก็ขยับขยายปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกใจที่งานผึ้งในไทยยังซุกตัวอยู่เงียบๆ อย่างเหงาๆ
              ณ จุดนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยว่า สังคมของผึ้งจึงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อย เป็นสังคมที่แบ่งหน้าที่กันชัดเจน แต่ละส่วนก็ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ รับผิดชอบและเห็นประโยชน์ของสังคมส่วนใหญ่ พร้อมที่จะเสียสละ ไม่มีความเห็นแก่ตัว สังคมอื่นๆ น่าจะเรียนรู้ประเด็นการใช้ชีวิตจากสังคมผึ้งได้เป็นอย่างดี อัศจรรย์วันของผึ้งจริงๆ
(ขอบคุณ : สำนักจัดการและส่งเสริมสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร, www.worldbeeday.org /ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า                                                                   สวัสดี……อังคณา

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(คำถามฉีกซอง กองบรรณาธิการผลิใบฯ กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ E-mail: ang.moac@gmail.com)             


หมายเหตุ :
บทความนี้เป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น