Cr: https://www.wongnai.com/attractions/369177xo-monkey-farm-organic-thailand
ฉบับที่แล้ว
ได้นำเสนอประเด็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรโลกสวย ตอนที่ 1 ได้เล่าถึงความเป็นมาของเกษตรอินทรีย์
สถานการณ์เกษตรอินทรีย์ในภาพรวมของโลก และภาพรวมของประเทศไทย
จนกระทั่งจุดเริ่มต้นของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย
“ฉีกซอง”
ฉบับนี้
ขอนำท่านผู้อ่านไปติดตามกันต่อว่าเกษตรอินทรีย์ เดินทางมาไกล หรือ เดินวนอย่างไร
โปรดติดตาม
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของพืช
ก่อนที่จะเข้าสู่หมวดของระบบการรับรอง
Organic
Thailand ต้องทำความเข้าใจกันเบื้องต้นว่า
มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ใช้อยู่ฉบับปัจจุบันระบุข้อกำหนดไว้ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่
การวางแผนการจัดการ การเลือกพันธุ์
การจัดการและการปรับปรุงดิน การจัดการศัตรูพืช การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
การบรรจุหีบห่อ การเก็บรักษาและการขนส่ง
การแสดงฉลากและการกล่าวอ้าง การบันทึกข้อมูล ตลอดจนการทวนสอบ
ซึ่งครอบคลุมตลอดกระบวนการผลิต
และเป็นมาตรฐานที่อ้างอิงมาจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป IFOAM และ Codex
หลักการของเกษตรอินทรีย์
เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าต้องใช้แนวทางการเกษตรแบบผสมผสาน
รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดูแลความยั่งยืนของระบบนิเวศโดยรวม
ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและคุณภาพน้ำด้วยอินทรียวัตถุ
ไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์
รวมทั้งปัจจัยการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาจากการดัดแปรสารพันธุกรรมและไม่ผ่านการฉายรังสี
ตลอดจนการเปลี่ยนจากระบบการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีมาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ จะต้องมีช่วงระยะเวลาการปรับเปลี่ยนที่กำหนดไว้ชัดเจน
กล่าวคือ กรณีพืชล้มลุก ใช้เวลาอย่างน้อย 12 เดือน ส่วนพืชยืนต้นใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน
ซึ่งนับตั้งแต่ผู้ผลิตนำมาตรฐานดังกล่าวไปปฏิบัติ และสมัครขอรับการรับรองรองจากหน่วยรับรอง ในที่นี้คือ กรมวิชาการเกษตร
อย่างไรก็ตามหากสามารถแสดงหลักฐานว่าไม่มีการใช้สารเคมีในพื้นที่ที่ขอรับการรับรองมาเป็นเวลานานกว่าเวลาที่กำหนด
ผู้ผลิตสามารถขอลดระยะเวลาปรับเปลี่ยนลดมาได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 6 เดือนพื้นที่สำหรับการทำเกษตรอินทรีย์
ต้องแยกชัดเจนออกจากพื้นที่ที่ทำการเกษตรเคมี และไม่กลับไปใช้สารเคมีอีก
และหากฟาร์มดังกล่าวไม่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด
ต้องแยกแยะชนิดของพืช แบ่งแยกพื้นที่ และกระบวนการจัดการทั้งหมดออกจากกันให้ชัดเจน
ป้องกันการปนเปื้อนจากระบบการผลิตทั้งสองแบบ
ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์จะต้องมีแนวป้องกันการปนเปื้อนที่อาจมากับน้ำ ดิน หรืออากาศ
โดยสร้างสิ่งกีดขวางเป็นการป้องกัน เช่น การทำคันกั้น การทำบ่อพักน้ำ คูน้ำ
หรือการปลูกพืชเป็นแนวกันชน ดังนั้น
จะเห็นได้ว่าการเลือกพื้นที่ที่จะทำการผลิตเกษตรอินทรีย์
จะต้องทราบประวัติการใช้พื้นที่ดังกล่าวมาก่อนอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นชนิดพืชที่ปลูก การใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดจนความสำเร็จของการใช้พื้นที่
เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการผลิตต่อไป
ในส่วนของการบำรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน
สามารถทำได้ด้วยการปลูกพืชบำรุงดิน
เช่น พืชตระกูลถั่ว การใช้ปุ๋ยพืชสด
หรือการปลูกพืชรากลึกหมุนเวียนกับพืชรากตื้น รวมทั้งสามารถใช้อินทรีย์วัตถุต่างๆ ที่ได้จากกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์มาปรับปรุงบำรุงดินได้
ตลอดจนสามารถเร่งปฏิกิริยาของปุ๋ยอินทรีย์ด้วยการใช้เชื้อจุลินทรีย์หรือวัสดุจากพืชได้
หรือปรับโครงสร้างของดินด้วยหินบด ปุ๋ยคอก
และวัสดุจากพืชที่ผ่านกระบวนการเตรียมทางชีวพลวัตได้ (biodynamic
preparations) ไม่อนุญาตให้ใช้ปุ๋ยคอกจากแหล่งที่มีการเลี้ยงสัตว์ในเชิงอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะในอัตราสูง
และห้ามใช้มูลสัตว์สดกับพืชอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค
หลักการสำคัญหน่วยรับรองต้องให้การยอมรับปัจจัยการผลิตที่ใช้สำหรับบำรุงดิน
เพื่อสร้างความมั่นใจต่อระบบการผลิต
ส่วนการควบคุมและป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ ใช้วิธีการผสมผสาน
เริ่มตั้งแต่การเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มีการจัดระบบการปลูกพืชเพื่อตัดวงจรศัตรูพืชด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน โดยสามารถใช้เครื่องมือกลในการเพาะปลูกได้
และต้องมีการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติด้วยการสร้างที่อยู่ให้กับศัตรูธรรมชาติ เช่น
ตามแนวป่าละเมาะ แนวรั้ว ต้นไม้พุ่มเตี้ย สร้างแหล่งอาศัยให้กับนก รวมทั้งสร้างแนวกันชนเพื่อเป็นแหล่งอาศัยให้กับศัตรูธรรมชาติดังกล่าว
รักษาระบบนิเวศโดยรอบให้เกิดความสมดุล สามารถปล่อยศัตรูธรรมชาติเข้าไปในระบบได้ เช่น
การใช้ตัวห้ำ - ตัวเบียน การคลุมหน้าดินเพื่อป้องกันการชะล้าง
รักษาความชื้นในดินและหากวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวไม่สามารถควบคุมศัตรูพืชได้ อนุญาตให้ใช้สารสกัดจากพืชควบคุมศัตรูพืชได้
เช่น สารสกัดจากสะเดา โล่ติ้น สาหร่ายทะเล เห็ดหอม น้ำชาใบยาสูบ กากชา
น้ำส้มควันไม้ เป็นต้น หรือ แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น กำมะถัน เกลือทองแดง ดินเบา
ซิลิเกต โซเดียมไบคาร์บอเนต น้ำมันพาราฟิน เป็นต้น
กรณีส่วนขยายพันธุ์
หรือเมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์
ต้องมาจากระบบการผลิตแบบอินทรีย์เท่านั้น
แต่ถ้าไม่สามารถหาได้อนุโลมให้ใช้เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งทั่วไปได้
แต่ต้องไม่ผ่านการใช้สารเคมี หรือหากมีการใช้สารเคมีต้องมีกระบวนกำจัดสารเคมีให้หมดไปอย่างเหมาะสม
และต้องได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรอง สำหรับพืชและส่วนของพืชซึ่งได้จากธรรมชาติ
จะกล่าวอ้างว่าเป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ก็ต่อเมื่อเป็นผลผลิตที่มาจากบริเวณที่กำหนดขอบเขตชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ธรรมชาติ
โดยเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยทำการเกษตรหรือไม่เคยใช้สารเคมีที่ห้ามใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์มาก่อนไม่น้อยกว่า
3 ปี และการเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นต้องผ่านการรับรองจากหน่วยรับรอง
นอกจากนี้การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากธรรมชาติ ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ
ต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้นที่ดังกล่าว
และยังคงรักษาพันธุ์พืชชนิดนั้นให้คงอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นได้
ส่วนของการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
การแปรรูป การขนส่ง และการบรรจุหีบห่อ ประเด็นที่สำคัญคือการป้องกันการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์
ดังนั้นต้องรักษาความเป็นผลผลิตอินทรีย์ตลอดทุกช่วงของกระบวนการ โดยใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับส่วนประกอบด้วยความระมัดระวังในวิธีการแปรรูป
จำกัดการใช้วัตถุเจือปนอาหารและสารช่วยกรรมวิธีผลิต ผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ต้องไม่ผ่านการฉายรังสี เพื่อจุดมุ่งหมายในการควบคุมศัตรูพืช
การถนอมอาหาร และการกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรค เช่นเดียวกับการป้องกันศัตรูในโรงเก็บ
จะเน้นการป้องกันเป็นหลัก เช่น
การป้องกันทางเข้าของศัตรูในโรงเก็บ การกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัย
หรืออาจใช้วิธีกลและวิธีทางชีวภาพอื่นๆ ประกอบกัน ซึ่งวิธีการต่าง ๆ ข้างต้น
เป็นหนึ่งในหลักของวิธีการปฏิบัติในการผลิตที่ถูกต้อง (good
manufacturing practice–GMP)
วิธีการแปรรูป
ควรเป็นวิธีกลทางกายภาพหรือชีวภาพ
เช่น การหมัก การรมควัน เป็นต้นโดยลดการใช้ส่วนประกอบที่ไม่ได้มาจากการเกษตร และสารช่วยกรรมวิธีการผลิต กรณีการสกัด กำหนดให้ใช้ได้เฉพาะการสกัดด้วยน้ำ
เอธานอล น้ำมันจากพืชหรือสัตว์ น้ำส้มสายชู คาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจนเท่านั้น และกระบวนการแปรรูปต้องเป็นไปตามหลักการ
และวิธีการปฏิบัติที่ดีในการผลิต โดยเป็นไปตามมาตรฐานอาหารและสุขอนามัยที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การบรรจุหีบห่อ ควรเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับการแสดงฉลาก Organic
Thailand จะสามารถแสดงได้ เมื่อทำการยื่นขอรับรองและผ่านการตรวจรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว
โดยผลผลิตต้องมาจากระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานฉบับนี้ กรณีผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต้องมาจากระบบเกษตรอินทรีย์
ทั้งนี้ในมาตรฐานฉบับนี้กำหนดให้มีส่วนประกอบอื่นที่ไม่ใช่อินทรีย์ไม่รวมส่วนของน้ำและเกลือ
ไม่เกินกว่าร้อยละ 5 โดยที่ต้องไม่ได้จากกระบวนการตัดแต่งสารพันธุกรรม
หรือการฉายรังสี
ในส่วนของการบันทึกข้อมูลการผลิต
กำหนดให้มีการบันทึกและเก็บหลักฐานแยกออกไปจากการผลิตพืชทั่วไป รวมถึงจัดทำประวัติ
แผนที่ แผนผังฟาร์มให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงต้องจัดทำแผนการผลิตและจดบันทึกการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน
ประกอบด้วย แหล่งที่มา ชนิด ปริมาณและการใช้ปัจจัยการผลิต วันปลูก การดูแลรักษา การป้องกันกำจัดศัตรูพืช วันเก็บเกี่ยว
ชนิดและปริมาณผลผลิต
การจำหน่ายการผลิต และการขนส่ง โดยสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
และให้เก็บเอกสารการผลิตไว้อย่างต่ำ 1 รอบการรับรอง หรือ 1 รอบการผลิตระบบการรับรอง Organic Thailand
การตรวจรับรอง Organic
Thailand แบ่งการรับรองออกเป็น
3 ลักษณะ คือ
การรับรองฟาร์ม การรับรองการคัดบรรจุ
และการรับรองการแปรรูป โดยผู้ประสงค์จะขอรับการรับรองเป็นได้ทั้งเกษตรกรรายบุคคล
กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน/โครงการ หรือนิติบุคคลอื่นๆ ก็ได้
คุณสมบัติของเกษตรกร ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือสิทธิครอบครอง
หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืช
มีชื่อในทะเบียนราษฏร์ของกรมการปกครอง สมัครใจและยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรอง
ไม่เป็นผู้เพิกถอนการรับรอง เว้นแต่พ้นการเพิกถอนแล้ว 1
ปี และก่อนการตรวจประเมินเพื่อขอรับการรับรอง
ผู้ยื่นคำขอต้องมีการผลิตแบบอินทรีย์ตามมาตรฐานที่ประกาศกำหนด และต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ส่วนคุณสมบัติของนิติบุคคล ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือสิทธิครอบครอง หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืช
ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมายไทย และสมัครใจขอรับการรับรอง
และยินดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
รวมทั้งไม่เป็นนิติบุคคลที่ถูกเพิกถอนการรับรอง เว้นแต่พ้นการเพิกถอนแล้ว 1 ปี
สำหรับกลุ่ม / วิสาหกิจชุมชน / โครงการ
สมาชิกกลุ่มต้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือสิทธิครอบครอง
หรือได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืชกลุ่มเกษตรกรต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หรือกรณีไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย สามารถขอรับการรับรองได้แต่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า
5 คน และกลุ่มดังกล่าวอาจดำเนินการโดยนิติบุคคล หรือองค์กรอิสระก็ได้
นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มต้องปลูกพืชชนิดเดียวกันที่ขอการรับรองอย่างน้อย 2 ราย รวมทั้งสมัครใจขอรับการรับรอง และยินดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด
อีกทั้งไม่เป็นกลุ่มที่ถูกเพิกถอนการรับรอง เว้นแต่พ้นการเพิกถอนมาแล้ว 1 ปี
ทั้งนี้ การขอรับรองในลักษณะของกลุ่มหรือนิติบุคคล จะต้องมีระบบการควบคุมภายใน ซึ่งเป็นระบบควบคุมคุณภาพที่กลุ่มจัดทำขึ้น
เพื่อประกันว่ากิจกรรมการผลิตของเกษตรกรสมาชิกและกิจกรรมอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตอินทรีย์ และเป็นกลไกควบคุมดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามในการรับรอง
โดยระบบการควบคุมภายใน ต้องประกอบด้วย การทำสัญญา ใบสมัคร คำรับรอง และหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกลุ่ม
การฝึกอบรมสมาชิกกลุ่ม โดยสมาชิกต้องได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์
และได้รับคู่มือเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองของกรมวิชาการเกษตร
และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกลุ่ม สำหรับการควบคุมเอกสารและการบันทึก
ต้องมีการตรวจสอบและอนุมัติก่อนการใช้ ถ้าล้าสมัยต้องนำออกหรือระบุไว้ชัดเจน ซึ่งต้องเก็บเอกสารไว้อย่างน้อย
1 รอบการผลิต และควรมีข้อมูลครอบคลุมรายชื่อสมาชิก เลขที่บัตรประชาชน
ที่อยู่ ที่ตั้งแปลง ขนาดพื้นที่การผลิต ชนิดพืชที่ของรับการรับรอง แผนการผลิต ประมาณการผลผลิต และรายการปัจจัยการผลิตที่กลุ่มใช้
ในขณะที่การจัดการกับข้อร้องเรียน
ต้องกำหนดแนวทางการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับระบบการผลิตของสมาชิก การสืบสวนหาสาเหตุ
การกำหนดแนวทางแก้ไข การติดตามผลการแก้ไข และการตอบกลับไปยังผู้ร้องเรียน ทั้งนี้
เอกสารระบบควบคุมภายในของกลุ่ม
ต้องกำหนดและระบุไว้ให้ชัดเจน เช่น คู่มือการผลิต คู่มือระบบควบคุมภายใน
แบบฟอร์มต่างๆ เป็นต้น และต้องมีการตรวจติดตามคุณภาพภายในของกลุ่มในรอบการผลิตเสมอ
รูปแบบการจัดองค์กรของกลุ่ม / นิติบุคคลที่ขอรับการรับรองต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ประธานกลุ่ม รองประธาน
เหรัญญิก เลขานุการ ประชาสัมพันธ์ และสมาชิก
โดยต้องมีผู้ประสานงานระบบควบคุมภายใน คณะกรรมการรับรอง
ผู้ตรวจสอบแปลงภายใน เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา
และกรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง
กระบวนการรับรองจะเกิดขึ้น เมื่อผู้ประสงค์ขอรับการรับรองยื่นคำขอ
และเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อกรมวิชาการเกษตร
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบเอกสาร การคัดเลือกผู้ตรวจประเมินและวางแผนการตรวจประเมิน
การเตรียมการตรวจประเมิน และดำเนินการตรวจประเมิน
หากไม่มีข้อบกพร่องใดจะจัดทำรายงาน และแจ้งผลการตรวจประเมิน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรับรอง
และจัดทำใบรับรองและขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ได้รับการรับรอง
จึงมอบใบรับรองให้กับผู้ผ่านการประเมินและเผยแพร่ผู้ได้รับการรับรองให้สาธารณะทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจพบข้อบกพร่อง
จะต้องแจ้งให้ผู้ขอรับการรับรองทราบและแก้ไขก่อนที่จะดำเนินการตรวจประเมินใหม่
Cr:https://siamrath.co.th/n/26013
เกษตรอินทรีย์ไทยจะไปไหน
ในภาพรวมของทวีปเอเชีย พบว่า ทวีปเอเชีย
เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของโลก โดยมีจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด
มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นมาก จาก 0.06 ล้านเฮกตาร์ในปี 2000
เป็น 3.97 ล้านเฮกตาร์ในปี 2015 ทั้งนี้รัฐบาลของหลายๆประเทศในทวีปเอเชียมีนโยบายสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลาย
และประเทศสิกขิมเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ประกาศตัวเป็นประเทศที่ทำการเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ
สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ
พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งเป็นแผนฉบับที่ 2 หลังจากที่แผน 1 สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2554
โดยในแผนใหม่นี้ ตั้งวิสัยทัศน์ให้ "ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต
การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์
ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล" โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เป็น
600,000 ไร่ในปี 2564 และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศ-ตลาดส่งออกเป็น
40:60 และยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น (ข้อมูลปีล่าสุดของปี
2558 ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพียง 273,881 ไร่
และมีเกษตรกรเพียง 10,557 ราย) ต้องนับว่า
แผนยุทธศาสตร์นี้มีเป้าในการขยายเกษตรอินทรีย์กว่าเท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า
ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรี ย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 แบ่งออกเป็น
4 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วยกลยุทธส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์
กลยุทธเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกร
สถาบันเกษตรกร บุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป
และกลยุทธสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ หลักการของยุทธศาสตร์นี้
คือ การส่งเสริมการวิจัยทางด้านเกษตรอินทรีย์
สร้างนักวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์รุ่นใหม่
และเกษตรกรสามารถนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง
บริหารจัดการองค์ความรู้ และฐานข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์
เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล และปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัย
รวมทั้งส่งเสริมและเผยแพร่งานวิจัยไปใช้ประโยชน์และต่อยอด
ยุทธศาสตร์ที่
2
พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์
ประกอบด้วย กลยุทธพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตรอินทรีย์
และกลยุทธบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ
หลักการ คือ พัฒนาการผลิต การแปรรูป บรรจุหีบห่อ และระบบโลจิกสติกส์ โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน
โดยภาครัฐสนับสนุนด้านความรู้ ปัจจัยการผลิต
ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในกระบวนการผลิและการตลาดในระดับต่างๆ และการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เข้าสู่มาตรฐานระดับสากล
โดยภาครัฐอำนวยความสะดวก กำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรม
พร้อมทั้งการสร้างช่องทางการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
ยุทธศาสตร์ที่
3
พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
ประกอบด้วย กลยุทธผลักดันมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์
กลยุทธส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์
และกลยุทธการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์สู่ผู้บริโภค สำหรับหลักการได้แก่
การสร้างความเข้มแข็งทางการตลาด การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์
ส่งเสริมการสร้างตราสินค้าและอัตลักษณ์
ความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์
และการเพิ่มช่องทางการตลาดและธุรกิจให้กับสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์
ยุทธศาสตร์ที่
4
คือ การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย
กลยุทธใช้รูปแบบยโสธรโมเดลโดยภาคเอกชนเป็นหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์
กลยุทธสนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และกลยุทธสร้างกลไกและเครือข่ายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติ
หลักการสำหรับยุทธศาสตร์นี้ คือ การนำแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วน
เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สู่การปฏิบัติตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ
โดยมีกลไกการให้ความรู้และคำแนะนำ มีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ
เพื่อให้การบรูณาการเกิดผล รวมทั้งจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ
ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์
สำหรับจังหวัดยโสธร
มีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรของ
จ.ยโสธร มีการรวมกลุ่มทำการเกษตรอินทรีย์อย่างเหนียวแน่น พัฒนากระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์มาอย่างครบวงจร
ผลผลิตได้รับการรับรองมาตรฐาน และได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างจังหวัดยโสธร
กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 เพื่อพัฒนาส่งเสริมให้จังหวัดยโสธร
เป็นจังหวัดต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศครอบคลุม ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ
ปลายน้ำสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์
และขยายพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์อีก 60,000 ไร่ ให้เป็น 100,000 ไร่ภายในปี 2561
พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการสร้างความเข้มแข็งและร่วมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี
และเกษตรกรผู้ผลิตอินทรีย์มีรายได้ดีขึ้นอีกด้วย
Cr: https://kmorganicmju.wordpress.com/2017/04/28/
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ในระดับชาติ
อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน
จั่นตอง เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้แทน
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้แทนภาคเอกชน (3คน) ผู้ทรงคุณวุฒิ
(3คน) รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมาย
ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ
ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมวิชาการเกษตร)
ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่ 4 ด้านด้วยกัน คือ (1) กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ของประเทศ
(2) ดำเนินการบูรณาการแนวทาง
มาตรการแผนงานและงบประมาณกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ (3)
จัดระบบการประสานงานและการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ
เพื่อกำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
พร้อมทั้งกำหนดงานของส่วนราชการต่างๆ
เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ให้มีความเหมาะสม และ (4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือ
บุคคลเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการใดตามที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อช่วยปฏิบัติงานการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามความเหมาะสม
ความคาดหวังต่อการพัฒนาและขยายงานเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางออกไป
รองรับโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น
การเกษตรที่ว่ากันว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง จะเป็นจริงได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
การเปลี่ยนมือคนทำงานมาเป็นกรมวิชาการเกษตรจะเห็นหน้าเห็นหลังหรือไม่
คงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นกำลังใจให้กันต่อไป เกษตรอินทรีย์
เกษตรโลกสวย
(ขอบคุณ :
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
www.fibl.org/ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดี……อังคณา
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(คำถามฉีกซอง กองบรรณาธิการผลิใบฯ กรมวิชาการเกษตร
จตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ E-mail: ang.moac@gmail.com)
หมายเหตุ :บทความดังกล่าวเป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนเมษายน 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น