วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เตรียมพร้อมรับฤดูไม้ผล

Image may contain: cloud, sky, tree, plant, grass, outdoor and nature     

    ความรู้สึกส่วนตัวในช่วงนี้เหมือนจะแปรปรวนไปกับสภาวะอากาศของไทย นับว่าเป็นปีที่อากาศหนาวยาวนานกว่าหลายๆปีที่ผ่านมา ความแปรปรวนของอากาศที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของเราๆ ท่านๆ แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการออกดอกติดผลของไม้ผลอีกด้วย อย่างเช่นลิ้นจี่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม คาดว่าปีนี้น่าจะติดดอกออกผลกันไม่น้อย
          การบริหารจัดการไม้ผลในประเทศไทย จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เนื่องจากเราเป็นประเทศแหล่งผลิต    ไม้ผลเมืองร้อนที่สำคัญ มีไม้ผลเด่นๆ หลายชนิด โดยเฉพาะทุเรียนที่ได้รับสมญานามว่าเป็น ราชาแห่งผลไม้ เคียงคู่กับราชินีแห่งผลไม้เช่นมังคุด หรือแม้แต่ลำไย เงาะ มะม่วง ส้มโอ สละ ลองกอง ชมพู่ ฝรั่ง มะละกอ กล้วยหอม และสับปะรด เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของคนรักผลไม้เมืองร้อนเป็นอย่างมาก และด้วยความหลากหลายของชนิดผลไม้จึงทำให้ประเทศไทยมีผลไม้บริโภคทั้งปี ผลไม้ชนิดเดียวกัน หากปลูกคนละพื้นที่ก็จะทำให้การสุกแก่แตกต่างกัน เช่นลำไยภาคตะวันออก จะสุกแก่ก่อนลำไยภาคเหนือ ทุเรียนและมังคุดภาคตะวันออกก็จะสุกแก่ก่อนทุเรียนและมังคุดภาคใต้ เป็นต้น
          “ฉีกซอง” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์  เดือนแห่งความรัก ขออุทิศให้กับคนรักผลไม้ทุกท่าน โดยจะขอนำท่านผู้อ่านไปรับทราบสถานการณ์ของไม้ผลในฤดูการผลิตนี้ เขาบริหารจัดการประมาณการกันอย่างไร โปรดติดตาม

Fruit Board ?
          สำหรับท่านที่ไม่ได้อยู่ในวงการไม้ผลอาจไม่ทราบว่าภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการไม้ผลเพียงใด ถึงกับออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาและบริหารจัดการไม้ผล ในสมัยรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2550 และให้มีผลหลังจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป  ระเบียบฉบับนี้ได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รักษาการ เหตุผลหลักของการออกระเบียบดังกล่าว คือ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับผลไม้ในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งสร้างเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหารสำหรับผู้บริโภคภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในเวทีการค้าโลก และสร้างความมั่นคงในอาชีพการปลูกและการผลิตผลไม้
          ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการไม้ผล หรือ Fruit Board  โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นเลขานุการ พร้อมกับเจ้าหน้าทีของกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ช่วยเลขานุการรวมไม่เกิน 2 คน คณะกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่รองประธาน คนที่ 1 และ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ รองประธานคนที่ 2 นอกนั้นเป็นผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรวม 16 หน่วยงาน 18 คน ผู้แทนเกษตรกร 1 คน ผู้แทนสถาบันเกษตรกร 2 คน ผู้แทนภาคเอกชน 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 4 คน รวมคณะกรรมการทั้งสิ้น 30 คน คณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ เพื่อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี และสนับสนุนให้หน่วยของรัฐ ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกรร่วมมือดำเนินการให้มีเอกภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ประสานงานหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และสถาบันเกษตรกร ในการกำหนดมาตรฐานการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้  ส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและภาคเอกชนในการรวมกลุ่ม หรือจัดตั้งองค์กร เพื่อให้มีบทบาทในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ รวมทั้งสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการผลิต การพัฒนาคุณภาพ การแปรรูป การตลาด และการบริหารจัดการผลไม้เพื่อแก้ไขปัญหาในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ รวมทั้งประสานการจัดทำแผนและโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และให้มีอำนาจในแรแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน ออกประกาศหรือคำสั่ง  และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้กำหนดให้กรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ ทำหน้าที่รวบรวมและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ประสานงาน ให้คำแนะนำ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ เป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้
          คณะกรรมการฯดังกล่าวได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ รวม 6 คณะ และคณะทำงาน 1 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบฐานข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย คณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มไม้ผลเศรษฐกิจ 1  (มะม่วง กล้วยหอม กล้วยไข่ ส้มโอ มะละกอ มะปราง มะยงชิด และทับทิม) คณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มไม้ผลเศรษฐกิจ 2 (ฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร ขนุน องุ่นมะขามหวาน กระท้อน น้อยหน่า และอื่นๆ) คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคเหนือ คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้และภาคอื่นๆ และคณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ

Image may contain: 4 people, including Sumran Sarabun, fruit, plant and food 

สถานการณ์ไม้ผล ปี 61
          จากที่กล่าวมาข้างต้น ภายใต้คณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ หรือ Fruit Board มีคณะทำงานอยู่คณะหนึ่ง คือ คณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ ซึ่งมีรองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และผู้อำนวยการส่วนสารสนเทศการผลิตพืชสวน ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นเลขานุการ  สำหรับผู้ช่วยเลขานุการ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และวางระบบข้อมูล ศูนย์สารสนเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร และ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตไม้ผล สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร  คณะทำงานดังกล่าวทำหน้าที่วางระบบและมาตรฐานการดำเนินงานด้านการจัดทำข้อมูลการผลิตไม้ผล และการประมาณการผลผลิตล่วงหน้า เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามสถานการณ์ผลไม้ประจำปี และประกาศข้อมูลพื้นที่การผลิต ประมาณการผลผลิตล่วงหน้าและต้นทุนการผลิตประจำปี ตามกำหนดเวลา โดยผลไม้ภาคตะวันออกและลิ้นจี่ภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ภายในเดือนมกราคม และครั้งที่  2 ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ผลไม้ภาคใต้และลำไยภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ภายในเดือนมีนาคม และครั้งที่ 2 ภายในเดือนเมษายน สุดท้ายส้มเขียวหวานภาคเหนือ ครั้งที่ 1 ภายในเดือนกรกฎาคม และครั้งที่ 2 ภายในเดือนสิงหาคม

 Image may contain: plant, fruit and food

          สำหรับฤดูการผลิต ปี 2561 คณะทำงานฯ ได้สรุปผลการจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิตผลไม้ 6 ชนิด ประกอบด้วย ลำไย ภาคเหนือ 8 จังหวัด (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ตาก ลำปาง) ลิ้นจี่ ภาคเหนือ 4 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน) และทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ภาคตะวันออก 3 จังหวัด (จันทบุรี ระยอง และตราด) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ดังนี้       ลำไย ภาคเหนือ ประมาณการผลผลิตรวม 659,134 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560  ร้อยละ 7.45 เป็นลำไยในฤดู 386,303 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.28) ออกมากในช่วงเดือนสิงหาคม ในขณะที่ประมาณการลำไยนอกฤดูราว272,831 ตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.74) ออกมาในช่วงเดือนมกราคม สำหรับลิ้นจี่ ภาคเหนือ ปริมาณผลผลิตรวม 39,705 ตัน ผลผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 5.5 เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น และในพื้นที่เชียงราย ช่วงที่ลิ้นจี้แตกตาดอก เกิดฝนตกส่งผลให้ตาดอกเปลี่ยนเป็นตาใบแทน ผลผลิตรวมจึงลดลง ทั้งนี้คาดว่าผลผลิตลิ้นจี่ภาคเหนือจะออกมากในเดือนพฤษภาคม

 Image may contain: food         

          ส่วนทุเรียนภาคตะวันออกในปีนี้ คาดว่าผลผลิตรวมอยู่ที่ 436,117 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.26 เนื่องจากพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิต/ไร่ลดลง เพราะเกิดปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า ทำให้ทุเรียนยืนต้นตาย ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงปลายเดือนกรกฎาคม และออกมากในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงปลายเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ประมาณการผลผลิตมังคุดภาคตะวันออกสำหรับฤดูการผลิตนี้อยู่ที่ 152,839 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.55 เนื่องจากปีที่ผ่านมามังคุดออกผลมาก คาดว่าปีนี้มังคุดจะพักตัวสะสมอาหาร การออกดอกไม่เต็มต้น อีกทั้งมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคตะวันออกส่งผลให้มังคุดแตกยอดอ่อนแทนการออกดอก คาดว่าผลผลิตมังคุดจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม และผลผลิตจะออกสู่ตลาดสูงสุดในช่วงกลางเดือนมิถุนายน
          สำหรับเงาะภาคตะวันออก ประมาณการผลผลิตอยู่ที่ 198,283 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.24 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้เงาะออกดอกเร็ว ปัจจุบันเงาะออกดอกแล้วกว่าร้อยละ 80 ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม และจะกระจุกตัวในช่วงเดือนมิถุนายน ส่เวนลองกองประมาณการผลผลิตไว้ที่ 23,781 ตัน ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.97 เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่จันทบุรี ได้ตัดต้นลองกองที่ปลูกแซมพืชหลัก เช่น ทุเรียน ลงเป็นจำนวนมาก คาดว่าผลผลิตลองกองจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนตุลาคม และจะออกมากในช่วงเดือนกรกฎาคม

Image may contain: candles


คาดการณ์ผลผลิตไม้ผล ปี 2561 (ประมาณการ ณ กุมภาพันธ์ 2561)
ผลไม้
ภาค
ผลผลิต (ตัน)
2560
2561
+/-
%
ออกมาก
ลำไย
เหนือ 8 จว.
613,416
659,134
45,718
7.45
ส.ค.
-ในฤดู
377,679
386,303
8,624
2.28
ส.ค.
-นอกฤดู
235,737
272,831
37,094
15.74
ม.ค.
ลิ้นจี่
เหนือ 4 จว
42,0037
39,705
-2,332
-5.55
พ.ค.
ทุเรียน
ตะวันออก
422,365
436,117
13,752
3.26
เม.ย.- พ.ค.
มังคุด
ตะวันออก
153,678
152,839
-839
-0.55
มิ.ย.
เงาะ
ตะวันออก
192,055
198,283
6,228
3.24
มิ.ย.
ลองกอง
ตะวันออก
24,015
23,781
-234
-0.97
ก.ค.
ที่มา : คณะทำงานจัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจ คณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ (2561)

          สำหรับการบริหารจัดการผลไม้ในปี 2561 คณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ ได้กำหนดหลักการการบริหารจัดการไว้ คือ มีข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน เพื่อเชื่อมโยงกับตลาดผู้ซื้อได้อย่างเหมาะสม โดยเน้นให้จังหวัดบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตนเอง ผ่านทางคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาคุณภาพผลไม้ทั้งในและนอกฤดู ประกอบด้วย การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพผลผลิต จัดฝึกอบรมและศึกษาดูงานสวนไม้ผลที่ประสบความสำเร็จ จัดทำแปลงเรียนรู้แก่เกษตรกร เช่น การควบคุมทรงพุ่ม ตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งช่อดอก ช่อผล ห่อผล การจัดการดิน-น้ำ-ปุ๋ย การใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ถูกวิธี การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธีและเหมาะสม ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตไม้ผลนอกฤดูในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีตลาดรองรับ รวมทั้งการจัดระ-ปุ๋ย การใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่ถูกวิธี การเก็บเกี่ยวผลผลิตและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวอย่างถูกวิธีและเหมาะสม ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการผลิตไม้ผลนอกฤดูในพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีตลาดรองรับ รวมทั้งการจัดระบบการผลิต และการวางแผนการผลิตในแต่ละพื้นที่เพื่อให้มีผลผลิตต่อเนื่องตลอดปี  นอกจากนี้ยังส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP และมาตรฐานสินค้าเกษตรด้านไม้ผลอื่นๆ
ส่วนการบริหารจัดการเชิงปริมาณ เน้นการบริหารจัดการด้วยการจัดสมดุลอุปสงค์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต (Supply) อย่างละเอียด ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ต้องเชื่อมโยงและหาตลาดรองรับผลผลิต โดยจัดทำข้อมูลทางการตลาด (Demand) อย่างละเอียดเช่นกัน จากนั้น คพช. จะนำข้อมูลทั้งสองด้านมาปรับสมดุลและสอดคล้องกัน เน้นผลลัพธ์สุทธิ ทั้งนี้หลังการปรับสมดุลแล้ว  ข้อมูลประมาณการผลผลิตไม่ควรอยู่ในภาวะที่สูงกว่าข้อมูลความต้องการของตลาด และต้องกำหนดแผนเผชิญเหตุรองรับในช่วงที่ผลผลิตออกมาก ทั้งการกระจายผลผลิตด้วยกลไกของ คพช. หรือหากไม่สามารถดำเนินการได้สามารถใช้กลไกของคณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ได้
          การกำหนดมาตรการดำเนินการเชิงรุกของคณะกรรมการบริหารและจัดการผลไม้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเก็บเกี่ยว ระยะเก็บเกี่ยว และระยะหลังเก็บเกี่ยว โดยระยะก่อนเก็บเกี่ยว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบในการส่งเสริมการผลิตไม้ผลนอกฤดู เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของผลผลิต ตลอดจนเน้นการพัฒนาคุณภาพผลผลิตเป็นหลัก สนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตไม้ผลคุณภาพ การจัดการเรื่องดิน-น้ำ-ปุ๋ย ให้สอดคล้องกับความต้องการของพืช การตัดแต่งช่อดอก การตัดแต่งผล การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระยะออกดอกติดผล การห่อผล การเก็บเกี่ยว การคัดแยกชั้นคุณภาพ การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกวิธี รักษาความสดให้ถึงมือผู้บริโภค และส่งเสริมระบบการรับรองคุณภาพและการตรวจสอบย้อนกลับ นอกจากนี้ยังส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้รวมกลุ่มเพื่อผลิตไม้ผลคุณภาพตามระบบแปลงใหญ่ และทำหน้าที่จัดทำข้อมูลเอกภาพและพยากรณ์ผลผลิตเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาผลผลิตและการตลาด รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการเชื่อมโยงและเจรจาการค้าล่วงหน้า ส่งเสริมให้เกษตรกรเสนอแผนการผลิตให้แก่ผู้รับซื้อ หรือให้ผู้รับซื้อเข้าถึงแหล่งผลิตคุณภาพ เพื่อให้เกิดการเจรจาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าโดยสมัครใจ

Image may contain: plant, tree, sky, flower, outdoor and nature
         
        ในระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต กำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการชี้เป้าแหล่งผลผลิตผลไม้คุณภาพ รณรงค์ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะสุกแก่ที่เหมาะสม ส่งเสริมการบริโภคและประชาสัมพันธ์คุณค่าของการบริโภคผลไม้สด เพื่อขยายตลาดผลไม้สดภายในประเทศ ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด โดยให้ คพช. เป็นผู้ดำเนินการและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตและรองรับปริมาณผลไม้ในเกรดรองๆ ลงไป รวมทั้งส่งเสริมการรวบรวม คัดแยก และจัดขั้นคุณภาพผลผลผลิต การจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ส่วนกระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบดำเนินการสนับสนุนการกระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ให้มีความคล่องตัว จัดทำข้อมูลและกำกับสถานประกอบการรับซื้อผลผลิตให้เป็นไปตามกฎหมาย ผลักดันการส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น ส่งเสริมการเปิดตลาดต่างประเทศใหม่ๆ ไม่พึงพาตลาดเก่ามากเกินไป ตลอดจนส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายอื่นๆที่ทันสมัย เช่น e-commerce เป็นต้น ส่วนระยะหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นระยะของประเมินผลการดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในข้างต้น เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลวิเคราะห์การกำหนดมาตรการในปีต่อๆ ไป ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
          ท่ามกลางกระแสของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ระบบการค้าขายไม้ผลของไทย เพื่อตอบสนองนโยบายการตลาดนำการผลิต อาจไม่ไปถึงไหน หากภาคการผลิตยังคงหวังให้ภาคการตลาดมาช่วยเพียงฝ่ายเดียว การสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตให้สามารถพัฒนาเป็นผู้จำหน่ายผลผลิตของตนเองได้ ยังเป็นความหวังสำหรับภาคการเกษตรของไทย ถึงแม้ว่าความหวังดังกล่าวมันจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ยังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์รออยู่ เรียนรู้เพื่อจะเติบโตกันต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน

(ขอบคุณ : สำนักจัดการและส่งเสริมสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร/ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า                                                                          สวัสดี……อังคณา   
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ

บทความดังกล่าวเป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร

สารเคมีทางการเกษตรคือวัตถุอันตราย?

Cr:http://www.cueid.org/content/view/8876/1

         ก่อนอื่นขอถือโอกาสนี้สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านทุกท่าน ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั่วสากลโลก จงดลบันดาลให้ทุกท่านมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง สะสมพลัง สะสมความดี และมีความปรารถนาดีให้แก่กันตลอดไป สังคมจะมีคุณภาพ คงต้องเริ่มจากการสร้างคนซึ่งเป็นหน่วยย่อยของสังคมให้มีคุณภาพเสียก่อน และคงจะเริ่มจากที่ใครไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มที่ตัวของเราเอง
          เมื่อกล่าวถึงเรื่องคุณภาพ สิ่งที่เป็นกังวลอยู่ในปัจจุบันคือปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาจากสารเคมีตกค้างทั้งในสิ่งแวดล้อมและในอาหารที่รับประทานเข้าไป อันจะส่งผลต่อปัญหาสุขภาพที่ตามมา และสารเคมีทางการเกษตรก็ได้ตกเป็นจำเลยของสังคมมาโดยตลอด ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว มีการวิจารณ์และออกมาให้ข้อมูลอย่างกว้างขวางต่อสาธารณะจากฝ่ายที่เห็นว่าพิษของสารเคมีทางการเกษตร เป็นอันตรายรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชน และมีผลตกค้างในสิ่งแวดล้อม สารเคมีทางการเกษตรบางชนิดถึงเวลาที่จะต้องยกเลิกการอนุญาตให้ใช้ภายในประเทศกันเลยทีเดียว จนเกิดกระแสต่อต้านขึ้นในสังคม ในขณะที่บางกระแสก็ให้ความเห็นต่างออกไป โดยยังเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีดังกล่าว ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ยืนอยู่ตรงกลาง ได้แต่หันมองกันเลิ่กลั่ก ไม่ทราบว่าจะเชื่อฝั่งไหนดี 
          “ฉีกซอง” ฉบับต้นปี 2561 จึงขอนำท่านผู้อ่านติดตามและทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ของสารเคมีทางการเกษตรที่เขาเรียกกันว่า “วัตถุอันตรายทางการเกษตร” เป็นอย่างไร โปรดติดตาม

วัตถุอันตราย?
          การควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติวัตถุวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติขึ้นเพื่อสนองตอบต่อการควบคุมวัตถุอันตรายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการนำวัตถุอันตรายมาใช้ในกิจการประเภทต่างๆ เป็นจำนวนมาก และวัตถุอันตรายบางชนิดก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงแก่มนุษย์ สัตว์ พืช ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อมได้ แม้ว่าเดิมจะมีกฎหมายที่ใช้ควบคุมวัตถุที่ก่อให้เกิดอันตรายอยู่บ้างก็ตาม   แต่กฎหมายที่มีก่อนหน้านั้นมีด้วยกันหลายฉบับ  ต่างยุคต่างสมัย ทำให้บทบัญญัติแตกต่างกันรวมทั้งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน และยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ จึงได้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยวัตถุมีพิษ โดยขยายขอบเขตให้ครอบคลุม วัตถุอันตรายทุกชนิด  และกำหนดวิธีการควบคุมให้เหมาะสมมากขึ้น  พร้อมทั้งจัดระบบบริหารให้มีการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2535 และมีกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
          วัตถุอันตราย   ตามความหมายในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 หมายถึง   วัตถุที่มีคุณลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ วัตถุระเบิดได้ วัตถุไวไฟ วัตถุออกซิไดซ์และวัตถุเปอร์ออกไซด์ วัตถุมีพิษ วัตถุที่ทำให้เกิดโรค  วัตถุกัมมันตรังสี  วัตถุที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง และวัตถุอย่างอื่นไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งอื่นใดที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ และสิ่งแวดล้อม
           สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมวัตถุอันตรายที่ใช้ทางการเกษตร ประกอบด้วย สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช  ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ควบคุมการเจริญเติบโตของพืช  และวัตถุอันตรายที่ใช้ในการประมง   ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้สามารถควบคุมวัตถุอันตรายดังกล่าวได้ตามความจำเป็น โดยจำแนกวัตถุอันตรายออกเป็น 4  ชนิด กล่าวคือ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1   หมายถึง วัตถุอันตรายที่การผลิต  การนำเข้า  การส่งออก  หรือการมีไว้ในครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ซึ่งกำกับดูแลโดยผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่วางไว้ โดยไม่ต้องขออนุญาตและแจ้งการประกอบกิจการล่วงหน้า โดยวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบในปัจจุบันไม่มีการจัดไว้ในกลุ่มดังกล่าว
ส่วนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หมายถึง วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด  โดยต้องแจ้งประกอบกิจการล่วงหน้าและต้องขอขึ้นทะเบียน แต่ไม่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งมีการควบคุมมากกว่าชนิดที่ 1 โดยในกลุ่มนี้มีวัตถุอันตรายทางการเกษตร ได้แก่ BT , NPV , สารสกัดจากสะเดา ไส้เดือนฝอยที่ใช้กำจัดแมลง และ White Oil เป็นต้น
           สำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3  หมายถึง วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก   หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาต ควบคุมโดยการขึ้นทะเบียนและขออนุญาตประกอบกิจการตามลักษณะ ได้แก่ การนำเข้า การส่งออก การผลิต การมีไว้ในครอบครอง ซึ่งหมายถึงมีไว้เพื่อขาย การเก็บรักษา การใช้และการรับจ้าง  ซึ่งสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว
          ในขณะที่ วัตถุอันตรายชนิดที่ 4   หมายถึง วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต  การนำเข้า การส่งออก  หรือการมีไว้ในครอบครอง  ควบคุมโดยการห้ามประกอบกิจการใดๆ ได้แก่ สารซึ่งเป็นอันตรายและห้ามใช้  สำหรับในส่วนที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ได้ประกาศให้สารเคมีทางการเกษตรเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4  จำนวนทั้งสิ้น 98 รายการ
          ระบบการควบคุมวัตถุอันตรายตามนัยแห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้  แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ  คือ การควบคุมด้วยการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย  การควบคุมด้วยการอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนแล้ว  ต้องขออนุญาตในการนำเข้า ส่งออก ผลิต  และมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3  และการควบคุมหลังการขึ้นทะเบียนและการอนุญาต ซึ่งเป็นการกำกับดูแลให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกําหนดให้สารป้องกันกําจัดศัตรูพืชทุกชนิดเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 23 และ4 ที่ต้องกํากับดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งการผลิตหรือการนําเข้าซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่2 หรือ3 จะต้องนํามาขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนและเมื่อได้รับใบสําคัญการขึ้นทะเบียนแล้วจึงจะผลิตหรือนําเข้าได้ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนในการดําเนินการขึ้นทะเบียนไว้คือ ผู้ผลิตหรือผู้นําเข้าต้องยื่นคําขอขึ้นทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร แบ่งออกเป็น3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่1 การทดลองเบื้องต้นเพื่อทราบประสิทธิภาพและข้อมูลพิษเฉียบพลัน ขั้นตอนที่2 การทดลองชั่วคราวเพื่อสาธิตการใช้และข้อมูลพิษระยะปานกลาง  และขั้นตอนที่3 การประเมินผลขั้นสุดท้ายเพื่อรับการขึ้นทะเบียนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่จะประเมินผลการทดลองความปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเพียงพอต่อการใช้ ซึ่งรวมทั้งพิษเรื้อรังระยะยาว(2 ปี) ต่อสัตว์ทดลอง



คณะกรรมการ ?
องค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในพระราชบัญญัติดังกล่าวประกอบด้วย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ   อธิบดีกรมการขนส่งทางบก   อธิบดีกรมการค้าภายใน   อธิบดีกรมการแพทย์   อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ   อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน   อธิบดีกรมประมง  อธิบดีกรมปศุสัตว์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ  เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  ผู้แทนกระทรวงกลาโหม  ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกินสิบคนเป็นกรรมการ และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกรรมการและเลขานุการ   และผู้แทนกรมธุรกิจพลังงาน  ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม   ผู้แทนกรมวิชาการเกษตร   ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  และผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นเลขานุการ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี  วิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือกฎหมาย และอย่างน้อยห้าคนในแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นตัวแทนขององค์การสาธารณประโยชน์และมีประสบการณ์ การดำเนินการคุ้มครองสุขอนามัย ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการเกษตรกรรมยั่งยืน ด้านการจัดการปัญหาวัตถุอันตรายในท้องถิ่น หรือด้านสิ่งแวดล้อม  ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี   และเมื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้
          คณะกรรมการวัตถุอันตรายดังกล่าว ทำหน้าที่ในการกำหนดปริมาณองค์ประกอบ คุณสมบัติ  และสิ่งเจือปน ภาชนะบรรจุ วิธีตรวจและทดสอบภาชนะ  ฉลาก การผลิต  การนำเข้า  การส่งออก  การขาย  การขนส่ง  การเก็บรักษา  การกำจัด การทำลาย การปฏิบัติกับภาชนะของวัตถุอันตราย  การให้แจ้งข้อเท็จจริง  การให้ส่งตัวอย่าง  หรือการอื่นใดเกี่ยวกับวัตถุอันตรายเพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล  สัตว์  พืช  ทรัพย์  หรือสิ่งแวดล้อม  โดยคำนึงถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศประกอบด้วย  รวมทั้งกำหนดให้มีการดำเนินการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตราย และให้มีการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม  สุขภาพอนามัย  ชีวิต  หรือทรัพย์สิน ซึ่งเกิดจากการประกอบกิจการ  และกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กล่าวมาข้างต้น   ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรเฉพาะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตลอดจนต้องรับผิดชอบกรณีเกิดปัญหาขึ้น  เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ดังกล่าว การกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมาให้คำแนะนำและควบคุมการประกอบกิจการวัตถุอันตราย  รวมทั้งการประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ชีวิต หรือทรัพย์สินจากการประกอบกิจการดังกล่าว ได้ให้สํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีอํานาจหน้าที่ตามมาตรา 51 ควบคุมโฆษณาวัตถุอันตรายทางการเกษตรให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
กล่าวโดยสรุปแล้วมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตรของกรมวิชาการเกษตร ประกอบด้วย การขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย เพื่อเลือกใช้วัตถุอันตรายที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยใบอนุญาตขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย มีอายุ 6 ปี กำหนดให้มีการขออนุญาตประกอบกิจการ เพื่อควบคุมการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง  และการควบคุมหลักการได้รับการขึ้นทะเบียนและการอนุญาต ได้แก่ การควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ และการดำเนินคดีต่อผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย
          ภายใต้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมารองรับการปฏิบัติงานตามกฎหมายหลายคณะด้วยกัน แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร มีคณะอนุกรรมการที่สำคัญ 3 คณะ คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลและกลั่นกรองความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ     คณะอนุกรรมการพิจารณายกร่างกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร โดยที่คณะอนุกรรมการแต่ละคณะสามารถตั้งคณะทำงานมารองรับการปฏิบัติงานในแต่ละด้านได้ด้วย
          สำหรับคณะอนุกรรมการพิจารณาข้อมูลและกลั่นกรองความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ  เป็นคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายแต่งตั้งขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่เสนอความเห็น และปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับการจัดประเภทและชนิดของวัตถุอันตรายต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย            พิจารณา ศึกษา  ทบทวนความเป็นอันตรายของสารต่างๆ  ที่จะประกาศ ระบุชื่อ ชนิด เป็นวัตถุอันตราย รวมทั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เช่น ประเมินค่าข้อมูลด้านพิษวิทยาและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้นรวมทั้งให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเกี่ยวกับความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายชนิดต่างๆ และปฏิบัติงานอื่นใดตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมอบหมาย
ส่วนคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535  มีหน้าที่ยกร่างกฎกระทรวงและประกาศกระทรวง ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 พิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงหรือประกาศกระทรวงที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตลอดจนใหัความเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายและปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการวัตถุนตรายมอบหมาย
คณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร มีหน้าที่เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอันจำเป็น  ตลอดจนขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร พิจารณาแผนการทดลองเกี่ยวกับวัตถุอันตรายทางการเกษตร  ติดตามดูแลผลการทดลองการประเมินผล และรับรองผลการทดลองของผู้ประสงค์จะขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตลอดจน           พิจารณาความถูกต้องของฉลากวัตถุอันตรายที่ใช้ในทางการเกษตร ให้ความเห็นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่ใช้ในทางการเกษตร   เสนอความเห็นเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายที่มีปัญหาภายหลังการพิจารณารับขึ้นทะเบียนแล้ว รวมทั้งการห้ามให้ และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนด ทั้งนี้ยังให้คณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว สามารถแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามความจำเป็นโดยได้แต่งตั้งคณะทำงาน 3 คณะ คือ  คณะทำงานเพื่อประเมินเอกสารข้อมูลพิษวิทยาและพิษตกค้างของวัตถุอันตรายทางการเกษตรเพื่อการขึ้นทะเบียน  มีผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร (กปฝ.) เป็นประธานคณะทำงาน และผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัตถุมีพิษการเกษตร เป็นเลขานุการ คณะทำงานเพื่อพิจารณาชีวภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจากพืชที่ใช้ควบคุมศัตรูพืช มีผู้อำนวยการสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร (สคว.) เป็นประธาน และ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย  เป็นเลขานุการ คณะทำงานชุดสุดท้าย คือ คณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง  ซึ่งมีอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน และนักวิชาการชำนาญการพิเศษ กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย สคว. เป็นเลขานุการ
ส่วนคณะทำงานดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่เฝ้าระวัง มีหน้าที่ศึกษา ติดตาม และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นพิษ พิษตกค้าง และผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว เสนอชื่อวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ควรจัดเข้าอยู่ในรายการเฝ้าระวังการใช้ กำหนดระยะเวลาการเฝ้าระวังการใช้ กำหนดเรื่องเกี่ยวกับวัตถุอันตรายและผลกระทบที่ต้องเฝ้าระวัง รวมทั้งเสนอผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลหรือศึกษาวิจัย ประเมินความเป็นอันตรายและผลกระทบภายหลังจากการเฝ้าระวัง เพื่อเสนอห้ามใช้หรือจำกัดการใช้ต่อคณะอนุกรรมการฯ และปฏิบัติงานอื่นที่คณะอนุกรรมการฯ มอบหมาย
 Image may contain: one or more people, people standing, child and outdoor
Cr FB ศูนยืวิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี

สารเคมีทางการเกษตร?
          จากข้อมูลของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร พบว่า สัดส่วนการนำเข้าสารสำคัญ (active ingredient) ของวัตถุอันตรายทางการเกษตร ลำดับ 1 คือ กลุ่มของสารกำจัดวัชพืช ซึ่งพาราควอต (Paraquat dichloride) และไกลโฟเซต (Glyphosate-isopropylammonium) สารที่กำลังอยู่ในกระแสจัดเป็นสารกลุ่มดังกล่าวด้วย มีสัดส่วนการนำเข้าเมื่อเทียบกับสารประเภทอื่นระหว่างปี 2557-2560 สูงถึงร้อยละ 81.44 ,81.57,79.94 และ 77.74 ตามลำดับ รองลงมาคือ กลุ่มของสารป้องกันและกำจัดโรคพืช มีสัดส่วนการนำเข้าระหว่างปี 2557-2560 คิดเป็นร้อยละ 8.44 , 8.91 , 9.43 และ 11.78  ตามลำดับ ลำดับที่ 3 คือ กลุ่มของสารกำจัดแมลง ซึ่งคลอร์ไพรีฟอส (Chlorpyrifos) สารที่อยู่ในกระแสเช่นกัน จัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว โดยมีสัดส่วนการนำเข้าสารกลุ่มนี้ระหว่างปี 2557-2560 คิดเป็นร้อยละ 7.56, 6.82,8.11 และ 8.21 ตามลำดับ ในขณะที่สัดส่วนการนำเข้าสารชีวภัณฑ์เพื่อกำจัดศัตรูพืช (Microbial Pesticides) ในช่วงเวลาเดียวกัน คิดเป็นร้อยละ 0.13, 0.11 , 0.16 และ 0.11 ของการนำเข้าสาระสำคัญทั้งหมด ตามลำดับ
          ประเด็นที่สนใจประเด็นหนึ่ง คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ได้เสนอแนวทางการลด ละ เลิก การใช้พาราควอต คลอร์ไพรีฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งได้เสนอกรอบในการดำเนินการของสารแต่ละชนิด กล่าวคือ พาราควอต กำหนดแผนการยกเลิกการใช้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยกำหนดปริมาณการนำเข้า การเฝ้าระวังการตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม และการให้ผู้นำเข้ารายงานปริมาณการนำเข้า ปริมาณการขาย และปริมาณคงค้าง เช่นเดียวกับแผนการยกเลิกการใช้คลอร์ไพรีฟอส ซึ่งกำหนดกรอบการดำเนินการเช่นเดียวกับพาราควอต ส่วนไกลโฟเซตยังไม่ได้กำหนดแผนการยกเลิกการใช้ที่แน่นอน แต่ได้เสนอแนวทางให้จำกัดพื้นที่การใช้ กำหนดปริมาณการนำเข้า ระบบการแจ้งพื้นที่ที่นำไปจำหน่าย กำหนดกลไกในการควบคุมผู้ใช้งาน ปรับปรุงฉลากให้ระบุพื้นที่ห้ามใช้ และการควบคุมการโฆษณา

          ผลจากการแสดงท่าทีต่อสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมา คือ ผู้นำเข้าเร่งนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มดังกล่าวเข้ามาในประเทศ โดยเมื่อพิจารณาจากสถิติการนำเข้าสารสำคัญ พบว่าในกลุ่มของสารกำจัดวัชพืช ซึ่งพาราควอตและไกลโฟเซตอยู่ในกลุ่มดังกล่าว ปริมาณการนำเข้าในปี 2560 พุ่งสูงถึง 79,391 ตัน ในขณะที่ปี 2559 ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 67,456 ตัน เพิ่มขึ้น 11,935 ตัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 17.69 ของปี 2559 เช่นเดียวกับกลุ่มสารป้องกันและกำจัดโรคพืช พบว่าในปี 2559 มีการนำเข้าสารสำคัญในกลุ่มนี้ 7,958 ตัน แต่ในปี 2560 ปริมาณการนำเข้าเพิ่มเป็น 12,029 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 4,071 ตัน คิดเป็นร้อยละ 51.16 ของปีก่อน โดยที่สภาพการระบาดของโรคพืชไม่ได้แตกต่างจากปีก่อนๆ เท่าใดนัก จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจและควรติดตามอย่างใกล้ชิดในปีใหม่นี้
          สำหรับพาราควอต ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2498 เป็นสารกำจัดวัชพืชในกลุ่ม bipyridinium หรือ bipyriddilium โครงสร้างที่เป็นประจุบวกจะมีน้ำหนักโมเลกุล 186.261 กรัม/โมเลกุล และหากอยู่รูปของเกลือไดคลอไรด์ จะมีน้ำหนักโมเลกุล 257.16 กรัม/โมเลกุล เป็นสารที่ไม่ระเหย มีค่าความดันไอ 1x104 Pa ละลายน้ำได้ดีมาก 620,000 มิลลิกรัม/ลิตร ที่ 25 องศาเซลเซียล ไม่ละลายใน ethanol แต่สามารถละลายใน acetone ได้เล็กน้อย สามารถสลายตัวด้วยแสง UV และจุลินทรีย์ในดิน ไม่มีการเคลื่อนย้ายในพืช และไม่สามารถซึมเข้าสู่รากพืชได้  ในสภาพที่มีแดดจัดพาราควอตจะสลายตัวร้อยละ 50 ภายใน 34-46 วัน  สารที่เกิดจากการสลายตัว คือ N-methyl isonicotinic acid (4-carboxy-1-methylpyridinium) สารดังกล่าวมีค่า LD50 ทางปาก เท่ากับ 5,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จัดเป็นสารที่มีค่าความเป็นพิษต่ำ เริ่มจำหน่ายครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2505 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสารกำจัดวัชพืชในประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 85 ประเทศ ใช้กับพืชมากกว่า 100 ชนิด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีการขึ้นทะเบียนสารดังกล่าวอยู่ ลักษณะการทำลายของพาราควอตเป็นสารกำจัดวัชพืชแบบไม่เลือกทำลายชนิดสัมผัส ใช้ฉีดพ่นทางใบหลังวัชพืชงอก ซึมสู่เนื้อเยื่อสีเขียวของเซลพืชได้เร็ว ไม่ทำลายส่วนที่เป็นสีน้ำตาลของพืช ทนทานต่อการชะล้างโดยฝน  มีการใช้อย่างแพร่หลายในพืชไร่ ไม้ผล ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ตลอดจนใช้ควบคุมวัชพืชนอกพื้นที่การเกษตรด้วย องค์การอนามัยโลกได้สรุปไว้ในปี 1984 ว่าหากใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ในฉลาก ระดับสารตกค้างในพืช อาหาร และน้ำดื่ม จะไม่เกิดอันตรายต่อสุขภาพเด็กและประชาชนทั่วไป และในปี 1997 US EPA ของสหรัฐอเมริกา ได้รายงานว่าการใช้พาราควอตตามคำแนะนำไม่เกิดผลกระทบต่อนกและสิ่งมีชีวิตอื่น ซึ่งพาราควอตเป็นพิษต่ำต่อผึ้ง มีความเป็นพิษเล็กน้อยต่อปลา เป็นพิษปานกลางต่อนก และไม่มีผลกระทบต่อไส้เดือนดิน
          ส่วนคลอร์ไพริฟอส เป็นสารกำจัดแมลงอยู่ในกลุ่ม organophosphate สูตรเคมีคือ C9H11Cl3NO3PS ถูกพัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Dow Chemical และ Dow Agro Science วางจำหน่ายในยุคเดียวกับพาราควอต มีคุณสมบัติกำจัดแมลงได้หลายชนิดและกว้างขวาง ทั้งถูกตัวตาย กินตาย ซึมผ่านใบ หรือเป็นไอระเหย ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้กว่า 100 ประเทศทั่วโลก มีค่าLD50 ทางปาก 96 มิลลิกรัม/กิโลกรัม  ซึ่งจัดความเป็นพิษตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) อยู่ในระดับ 2 มีค่าความเป็นพิษปานกลาง สัญลักษณ์แถบสีเหลือง  ค่าเฉลี่ยครึ่งชีวิตของคลอร์ไพรีฟอสในพื้นที่เพาะปลูกอยู่ที่ 1-14 วัน ที่ผิวดิน และ 30-60 วันที่ระดับชั้นดินที่ลึกลงไป ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตรให้ใช้สารคลอร์ไพริฟอสในการกำจัดหนอนเจาะสมอฝ้าย เสี้ยนดิน เพลี้ยอ่อน เพลี้ยจักจั่น ด้วงงวงมันเทศ ผีเสื้อข้าวเปลือก ด้วงงวงข้าว ด้วงงวงข้าวโพด มอดแป้ง มอดสยาม หนอนเจาะลำต้น หนอนเจาะฝัก หนอนหน้าแมว หนอนร่านโพนีตา แมลงดำหนาม และด้วงงวงในกล้วย พืชที่แนะนำให้ใช้ ได้แก่ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง มันเทศ ข้าวเปลือกที่ใช้ทำพันธุ์ นุ่น ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และกล้วย โดยไม่มีคำแนะนำให้ใช้ในกลุ่มพืชผักและผลไม้ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามคลอร์ไพริฟอสยังเป็นพิษต่อปลา ต้องระมัดระวังการชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ รวมทั้งเป็นพิษต่อผึ้ง จึงห้ามใช้ในระยะที่พืชมีดอกกำลังบาน และมีความเป็นพิษต่อตัวห้ำและตัวเบียน จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยระยะปลอดภัยหลังการใช้สาร ต้องเว้นระยะเวลาก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังพ่นสารครั้งสุดท้าย 7 - 14 วัน เป็นอย่างน้อย
          ในส่วนของไกลโฟเซต (Glyphosate) หรือ N-(ฟอสโฟโนเมทิล) ไกลซีน เป็นสารกำจัดวัชพืช ใช้ได้ทั้งในพื้นที่ที่ทำการเกษตรและพื้นที่ที่ไม่ได้ทำการเกษตร สูตรโมเลกุล คือ C3H8NO5P     น้ำหนักโมเลกุล เท่ากับ 169.07 จุดเดือดอยู่ที่ 109 องศาเซลเซียส สามารถละลายน้ำได้ร้อยละ 1.2 ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นสารที่ใช้ทางใบ ควบคุมวัชพืชแบบหลังงอกและไม่เลือกทำลาย สามารถควบคุมวัชพืชพวกวงศ์หญ้า วัชพืชใบกว้างปีเดียว และวัชพืชข้ามปี พวกหญ้าคา ตลอดจนพวกวัชพืชไม้พุ่มเยื่อแข็ง เช่น ไมยราบยักษ์ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพิษรุนแรงกับวัชพืชพวกวงศ์หญ้าปีเดียว สารสามารถดูดซึมเข้าทางใบหรือส่วนที่มีสีเขียวอื่นๆ ภายหลังฉีดพ่นสารออกฤทธิ์จะเคลื่อนย้ายหรือถูกดูดซึมเข้าสู่ท่อลำเลียงอาหารไปยังส่วนต่างๆ ของต้นพืช แล้วทำลายจุดเจริญของพืชทั้งส่วนยอดและราก จัดเป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีปริมาณการใช้งานมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา บริษัทมอนซานโต้ถือสิทธิบัตรและผลิตจำหน่ายในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ในชื่อการค้า ราวด์อัพ (Roundup) ในปัจจุบันบริษัทมอนซานโต้ได้พัฒนาพืชที่ผ่านการตัดแต่งพันธุกรรมให้สามารถทนทานต่อไกลโฟเซตได้ เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ถั่วอัลฟัลฟา ข้าวฟ่าง คาโนลา ทำให้สามารถฉีดพ่นไกลโฟเซตเพื่อทำลายวัชพืชโดยไม่ทำลายพืชผล เพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการ ใช้ชื่อการค้าว่า พืชราวด์อั้พ เรดดี้ (Roundup Ready Trait) ทั้งนี้ สิทธิบัตรที่บริษัทมอนซานโตได้รับนั้น มีผลคุ้มครองถึงปี ค.ศ. 2000 ปัจจุบันผู้ผลิตรายอื่นจึงสามารถผลิตและจำหน่ายไกลโฟเซตในท้องตลาดได้ในชื่อทางการค้าต่าง ๆ กัน
          การใช้สารเคมีทางการเกษตรเหล่านี้ ผู้ใช้ต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของการป้องกันอันตรายจากสารเคมีทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการสวมถุงมือ ใส่หน้ากาก แต่งกายรัดกุม ฉีดพ่นเหนือลม ระวังไม่ให้สารเคมีเข้าตา จมูก และปาก ชำระล้างร่างกายให้สะอาดทุกครั้งหลังการใช้สารดังกล่าว ห้ามคนหรือสัตว์เข้าไปในบริเวณที่ใช้สารอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เป็นต้น ต้องใช้ตามวิธีและอัตราที่ระบุไว้ในฉลากเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมากที่ผู้ใช้จะต้องศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เช่นเดียวกับเจ้าของผลิตภัณฑ์จะต้องมีความรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตน ไม่แนะนำการใช้ที่ผิดไปจากฉลาก และให้ความรู้ ข้อเท็จจริงแก่เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรใช้สารเคมีทางการเกษตรถูกต้อง การห้ามใช้สารเคมีทางการเกษตรใดๆ อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ หากผู้เกี่ยวข้องเคร่งครัดต่อการใช้สารเคมีทางการเกษตรให้เป็นไปตามหลักวิชาการและมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง
          แต่....ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่

 ปริมาณการนำเข้าสารสำคัญของวัตถุอันตรายทางการเกษตร ปี 2557-2560 (หน่วย:ตัน)
ลำดับ
ประเภท
2557
2558
2559
     2560
1
สารกำจัดแมลง
5,987
5,385
6,840
8,390
2
สารป้องกันและกำจัดโรคพืช
6,682
7,040
7,958
12,029
3
สารกำจัดวัชพืช
64,429
64,445
67,456
79,391
4
สารกำจัดไร
736
665
603
608
5
สารกำจัดหนู
108
195
139
90
6
สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช
292
417
557
828
7
สารกำจัดหอยและหอยทาก
22
25
21
108
8
สารรมควันพิษ
851
830
804
674
9
สารกำจัดไส้เดือนฝอย
ns
ns
0
0
รวม
79,108
79,003
84,379
102,119
10
สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช
106
87
137
112
ที่มา  : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร (2561)
หมายเหตุ : ns ปริมาณน้อยมาก (ต่ำกว่า 10 กิโลกรัม)

(ขอบคุณ : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย ศ.ดร.รังสิต สุวรรณมรรคา คุณสุเทพ สหายา /ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า                                                                  สวัสดีปีใหม่……อังคณา
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ
บทความดังกล่าวเป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนมกราคม 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร