วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561

จิ้งหรีด แมลงกินอร่อย?

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ จิ้งหรีด
Cr: https://sites.google.com/site/adecs5901222020/5-khwam-hmay-seiyng-rxng-cinghrid

              หากจะพิจารณาพฤติกรรมฤดูฝนของประเทศไทย ช่วงเดือนกรกฎาคมจะเป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วงเป็นประจำ พอถึงเดือนดังกล่าวจะเริ่มมีข่าวการไถทิ้งของเกษตรกรออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนาข้าว ภาครัฐต้องไปให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ภาครัฐเองให้ข้อมูลโดยตลอดว่า ไม่ควรเริ่มปลูกข้าวช่วงต้นฝนในนาข้าวที่อาศัยน้ำฝน เพราะจะกระทบกับสภาพฝนทิ้งช่วง อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวก็ไม่จางหาย ยังเกิดขึ้นเป็นประจำแทบทุกปี สำหรับปีนี้ฝนฟ้ามาเร็วและทิ้งช่วงไปเร็วกว่าทุกปีเช่นกัน ปลายเดือนมิถุนายนเริ่มมีข่าวการไถทิ้งของเกษตรกรออกมากันแล้ว
          สิ่งที่มีมาพร้อมกับฤดูฝน คือ “แมลง” ไม่ว่าจะเป็นแมลงที่มีประโยชน์หรือแมลงที่เป็นศัตรูพืชและศัตรูสัตว์ สภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมส่งผลให้ฤดูฝนเป็นฤดูแห่งแมลงหลายชนิด มนุษย์เองก็รู้จักการใช้ประโยชน์จากแมลงเช่นกันทั้งใช้เป็นอาหารโดยตรง ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช หรือใช้เพื่อประโยชน์ในระบบนิเวศน์  แมลงบางชนิดมีการเลี้ยงอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีระบบการค้าขายที่ชัดเจนและก้าวหน้าถึงขั้นบรรจุกระป๋องส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เรื่องของแมลงจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจไม่น้อย
          “ฉีกซอง” ฉบับเดือนมิถุนายน ขอนำท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ “จิ้งหรีด” แมลงเศรษฐกิจมีมาตรฐาน เขาว่าเป็นแมลงกินอร่อย จริงเท็จอย่างไร โปรดติดตาม

แมลงกินได้ อาหารชาวโลก
            สำหรับเรื่องแมลงกินได้ใน FAO  เริ่มต้นเมื่อปี 2003 โดย FAO Forestry Department   เผยแพร่รายงานการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนในแถบแอฟริกากลาง ซึ่งมีเรื่องของการใช้ประโยชน์จากแมลงในการเป็นอาหารคนและเป็นอาหารสัตว์ทำให้เรื่องดังกล่าวได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ  และได้ทำการศึกษาข้อมูลจากทั่วโลกจนกระทั่งมีรายงานออกมา มุมมองของ FAO ต่อความสำคัญของประเด็นดังกล่าว เห็นว่าในอนาคตอันไม่ไกลนี้ประชากรโลกต้องประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนแหล่งโปรตีน ตลอดจนแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ถั่วเหลือง ปลาป่น และธัญพืช มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดการขาดแคลนอาหารสัตว์ตามมา และกระทบต่อปริมาณอาหารที่จะมาหล่อเลี้ยงประชากรโลกในที่สุด
คาดการณ์ว่าในปี 2030  จำนวนประชากรโลกจะมีมากกว่า 9 พันล้านคนที่ต้องการอาหารบริโภค  รวมทั้งสัตว์อีกกว่าพันล้านตัว ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางดิน มลพิษทางน้ำที่เกิดการของเสียในระบบการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบอุตสาหกรรม  การขาดแคลนทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น ขยายไปสู่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลกในที่สุด  จึงจำเป็นที่ต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ ๆ หนึ่งในนั้นคือ การบริโภคแมลง  ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Entomophagy” ทั้งนี้ FAO ไม่เพียงแต่ให้ความสำคัญต่อการนำแมลงจากธรรมชาติมาบริโภคและเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น  แต่รวมไปถึงการสนับสนุนให้มีการเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อใช้บริโภคไปพร้อมกัน ด้วยเห็นว่าแมลงมีลักษณะเหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงมาก ทั้งมีวงจรชีวิตสั้น สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสร้างผลเสียให้กับสิ่งแวดล้อมในตลอดช่วงอายุขัยไม่มากเท่าสัตว์ประเภทอื่น เรียกง่าย ๆ ว่าเกิดมาแล้วใช้ทรัพยากรโลกไม่เปลืองนั่นเอง
ความสำคัญของแมลงในทางการเกษตรมีหลายประการด้วยกัน ส่วนใหญ่แมลงมักจะถูกมองว่าเป็นศัตรูพืช  เนื่องจากเข้าทำลายพืชโดยตรงทั้งการกัดกิน เจาะชอนไช การดูดน้ำเลี้ยง เป็นต้น รวมถึงสามารถเป็นพาหะนำโรคมาสู่พืช ในทางที่เป็นประโยชน์สำหรับพืช แมลงบางชนิดเป็นตัวห้ำ (Predator) ซึ่งเป็นแมลงที่ทั้งระยะตัวอ่อนและตัวเต็มวัยกินแมลงที่เป็นเหยื่อ(Prey) ชนิดเดียวกันเป็นอาหาร บางชนิดเป็นตัวเบียน (Parasite)ซึ่งเป็นแมลงที่พัฒนาการเจริญเติบโตระยะไข่ ระยะตัวหนอนในแมลงอาศัย (Host)  และอาจจะเข้าดักแด้ภายในหรือภายนอกแมลงอาศัย ทำให้แมลงอาศัยตายในที่สุด  ตลอดจนแมลงบางชนิดช่วยในการผสมเกสรของพืช  ทำให้พืชหลายชนิดติดผลได้มากขึ้น
ในปัจจุบันประมาณการว่าประชากรโลกราว 2 พันล้านคนรู้จักและรับประทานแมลงมานาน เป็นวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้น ๆและมีแมลงกว่า 1,900 ชนิด (species)  ที่สามารถใช้เป็นอาหารได้  โดยจากการศึกษาพบว่า  แมลงที่รับประทานโดยทั่วไป ร้อยละ 31 คือ แมลงพวกด้วง (Coleoptera) ร้อยละ 18  คือ แมลงพวกผีเสื้อ (Lepidoptera) ร้อยละ 14 คือ พวกผึ้ง ต่อ แตน และมด (Hymenoptera) ร้อยละ 13 คือ กลุ่มของตั๊กแตน (Orthoptera) ร้อยละ 10 คือ กลุ่มของมวน (Hemiptera)  ร้อยละ 3 มีสองกลุ่ม คือ กลุ่มปลวก (Isoptera) และกลุ่มแมลงปอ (Odonata) ร้อยละ 2 คือ กลุ่มของแมลงวัน (Diptera) และอีกร้อยละ 5 เป็นกลุ่มอื่น ๆ
สำหรับคุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้จากแหล่งต่างๆ โดยคิดจากน้ำหนักสด 100 กรัม ซึ่งเป็นการคำนวณกลับจากน้ำหนักแห้ง 100 กรัม จากรายงานของ FAO ฉบับนี้ พบว่า พลังงานที่ได้จากแมลงอยู่ระหว่าง 891,272 กิโลแคลอรี ขึ้นกับชนิดของแมลง ยกตัวอย่างเช่น หนอนไหม ให้พลังงานประมาณ 94 กิโลแคลอรี/ น้ำหนักสด 100 กรัม แมลงดานา 165 กิโลแคลอรี / น้ำหนักสด 100 กรัม จิ้งหรีด  120 กิโลแคลอรี / น้ำหนักสด 100 กรัม   ตั๊กแตนข้าว 149 กิโลแคลอรี / น้ำหนักสด 100 กรัม   ตั๊กแตนปาทังก้า  89 กิโลแคลอรี/น้ำหนักสด 100 กรัม มดเขียว 1,272 กิโลแคลอรี / น้ำหนักสด 100 กรัม เป็นต้น
 จากที่กล่าวมาข้างต้น  แมลงสามารถใช้เป็นแหล่งโปรตีนทดแทนโปรตีนจากแหล่งอื่นได้    โดยการศึกษาของ Xiaoming และคณะ  เมื่อปี 2010 ในรายงานของ FAO   ได้วิเคราะห์หาปริมาณโปรตีนของแมลงในอันดับ (Order) ต่าง ๆ   โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักแห้ง ดังนี้ อันดับ Coleoptera  ในระยะตัวเต็มวัยและตัวอ่อน    มีปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่าง 23 - 66 เปอร์เซ็นต์ อันดับ Lepidoptera ในระยะดักแด้และตัวอ่อน มีปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่าง 14 - 68 เปอร์เซ็นต์   อันดับ Hemiptera ในระยะเต็มวัยและตัวอ่อน  มีปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่าง 42 - 74 เปอร์เซ็นต์  อันดับ Homoptera ในระยะตัวเต็มวัย ระยะตัวอ่อน และระยะไข่ มีปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่าง 45 - 57 เปอร์เซ็นต์    อันดับ Hymenoptera  ทุกระยะการเจริญเติบโต ให้ปริมาณโปรตีนระหว่าง 13 - 77 เปอร์เซ็นต์ อันดับ Odonata ในตัวเต็มวัยและตัวอ่อน มีโปรตีน 46 - 65 เปอร์เซ็นต์และอันดับOrthoptera ในระยะตัวเต็มวัยและตัวอ่อน มีโปรตีนระหว่าง 23 - 65 เปอร์เซ็นต์
          เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับแหล่งโปรตีนแหล่งอื่น เช่น เนื้อวัว มีโปรตีนระหว่าง 19 - 26 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด และเนื้อปลา มีโปรตีนระหว่าง 18 - 28 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด ในหน่วยวัดเดียวกัน พบว่า จิ้งหรีด มีโปรตีนระหว่าง 8 - 25 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด ตัวไหมมีโปรตีนระหว่าง 10 -  17 กรัม/100 กรัมของน้ำหนักสด  ซึ่งใกล้เคียงกับแหล่งโปรตีนที่ทุกท่านคุ้นเคยเป็นอย่างดี นอกจากนี้ แมลงยังเป็นแหล่งของกรดไขมัน ธาตุอาหารรอง รวมทั้งแหล่งของวิตามินเกลือแร่ได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโพแทสเซียม โซเดียม และฟอสฟอรัส แมลงจึงเป็นแหล่งโปรตีนที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ แมลงกินได้
Cr : http://www.ipyosc.com


จิ้งหรีด แมลงเศรษฐกิจ
จิ้งหรีด (Cricket) จัดเป็นแมลงที่เป็นศัตรูพืชชนิดหนึ่ง แต่ก็มีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ในแง่ของการเป็นสัตว์เลี้ยงมาอย่างยาวนาน ในหลายวัฒนธรรมและหลายประเทศ มีการเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อฟังเสียงร้องและเลี้ยงไว้สำหรับการกัดกัน โดยถือว่าเป็นแมลงจำพวกหนึ่งที่สามารถนำมาต่อสู้กันได้อย่างด้วงกว่าง อีกทั้งยังปรากฏในนิทานอีสปในเรื่อง มดกับจิ้งหรีด อีกด้วย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจิ้งหรีดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
จิ้งหรีดเป็นแมลงที่อยู่ในวงศ์ Gryllidae สามารถแบ่งออกได้เป็นวงศ์ย่อยต่าง ๆ อีกหลายวงศ์ย่อย นับว่าเป็นแมลงที่มีขนาดลำตัวปานกลางเมื่อเทียบกับแมลงโดยทั่วไป มีปีก 2 คู่ คู่หน้าเนื้อปีกหนากว่าคู่หลัง ปีกเมื่อพับจะหักเป็นมุมที่ด้านข้างของลำตัว ปีกคู่หลังบางพับได้แบบพัดสอดเข้าไปอยู่ใต้ปีกคู่หน้า ปากเป็นชนิดกัดกิน หัวกับอกมีขนาดกว้างไล่เลี่ยกัน ขาคู่หลังใหญ่และแข็งแรงใช้สำหรับกระโดด ตัวผู้มีอวัยวะพิเศษสำหรับทำเสียงเป็นฟันเล็ก ๆ อยู่ตามเส้นปีกบริเวณกลางปีก ใช้กรีดกับแผ่นทำเสียงที่อยู่บริเวณท้องปีกของปีกอีกข้างหนึ่ง อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่เป็นที่รู้จักกันดีของจิ้งหรีด ขณะที่ตัวเมียจะไม่สามารถทำเสียงดังนั้นได้ และจะมีอวัยวะสำหรับใช้วางไข่เป็นท่อยาว ๆ บริเวณก้นคล้ายเข็ม เห็นได้ชัดเจน
จิ้งหรีดสามารถพบได้ในทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตร้อนชื้น พบแล้วประมาณ 900 ชนิด สำหรับในประเทศไทย พบจิ้งหรีดได้ทั่วทุกภูมิภาค ชนิดของจิ้งหรีดที่พบ ได้แก่ จิ้งหรีดทองดำ (Gryllus bimaculatus), จิ้งหรีดทองแดง (G. testaceus), จิ้งโกร่ง หรือ จิ้งกุ่ง (Brachytrupes portentosus) เป็นต้น เป็นแมลงที่กัดกินพืชชนิดต่าง ๆ เป็นอาหาร สามารถกินได้หลายชนิด มักออกหากินในเวลากลางคืน และจะอาศัยโดยการขุดรูอยู่ในดินหรือทราย ในที่ ๆ เป็นพุ่มหญ้า แต่ก็มีจิ้งหรีดบางจำพวกเหมือนกันที่อาศัยบนต้นไม้เป็นหลัก
จิ้งหรีดเป็นแมลงที่มีวงจรชีวิตแบบไม่ต้องผ่านการเป็นหนอนหรือดักแด้ ตัวอ่อนที่เกิดมาจะเหมือนตัวเต็มวัย เพียงแต่ยังไม่มีปีก และมีสีที่อ่อนกว่า ต้องผ่านการลอกคราบเสียก่อน จึงจะมีปีกและทำเสียงได้ จิ้งหรีดจะผสมพันธุ์เมื่อเป็นตัวเต็มวัย การผสมพันธุ์และวางไข่แต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 15 วันต่อครั้ง ในแต่ละรุ่น เมื่อหมดการวางไข่รุ่นสุดท้ายแล้วตัวเมียก็จะตาย โดยตัวผู้จะทำเสียงโดยยกปีกคู่หน้าถูกันให้เกิดเสียง เพื่อเรียกตัวเมีย จังหวะเสียงจะดังเมื่อตัวเมียเข้ามาหา บริเวณที่ตัวผู้อยู่ ตัวผู้จะเดินไปรอบ ๆ ตัวเมียประมาณ 2-3 รอบ ช่วงนี้จังหวะเสียงจะเบาลง แล้วตัวเมียจะขึ้นคร่อมตัวผู้ จากนั้นตัวผู้จะยื่นอวัยวะเพศแทงไปที่อวัยวะเพศตัวเมีย หลังจากนั้นประมาณ 14 นาที ถุงน้ำเชื้อก็จะฝ่อลง แล้วตัวเมียจะใช้ขาเขี่ยถุงน้ำเชื้อทิ้งไป เมื่อไข่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ตัวเมียใช้อวัยวะวางไข่ที่แทงลงในดินที่มีลักษณะเรียวยาวคล้ายเมล็ดข้าวสาร ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็จะฟักออกเป็นตัวอ่อน จิ้งหรีดตัวเมียสามารถวางไข่ได้ตั้งแต่ 600-1,000 ฟอง ซึ่งจะวางไข่เป็นรุ่น ๆ ได้ประมาณ 4 รุ่น โดยที่จิ้งหรีดสามารถจับจำหน่ายได้เมื่ออายุประมาณ 35 วัน ขึ้นไป
ปัจจุบันในประเทศไทยนิยมใช้เพื่อการบริโภคเป็นอาหารและใช้เป็นอาหารสัตว์ รวมทั้งมีการนำจิ้งหรีดมาแปรรูปเป็นอาหารขบเคี้ยวอื่นๆ ด้วย จึงมีการส่งเสริมให้เลี้ยงจิ้งหรีดในฐานะเป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยนิยมเลี้ยงกันในบ่อปูนซีเมนต์วงกลม เป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่และปริมาณน้ำน้อยในการเลี้ยง พบว่ามีเกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพราว 20,000 ครัวเรือน ปีหนึ่งๆ สามารถเลี้ยงได้ประมาณ 6-7 รุ่น จำนวนบ่อประมาณ 220,000 บ่อ ผลตอบแทนสุทธิประมาณ 1,000 บาท/บ่อ ราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ที่กิโลกรัมละ 80-100 บาท ซึ่งมีการส่งออกไปขายยังสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีจากปี 2557 มูลค่ารวมประมาณ 1 แสนบาท เพิ่มเป็น 9 แสนบาทในปี 2560 แหล่งผลิตสำคัญกระจายอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือของไทย
ยกเครื่อง "จิ้งหรีด" โกอินเตอร์ หลังโกยเงินมูลค่ารวมปีละ 900 ล้านบาท
Cr :https://www.sanook.com/money/368997/

มาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด
          หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรป หรือ EC ได้ประกาศยอมรับกฎระเบียบฉบับใหม่เกี่ยวกับอาหารที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (Novel Food) โดยแมลงถูกกำหนดให้เป็น Novel Food ตามกฎระเบียบดังกล่าวด้วย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2560 ดังนั้น เพื่อให้สถานประกอบการสามารถนำเข้า Novel Food มายังสหภาพยุโรปได้ตามกฎระเบียบดังกล่าว และเป็นการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้เป็นการเลี้ยงที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เปิดโอกาสทางการตลาดให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จึงได้จัดทำมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มาตรฐานเลขที่ มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป โดยประกาศในราชกิจจานุเษกษา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560         มาตรฐานดังกล่าว ประกอบด้วยเกณฑ์กำหนด 5 รายการ ได้แก่ องค์ประกอบฟาร์ม การจัดการฟาร์ม สุขภาพสัตว์ สิ่งแวดล้อม และการบันทึกข้อมูล
          สำหรับองค์ประกอบฟาร์ม มี 3 ประเด็นย่อย คือ สถานที่ตั้ง ผังและลักษณะฟาร์ม และโรงเรือน โดยสถานที่ตั้ง ต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนอันตรายที่จะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของจิ้งหรีดและผู้บริโภค ผังและลักษณะฟาร์ม ต้องมีพื้นที่ขนาดเพียงพอและเหมาะสมในการเลี้ยงจิ้งหรีด ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของจิ้งหรีดและสิ่งแวดล้อม มีวัสดุล้อมรอบพื้นที่การเลี้ยงจิ้งหรีด มีการวางผังฟาร์มที่ดีและจัดพื้นที่เป็นสัดส่วนอย่างชัดเจนเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ เช่น บริเวณเลี้ยงจิ้งหรีด เก็บอาหาร เก็บอุปกรณ์ รวบรวมขยะและสิ่งปฏิกูล ที่พักอาศัย เป็นต้น ส่วนโรเรือน ต้องสร้างด้วยวัสดุที่คงทน แข็งแรง ง่ายต่อการทำความสะอาดและบำรุงรักษา มีการระบายอากาศที่ดีและไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคนและจิ้งหรีด สามารถป้องกันศัตรูจิ้งหรีดไม่ให้เข้ามาในโรงเรือนได้ บ่อเลี้ยงจิ้งหรีดต้องทำด้วยวัสดุแข็งแรง ทนทาน และง่ายต่อการบำรุงรักษาและทำความสะอาด
          ทางด้านการจัดการฟาร์ม  จะต้องมีคู่มือการปฏิบัติงานประจำฟาร์มที่แสดงรายละเอียดการปฏิบัติงานที่สำคัญภายในฟาร์ม ได้แก่ ระบบการเลี้ยง การจัดการอาหารและน้ำสำหรับจิ้งหรีด การทำความสะอาดและบำรุงรักษา การจัดการด้านสุขภาพจิ้งหรีด การจัดการด้างสิ่งแวดล้อมและแบบบันทึกข้อมูล  ส่วนการจัดการจิ้งหรีด  ต้องมีการคัดเลือกพันธุ์จิ้งหรีดที่มีคุณภาพ เตรียมบ่อเลี้ยง ใช้วัสดุซ่อนตัวที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดโรค ภาชนะและวัสดุที่ใช้รองไข่ สะอาด ไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อน และการจัดการเก็บจิ้งหรีดเพื่อจำหน่ายต้องไม่ปนเปื้อนเช่นกัน การจัดการอาหารและน้ำสำหรับจิ้งหรีด ต้องเป็นอาหารที่ไม่เสื่อมคุณภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของจิ้งหรีด แหล่งน้ำที่ใช้ในฟาร์มสะอาด ไม่ปนเปื้อนสิ่งที่เป็นอันตราย ใช้ภาชนะให้อาหารและน้ำที่สะอาด เหมาะสมกับจำนวนและอายุของจิ้งหรีด มีสถานที่เก็บอาหารที่ป้องกันการปนเปื้อนและการเสื่อมสภาพของอาหารได้ ด้านบุคลากร ต้องเป็นผู้ที่ความรู้และได้รับการฝึกอบรม หรือได้รับการถ่ายทอดความรู้เพื่อให้สามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนมีสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดีและต้องได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมไปถึงต้องมีการบำรุงรักษาโรงเรือนและอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพดี มีความปลอดภัยต่อจิ้งหรีดและผู้ปฏิบัติงาน ในขณะที่หากมีการใช้สารเคมี ยาฆ่าเชื้อ หรือวัตถุอันตรายจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์และใช้ตามคำแนะนำบนฉลากผลิตภัณฑ์
          ประเด็นด้านสุขภาพสัตว์ มี 2 ส่วนด้วยกัน คือ การป้องกันและควบคุมโรค กับการบำบัดโรคสัตว์  โดยการป้องกันและควบคุมโรค ต้องมีการป้องกันและฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ และบุคคลก่อนเข้า-ออกในฟาร์ม รวมถึงมีการจดบันทึกการผ่านเข้า-ออกฟาร์มของบุคคลภายนอกที่สามารถตรวจสอบได้ ส่วนการบำบัดโรคสัตว์ต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของสัตวแพทย์ โดยปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม และตามข้อกำหนดในมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. 9032 เรื่อง ข้อปฏิบัติการควบคุมการใช้ยาสัตว์
          สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม กำหนดให้มีการกำจัดหรือจัดการขยะมูลฝอย ของเสีย และมูลจิ้งหรีด ด้วยวิธีการที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรณีที่ปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะให้บำบัดให้ถูกต้องก่อนปล่อยออกสู่ภายนอกฟาร์ม ส่วนประเด็นด้านการบันทึกข้อมูล ซึ่งเป็นเกณฑ์กำหนดสุดท้าย ต้องมีการบันทึกข้อมูลผลการปฏิบัติงานในขั้นตอนที่สำคัญในการจัดการฟาร์มที่มีผลต่อสุขภาพ ผลผลิตและการควบคุมโรค ประกอบด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการด้านบุคลากร ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการด้านการผลิต เช่น ข้อมูลชนิด รุ่นการผลิต การจัดการฟาร์ม อาหาร ผลผลิต เป็นต้น ข้อมูลการควบคุมป้องกันและบำบัดโรค เช่น ข้อมูลการใช้ยา และสารเคมี โดยให้เก็บรักษาบันทึกเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี
          การกำหนดมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดขึ้นมารองรับการส่งออกจิ้งหรีดไปยังต่างประเทศ เป็นการเปิดช่องทางการตลาดของสินค้ากลุ่ม Novel Food ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ด้วยศักยภาพของจิ้งหรีดเอง รวมทั้งความสามารถของเกษตรกรไทยที่เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นอาชีพเสริมอยู่แล้ว เชื่อได้ว่าจะสามารถพัฒนาการเลี้ยงจิ้งหรีดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดให้เป็นที่ต้องการของตลาด สร้างความอยู่ดีกินดีให้กับเกษตรกรได้ในที่สุด
          ในที่สุด แม้แต่แมลงก็ต้องมีมาตรฐาน

(ขอบคุณ : องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมส่งเสริมการเกษตร วิกิพีเดีย/ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า                                                                               สวัสดี……อังคณา   
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(คำถามฉีกซอง กองบรรณาธิการผลิใบฯ กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ E-mail: ang.moac@gmail.com)         
          

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนมิถุนายน 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร

อัศจรรย์วันของผึ้ง

                                                Cr : http://www.mkgp.gov.si/en/world_bee_day_initiative                                                    
            เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่สำคัญของพี่น้องเกษตรกรผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ช่วงเดือนนี้เช่นกันที่กำหนดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ นับว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุด สำหรับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรของประเทศไทย ความร่มเย็น ความเชื่อมั่นต่อการทำการเกษตร ขวัญกำลังใจสำคัญของเกษตรกรที่จะเริ่มทำการเกษตรในฤดูการผลิตใหม่ เริ่มต้นจากพระราชพิธีสำคัญนี้
           ช่วงเดือนพฤษภาคมดังกล่าวเช่นกัน มีข่าวเล็กๆ ออกมาจากสำนักข่าวต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำนักข่าวในต่างประเทศ ว่าด้วยเรื่องราวของ “วันผึ้งโลก” (World Bee Day) เป็นวันอีกวันหนึ่งที่สหประชาชาติ หรือ UN ให้ความสำคัญ เรื่องราวของผึ้งเป็นอย่างไร โปรดติดตามใน “ฉีกซอง” ฉบับนี้

ผึ้ง-แมลงตัวนิด
             หากท่านผู้อ่านนึกถึงผึ้งที่เป็นแมลง สิ่งที่ตามมาในความคิดน่าจะเป็นน้ำผึ้งและบทบาทในการเป็นผู้ช่วยผสมเกสร มีรายงานหลายฉบับที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทดังกล่าว กล่าวคือ กว่าร้อยละ 70 ของพืชอาหารของมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยผึ้งในการผสมเกสรเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป ดังนั้นการไม่มีอยู่ของผึ้งจึงเป็นประเด็นที่น่าขบคิด
            ผึ้ง (Bee) เป็นแมลงสังคม (Social insect) ที่มีการแบ่งวรรณะสำหรับทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน จัดอยู่ใน Order  Hymenoptera  Family Apidae  Subfamily Apinae ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Apis spp. สำหรับผึ้งที่พบในประเทศไทยมีทั้งหมด 5 Species ประกอบด้วย A. dorsata (ผึ้งหลวง)  A. florae (ผึ้งมิ้ม) A. andreniformis (ผึ้งม้าม)  A. cerana (ผึ้งโพรง)  และ A. mellifera (ผึ้งพันธุ์)  
          ผึ้งหลวง เป็นผึ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนผึ้งทั้ง 5 ชนิด ลำตัวมีขนาดใหญ่ยาวรี สร้างรังขนาดใหญ่เป็นรังเดียว ขนาดอาจกว้างได้ถึง 2 เมตร มีลักษณะโค้งเป็นวงกลม พบสร้างตามโขดหิน ต้นไม้ใหญ่ เพดานบ้าน มุมตึก หรือที่โล่งแจ้งที่มีแสงแดดและการระบายอากาศดี บางครั้งอาจสร้างรังเป็นกลุ่มในต้นไม้ต้นเดียวกัน ผึ้งชนิดนี้เป็นผึ้งที่มีพฤติกรรมดุร้ายเมื่อถูกรบกวน เป็นผึ้งที่ไม่นำมาเลี้ยงและหายากกว่าผึ้งชนิดอื่น มีความสามารถในการบินออกหาอาหารจากรังเป็นระยะทางมากกว่า 15 กิโลเมตร
          ผึ้งมิ้ม เป็นผึ้งที่มีขนาดลำตัวและสร้างรังเล็กที่สุดที่สุด เส้นผ่าศูนย์กลางรังประมาณ 20 เซนติเมตรเท่านั้น บางทีจะเรียกสั้นๆว่า มิ้ม การสร้างรังจะสร้างเป็นรังเดี่ยว ตามพุ่มไม้หรือกิ่งไม้ที่ไม่สูงมาก มีพฤติกรรมในการย้ายรังเปลี่ยนที่อยู่บ่อย เมื่อขาดแคลนอาหาร
          ผึ้งม้าม เป็นผึ้งที่มีลักษณะขนาดลำตัว ขนาดรัง และนิสัยการสร้างรังคล้ายคลึงกับผึ้งนิ้มมาก แตกต่างกันเฉพาะลักษณะของเหล็กใน เส้นปีก และอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ ซึ่งแยกได้ยากมาก
          ผึ้งโพรง มีหลายสายพันธุ์ เช่น ผึ้งโพรงจีน ผึ้งโพรงญี่ปุ่น และผึ้งโพรงไทย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเรียกว่า เผิ่ง เป็นผึ้งที่มีขนาดลำตัวเล็กกว่าผึ้งพันธุ์และผึ้งหลวง แต่มีขนาดใหญ่กว่าผึ้งมิ้ม และผึ้งม้าม มักจะสร้างรังในพื้นที่ที่มิดชิด มืด เช่น ใต้หลังคา ใต้เพดานบ้าน ในโพรงหิน โพรงไม้ สร้างรังแบบหลายรังเรียงซ้อนขนานกัน รังมีขนาดประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นผึ้งที่นำมาเลี้ยงได้ สามารถผลิตน้ำผึ่งได้ประมาณ 30-50 กิโลกรัม/รัง/ปี แต่จะเลี้ยงพันธุ์ต่างประเทศเนื่องจากไม่หนีออกจากรังง่ายแม้ถูกรบกวน ซึ่งแตกต่างจากผึ้งโพรงพันธุ์ไทย

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
Cr :https://www.pinterest.com/pin/39054721754117954/

           ผึ้งพันธุ์ ขนาดลำตัวของผึ้งพันธุ์จะใหญ่กว่าผึ้งโพรง แต่เล็กกว่าผึ้งหลวง เป็นผึ้งที่นิยมนำมาเลี้ยงมากที่สุด มีถิ่นกำเนิดมาจากแอฟริกาและยุโรป มักเรียกในหมู่คนเลี้ยงผึ้งว่า ผึ้งฝรั่ง หรือ ผึ้งอิตาเลียน พันธุ์ที่นิยมมี 4 พันธุ์ ดังนี้
             (1) ผึ้งพันธุ์อิตาเลี่ยน (A. mellifera ligustica Spin) เป็นผึ้งที่มีลำตัวสีเหลือง อวบอ้วน ใหญ่กว่าผึ้งโพรงไทย ช่วงท้องเรียวและมีแถบสีเหลืองหรือสีทอง มีขนบนลำตัวสีทอง โดยเฉพาะในตัวผู้จะมีสีทองเด่นชัดกว่าตัวเมีย นับว่าเป็นผึ้งนิสัยดี เชื่อง เลี้ยงง่าย ไม่ดุร้าย ให้ผลผลิตสูง แต่ใช้น้ำผึ้งเลี้ยงตัวอ่อนมากกว่าพันธุ์สีดำ เป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันทั่วโลก และเรียกชื่อหลากหลายตามถิ่นที่มีการปรับปรุง เช่น พันธุ์อเมริกัน พันธุ์ไต้หวัน พันธุ์ญี่ปุ่น และพันธุ์ออสเตรเลีย เป็นต้น
            (2) ผึ้งพันธุ์คาร์นิโอลาน (A. mellifera carnica Pollman) ผึ้งพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดที่เมืองคาร์นิโอลาน ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย และทางเหนือคาบสมุทรบอลข่าน แถบยูโกสลาเวีย ตลอดจนตามบริเวณฝั่งแม่น้ำดานูบที่ไหลผ่าน ฮังการี่ รูมาเนีย บัลแกเรีย ผึ้งพันธุ์นี้เชื่องกว่าผึ้งพันธุ์อิตาเลี่ยน ไม่ตื่นตกใจง่าย เพิ่มจำนวนประชากรได้ดี ไม่ค่อยแบ่งแยกรัง ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี นับว่าเป็นผึ้งที่ค่อยข้างเลี้ยงง่าย ไม่ชอบเข้าไปแย่งน้ำผึ้งจากรังอื่น ลำตัวค่อนข้างเล็กเพรียว สีน้ำตาลขนที่ปกคลุมมักสั้น ส่วนหลังช่วงท้องผึ้งงานมีจุดน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอ่อน ผึ้งตัวผู้มีขนสีเทาและเทาปนน้ำตาล
           (3) ผึ้งพันธุ์คอเคเซี่ยน (A. mellifera caucasica Gorb) มีถิ่นกำเนิดแถบเทือกเขาคอเคเชี่ยนในรัสเซีย ผึ้งงานมีจุดสีน้ำตาลกระจายอยู่บนส่วนหลังของช่วงท้องปล้องแรก มีจุดน้ำตาลเข้มหรือสีน้ำตาล ขนสีเทาปนน้ำตาล ตัวผู้มีขนที่อกสีดำ เป็นผึ้งที่เชื่องมากไม่ตกใจง่าย ขยันสร้างรัง ชอบเก็บสะสมยางเหนียวมากกว่าผึ้งอื่น ๆ ทำให้เหนียวเหนอะหนะยากต่อการยกคอนออกมาตรวจดู และชอบเข้าไปแย่งน้ำผึ้งจากรังอื่น
         (4) ผึ้งพันธุ์สีดำ (A. mellifera mellifera L.) มีถิ่นกำเนิดในตอนเหนือของยุโรป และทางตะวันตกของเทือกเขาแอลป์กับรัสเซียตอนกลาง ลำตัวมีสีดำ มีจุดสีเหลืองอยู่ทางด้านหลังของช่วงท้องปล้องที่ 2, 3 ไม่มีแถบสีเหลือง บั้นท้ายของช่วงท้องของผึ้งงานมีขนยาวปกคลุมอยู่บนหลัง ตัวผู้มีขนสีน้ำตาลเข้มปกคลุมอยู่ตามส่วนอก บางทีเห็นเป็นสีดำ มีลิ้นสั้นเพียง 5.7 - 6.4 มิลลิเมตร เป็นผึ้งที่ทนทานต่อสภาพอากาศหนาว และแห้งแล้ง ให้ผลผลิตปานกลาง ไม่ดุร้าย แต่เพิ่มประชากรได้ช้า

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ world bee day

           ปัจจุบันการนำผึ้งพันธุ์มาเลี้ยงในประเทศไทยหลาย ๆ พันธุ์ทำให้เกิดการผสมข้ามพันธุ์ เช่น ผึ้งพันธุ์สีเหลือง ผสมกับพันธุ์สีดำ ผึ้งพันธุ์สีดำผสมกับพันธุ์สีน้ำตาล ลูกผสมจึงมีรูปร่าง สีสัน ลักษณะนิสัยแตกต่างกันออกไป และเป็นลูกผสมมีหลาย ๆ ชื่อออกไป เพื่อให้ได้ผึ้งพันธุ์ที่มีลักษณะรูปร่างอวบอ้วนมากขึ้น ไม่ตื่นตกใจง่าย ให้ผลผลิตสูง มีความต้านทานโรคและทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ
             ในภาพรวม ส่วนหัวของผึ้ง ประกอบด้วยอวัยวะรับความรู้สึกต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ ตารวม มีอยู่ 2 ตา ประกอบด้วยดวงตาเล็ก ๆ เป็นรูปหกเหลี่ยมหลายพันตา รวมกัน เชื่อติดต่อกันเป็นแผง ทำให้ผึ้งสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้รอบทิศ และมีตาเดี่ยว อยู่ด้านบนส่วนหัว ระหว่างตารวมสองข้าง เป็นจุดเล็ก ๆ 3 จุด อยู่ ห่างกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งตาเดี่ยวนี้จะเป็นส่วนที่รับรู้ในเรื่องของความเข้มของแสง ทำให้ผึ้งสามารถแยกสีต่าง ๆ ของสิ่งของที่เห็นได้ พบว่าผึ้งสามารถเห็นสีได้ 4 สี คือ สีอัลตราไวโอเลต สีฟ้า สีฟ้าปนเขียว และสีเหลือง ส่วนช่วงแสงที่มากกว่า 700 มิลลิไมครอน ผึ้งจะมองเห็นเป็นสีดำ สำหรับหนวดประกอบข้อต่อและปล้องหนวดขนาดเท่า ๆ กันจำนวน 10 ปล้อง ประกอบเป็นเส้นหนวด ซึ่งจะทำหน้าที่รับความรู้สึกที่ไวมาก
             สำหรับส่วนอก แบ่งเป็นปล้อง 4 ปล้อง ส่วนด้านล่างของอกปล้องแรกมีขาคู่หน้า อกปล้องกลางมีขาคู่กลางและด้านบนปล้องมีปีกคู่หน้าซึ่งมีขนาดใหญ่หนึ่งคู่ ส่วนล่างของอกปล้องที่ 3 มีขาคู่ที่สาม ซึ่งขาหลังของผึ้งงานนี้จะมีตระกร้อเก็บละอองเกสรดอกไม้ และด้านบนจะมีปีกคู่หลังอยู่หนึ่งคู่ที่เล็กกว่าปีกหน้า ในส่วนท้องของผึ้งงานและผึ้งนางพญาจะเห็นภายนอกเพียง 6 ปล้อง ส่วนปล้องที่ 8-10 จะหุบเข้าไปแทรกตัวรวมกันอยู่ในปล้องที่ 7 ส่วนผึ้งตัวผู้จะเห็น 7 ปล้อง สำหรับอวัยวะภายในของผึ้ง จะมีระบบต่าง ๆ เช่น ระบบย่อยอาหาร ซึ่งมีกระเพาะพักย่อยน้ำหวานให้เป็นน้ำผึ้ง ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบหายใจเป็นลักษณะแบบรูหายใจมีอยู่ 10 คู่ ระบบประสาทและรับความรู้สึกต่าง ๆ ระบบสืบพันธุ์ ในผึ้งงานจะไม่เจริญสมบูรณ์ แต่จะเจริญสมบูรณ์ในผึ้งนางพญา ส่วนผึ้งตัวผู้จะมีอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สมบูรณ์
Image may contain: plant, flower, sky, outdoor and nature
           cr : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จันทบุรี

         ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วว่าผึ้งเป็นแมลงสังคม ดังนั้นจึงมีการแบ่งวรรณะของผึ้งออกเป็น 3 วรรณะ คือ ผึ้งนางพญา (Queen) ผึ้งตัวผู้ (Drone) และ ผึ้งงาน (Worker)
            ผึ้งนางพญา เป็นผึ้งที่มีลำตัวใหญ่ที่สุด มีอายุขัยมากกว่า 1 ปี อาจได้มากถึง 7 ปี สามารถแยกออกจากผึ้งตัวผู้ และผึ้งงานได้โดยง่าย เพราะผึ้งนางพญาจะมีขนาดใหญ่ และมีลำตัวยาวกว่าผึ้งตัวผู้และผึ้งงาน ปีกของผึ้งนางพญาจะมีขนาดสั้น เมื่อเทียบกับความยาวของลำตัว เนื่องจากส่วนท้องของผึ้งนางพญาจะค่อนข้างเรียวยาว ดูแล้วมีลักษณะคล้ายกับตัวต่อ ผึ้งนางพญาจะมีเหล็กไน ซึ่งมีไว้สำหรับต่อสู้กับนางพญาตัวอื่นเท่านั้น ไม่เหมือนผึ้งงานที่ใช้เหล็กไนไว้ทำร้ายศัตรู การเคลื่อนไหวของผึ้งนางพญาค่อนข้างเชื่องช้า แต่สุขุมรอบคอบ แต่ถ้าจำเป็นก็พบว่านางพญาสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วเช่นกัน ในรังผึ้งนางพญาที่ถูกผสมพันธุ์แล้วเรามักจะพบอยู่บริเวณรวงผึ้งที่มีตัวอ่อนอยู่ภายในหลอดรวง นางพญาจะถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน โดยผึ้งงานจะใช้หนวดแตะหรือใช้ลิ้นเลียตามตัวผึ้งนางพญา ผึ้งงานเหล่านี้ทำหน้าที่คอยให้อาหาร ทำความสะอาดและนำของเสียที่ผึ้งนางพญาขับถ่ายออกไปทิ้ง นอกจากนั้นผึ้งงานยังรับเอาสารที่ผึ้งนางพญาผลิตออกมา แล้วส่งต่อให้ผึ้งงานตัวอื่น ๆ หรือใช้ปีกกระพือให้กลิ่นของสารแพร่กระจายไปทั่วรังผึ้ง
             โดยทั่วไปใน 1 รังจะมีผึ้งนางพญา 1 ตัวเท่านั้น ยกเว้นบางรังที่มีขนาดใหญ่ อาจพบได้ 2-3 ตัว ในระยะเติบโต แต่เมื่อถึงวัยผสมพันธุ์ก็จะแยกออกเหลือเพียง 1 ตัว/รังเหมือนเดิม เมื่อโตเต็มวัยจะผสมพันธุ์กับตัวผู้ และจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิต ดังนั้นผึ้งนางพญาจะมีหน้าที่สำคัญ คือ ผสมพันธุ์ วางไข่ และ ควบคุมสังคมของผึ้งให้อยู่ในสภาพปกติ โดยการผลิตสารแพร่กระจาย ไปทั่วรังผึ้ง ผึ้งนางพญาจึงไม่มีการออกหาอาหาร ไม่มีตะกร้อเก็บเกสร (Pollen basket) และไม่มีต่อมผลิตไขผึ้ง สำหรับนางพญาพรหมจรรย์ (The Virgin Queen) เมื่อตัวอ่อนของผึ้งนางพญาโตเต็มที่แล้ว ผึ้งงานก็จะทำการปิดหลอดรวงด้วยไขผึ้ง ตัวอ่อนภายในก็จะเริ่มเข้าดักแด้ โดยจะถักเส้นไหมห่อหุ้มรอบตัวแล้วกลายเป็นดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด ผึ้งนางพญาที่โตเต็มที่แล้วจะกัดฝาหลอดรวงที่ปิดอยู่ออกมา ถ้าสภาพรังผึ้งขณะนั้น ผึ้งเตรียมตัวจะแยกรัง (Swarming) ผึ้งงานจะคอยป้องกันผึ้งนางพญาตัวใหม่ไม่ให้ผึ้งนางพญาตัวเก่ามาทำร้าย เมื่อผึ้งนางพญาตัวเก่าแยกรังออกไปแล้ว ผึ้งนางพญาตัวใหม่ก็จะออกผสมพันธุ์เป็นนางพญาประจำรังนั้นต่อไป
               ลักษณะการผสมพันธุ์ (Mating) เมื่อผึ้งนางพญามีอายุได้ 3-5 วัน ก็จะเริ่มออกบินเพื่อผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์ของผึ้งจะเกิดขึ้นเฉพาะในกลางอากาศเท่านั้น โดยในวันที่อากาศดี ๆ ท้องฟ้าแจ่มใส ผึ้งนางพญาจะบินออกจากรัง เมื่อผึ้งตัวผู้ได้รับกลิ่นของผึ้งนางพญาก็จะพากันบินติดตามไปเป็นกลุ่ม ผึ้งตัวผู้จะเป็นผึ้งที่มาจากรังผึ้งในบริเวณนั้น การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นในระยะความสูงตั้งแต่ 50-100 ฟุต ถ้าต่ำหรือสูงกว่านี้จะไม่มีการผสมพันธุ์ ผึ้งนางพญาตัวหนึ่งจะผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้ครั้งหนึ่งประมาณ 7-10 ตัว หรือบางทีอาจถึง 20 ตัว ระยะเวลาในการผสมพันธุ์ประมาณ 10-30 นาที โดยที่ผึ้งนางพญา จะมีถุงสำหรับเก็บน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ (Sperm) ไว้ได้ตลอดอายุของผึ้งนางพญา โดยไม่ต้องมีการผสมพันธุ์อีกเลย
            เมื่อผึ้งนางพญาบินกลับมาจากการผสมพันธุ์ ผึ้งงานก็จะเข้ามาช่วยทำความสะอาด และดึงเอาอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ที่ติดมาออกทิ้งไป หลังจากผสมพันธุ์แล้วส่วนท้องของผึ้งนางพญาจะขยายใหญ่ขึ้นภายใน 2-4 วัน ผึ้งนางพญาก็จะเริ่มวางไข่ โดยมุดหัวเข้าไปแล้วกางขาคู่หน้าออกวัดขนาดของหลอดรวง เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรจะวางไข่ชนิดไหน แล้วจะถอนกลับออกมา หย่อนส่วนท้องลงไปวางไข่ที่ก้นหลอดรวงนั้น ถ้าหลอดรวงที่วัดได้มีขนาดเล็ก (ประมาณ 0.5 มิลลิเมตร) ผึ้งนางพญาจะวางไข่ของผึ้งงาน คือ ไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ มีโครโมโซม 2 n ถ้าหลอดรวงที่วัดได้มีขนาดใหญ่ (ประมาณ 0.7-0.8 มิลลิเมตร) ผึ้งนางพญาจะวางไข่ของผึ้งตัวผู้ คือ ไข่ที่มีการผสมกับน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ มีโครโมโซม n เดียว
               ผึ้งนางพญาจะวางไข่ติดต่อกันในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉลี่ยประมาณ 1,200 ฟองต่อวัน หรือบางตัวอาจถึง 2,000 ฟองต่อวัน ซึ่งคิดแล้วน้ำหนักของไข่ที่วางต่อวันนี้หนักเป็น 1-2 เท่าของน้ำหนักตัวของผึ้งนางพญาปริมาณการวางไข่ของผึ้งนางพญา ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าในเขตร้อนผึ้งนางพญาสามารถวางไข่ได้ตลอดปี ตัวอ่อนของผึ้งจะเจริญได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 32-35 องศาเซลเซียส ผึ้งจะรักษาอุณหภูมิภายในรังให้คงที่อยู่ตลอดเวลา
              ผึ้งตัวผู้ (Drone) เป็นผึ้งที่เจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม มีขนาดใหญ่และตัวอ้วนกว่าผึ้งนางพญาและผึ้งงาน แต่จะมีความยาวน้อยกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้จะไม่มีเหล็กไน ลิ้นจะสั้นมาก มีไว้สำหรับคอยรับอาหารจากผึ้งงาน หรือดูดกินน้ำหวานจากที่เก็บไว้ในรวงเท่านั้น ไม่มีการออกไปหาอาหารกินเองภายนอกรัง จึงไม่มีที่เก็บละอองเกสร เป็นที่ทราบกันดีว่าผึ้งตัวผู้มีหน้าที่อย่างเดียวภายในรัง คือ ผสมพันธุ์ โดยผึ้งตัวผู้จะไม่ทำงานอะไรทั้งสิ้นภายในรัง ปริมาณของผึ้งตัวผู้ภายในรังไม่แน่นอน อาจมีได้ตั้งแต่ศูนย์ถึงหลายพันตัวขึ้นกับฤดูกาล เมื่อตัวอ่อนของผึ้งตัวผู้โตเต็มที่ ผึ้งงานก็จะมาปิดฝาหลอดรวงด้วยไขผึ้ง ผึ้งตัวผู้จะเข้าดักแด้อยู่ภายใน เมื่อครบกำหนดจะกัดไขผึ้งที่ปิดฝาออกมาเป็นตัวเต็มวัย อายุประมาณ 16 วัน ก็พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ อายุขัยรวมประมาณ 4-6 สัปดาห์
           ในการผสมพันธุ์พบว่า ผึ้งตัวผู้จากรังผึ้งต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันจะบินออกจากรังไปรวมกลุ่มกัน ณ สถานที่ซึ่งเรียกว่า ที่รวมกลุ่มของผึ้งตัวผู้ (Drone Congregation Area) ในวันที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นภายในบริเวณนี้ คือเมื่อมีผึ้งนางพญาสาวบินเข้ามาในบริเวณนี้ ผึ้งตัวผู้เป็นกลุ่มก็จะบินติดตามไปเพื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้แต่ละตัวใช้เวลาประมาณ 3-5 วินาที ในการผสมพันธุ์โดยเริ่มตั้งแต่ผึ้งตัวผู้บินติดตามนางพญาได้ทัน ก็จะใช้ขาเกาะติดกับนางพญาทางด้านหลัง แล้วก็จะออกแรงดันให้อวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งนางพญาแล้วผึ้งตัวผู้นั้นก็จะตกลงมาตาย โดยที่อวัยวะสืบพันธุ์ยังหลุดติดคาอยู่ที่ผึ้งนางพญา ถ้าตัวผู้ตัวไหนยังไม่ได้ผสมพันธุ์ในวันนั้นจะบินกลับรัง เพื่อรอโอกาสในวันต่อไป ถ้าหมดฤดูผสมพันธุ์ ผึ้งตัวผู้ที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ก็มักจะถูกไล่ออกจากรัง หรือผึ้งงานจะหยุดป้อนอาหารและตายไปในที่สุด
            วรรณะสุดท้าย คือ ผึ้งงาน เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุดภายในรังผึ้ง แต่มีปริมาณมากที่สุด ผึ้งงานถือ กำเนิดมาจากไข่ที่ได้รับการผสมกับเชื้อตัวผู้ (Fertilized egg) ผึ้งงานเป็นเพศเมีย เช่นเดียวกับผึ้งนางพญา แต่เป็นเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์ คือส่วนของรังไข่จะมีขนาดเล็กไม่สามารถสร้างไข่ได้ ยกเว้นในกรณีที่รังผึ้งรังนี้เกิดขาดนางพญาขึ้นมาก็พบว่าอาจมีผึ้งงานบางตัวสามารถวางไข่ได้ (Laying Worker) แต่ไข่ที่วางจะเป็นไข่ที่เป็นผึ้งตัวผู้ ทั้งนี้ผึ้งงานมีอวัยวะพิเศษหลายอย่าง เพื่อที่จะปฏิบัติงานสำคัญ ๆ ภายในรังไข่ เช่น มีต่อมไขผึ้ง ตะกร้อเก็บเกสร ต่อมกลิ่น  โดยปัจจัยที่ควบคุมการทำงานของผึ้งงานนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ ความพร้อมทางด้านการพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย คือ ผึ้งจะปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้นั้นขึ้นกับอายุของตัวเต็มวัยของผึ้งงาน โดยผึ้งงานอายุ 1 – 3 วันจะทำหน้าที่ทำความสะอาดรัง เมื่ออายุ 4 – 11 วันทำหน้าที่ให้อาหารตัวอ่อน โดยต่อมพี่เลี้ยง (Nurse Gland) ทำงาน เมื่ออายุ 12 – 17 วัน ทำหน้าที่สร้างและซ่อมแซมรวง โดยต่อมผลิตไขผึ้ง (Wax Gland) ทำงาน ต่อมาอายุ 18 – 21 วัน ทำหน้าที่ป้องกันรัง ต่อมพิษ (Poison Gland) ทำงาน และอายุ 22 วัน – ตาย ทำหน้าที่หาอาหาร ยางไม้และน้ำ ต่อมน้ำลาย (Salivary Gland) และ ต่อมกลิ่น (Scent Gland) ทำงาน อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ความต้องการของสังคมผึ้งในขณะนั้น ยามที่สังคมผึ้งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้มีผึ้งจำนวนมากร่วมปฏิบัติภารกิจบางอย่างด้วยกัน การทำงานของผึ้งงานแต่ละตัวก็อาจข้ามหรือถอยหลังจากกำหนดการทำงานปกติตามความพร้อมของร่างกายก็ได้ เช่น ถ้ารวงผึ้งเกิดความเสียหาย หรือจำเป็นต้องเสริมสร้างรวงเพิ่มเติม ผึ้งงานที่อายุมาก ๆ ก็จะไปกินน้ำหวานเป็นปริมาณมาก ซึ่งจะมีผลไปกระตุ้นให้ต่อมผลิตไขผึ้งที่ฝ่อไป แล้วเจริญขึ้นมาสามารถผลิตไขผึ้งได้


ผึ้ง น้อยนิดมหาศาล
              ความสำคัญของผึ้งที่มีต่อระบบนิเวศน์ ในบทบาทของแมลงที่ช่วยผสมเกสรให้กับพืชเป็นประเด็นที่สำคัญมาก โดยผึ้งมีเส้นประสาทรับความรู้สึกและรับสัมผัสที่เชื่อมกับขนบริเวณลำตัวสำหรับรับสัมผัสกับแรงลม และกลิ่นอาหาร รวมถึงรับรู้แรงดึงดูดของโลก ทำให้ทราบระดับความสูง-ต่ำ ขณะบินได้ การบินของผึ้งจะบินในทิศทางทวนลม เริ่มออกหาอาหารในช่วงเช้าหลังพระอาทิตย์ขึ้น สำหรับการสร้างรังใหม่ ผึ้งจะออกสำรวจแหล่งอาหาร และระยะทางก่อน แล้วค่อยสื่อสารให้กับผึ้งตัวอื่น ผ่านการเต้นรำ  2 แบบ คือ  Round dance เป็นการเต้นแบบวงกลม ด้วยการบินวนขวาก่อน แล้วจึงหมุนบินทางซ้ายมือ และทำซ้ำๆ อย่างรวดเร็ว เป็นสื่อสารบอกแหล่งอาหารใหม่ โดยทั่วไปมีระยะทางไม่เกิน 100 หลา และ Tail-Wagging dance มีลักษณะบินตรงไปข้างหน้าในระยะสั้นๆ พร้อมกับขยับส่วนท้องไปมาอย่างรวดเร็ว แล้วบินหมุนเป็นวงกลม ก่อนบินไปข้างหน้าอีกครั้ง จากนั้นจะบินเป็นวงเหมือนกับครั้งแรก แต่ในทิศตรงกันข้ามกัน แล้วค่อยบินตรงไปข้างหน้าอีกครั้ง การบินลักษณะนี้จะสื่อสารให้ทราบว่าแหล่งอาหารอยู่ห่างจากรังมากกว่า 100 หลา โดยจะเต้นช้าลงเมื่อแหล่งอาหารอยู่ไกล เช่น ถ้าเต้น 2 รอบใน 15 วินาที แสดงว่าแหล่งอาหารอยู่ไกลราว 6 กิโลเมตร แต่ถ้าเต้น 7 รอบใน 15 วินาที แสดงว่าแหล่งอาหารอยู่ในระยะประมาณ 600 หลา เป็นต้น
ผึ้งสามารถรับรู้ความสูงต่ำของต้นพืชจากระดับการบิน และจำแนกอายุของดอกไม้ได้ การเคลื่อนย้ายของผึ้งจากดอกหนึ่งไปยังอีกดอกหนึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ในทิศทางที่เป็นเส้นตรงเพื่อที่จะไม่ลงดอกเดิมซ้ำอีก
           ในแต่ละเที่ยวผึ้งจะเลือกเก็บน้ำหวานจากพืชเพียงชนิดเดียว โดยผึ้งจะลงเก็บน้ำหวานสองครั้งจากดอกไม้ดอกเดียว แต่มักพบว่าก้อนเกสรที่ผึ้งเก็บมานั้นจะมีเกสรของพืชหลายชนิดปนอยู่ แต่จะมีพืชอาหารหลักชนิดใดชนิดหนึ่งมากทีสุด และมีเกสรจากพืชอื่นเพียง 2-4 ชนิดเท่านั้นที่ปะปนมา ผึ้งพันธุ์สามารถลงดอกได้มากกว่า 40 ดอกใน 1นาที ผึ้งหนึ่งตัวสามารถออกหาอาหารได้มากถึง 4 ล้านเที่ยว โดยเฉลี่ยแล้วสามารถลงดอกได้ 100 ดอก ด้วยการใช้ proboscis แทงเข้าไปในต่อมน้ำหวานของดอกไม้ ดูดน้ำหวานมาเก็บไว้ใน nectar sac ปริมาณเฉลี่ยของน้ำหวานที่ผึ้งเก็บไว้ในแต่ละเที่ยว ประมาณ 20-40 มิลลิกรัม หรือประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักตัวผึ้ง
No automatic alt text available.
   cr : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จันทบุรี
            สำหรับการเก็บเกสร ผึ้งจะใช้ tongue และ mandibles เจาะและกัดอับละอองเกสร ให้เกสรกระจายออกมาติดตามขน จากนั้นจะใช้ขาคู่กลางและขาคู่หน้ารวมเกสรผสมกับน้ำหวานสำหรับปั้นให้เป็นก้อน ก่อนที่จะนำไปเก็บไว้ที่ curbicula ของขาคู่หลัง ก้อนเกสรที่เก็บจะมีน้ำหวานประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ น้ำหนักก้อนเกสร ประมาณ 8-29 มิลลิกรัม ประมาณการได้ว่าก้อนเกสรน้ำหนัก 20 กิโลกรัม จะมีก้อนเกสรประมาณ 2 ล้านก้อน ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงต่อการเลี้ยงประชากรผึ้ง 1 รัง จำนวนครั้งในการบินออกหาอาหารของผึ้งพันธุ์อยู่ที่ 5-10 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่าขึ้นกับความต้องการอาหารของรังผึ้ง ซึ่งความเร็วในการบินของผึ้งที่น้ำหวานอยู่เต็มกระเพาะ และเกสรอยู่เต็มตะกร้าเกสร ประมาณ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผึ้งที่บินออกจากรังมีความเร็วในการบิน 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นกับกิจกรรมของผึ้งในเส้นทางการบินไปยังแหล่งอาหาร ผึ้งจะหยุดบินเมื่อมีความเร็วลม 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยผึ้งจะเลือกแหล่งอาหารที่อยู่บริเวณใกล้รังในรัศมี 3 กิโลเมตร แต่หากไม่มีแหล่งอาหารที่เหมาะสม ผึ้งสามารถบินไปหาแหล่งอาหารได้ไกลถึง 12 กิโลเมตร ผึ้งงานในระยะแรกจะฝึกบินในระยะ ไม่เกิน 1 กิโลเมตรจากรังผึ้ง และพื้นที่ของการหาอาหารของผึ้งนั้นไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับ ปริมาณและความหนาแน่นของดอกพืช ปริมาณเกสร และน้ำหวาน
             ดังนั้น เห็นได้ว่าผึ้งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของอาหาร เนื่องจากเป็นผู้ผสมเกสรหลักของพืชอาหาร ถึงกับมีคำกล่าวว่า No life without bee และมีรายงานว่าการคงอยู่ของผึ้งในสวนผลไม้สามารถทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ว่ากันว่าหากผึ้งสูญพันธุ์ไปจากโลกมนุษย์ มนุษย์จะเป็นผู้เดือนร้อนมากที่สุด เพราะผักและผลไม้จะลดปริมาณตามไปด้วย ดอกไม้ป่า พืชป่าหลายชนิดก็จะสูญพันธุ์ แต่ธัญพืชอาจไม่กระทบมากเพราะใช้ลมในการช่วยผสมละอองเกสร พืชเองไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผสมเกสรได้ในทันที กว่าแมลงชนิดอื่นๆ จะเข้ามาทำหน้าที่แทนผึ้งได้คงต้องใช้เวลา แต่แมลงเหล่านั้นไม่สามารถขนละอองเกสรได้ระยะทางไกล ครอบคลุมพื้นที่และชนิดพันธุ์เท่าผึ้ง รวมทั้งหากใช้วิธีการอื่นในการผสมเกสร ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มขึ้นด้วย
              ประโยชน์จากผึ้งที่เห็นชัดเจน ได้แก่ (1) น้ำผึ้ง (honey) เป็นผลผลิตจากผึ้งที่เป็นของเหลว มีรสหวานที่ได้จากน้ำหวานของดอกไม้หรือน้ำหวานของส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่ผึ้งสะสมไว้ในรังผึ้ง น้ำผึ้งจะมีลักษณะสีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล ขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำหวานที่ได้จากต้นไม้ต่างๆ นิยมนำมารับประทาน ใช้ผสมเครื่องดื่มหรือน้ำผลไม้ปั่น ใช้ดองสมุนไพร ใช้สมานแผล ส่วนในอุตสาหกรรมใช้มากในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมผลิตยา  (2) เกสรผึ้ง (bee pollen) เป็นก้อนเกสรที่นำมาจากรังผึ้ง หรือที่ได้จากการดักเกสรหน้ารังผึ้ง นิยมนำมารับประทาน และผสมในอาหารหรือเครื่องดื่ม (3) นมผึ้ง (royal jelly) เป็นอาหารสำหรับตัวอ่อนของผึ้งนางพญา มีลักษณะเป็นครีมข้น สีขาว ใช้รับประทานหรือใช้ทาหน้าเพื่อให้ผิวเต่งตึง รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง (4) ไขผึ้ง (bee wax) เป็นสารที่ผลิตได้จากผึ้งงานจากต่อมไขผึ้งสำหรับสร้างรวงผึ้ง นิยมใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งสำหรับสร้างคอนผึ้ง รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเทียนไข ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำยาขัดมัน และเคลือบเครื่องหนัง (5) ชันผึ้ง (propolis) เป็นวัสดุเหนียว สีน้ำตาลหรือสีดำที่ติดตามบริเวณต่างๆของรังผึ้ง เช่น ช่องว่างระหว่างคอนผึ้ง ถูกนำมาใช้สำหรับป้องกันโรคเหงือกบวม เหงือกอักเสบ รักษาต่อมทอนซิลอักเสบ และรักษาแผลในปาก บรรเทาอาการเจ็บคอ รักษาอาการไอ นอกจากนั้น ยังใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง (6) ตัวอ่อนผึ้ง เป็นตัวอ่อนของผึ้งงานที่อยู่ภายในรังขณะอยู่ในระยะตัวหนอนหรือฝักเป็นตัวอ่อนในระยะแรก นิยมนำมารับประทาน และปรุงอาหาร เช่น แกง ผัด เป็นต้น ให้รสมัน นุ่ม
Image may contain: 3 people, people standing, tree and outdoor
                                         cr : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จันทบุรี

  ปัจจุบันยังมีสิ่งที่เรียกว่า Bee Venom หรือ พิษผึ้ง ซึ่งนำมาจากตัวผึ้ง โดยการเก็บ Bee Venom นั้นปกติจะทำให้ผึ้งตายหลังจากการปล่อยเหล็กในออกมาแล้วเพื่อจะเก็บถุงพิษผึ้ง (Bee Venom) มาใช้ประโยชน์ แต่สามารถทำได้อีกวิธี คือ วิธีกระตุ้นให้ผึ้งต่อยลงในจานแก้ว ด้วยการใช้กระแสไฟฟ้าชนิดอ่อนและปลอดภัยสำหรับผึ้ง หลังจากนั้นจะปล่อยให้ผึ้งมีชีวิตต่อไป  Bee Venom นั้นมีการใช้กันอย่างแพร่หลายและยาวนานทางด้านยาและเภสัชกรรม โดยเริ่มจากฝั่งยุโรปก่อนขยายไปในแหล่งเลี้ยงผึ้งที่สำคัญของโลก โดยมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนเลือด เพิ่มสมรรถนะทางเพศ ช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อ เป็นสาร Anti Oxidant และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ด้วย
จากความสำคัญของผึ้งดังกล่าว และรายงานของ IUCN ในปี 2015 พบว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผึ้งในยุโรปมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ และ 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ใกล้จะสูญพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบว่าในปี 2017 จำนวนผึ้งในสหรัฐอเมริกาลดลงถึง 33 เปอร์เซ็นต์ และสหภาพยุโรปลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ จากสาเหตุหลายประการด้วยกัน ทั้งโรคที่เกิดขึ้นกับผึ้งที่เลี้ยงในยุโรป ปัญหาการใช้สารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะสารกลุ่ม neonicotinoids ที่ทำให้เกิดอาการผึ้งตายยกรัง การแพร่ระบาดของศัตรูพืชอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากโลกาภิวัตน์ การขยายของสังคมเมืองที่ส่งผลให้พื้นที่ทำการเกษตรลดลง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงปัญหาการค้าน้ำผึ้งคุณภาพต่ำซึ่งกระทบต่อผลตอบแทนของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง
              ด้วยเหตุนี้ ประเทศสโลวีเนีย ประเทศในเขตยุโรปกลางตอนใต้ ติดกับอิตาลี เดิมเป็นรัฐหนึ่งของยูโกสลาเวีย ได้เสนอต่อสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 20 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันผึ้งโลก (World Bee  Day) โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2016 และได้รับการรับรองจากสหประชาชาติในปี 2018 นี้ เป็นการให้ความสำคัญต่อผึ้งแมลงผสมเกสรสำคัญ รวมถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่มีหน้าที่ช่วยผสมละอองเกสร และเป็นการยกย่อง Mr. Anton Jansa ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเลี้ยงผึ้งในเชิงพาณิชย์แบบสมัยใหม่คนแรก  โดย Mr. Anton Jansa เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 1734 ณ เมือง Breznica ประเทศสโลวาเนียในปัจจุบัน ได้เปิดโรงเรียนสอนการเลี้ยงผึ้งในปี 1766 เป็นโรงเรียนสอนการเลี้ยงผึ้งแห่งแรกชองยุโรป ต่อมาปี 1769 เริ่มมีการประกอบอาชีพเลี้ยงผึ้งแบบเต็มตัว ก่อนจะมีการพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งจำหน่ายครั้งแรกในเยอรมัน เมื่อปี 1771 และ Mr. Anton Janza ถึงแก่กรรมในปี 1773 ด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่
           ณ ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีผลผลิตน้ำผึ้งประมาณ 2.5 แสนตัน เป็นอันดับสองรองจากจีน แต่ปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคต้องนำเข้ามาจากจีน อีกทั้งไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับจีนได้ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในยุโรปประมาณ 6 แสนคน โดยอยู่ในเยอรมันประมาณ 1.16 แสนคน รองลงมาคือ โปแลนด์ 6 หมื่นคน และอิตาลี 5 หมื่นคน จำนวนรังทั้งหมดมากกว่า 17 ล้านรัง  ในขณะที่ประเทศไทยมีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในปี 2560 จำนวน 1,215 ราย จำนวนรังราว 3.53 แสนรัง ปริมาณผลผลิตประมาณ 12.85 ตัน ส่วนผึ้งโพรงมีการเลี้ยง 3,545 ราย จำนวนรัง 0.52 แสนรัง ผลผลิตน้ำผึ้งราว 366 ตัน สามารถผสมเกสรครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 30,000 ไร่ โดยมีการนำเข้าน้ำผึ้งคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 30-50 ล้านบาท ปริมาณน้ำผึ้งราว 50-80 ตัน 
              บทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทย ยังคงเป็นประเด็นที่ยังต้องพัฒนาอีกมาก หน่วยงานหลักที่กำกับดูแลเรื่องผึ้งกลับเป็นบทบาทของกรมปศุสัตว์ งานวิจัยและพัฒนาด้านผึ้งยังกระจัดกระจายไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรเองหน่วยผึ้งเดิมก็ขยับขยายปรับเปลี่ยนไปทำหน้าที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น จึงไม่แปลกใจที่งานผึ้งในไทยยังซุกตัวอยู่เงียบๆ อย่างเหงาๆ
              ณ จุดนี้ ท่านผู้อ่านคงจะเห็นด้วยว่า สังคมของผึ้งจึงเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจไม่น้อย เป็นสังคมที่แบ่งหน้าที่กันชัดเจน แต่ละส่วนก็ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ รับผิดชอบและเห็นประโยชน์ของสังคมส่วนใหญ่ พร้อมที่จะเสียสละ ไม่มีความเห็นแก่ตัว สังคมอื่นๆ น่าจะเรียนรู้ประเด็นการใช้ชีวิตจากสังคมผึ้งได้เป็นอย่างดี อัศจรรย์วันของผึ้งจริงๆ
(ขอบคุณ : สำนักจัดการและส่งเสริมสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร, www.worldbeeday.org /ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า                                                                   สวัสดี……อังคณา

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(คำถามฉีกซอง กองบรรณาธิการผลิใบฯ กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ E-mail: ang.moac@gmail.com)             


หมายเหตุ :
บทความนี้เป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เกษตรอินทรีย์ เกษตรโลกสวย (ตอนที่ 2)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ organic thailand
Cr: https://www.wongnai.com/attractions/369177xo-monkey-farm-organic-thailand


          ฉบับที่แล้ว ได้นำเสนอประเด็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรโลกสวย ตอนที่ 1 ได้เล่าถึงความเป็นมาของเกษตรอินทรีย์ สถานการณ์เกษตรอินทรีย์ในภาพรวมของโลก และภาพรวมของประเทศไทย จนกระทั่งจุดเริ่มต้นของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย              
“ฉีกซอง” ฉบับนี้ ขอนำท่านผู้อ่านไปติดตามกันต่อว่าเกษตรอินทรีย์ เดินทางมาไกล หรือ เดินวนอย่างไร โปรดติดตาม

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของพืช
          ก่อนที่จะเข้าสู่หมวดของระบบการรับรอง Organic Thailand ต้องทำความเข้าใจกันเบื้องต้นว่า มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ใช้อยู่ฉบับปัจจุบันระบุข้อกำหนดไว้ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ การวางแผนการจัดการ การเลือกพันธุ์  การจัดการและการปรับปรุงดิน การจัดการศัตรูพืช การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ  การเก็บรักษาและการขนส่ง การแสดงฉลากและการกล่าวอ้าง การบันทึกข้อมูล ตลอดจนการทวนสอบ ซึ่งครอบคลุมตลอดกระบวนการผลิต และเป็นมาตรฐานที่อ้างอิงมาจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป IFOAM และ Codex
          หลักการของเกษตรอินทรีย์  เป็นที่เข้าใจตรงกันว่าต้องใช้แนวทางการเกษตรแบบผสมผสาน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดูแลความยั่งยืนของระบบนิเวศโดยรวม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม   รวมทั้งรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและคุณภาพน้ำด้วยอินทรียวัตถุ ไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ รวมทั้งปัจจัยการผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาจากการดัดแปรสารพันธุกรรมและไม่ผ่านการฉายรังสี ตลอดจนการเปลี่ยนจากระบบการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีมาสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ จะต้องมีช่วงระยะเวลาการปรับเปลี่ยนที่กำหนดไว้ชัดเจน กล่าวคือ กรณีพืชล้มลุก ใช้เวลาอย่างน้อย 12 เดือน  ส่วนพืชยืนต้นใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน  ซึ่งนับตั้งแต่ผู้ผลิตนำมาตรฐานดังกล่าวไปปฏิบัติ และสมัครขอรับการรับรองรองจากหน่วยรับรอง  ในที่นี้คือ กรมวิชาการเกษตร อย่างไรก็ตามหากสามารถแสดงหลักฐานว่าไม่มีการใช้สารเคมีในพื้นที่ที่ขอรับการรับรองมาเป็นเวลานานกว่าเวลาที่กำหนด ผู้ผลิตสามารถขอลดระยะเวลาปรับเปลี่ยนลดมาได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 6 เดือนพื้นที่สำหรับการทำเกษตรอินทรีย์  ต้องแยกชัดเจนออกจากพื้นที่ที่ทำการเกษตรเคมี  และไม่กลับไปใช้สารเคมีอีก และหากฟาร์มดังกล่าวไม่ได้ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ต้องแยกแยะชนิดของพืช แบ่งแยกพื้นที่ และกระบวนการจัดการทั้งหมดออกจากกันให้ชัดเจน ป้องกันการปนเปื้อนจากระบบการผลิตทั้งสองแบบ   ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์จะต้องมีแนวป้องกันการปนเปื้อนที่อาจมากับน้ำ  ดิน หรืออากาศ  โดยสร้างสิ่งกีดขวางเป็นการป้องกัน เช่น การทำคันกั้น การทำบ่อพักน้ำ คูน้ำ หรือการปลูกพืชเป็นแนวกันชน  ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเลือกพื้นที่ที่จะทำการผลิตเกษตรอินทรีย์  จะต้องทราบประวัติการใช้พื้นที่ดังกล่าวมาก่อนอย่างละเอียด  ไม่ว่าจะเป็นชนิดพืชที่ปลูก การใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดจนความสำเร็จของการใช้พื้นที่ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการผลิตต่อไป
          ในส่วนของการบำรุงความอุดมสมบูรณ์ของดิน  สามารถทำได้ด้วยการปลูกพืชบำรุงดิน    เช่น พืชตระกูลถั่ว การใช้ปุ๋ยพืชสด  หรือการปลูกพืชรากลึกหมุนเวียนกับพืชรากตื้น  รวมทั้งสามารถใช้อินทรีย์วัตถุต่างๆ ที่ได้จากกระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์มาปรับปรุงบำรุงดินได้ ตลอดจนสามารถเร่งปฏิกิริยาของปุ๋ยอินทรีย์ด้วยการใช้เชื้อจุลินทรีย์หรือวัสดุจากพืชได้ หรือปรับโครงสร้างของดินด้วยหินบด ปุ๋ยคอก และวัสดุจากพืชที่ผ่านกระบวนการเตรียมทางชีวพลวัตได้ (biodynamic preparations)  ไม่อนุญาตให้ใช้ปุ๋ยคอกจากแหล่งที่มีการเลี้ยงสัตว์ในเชิงอุตสาหกรรมที่มีการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะในอัตราสูง และห้ามใช้มูลสัตว์สดกับพืชอาหารที่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค  หลักการสำคัญหน่วยรับรองต้องให้การยอมรับปัจจัยการผลิตที่ใช้สำหรับบำรุงดิน เพื่อสร้างความมั่นใจต่อระบบการผลิต
          ส่วนการควบคุมและป้องกันกำจัดศัตรูพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ ใช้วิธีการผสมผสาน   เริ่มตั้งแต่การเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่มีการจัดระบบการปลูกพืชเพื่อตัดวงจรศัตรูพืชด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน       โดยสามารถใช้เครื่องมือกลในการเพาะปลูกได้ และต้องมีการอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติด้วยการสร้างที่อยู่ให้กับศัตรูธรรมชาติ   เช่น ตามแนวป่าละเมาะ  แนวรั้ว  ต้นไม้พุ่มเตี้ย  สร้างแหล่งอาศัยให้กับนก รวมทั้งสร้างแนวกันชนเพื่อเป็นแหล่งอาศัยให้กับศัตรูธรรมชาติดังกล่าว รักษาระบบนิเวศโดยรอบให้เกิดความสมดุล สามารถปล่อยศัตรูธรรมชาติเข้าไปในระบบได้ เช่น การใช้ตัวห้ำ - ตัวเบียน การคลุมหน้าดินเพื่อป้องกันการชะล้าง รักษาความชื้นในดินและหากวิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวไม่สามารถควบคุมศัตรูพืชได้ อนุญาตให้ใช้สารสกัดจากพืชควบคุมศัตรูพืชได้ เช่น สารสกัดจากสะเดา โล่ติ้น สาหร่ายทะเล เห็ดหอม น้ำชาใบยาสูบ กากชา น้ำส้มควันไม้ เป็นต้น หรือ แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น กำมะถัน เกลือทองแดง ดินเบา ซิลิเกต โซเดียมไบคาร์บอเนต น้ำมันพาราฟิน เป็นต้น
          กรณีส่วนขยายพันธุ์ หรือเมล็ดพันธุ์ที่นำมาปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ ต้องมาจากระบบการผลิตแบบอินทรีย์เท่านั้น แต่ถ้าไม่สามารถหาได้อนุโลมให้ใช้เมล็ดพันธุ์หรือส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งทั่วไปได้ แต่ต้องไม่ผ่านการใช้สารเคมี หรือหากมีการใช้สารเคมีต้องมีกระบวนกำจัดสารเคมีให้หมดไปอย่างเหมาะสม และต้องได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรอง สำหรับพืชและส่วนของพืชซึ่งได้จากธรรมชาติ  จะกล่าวอ้างว่าเป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ได้ก็ต่อเมื่อเป็นผลผลิตที่มาจากบริเวณที่กำหนดขอบเขตชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ธรรมชาติ  โดยเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยทำการเกษตรหรือไม่เคยใช้สารเคมีที่ห้ามใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์มาก่อนไม่น้อยกว่า 3 ปี และการเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้นต้องผ่านการรับรองจากหน่วยรับรอง นอกจากนี้การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากธรรมชาติ ต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ
ต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศในพื้นที่ดังกล่าว และยังคงรักษาพันธุ์พืชชนิดนั้นให้คงอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นได้
          ส่วนของการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป การขนส่ง และการบรรจุหีบห่อ ประเด็นที่สำคัญคือการป้องกันการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อผลผลิตที่ได้จากกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์         ดังนั้นต้องรักษาความเป็นผลผลิตอินทรีย์ตลอดทุกช่วงของกระบวนการ โดยใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับส่วนประกอบด้วยความระมัดระวังในวิธีการแปรรูป จำกัดการใช้วัตถุเจือปนอาหารและสารช่วยกรรมวิธีผลิต ผลิตผลและผลิตภัณฑ์อินทรีย์ต้องไม่ผ่านการฉายรังสี   เพื่อจุดมุ่งหมายในการควบคุมศัตรูพืช การถนอมอาหาร และการกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรค เช่นเดียวกับการป้องกันศัตรูในโรงเก็บ จะเน้นการป้องกันเป็นหลัก    เช่น การป้องกันทางเข้าของศัตรูในโรงเก็บ การกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัย หรืออาจใช้วิธีกลและวิธีทางชีวภาพอื่นๆ ประกอบกัน ซึ่งวิธีการต่าง ๆ ข้างต้น เป็นหนึ่งในหลักของวิธีการปฏิบัติในการผลิตที่ถูกต้อง (good manufacturing practice–GMP)
          วิธีการแปรรูป  ควรเป็นวิธีกลทางกายภาพหรือชีวภาพ   เช่น การหมัก  การรมควัน เป็นต้นโดยลดการใช้ส่วนประกอบที่ไม่ได้มาจากการเกษตร  และสารช่วยกรรมวิธีการผลิต  กรณีการสกัด กำหนดให้ใช้ได้เฉพาะการสกัดด้วยน้ำ เอธานอล น้ำมันจากพืชหรือสัตว์ น้ำส้มสายชู คาร์บอนไดออกไซด์ และไนโตรเจนเท่านั้น และกระบวนการแปรรูปต้องเป็นไปตามหลักการ และวิธีการปฏิบัติที่ดีในการผลิต โดยเป็นไปตามมาตรฐานอาหารและสุขอนามัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การบรรจุหีบห่อ ควรเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
          สำหรับการแสดงฉลาก Organic Thailand จะสามารถแสดงได้ เมื่อทำการยื่นขอรับรองและผ่านการตรวจรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว โดยผลผลิตต้องมาจากระบบการผลิตเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานฉบับนี้  กรณีผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต้องมาจากระบบเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ในมาตรฐานฉบับนี้กำหนดให้มีส่วนประกอบอื่นที่ไม่ใช่อินทรีย์ไม่รวมส่วนของน้ำและเกลือ ไม่เกินกว่าร้อยละ 5 โดยที่ต้องไม่ได้จากกระบวนการตัดแต่งสารพันธุกรรม หรือการฉายรังสี
          ในส่วนของการบันทึกข้อมูลการผลิต กำหนดให้มีการบันทึกและเก็บหลักฐานแยกออกไปจากการผลิตพืชทั่วไป รวมถึงจัดทำประวัติ แผนที่ แผนผังฟาร์มให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน รวมถึงต้องจัดทำแผนการผลิตและจดบันทึกการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน ประกอบด้วย แหล่งที่มา ชนิด ปริมาณและการใช้ปัจจัยการผลิต วันปลูก การดูแลรักษา  การป้องกันกำจัดศัตรูพืช  วันเก็บเกี่ยว  ชนิดและปริมาณผลผลิต  การจำหน่ายการผลิต และการขนส่ง โดยสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ และให้เก็บเอกสารการผลิตไว้อย่างต่ำ 1 รอบการรับรอง หรือ 1 รอบการผลิตระบบการรับรอง Organic Thailand
          การตรวจรับรอง Organic Thailand  แบ่งการรับรองออกเป็น 3 ลักษณะ  คือ การรับรองฟาร์ม  การรับรองการคัดบรรจุ และการรับรองการแปรรูป โดยผู้ประสงค์จะขอรับการรับรองเป็นได้ทั้งเกษตรกรรายบุคคล กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์/วิสาหกิจชุมชน/โครงการ หรือนิติบุคคลอื่นๆ ก็ได้
          คุณสมบัติของเกษตรกร ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือสิทธิครอบครอง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืช   มีชื่อในทะเบียนราษฏร์ของกรมการปกครอง สมัครใจและยินดีที่จะปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรอง ไม่เป็นผู้เพิกถอนการรับรอง เว้นแต่พ้นการเพิกถอนแล้ว 1 ปี และก่อนการตรวจประเมินเพื่อขอรับการรับรอง ผู้ยื่นคำขอต้องมีการผลิตแบบอินทรีย์ตามมาตรฐานที่ประกาศกำหนด และต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตในการประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนคุณสมบัติของนิติบุคคล ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ถือสิทธิครอบครอง หรือผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืช ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลถูกต้องตามกฎหมายไทย และสมัครใจขอรับการรับรอง และยินดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด รวมทั้งไม่เป็นนิติบุคคลที่ถูกเพิกถอนการรับรอง เว้นแต่พ้นการเพิกถอนแล้ว 1 ปี
          สำหรับกลุ่ม / วิสาหกิจชุมชน / โครงการ สมาชิกกลุ่มต้องเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือสิทธิครอบครอง  หรือได้รับมอบหมายให้ดำเนินการผลิตพืชกลุ่มเกษตรกรต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือกรณีไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย สามารถขอรับการรับรองได้แต่ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 คน และกลุ่มดังกล่าวอาจดำเนินการโดยนิติบุคคล หรือองค์กรอิสระก็ได้ นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มต้องปลูกพืชชนิดเดียวกันที่ขอการรับรองอย่างน้อย 2 ราย รวมทั้งสมัครใจขอรับการรับรอง และยินดีปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด อีกทั้งไม่เป็นกลุ่มที่ถูกเพิกถอนการรับรอง เว้นแต่พ้นการเพิกถอนมาแล้ว 1 ปี
          ทั้งนี้  การขอรับรองในลักษณะของกลุ่มหรือนิติบุคคล  จะต้องมีระบบการควบคุมภายใน ซึ่งเป็นระบบควบคุมคุณภาพที่กลุ่มจัดทำขึ้น เพื่อประกันว่ากิจกรรมการผลิตของเกษตรกรสมาชิกและกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มเป็นไปตามมาตรฐานการผลิตอินทรีย์ และเป็นกลไกควบคุมดูแลให้สมาชิกปฏิบัติตามในการรับรอง โดยระบบการควบคุมภายใน ต้องประกอบด้วย การทำสัญญา ใบสมัคร คำรับรอง และหลักเกณฑ์เงื่อนไขของกลุ่ม การฝึกอบรมสมาชิกกลุ่ม โดยสมาชิกต้องได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ และได้รับคู่มือเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรองของกรมวิชาการเกษตร และหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกลุ่ม สำหรับการควบคุมเอกสารและการบันทึก ต้องมีการตรวจสอบและอนุมัติก่อนการใช้ ถ้าล้าสมัยต้องนำออกหรือระบุไว้ชัดเจน ซึ่งต้องเก็บเอกสารไว้อย่างน้อย 1 รอบการผลิต และควรมีข้อมูลครอบคลุมรายชื่อสมาชิก เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ ที่ตั้งแปลง ขนาดพื้นที่การผลิต ชนิดพืชที่ของรับการรับรอง  แผนการผลิต ประมาณการผลผลิต  และรายการปัจจัยการผลิตที่กลุ่มใช้ ในขณะที่การจัดการกับข้อร้องเรียน  ต้องกำหนดแนวทางการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับระบบการผลิตของสมาชิก การสืบสวนหาสาเหตุ การกำหนดแนวทางแก้ไข การติดตามผลการแก้ไข และการตอบกลับไปยังผู้ร้องเรียน ทั้งนี้ เอกสารระบบควบคุมภายในของกลุ่ม  ต้องกำหนดและระบุไว้ให้ชัดเจน เช่น คู่มือการผลิต คู่มือระบบควบคุมภายใน แบบฟอร์มต่างๆ เป็นต้น และต้องมีการตรวจติดตามคุณภาพภายในของกลุ่มในรอบการผลิตเสมอ
          รูปแบบการจัดองค์กรของกลุ่ม / นิติบุคคลที่ขอรับการรับรองต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ที่ชัดเจน  ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย ประธานกลุ่ม รองประธาน เหรัญญิก เลขานุการ ประชาสัมพันธ์ และสมาชิก  โดยต้องมีผู้ประสานงานระบบควบคุมภายใน คณะกรรมการรับรอง ผู้ตรวจสอบแปลงภายใน เจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และกรมวิชาการเกษตรทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง
          กระบวนการรับรองจะเกิดขึ้น  เมื่อผู้ประสงค์ขอรับการรับรองยื่นคำขอ และเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อกรมวิชาการเกษตร จากนั้นจะเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบเอกสาร การคัดเลือกผู้ตรวจประเมินและวางแผนการตรวจประเมิน การเตรียมการตรวจประเมิน และดำเนินการตรวจประเมิน หากไม่มีข้อบกพร่องใดจะจัดทำรายงาน และแจ้งผลการตรวจประเมิน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรับรอง และจัดทำใบรับรองและขึ้นทะเบียนรายชื่อผู้ได้รับการรับรอง จึงมอบใบรับรองให้กับผู้ผ่านการประเมินและเผยแพร่ผู้ได้รับการรับรองให้สาธารณะทราบต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจพบข้อบกพร่อง จะต้องแจ้งให้ผู้ขอรับการรับรองทราบและแก้ไขก่อนที่จะดำเนินการตรวจประเมินใหม่

 à¸œà¸¥à¸à¸²à¸£à¸„้นหารูปภาพสำหรับ organic thailand
                                          Cr:https://siamrath.co.th/n/26013 

เกษตรอินทรีย์ไทยจะไปไหน
          ในภาพรวมของทวีปเอเชีย พบว่า ทวีปเอเชีย เป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญของโลก โดยมีจีนเป็นตลาดใหญ่ที่สุด มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นมาก จาก 0.06 ล้านเฮกตาร์ในปี 2000 เป็น 3.97 ล้านเฮกตาร์ในปี 2015 ทั้งนี้รัฐบาลของหลายๆประเทศในทวีปเอเชียมีนโยบายสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์อย่างแพร่หลาย และประเทศสิกขิมเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ประกาศตัวเป็นประเทศที่ทำการเกษตรอินทรีย์ทั้งประเทศ
          สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งเป็นแผนฉบับที่ 2 หลังจากที่แผน 1 สิ้นสุดไปตั้งแต่ปี 2554 โดยในแผนใหม่นี้ ตั้งวิสัยทัศน์ให้ "ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคด้านการผลิต การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล" โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้เป็น 600,000 ไร่ในปี 2564 และมีเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศ-ตลาดส่งออกเป็น 40:60 และยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้านเพิ่มขึ้น (ข้อมูลปีล่าสุดของปี 2558 ประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพียง 273,881 ไร่ และมีเกษตรกรเพียง 10,557 ราย)  ต้องนับว่า แผนยุทธศาสตร์นี้มีเป้าในการขยายเกษตรอินทรีย์กว่าเท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า
          ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรี ย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 แบ่งออกเป็น 4 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วยกลยุทธส่งเสริมการวิจัย การสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ กลยุทธเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร บุคลากรที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไป และกลยุทธสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ หลักการของยุทธศาสตร์นี้ คือ การส่งเสริมการวิจัยทางด้านเกษตรอินทรีย์ สร้างนักวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์รุ่นใหม่ และเกษตรกรสามารถนำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ได้อย่างแท้จริง บริหารจัดการองค์ความรู้ และฐานข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงข้อมูล และปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัย รวมทั้งส่งเสริมและเผยแพร่งานวิจัยไปใช้ประโยชน์และต่อยอด
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการผลิตสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย กลยุทธพัฒนาศักยภาพการผลิตเกษตรอินทรีย์ และกลยุทธบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการผลิตเกษตรอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ หลักการ คือ พัฒนาการผลิต การแปรรูป บรรจุหีบห่อ และระบบโลจิกสติกส์ โดยแบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถีพื้นบ้าน โดยภาครัฐสนับสนุนด้านความรู้ ปัจจัยการผลิต ส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายในกระบวนการผลิและการตลาดในระดับต่างๆ และการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เข้าสู่มาตรฐานระดับสากล โดยภาครัฐอำนวยความสะดวก กำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรม พร้อมทั้งการสร้างช่องทางการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาการตลาดสินค้าและบริการ และการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย กลยุทธผลักดันมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ กลยุทธส่งเสริมและพัฒนาตลาดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ และกลยุทธการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์สู่ผู้บริโภค สำหรับหลักการได้แก่ การสร้างความเข้มแข็งทางการตลาด การสร้างความตระหนักให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการสร้างตราสินค้าและอัตลักษณ์ ความเชื่อมั่นให้แก่สินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ และการเพิ่มช่องทางการตลาดและธุรกิจให้กับสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์
ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือ การขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ ประกอบด้วย กลยุทธใช้รูปแบบยโสธรโมเดลโดยภาคเอกชนเป็นหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ กลยุทธสนับสนุนแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และกลยุทธสร้างกลไกและเครือข่ายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ไปสู่การปฏิบัติ หลักการสำหรับยุทธศาสตร์นี้ คือ การนำแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยบูรณาการกับทุกภาคส่วน เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอินทรีย์สู่การปฏิบัติตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ โดยมีกลไกการให้ความรู้และคำแนะนำ มีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อให้การบรูณาการเกิดผล รวมทั้งจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์
  สำหรับจังหวัดยโสธร มีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเกษตรกรของ จ.ยโสธร มีการรวมกลุ่มทำการเกษตรอินทรีย์อย่างเหนียวแน่น พัฒนากระบวนการผลิตเกษตรอินทรีย์มาอย่างครบวงจร ผลผลิตได้รับการรับรองมาตรฐาน และได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างจังหวัดยโสธร กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 เพื่อพัฒนาส่งเสริมให้จังหวัดยโสธร เป็นจังหวัดต้นแบบเกษตรอินทรีย์ของประเทศครอบคลุม ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ และขยายพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์อีก 60,000 ไร่ ให้เป็น 100,000 ไร่ภายในปี 2561 พร้อมทั้งเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนร่วมบูรณาการสร้างความเข้มแข็งและร่วมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี และเกษตรกรผู้ผลิตอินทรีย์มีรายได้ดีขึ้นอีกด้วย

08
Cr: https://kmorganicmju.wordpress.com/2017/04/28/

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ในระดับชาติ อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้แทน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ผู้แทนภาคเอกชน (3คน) ผู้ทรงคุณวุฒิ (3คน) รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ  ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมวิชาการเกษตร) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่ 4 ด้านด้วยกัน คือ (1) กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการพัฒนาการเกษตรอินทรีย์ของประเทศ (2) ดำเนินการบูรณาการแนวทาง มาตรการแผนงานและงบประมาณกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ (3) จัดระบบการประสานงานและการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ เพื่อกำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินงานของส่วนราชการและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ เพื่อให้ดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมทั้งกำหนดงานของส่วนราชการต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ให้มีความเหมาะสม และ (4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือ บุคคลเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการใดตามที่คณะกรรมการกำหนดเพื่อช่วยปฏิบัติงานการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ตามความเหมาะสม
ความคาดหวังต่อการพัฒนาและขยายงานเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางออกไป รองรับโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น การเกษตรที่ว่ากันว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง จะเป็นจริงได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด การเปลี่ยนมือคนทำงานมาเป็นกรมวิชาการเกษตรจะเห็นหน้าเห็นหลังหรือไม่ คงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เป็นกำลังใจให้กันต่อไป เกษตรอินทรีย์ เกษตรโลกสวย

(ขอบคุณ : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ www.fibl.org/ข้อมูล)
พบกันใหม่ฉบับหน้า                                                                               สวัสดี……อังคณา   

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
(คำถามฉีกซอง กองบรรณาธิการผลิใบฯ กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐ E-mail: ang.moac@gmail.com)
หมายเหตุ :
บทความดังกล่าวเป็นต้นฉบับของคอลัมน์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนเมษายน 2561 แต่เนื่องจากไม่ได้มีการนำออกมาเผยแพร่จึงขออนุญาตทยอยนำต้นฉบับประจำปีงบประมาณ 2561 ออกมาเผยแพร่ทางช่องทางนี้ หวังว่าคงจะเกิดประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านทุกท่านตามสมควร