วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เกษตรพันธสัญญา?


“…การที่จะทำงานให้สัมฤทธิผลที่พึงปรารถนา คือที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมด้วยนั้น จะอาศัยความรู้แต่เพียงอย่างเดียวมิได้ จำเป็นต้องอาศัยความสุจริต ความบริสุทธิ์ใจ และความถูกต้องเป็นธรรมประกอบด้วย เพราะเหตุว่าความรู้นั่นเป็นเหมือนเครื่องยนต์ ทำให้ยวดยานเคลื่อนที่ไปได้ประการเดียว ส่วนคุณธรรมเป็นเหมือนหนึ่งพวงมาลัยหรือหางเสือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำพาให้ยวดยานดำเนินไปถูกทาง ด้วยความสวัสดี คือ ปลอดภัยจนบรรลุถึงจุดหมายที่พึงประสงค์ ดังนั้น ในการที่จะประกอบการงานเพื่อตนเพื่อส่วนรวมต่อไป ขอให้สำนึกไว้เป็นนิตย์ โดยตระหนักว่า การงาน สังคม และบ้านเมืองนั้น ถ้าขาดผู้มีความรู้เป็นผู้บริหารดำเนินการย่อมเจริญก้าวหน้าไปได้ยาก แต่ถ้างานใด สังคมใด และบ้านเมืองใด ก็ขาดบุคคลผู้มีคุณธรรม ความสุจริตแล้ว จะดำรงอยู่มิได้เลย...
พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง  ณ อาคารใหม่สวนอัมพร
วันศุกร์ที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๐

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในหลายโอกาสว่าด้วยเรื่อง ความรู้และคุณธรรม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการพัฒนาบ้านเมืองและสังคม  ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปมิได้ ความรู้และคุณธรรม จึงเป็นสองเงื่อนไขของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกเหนือจาก ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการมีภูมิคุ้มกัน  ซึ่งเป็นสามห่วงหลักที่จะต้องมี 
          ในปลายปีงบประมาณ ๒๕๖๐ ซึ่งอยู่ในช่วงของปลายฤดูฝนและจะเข้าสู่ฤดูหนาว ในบางพื้นที่ยังคงมีน้ำหลาก บางพื้นที่เริ่มสัมผัสอากาศเย็น หลายฝ่ายต่างก็หวังว่าปีนี้อากาศน่าจะหนาวกว่าทุกปี คงต้องมาติดตามกันว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ปีน้ำมาก อากาศจะเย็น โบราณกล่าว
            ช่วงปี ๒๕๕๙ ต่อเนืองมาถึงปีนี้ ความพยายามในการตรากฎหมายว่าด้วยระบบการเกษตรแบบพันธสัญญา บรรลุผลสำเร็จไปได้ในระดับหนึ่ง “ฉีกซอง” มีโอกาสได้รับรู้ความเป็นไปของการยกร่างกฎหมายดังกล่าวมาในชั้นการพิจารณาของคณะอนุกรรมาธิการฯ เนื่องจากคุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้บังคับบัญชา ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในคณะอนุกรรมาธิการฯ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจมาก และในที่สุดกฎหมายว่าด้วยระบบเกษตรพันธสัญญา ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๔ ตอนที่ ๔๖ ก เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ภายใต้ชื่อ “พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา   เป็นไปอย่างไร โปรดติดตามได้ใน “ฉีกซอง” ฉบับนี้

Credit ภาพประกอบ :Achara Uthayopas

ทำเกษตร- ทำสัญญา
          สำหรับการทำการเกษตรแบบมีสัญญา หรือ  Contract Farming หมายถึง  ระบบการเกษตร ทั้งการเลี้ยงสัตว์ หรือการเพาะปลูกพืช ที่มีการทำสัญญาซื้อขายผลผลิตล่วงหน้าระหว่างฝ่ายเกษตรกร ผู้ผลิต หรือเจ้าของฟาร์ม กับคู่สัญญา คือ "ผู้รับประกัน"  ส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทเอกชนที่สัญญาว่าจะซื้อผลผลิตคืนจากอีกฝ่ายในราคาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น เรียกว่า "ราคาประกัน" และจะเปลี่ยนแปลงได้ก็ต่อเมื่อครบกำหนดสัญญาเท่านั้น หรือ ตามที่ระบุไว้ในสัญญา
ข้อดีของการทำการเกษตรแบบมีสัญญา หรือ เกษตรพันธสัญญา สำหรับเกษตรกรแล้ว ประเด็นที่เห็นชัดเจนคือ เกษตรกรมีตลาดรับซื้อแน่นอน ได้ความรู้ทั้งด้านวิชาการ มาตรฐานฟาร์ม และเทคนิคในการปรับลดต้นทุนในการผลิต การจัดหาวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตต่างๆ รวมไปถึงการสนับสนุนสินเชื่อทางการเงินให้ด้วยในบางกรณี มีการตกลงราคาและเวลารับมอบสินค้ากันชัดเจน ลดความผันผวนของรายได้ของเกษตรกร โดยสามารถทำให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอนและสูงขึ้น และช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุน เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและจัดการได้ด้วย รวมทั้งยังช่วยลดภาระงบประมาณของรัฐในการพยุงราคา ตลอดจนช่วยเพิ่มโอกาสการจ้างงานในภาคเกษตรกรรม ในขณะที่บริษัทสามารถนำวัตถุดิบป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ ควบคุมต้นทุนได้ สามารถคาดการณ์วางแผนการตลาด รวมถึงบริษัทยังประหยัดได้จากขนาดกิจกรรม (Economy of Scale) เนื่องจากเป็นการผลิตขนาดใหญ่ ส่วนผู้บริโภคได้ประโยชน์จากคุณภาพสินค้าที่สูงขึ้นและราคาถูกลง
          ในอีกมุมหนึ่ง เกษตรพันธสัญญา ถูกมองว่า ภาคเอกชนหรือบริษัทมักจะทำสัญญาในรูปแบบสัญญาเชิงเอาเปรียบเกษตรกร ในเรื่องของผลตอบแทน ความเสี่ยง และความเป็นธรรม ส่งผลให้เกษตรกรเสียเปรียบบริษัท นอกจากนี้ การทำการเกษตรบางประเภท เช่น การปศุสัตว์ เงินลงทุนต่อฟาร์มค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่จะเกิดขึ้น ทำให้การคืนทุนต้องใช้เวลาหลายปี ขณะที่แหล่งเงินทุนของเกษตรกร มาจากการกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ดังนั้น หากบริษัทยกเลิกพันธสัญญากับเกษตรกรในระยะสั้นหรือไม่วางแผนการผลิตให้ เกษตรกรอาจล้มละลายได้ นอกจากนี้ พบว่าสัดส่วนของรายจ่าย (ต้นทุน) ต่อรายได้ของฟาร์มค่อนข้างสูง ประมาณ ๒๗-๙๒% จึงถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างมาก อีกทั้งเกษตรกรยังมีความเสี่ยงสูง และเสี่ยงสูงขึ้นเมื่อได้รับผลกระทบทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือโรค-แมลงระบาด เป็นต้น ส่งผลต่อความเสี่ยงในการสูญเสียผลผลิตมากขึ้นและค่าดำเนินการต่างๆที่ตามมา  รวมถึงการที่สัญญาไม่ได้คำนวณรายได้ค่าตอบแทนจากการผลิตที่เป็นขั้นบันไดเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะถึงจุดคุ้มทุน และมีกำไรจากการลงทุนเมื่อใด
          จะว่าไปแล้ว ผู้เขียนมีความคุ้นเคยกับระบบเกษตรพันธสัญญาพอสมควร เพราะสมัยที่เริ่มทำงานแรกๆ กับบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์แห่งหนึ่ง ผู้เขียนประจำการอยู่ฝ่ายไร่ ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลของสัญญาจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ วางแผนการผลิต ในสมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ลักษณะสัญญาจึงเป็นสัญญาจ้างปกติ แต่เนื้อหาภายในจะระบุรายละเอียด และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่ก็จะไม่มีปัญหาอะไรมาก เกษตรกรในฐานะผู้รับจ้างยอมรับในเงื่อนไขที่กำหนด  อาจมีบางส่วนที่มีการสลับขาหลอก แต่ก็ไม่เป็นปัญหารุนแรงที่ขั้นต้องฟ้องร้องกัน รุนแรงสุดก็คือการขึ้นบัญชีดำไว้เท่านั้น ผู้เขียนจึงไม่ได้ต่อต้านระบบเกษตรพันธสัญญาแบบหัวชนฝา ในความคิดของผู้เขียน ระบบเกษตรพันธสัญญาที่มีคุณธรรม  ก็ช่วยให้การพัฒนาการเกษตรก้าวหน้าและยั่งยืนได้เช่นกัน
   
มีกฎหมาย มีบทบัญญัติ
          พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา” เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันมีการนำระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิตและบริการทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย หากมีการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรมตามหลักสากล จะช่วยสร้างความไว้วางใจ ความร่วมมือ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการผลิตผลผลิตหรือบริการทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางด้านรายได้ และได้รับการถ่ายทอดความรู้อันจำเป็น ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน มีการควบคุมต้นทุนในการผลิต  มีการป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกและผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรสามารถประกอบธุรกิจโดยได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งทางธุรกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้ต่อไป
              อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการทำการเกษตรแบบในระบบเกษตรพันธสัญญา มีลักษณะผสมระหว่างสัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างแรงงาน และสัญญาซื้อ-ขาย ซึ่งมีความซับซ้อนและยุ่งยาก ในการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าและต้นทุนในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ส่งผลให้ในกรณีที่คู่สัญญาเป็นเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีอำนาจการต่อรองในการทำสัญญาน้อยกว่าผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร มีความเสี่ยงในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา สมควรที่รัฐจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมทั้งกำหนดกลไกในการส่งเสริมและพัฒนาระบงผูบเกษตรพันธสัญญา
             พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา เป็นกฎหมายที่ไม่ยาวนัก มีทั้งสิ้น ๔๘ มาตรา ๔ หมวด และ ๑ บทเฉพาะกาล มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด ๑๒๐ วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นคือ มีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๐ ซึ่งตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้ให้ความหมายของเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตร

            ระบบเกษตรพันธสัญญา” หมายถึง ระบบการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรประเภทเดียวกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรฝ่ายหนึ่งกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่สิบรายขึ้นไป หรือกับสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ หรือกับวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรรมอีกฝ่ายหนึ่งที่มีเงื่อนไขการผลิต จำหน่าย หรือจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรหรือบริการทางการเกษตรอย่างหนึ่งอย่างใด โดยเกษตรกรตกลงที่จะผลิต จำหน่าย หรือรับจ้างผลิตผลิตผลทางการเกษตรตามจำนวน คุณภาพ ราคา หรือ ระยะเวลาที่กำหนดไว้ และผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรตกลงที่จะซื้อผลิตผลดังกล่าว หรือจ่ายค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ตามสัญญา โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนในกระบวนการผลิต เข่น เป็นผู้กำหนดวิธีการผลิต จัดหาพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกร
ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้การทำสัญญาการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรระหว่างผู้ประกอบธุรกิจเกษตรกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมไม่ถึงสิบรายแต่ไม่น้อยกว่าสองรายขึ้นไปประเภทใด ต้องนำระบบเกษตรพันธสัญญาตามพระราชบัญญัตินี้ไปใช้บังคับให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
              “ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร” หมายถึง บุคคลที่ประกอบธุรกิจการผลิต แปรรูป จำหน่าย หรือการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร หรือให้บริการด้านระบบการผลิตสินค้าหรือปัจจัยการผลิตทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา
               “เกษตรกร” หมายความถึง บุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม และให้หมายความรวมถึงสหกรณ์การเกษตรหรือกลุ่มเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม
                “เกษตรกรรม” หมายถึง การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การเพาะสัตว์น้ำ หรือเกษตรกรรมอื่นที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
                 “หน่วยงานของรัฐ” หมายถึง ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้ง
                  “คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา
                   “คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท” หมายถึง คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อมพิพาทกรุงทพมหานคร หรือคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัด แล้วแต่กรณี
                  “ข้อพิพาท” หมายถึง ข้อโต้แย้งที่เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่เกี่ยวกับสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา
               “รัฐมนตรี” หมายถึง รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ นั่นคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้มีอำนาจในการออกระเบียนหรือประกาศตามพระราชบัญญัติฉบับนี้

               สำหรับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา  มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นรองประธานกรรมการ คณะกรรมการโดยตำแหน่งรวม ๑๓ คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย อัยการสูงสุด ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย ประธานกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย นายกสภาทนายความ และผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน ๙ คน โดยรัฐมนตรีแต่งตั้งจากเกษตรกร จำนวน ๓ คน ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร ๓ คน และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านบริหารธุรกิจ เทคโนโลยีการเกษตร หรือเศรษฐศาสตร์ จำนวนไม่เกิน ๓ คน โดยมีผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายทำหน้าที่เลขานุการ


Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มนำ้มันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

        อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กำหนดไว้ ๑๐ ข้อ ดังนี้ (๑) เสนอแผนพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ (๒) กำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามให้เป็นไปแผนพัฒนาฯ (๓) กำหนดรูปแบบสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาและส่งเสริมให้นำรูปแบบสัญญาดังกล่าวไปใช้ (๔) ส่งเสริมให้มีการทำประกันภัยในระบบเกษตรพันธะสัญญา (๕) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้มีการตรากฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการเกษตรพันธสัญญา  (๖) ติดตาม ประสานงาน หรือเร่งรัดการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามแผนฯ (๗) ให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา โดยคำนึงถึงอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐด้วย (๘) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ดำเนินการตาม (๒) หรือ (๖)  และ (๙) ออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องต่างๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ สุดท้าย (๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย และได้ให้อำนาจคณะกรรมการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนคณะกรรมการได้ด้วย
                 นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ ทำหน้าที่ รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญาเสนอต่อคณะกรรมการ เพื่อประกอบการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จัดให้มีการศึกษาวิจัยหรือสนับสุนนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม พิจารณาปัญหาเกี่ยวกับระบบเกษตรพันธสัญญา และนำเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เผยแพร่ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการทำสัญญา การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เทคโนโลยีทางการเกษตรและการทำการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญา รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นใดที่คณะกรรมการมอบหมาย
                 กรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามพระราชบัญญัตินี้และผลของคดีถึงที่สุด หรือปรากฏข้อเท็จจริงว่าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีพฤติกรรมเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศโดยระบุรายละเอียดของการฝ่าฝืนหรือพฤติกรรม รวมทั้งระบุชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด การดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการ สำนักงานฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องรับผิดแม้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเป็นการกระทำโดยจงใจหรือกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
                                           Credit ภาพประกอบ :Achara Uthayopas

ระบบและกลไก
          การดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ในลำดับแรก ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่มีความประสงค์จะทำการเกษตรตามระบบเกษตรพันธสัญญาจะต้องจดแจ้งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร กับสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งสำนักงานฯ ต้องจัดทำทะเบียนและเปิดเผยให้ประชาชนทั่วไปไปได้รับทราบ ตรวจสอบได้ รวมทั้งเผยแพร่ในระบบสารสนเทศ สื่ออื่นๆที่ประชาชนเข้าถึงง่าย และปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันเสมอ หากผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรใด ประสงค์จะยกเลิกการจดแจ้ง ต้องทำเป็น หนังสือแจ้งต่อสำนักงานฯ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ทั้งนี้การเลิกประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาหรือการเลิกนิติบุคคล ไม่ว่าจะมีการแจ้งหรือไม่ ไม่มีผลให้สัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาสิ้นสุด
          ลำดับต่อมา การทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนไว้ ต้องจัดทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนและร่างสัญญา โดยส่งเอกสารให้กับสำนักงานฯ เพื่อตรวจสอบ และส่งให้เกษตรกรเพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาข้อมูลของเอกสารชี้ชวนและร่างสัญญาก่อนตกลงใจเข้าทำสัญญา เมื่อเกษตรกรตกลงใจทำสัญญา ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรจัดทำสัญญา โดยมีรายละเอียดตามที่กำหนดไว้ ซึ่งเอกสารชี้ชวนถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย และส่งสัญญาคู่ฉบับให้เกษตรกร ซึ่งเกษตรกรจะได้รับสัญญาคู่ฉบับในวันทำสัญญา หลังจากนั้นต่างฝ่ายก็ต่างปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา
          ข้อมูลเบื้องต้นที่ระบุไว้ในเอกสารชี้ชวน ต้องประกอบด้วย ข้อมูลทางพาณิชย์หรือข้อมูลอื่นใดอันเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเกี่ยวเนื่องกับสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญาที่ประสงค์จะชี้ชวนต่อเกษตรกร ข้อมูลแผนการผลิต เงินลงทุน คุณภาพ ตลอดจนประมาณการของจำนวนหรือปริมาณของผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่จะทำการผลิตหรือบริการตามสัญญา ระยะทางที่เหมาะสมในการขนส่งผลิตผลทางการเกษตร ประมาณการระยะเวลาคืนทุน ความคุ้มค่าในการผลิต และภาระความเสี่ยงที่อาจต้องแยกความรับผิดชอบหรือรับผิดชอบร่วมกัน ข้อมูลที่จำเป็นในกระบวนการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องตามสัญญาและให้รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานของพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ อาหาร ยา ปัจจัยการผลิต สารเคมี เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งที่ต้องนำมาใช้ในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรตามสัญญานั้น ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพและมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และข้อมูลอื่นที่กฎหมายกำหนด
          สำหรับสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา ต้องจัดทำเป็นหนังสือ ใช้ข้อความภาษาไทยที่เข้าใจง่าย หากมีศัพท์ทางเทคนิคจะต้องมีคำอธิบายประกอบ นอกจากนี้ ต้องมีรายละเอียดของชื่อคู่สัญญา สถานที่ติดต่อระหว่างคู่สัญญา และวันที่ทำสัญญา วัตถุประสงค์ของสัญญา โดยระบุลักษณะหรือประเภทของการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร และคุณภาพของผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ระยะเวลาในการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งต้องสอดคล้องกับระยะเวลาในการผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร หรือ ประมาณการระยะเวลาคืนทุน รายละเอียดของสถานที่ผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร โดยระบุขนาดพื้นที่และที่ตั้งของสถานที่ดังกล่าว หน้าที่ของคู่สัญญา ราคาและวิธีการคำนวณราคาวัตถุดิบและผลิตผลทางการเกษตร หากกำหนดราคาโดยอ้างอิงจากราคาตลาด ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าราคาตลาดนั้นจะกำหนดอย่างไร และใช้ราคาตลาด ณ เวลาใด หากเป็นสัญญาบริการทางการเกษตร ต้องกำหนดค่าตอบแทนและวิธีการคำนวณค่าตอบแทนให้ขัดเจน วันและสถานที่ส่งมอบ การชำระเงินในวันส่งมอบหรือก่อน/หลังวันส่งมอบกี่วัน เหตุยกเว้นไม่ปฏิบัติตามสัญญาเมื่อเกิดเหตุสุดวิสัย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ผู้รับความเสี่ยงในผลิตผลทางการเกษตร และความเสี่ยงทางการค้ากรณีจำหน่ายไม่ได้ตามราคาที่กำหนด การเยียวยาความเสียหายจากการผิดสัญญา สิทธิในการบอกเลิกสัญญา และรายละเอียดอื่นๆ ที่คณะกรรมการกำหนด ข้อตกลงอื่นใดที่ไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรถือว่าผิด ห้ามบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับสภาพพื้นที่ หรือภาวะตลาดเปลี่ยนแปลงไป ยกเว้นมีการชดเชยให้อีกฝ่ายหนึ่งอย่างเป็นธรรม และห้ามแบ่งสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรและเกษตรกร พันธสัญญาหรือการทำการใดๆเพื่อให้การทำสัญญาไม่เช้าในระบบเกษตรพันธสัญญา
          ในส่วนของกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หากเกิดการพิพาทขึ้นทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อน จึงจะมีสิทธินำข้อพิพาทไปสู่การพิจารณาของอนุญาโตลาการ หรือนำคดีไปสู่ศาล ซึ่งแบ่งเป็น ๒ คณะ คือ คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกรุงเทพมหานคร มีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้อำนวยการเขตกรุงเทพฯ ในท้องที่ที่เกิดเหตุ  และผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญก้านการเกษตร หรือ การบริหารธุรกิจซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งไม่เกิน ๓ คน เป็นกรรมการ โดยมีผู้แทนสำนักงาน ฯ  เป็นกรรมการและเลขานุการ และอีกคณะคือ คณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทประจำจังหวัด มี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อัยการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย พาณิชย์จังหวัด ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม นายอำเภอในท้องที่ที่มีข้อพิพาท และผู้ทรงคุณวุฒิมีความรู้ความเชี่ยวชาญก้านการเกษตร หรือการบริหารธุรกิจซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งไม่เกิน ๓ คน เป็นกรรมการ โดยมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ อย่างไรก็ตามหากพื้นที่ที่เกิดข้อพิพาทมากกว่า ๑ จังหวัด ให้คณะกรรมการฯ จังหวัดที่มีพื้นที่มากกว่าเป็นคณะกรรมการไกล่เกลี่ย ทั้งนี้จะต้องดำเนินการไกล่เกลี่ยในแล้วเสร็จภายใน ๒๐ วัน นับจากวันที่ประธานคณะกรรมการฯได้รับคำร้อง และสามารถขยายเวลาได้ไม่เกิน ๑๐ วัน โดยต้องแจ้งคู่กรณีเป็นหนังสือล่วงหน้าก่อนครบกำหนด หากสามารถตกลงกันได้ให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และถ้าหากตกลงกันไม่ได้ให้จำหน่ายข้อพิพาท และคู่สัญญามีสิทธินำข้อพิพาทไปสู่กระบวนการของอนุญาโตตุลาการหรือนำคดีไปสู่ศาล


                      Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเพชรบุรี กรมวิชาการเกษตร

          บทลงโทษตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบปรับ  ซึ่งมี ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ และผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยให้มีทั้งในเขตกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด  ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจทางการเกษตร ไม่จดแจ้งประกอบธุรกิจ/แจ้งยกเลิก ไม่ส่งเอกสารชี้ชวน ไม่ส่งสัญญาให้เกษตรกรหรือทำการแบ่งสัญญา ต้องระวางโทษปรับ หรือ คู่สัญญาฝ่าฝืนกระทำผิดในระหว่างการไกล่เกลี่ย ปัจจุบันสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดตั้งสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ขึ้น และเร่งดำเนินการให้คณะกรรมการพิจารณากฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาเป็นลำดับ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบเนื้อหาและวิธีการปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าว คงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง ท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจรายละเอียดของพระราชบัญญัติฉบับนี้ สามารถติดต่อสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการฯ ได้ที่โทรศัพท์ ๐ ๒๒๘๑ ๕๙๕๕ ต่อ ๓๕๔ หรือ E-mail : moaccontractfarming@gmail.com 
          ในภาพรวมแล้ว กฎหมายว่าด้วยระบบเกษตรพันธสัญญา พยายามบัญญัติขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรสูงสุด ด้วยเล็งเห็นว่า การทำการเกษตรลักษณะดังกล่าว ความเสี่ยงมักจะถูกผลักไปให้เกษตรกรมากกว่าบริษัทซึ่งเป็นผู้ประกอบการ อันที่จริงแล้ว ใดๆในโลกนี้ ย่อมมีสองด้านเสมอ ขึ้นกับว่าผู้มองจะมองในแง่มุมใด ผ่านประสบการณ์อย่างไร เพราะหากทั้งสองฝ่ายได้รับผลประโยชน์โดยเท่าเทียมกัน กระจายสุข กระจายทุกข์ ชดเชยความขาดความเกินระหว่างกัน กฎหมายที่บัญญัติไว้อย่างละเอียดและรัดกุมอาจไม่จำเป็นต้องมีเลยก็ได้ หรืออย่างไร

(ขอบคุณ : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์/ข้อมูล)

หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
ฉบับเดือนกันยายน 2560

กักกันพืชกับการมีส่วนร่วมของสังคม


“…ทุกคนจะต้องตั้งมั่นในความสามัคคีและความไม่ประมาท จะต้องใช้ปัญญา และความรอบคอบ คิดอ่านก่อนที่จะกระทำการทั้งปวง จะต้องร่วมกันป้องกันแก้ไขและกำจัดสิ่งชั่วร้ายเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ หมั่นประกอบสัมมนาอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต คิดถึงประโยชน์สุขส่วนรวมของบ้านเมืองเป็นนิตย์เป็นสำคัญ    ...
พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสขึ้นปีใหม่
วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในหลายโอกาสว่าด้วยเรื่องความสามัคคีและความไม่ประมาท ซึ่งต้องถึงพร้อมด้วยปัญญา ให้กับประชาชนคนไทย ได้น้อมนำไปปฏิบัติ สร้างสังคมที่มีความอยู่ดีกินดี และเกิดความยั่งยืนในการพัฒนา ประเทศใดถ้าขาดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะด้วยแล้ว เป็นไปได้ยากที่ประเทศนั้นจะอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข
          เดือนสิงหาคมของทุกปี มีกิจกรรมที่สำคัญหนึ่งอย่างสำหรับสังคมไทย นั่นคือ วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิ์ติ์พระบรมราชินีนารถในรัชกาลที่ ๙  ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกๆปี และยังเป็นวันแม่แห่งชาติอีกด้วย ช่วงวันดังกล่าวจึงอบอวลไปด้วยความรักระหว่างแม่กับลูก ด้วยสายใยความผูกพันที่ไม่สามารถตัดขาดจากกันได้ สำหรับผู้คนที่อยู่นอกวงการกักกันพืช อาจจะไม่ทราบว่าเดือนสิงหาคมยังมีวันหนึ่งที่เป็นวันสำคัญสำหรับผู้คนในวงการกักกันพืช นั่นคือ วันที่ ๑๘ สิงหาคม วันกักกันพืชไทย
          การกำหนดวันที่ ๑๘ สิงหาคม เป็น วันกักกันพืชไทย เกิดขึ้นจากการตราพระราชบัญญัติป้องกันโรคและศัตรูพืช พ.ศ. ๒๔๙๕ เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๙๕ ในยุคที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ ๕๒ เล่มที่ ๖๙ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๙๕ เป็นกฎหมายฉบับสั้น ๆ มีเพียง ๑๔ มาตราเท่านั้น ดังนั้นวันที่ ๑๘ สิงหาคม ของทุกปีจึงเป็นวันกักกันพืชไทย เหตุผลความจำเป็นในการตรากฎหมายฉบับนี้ คือ การปกป้องการระบาดเข้ามาของศัตรูพืชต่างถิ่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจได้ โดยใช้หลักการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชในการวินิจฉัย
          ฉีกซอง ฉบับเดือนสิงหาคม ขอนำท่านผู้อ่านไปรับทราบแนวทางการเฝ้าระวังศัตรูพืชของประเทศยักษ์ใหญ่แห่งอเมริกาเหนือ สหรัฐอเมริกา วิธีปฏิบัติเป็นอย่างไร โปรดติดตาม


หลักการกักกันพืช
           หากจะกล่าวง่ายๆ หลักการสากลการกักกันพืช คือ การป้องกันไม่ให้ศัตรูพืชติดเข้ามา ดังนั้น ระบบกักกันที่มีประสิทธิภาพต้องพิจารณาจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเป็นสำคัญ หรือในทางวิชาการจะเรียกว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยง สำหรับการกักกันพืช จะใช้คำว่า การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช หรือ Pest Risk Analysis ซึ่งจะเห็นว่าระบบกักกันพืชให้ความสำคัญกับศัตรูพืชและการจัดการศัตรูพืชไม่ให้ติดเข้ามาในราชอาณาจักรมากกว่าชนิดพืช การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช จึงเป็นกระบวนการประเมินหลักฐานด้านชีววิทยา หรือด้านวิทยาศาสตร์อื่น ๆ และด้านเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาว่าศัตรูพืชชนิดหนึ่งควรได้รับการควบคุมหรือไม่ และมาตรการสุขอนามัยพืชใดที่เหมาะสมต่อการจัดการศัตรูพืชชนิดนั้น การวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช จึงแบ่งได้ 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย การเริ่มกระบวนการ (initiation) การประเมินความเสี่ยง (pest risk assessment) และการจัดการความเสี่ยง (pest risk management)
         ขั้นตอนที่ 1 การเริ่มกระบวนการ (Initiation)  สามารถเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์เส้นทางศัตรูพืช (PRA Initiate by Pathway) ความจำเป็นที่ต้องวิเคราะห์ความเสี่ยงจากศัตรูพืชใหม่หรือต้องมีการทบทวนของเดิมนั้น อาจเกิดขึ้นจากการนำเข้าสินค้าที่เป็นพืช หรือผลิตผลพืชชนิดใหม่ (new commodity)หรือจากแหล่งใหม่ (new origin) ซึ่งอาจจะมีศัตรูพืชชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้ หรือการนำเข้าพืชชนิดใหม่เข้ามาเพื่อใช้ในการทดลอง เช่น การคัดเลือกพันธุ์ หรืองานวิจัยอื่น ๆ หรือ ตรวจพบว่าศัตรูพืชสามารถเข้ามาได้ทางอื่น ๆ นอกเหนือจากสินค้าที่นำเข้า เช่น สามารถระบาดเข้ามาได้โดยธรรมชาติ หรือติดมากับ container เป็นต้น
          แนวทางหนึ่ง คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากศัตรูพืช (PRA Initiation by Pest) การเริ่มต้นวิเคราะห์ความเสี่ยงแนวทางนี้ เกิดขึ้นจากหลายกรณี ทั้งในภาวะฉุกเฉินเนื่องจากตรวจพบการทำลายของศัตรูพืชหรือเกิดการระบาดของศัตรูพืชชนิดใหม่ในพื้นที่ประเมินความเสี่ยง หรือตรวจพบศัตรูพืชชนิดใหม่มากับสินค้าที่นำเข้า หรือ นักวิชาการได้ตรวจพบอันตรายจากศัตรูพืชชนิดใหม่ รวมทั้งมีผู้ขอนำเข้าศัตรูพืชและเชื้อจุลินทรีย์อื่น ๆ เพื่อมาทำการทดลองวิจัย หรือมีการตรวจพบศัตรูพืชซ้ำบ่อยครั้ง อีกทั้งพบว่าลักษณะทางพันธุกรรมของศัตรูพืชเปลี่ยนไป ทำให้ความรุนแรงของศัตรูพืชเปลี่ยนไปด้วย
          อีกแนวทาง คือ การวิเคราะห์ความเสี่ยงจากนโยบายของรัฐ (PRA Initiation by Policy) ซึ่งเกิดจากรัฐบาลมีนโยบายทบทวนมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสุขอนามัยพืช หรือเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับมาตรการกักกันพืช รวมทั้งมีวิธีการใหม่ในการกำจัดศัตรูพืช หรือ มีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับศัตรูพืชหรือสินค้านั้น ๆ ตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ประเมิน เช่น เปลี่ยนแปลงเขตแดนอันเนื่องมาจากประเทศเกิดใหม่ หรือ ถูกท้าทาย (challenge) โดยประเทศอื่น หรือได้รับคำแนะนำจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น FAO, RPPO เป็นต้น
   
    
          ขั้นตอนที่ 2 การประเมินความเสี่ยงศัตรูพืช (Pest Risk Assessment) เป็นการจำแนกศัตรูพืชที่ได้จากขั้นตอนที่ 1 ว่ามีศัตรูพืชชนิดใดบ้างที่มีลักษณะตรงตามคำจำกัดความของ ศัตรูกักกันพืช” (quarantine pest) แล้วจึงประเมินแนวโน้มที่ศัตรูพืชเหล่านั้นติดเข้ามาเจริญเติบโตและแพร่ระบาดในพื้นที่ประเมินความเสี่ยง และผลกระทบที่ตามมาจากศัตรูพืชนั้น ซึ่งการจำแนกประเภทศัตรูพืช (Pest Categorization) ให้เป็น “quarantine pest”  จะต้องเป็นศัตรูพืชที่มีศักยภาพที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญต่อพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และยังไม่มีในพื้นที่นั้น หรือมีแต่ยังไม่ระบาดแพร่หลายและได้รับการป้องกันอย่างเป็นทางการปัจจัยที่จะต้องพิจารณา ได้แก่ ลักษณะของศัตรูพืช (identity of pest) การมีหรือไม่มีศัตรูพืชนั้นในพื้นที่ที่ได้รับการประเมิน มีการป้องกันกำจัดอย่างเป็นทางการหรือไม่ และมีศักยภาพที่จะระบาดในพื้นที่ที่ประเมินความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงอาจเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจตามมา
           สำหรับการประเมินศักยภาพความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น (Assessment of Potential Economic Consequence) พิจารณาจากประเภทของผลกระทบ (Type of Effect) และผลทางเศรษฐกิจที่ตามมา (Economic Consequences) กล่าวคือ ผลกระทบที่เกิดจากศัตรูพืชโดยตรง (direct effect) ได้แก่ ศัตรูพืชที่ทำความเสียหายต่อพืชหรือผลิตผลโดยตรง ซึ่งจะต้องพิจารณาจากชนิดพืชต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ประเภท ปริมาณ และความถี่ของความเสียหายที่ได้รับ ผลิตผลที่ลดลงและคุณภาพของผลิตผลที่ต่ำ รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการก่อให้เกิดความเสียหายจากศัตรูพืช อัตราการระบาด ค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
            ผลกระทบอีกทางหนึ่ง คือ ผลกระทบทางอ้อม (indirect effect) เป็นผลกระทบที่ไม่เกิดแก่พืชหรือผลผลิตโดยตรงแต่เป็นที่เกิดจากการที่ศัตรูพืชนั้นเข้ามา เช่น ผลกระทบต่อตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้งมาตรการต่าง ๆ ที่ต่างประเทศนำมาใช้เพื่อกีดกันสินค้าเหล่านั้น ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายและปัจจัยการผลิต  ผลกระทบต่อความต้องการของผู้ซื้อทั้งภายในและต่างประเทศสืบเนื่องจากคุณภาพของผลผลิตที่เปลี่ยนไป ผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการกำจัดศัตรูพืช ความยากลำบากในการกำจัดให้หมดไปหรือไม่ระบาดเพิ่มขึ้น และผลกระทบด้านสังคม เช่น การว่างงาน การสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
             การประเมินอีกส่วนหนึ่ง คือ การประเมินศักยภาพในการที่จะติดเข้ามาและแพร่ระบาด (Assessment of Potential Introduction and Spread) โดยพิจารณาศักยภาพในการติดเข้ามาของศัตรูพืช (Probability of Entry) ประกอบด้วย การพิจารณาโอกาสที่ศัตรูพืชติดมากับสินค้าในแหล่งผลิต ความน่าจะเป็นที่ศัตรูพืชมีชีวิตรอดระหว่างการขนส่งและจากการป้องกันกำจัดต่าง ๆ ในระหว่างเตรียมสินค้าจนกระทั่งถึงปลายทาง แหล่งและจำนวนจุดหมายปลายทางที่ส่งสินค้า ลักษณะการใช้ประโยชน์ของสินค้า รวมทั้งความยากง่ายในการตรวจพบศัตรูพืชที่ติดมา สำหรับศักยภาพในการเจริญเติบโตของศัตรูพืช (Probability of Establishment) พิจารณาจากมีพืชอาศัยของศัตรูพืชในพื้นที่ความเสี่ยงหรือไม่ หากมีจำนวนปริมาณมากน้อยเพียงไร และการกระจายของพืชอาศัยมีลักษณะเป็นอย่างไร ความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในพื้นที่ประเมิน ศักยภาพในการปรับตัวของศัตรูพืช วิธีการขยายพันธุ์ของศัตรูพืช และวิธีการดำรงชีวิตของศัตรูพืช 

               ศักยภาพอีกด้านที่ต้องประเมิน คือ ศักยภาพในการแพร่ระบาดของศัตรูพืช (Probability of Spread) พิจารณาสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการระบาดของศัตรูพืช การติดกับสินค้าหรือยานพาหนะที่นำสินค้าไปในแหล่งต่าง ๆ การใช้ประโยชน์ของสินค้า การมีพาหะนำโรคหรือศัตรูพืชในพื้นที่ประเมินหรือไม่มากน้อยเพียงใด ปริมาณศัตรูธรรมชาติของศัตรูพืชในแหล่งประเมิน
                ในส่วนของผลทางเศรษฐกิจที่ตามมา (Economic Consequences) การวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจของศัตรูพืช มีปัจจัยหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมกัน อาทิ เวลาและสถานที่ การวิเคราะห์ผลกระทบด้านการค้า และการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านอื่น ๆ เป็นต้น

              ขั้นตอนที่ 3 การจัดการความเสี่ยงศัตรูพืช (Pest Risk Management) เป็นการนำข้อสรุปของการวิเคราะห์ความเสี่ยงนำไปสู่การจัดการความเสี่ยง ว่าจะใช้มาตรการใดจัดการกับความเสี่ยง ทั้งนี้ความเสี่ยงที่เป็นศูนย์ (Zero risk) ไม่ใช่ทางเลือกที่มีเหตุผล ดังนั้นความเสี่ยงจึงควรจัดการให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสามารถปฏิบัติได้ หรืออีกนัยหนึ่งการจัดการความเสี่ยงต้องมีวิธีการการจัดการกับความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยสามารถชี้วัดผลและสามารถแนะนำวิธีที่เหมาะสมที่จะจัดการความเสี่ยงต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ ถ้ามีข้อให้เลือกหลายวิธีควรคำนึงถึงข้อจำกัดทางการค้า หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมาด้วย การจัดการความเสี่ยง ปัจจัยในการพิจารณาต้องประกอบด้วย ระดับของความเสี่ยง (Level Risk) ข้อมูลทางวิชาการ (Technical Information Required) การยอมรับความเสี่ยง ( Acceptability of Risk) การเลือกวิธีที่เหมาะสมในการจัดการความเสี่ยง (Appropriate Risk Management Option)
การจัดการความเสี่ยงยังต้องนำประเด็นของประสิทธิภาพในการป้องกัน (ทางชีววิทยา) ต้นทุนและผลประโยชน์ที่จะได้รับ ผลกระทบจากข้อกำหนดที่มีอยู่ ผลกระทบต่อการค้า สังคม นโยบายการกักกันพืช ประสิทธิภาพของข้อกำหนดที่มีต่อศัตรูพืชชนิดอื่น และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มาพิจารณาเพื่อให้ได้มาตรการในการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมที่สุด สำหรับวิธีการต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดการความเสี่ยง (Pest Risk Management Options) แบ่งได้ 4 ลักษณะใหญ่ๆ คือ (1) วิธีการกำจัดศัตรูพืชที่ใช้กับสินค้าโดยตรง เช่น การรมด้วยแก๊สพิษ การอบด้วยไอน้ำ เป็นต้น (2) การป้องกันหรือการลดระดับการทำลายศัตรูพืชในแหล่งผลิต เช่น การกำหนดให้มีเวลาตรวจและกำจัดศัตรูพืชในแหล่งปลูก (3) การกำหนดแหล่งปลอดศัตรูพืชสำหรับสินค้าในแหล่งผลิต และ (4) การห้ามนำเข้า
     
   
                อย่างไรก็ตาม  ในระหว่างกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชทั้ง 3 ขั้นตอน จะต้องมีการสื่อสารความเสี่ยง (Risk communication) ไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการกำหนดมาตรการสุขอนามัยพืชและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการกักกันพืช


ALB กับ APHIS USDA
          สำหรับกรณีตัวอย่างที่ “ฉีกซอง” จะขอนำเสนอในโอกาสนี้คือการจัดการความเสี่ยงของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านกักกันพืชและสัตว์ของสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า Animal and Plant Health Inspection Service หรือ APHIS อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงเกษตร สหรัฐอเมริกา หรือ United States Department of Agriculture (USDA)  กรณีดังกล่าว คือ มาตรการที่ใช้สำหรับการเฝ้าระวังด้วงหนวดยาว ศัตรูป่าไม้ ที่เรียกว่า Asian Longhorned Beetle (ALB) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anoplophora glabripennis  
Cr :  www.aphis.usda.gov
   
       ด้วงหนวดยาว มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่คาบสมุทรเกาหลีและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน อยู่ในวงศ์ Cerambycidae เป็นพวกด้วงเจาะไม้ ตัวเต็มวัยมีขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 1-1.5 นิ้ว หนวดมีขนาดยาวกว่าลำตัว ลักษณะเป็นปล้องสีขาวสลับดำ ลำตัวมีสีดำและมีจุดสีขาวกระจายทั่วตัว ตัวเมียขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ โดยจะวางไข่ไว้ภายในเปลือกของไม้เนื้อแข็ง ตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ราว 90 ฟอง ภายใน 2 สัปดาห์หลังจากการวางไข่  ไข่จะฟักเป็นตัวหนอนกัดกินเนื้อไม้เป็นอาหาร เจริญเติบโตอยู่ภายใต้เนื้อไม้ รวมระยะการเป็นตัวหนอนทั้งหมด 13 ระยะ โดยเจาะเป็นอุโมงค์อยู่ตามกิ่งและลำต้นของต้นไม้ จะพบเป็นรูอย่างชัดเจน มีขุยของเนื้อไม้หลุดออกมาอยู่ตรงบริเวณปากรู และบริเวณโคนต้นไม้ ก่อนที่จะเข้าดักแด้ และพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย ใช้เวลาราว 13-14 วัน จากนั้นจะออกจากรูที่เจาะเป็นอุโมงค์ออกมา ขนาดรูอาจกว้างถึง   เมื่อตัวเต็มวัยออกมาจากรูได้ จะเริ่มกัดกินใบไม้และเปลือกไม้เป็นอาหาร ใช้เวลา 10-14 วัน ก่อนที่จะผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป ซึ่งตัวเต็มวัยสามารถออกหากินและผสมพันธุ์เป็นบริเวณกว้างราว 400 หลา จากจุดที่ออกมาจากการเป็นดักแด้ เราจะสังเกตเห็นด้วงหนวดยาวในระยะตัวเต็มวัยได้ในช่วงเดือนเมษายน – ธันวาคม ระยะวางไข่จึงอยู่ในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน และฝักออกมาเป็นตัวหนอนในช่วงฤดูหนาว ความรุนแรงของการทำลายในระยะ 3-4 ปีแรก ถ้าต้นไม้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ จะยังไม่แสดงอาการมาก แต่ต้นไม้จะเริ่มตายเมื่อเข้าปีที่ 10 15 ช้าเร็วขึ้นกับสภาพแวดล้อมและความสมบูรณ์ของต้น
Cr :  www.aphis.usda.gov

          ต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยของด้วงหนวดยาวชนิดนี้ ในสหรัฐอเมริกา รวม 12 จีนัส ประกอบด้วย Ash (Fraxinus) Birch (Betula) Elm (Ulmus) Golden rain tree (KoelreuteraiI) Horse chestnut / buckeye (Aesculus) Katsura (Cercidiphyllum) London plane tree (Platanus) Maple (Acer) Minosa (Albizia) Mountain ash (Sorbus) Poplar (Populus) และ Willow (Salix) ทั้งนี้ พบมากที่สุดในต้น Maple Elm และ Willow  ด้วงหนวดยาวดังกล่าวจึงสร้างความเสียหายให้กับอุตสาหกรรม maple syrup  อุตสาหกรรมป่าไม้ สถานเพาะเลี้ยงต้นไม้ ตลอดจนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วย
           การเข้ามาของด้วงหนวดยาวชนิดนี้ในพื้นที่ทวีปอเมริกาเหนือ พบรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 1996 ที่ New York ต่อมาเดือนกรกฎาคม 1998  พบที่ Chicago รัฐ Illinois เดือนตุลาคม 2002 พบที่ Jersey City รัฐ New Jersey หลังจากนั้นมีรายงานการพบที่ Toronto ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนกันยายน 2003 และในเดือนสิงหาคม ปีต่อมาก็พบในเมือง Middle Six/Union Countries รัฐ New Jersey  ก่อนที่จะพบในเมือง Worcester Country รัฐ Massachusetts ในเดือนสิงหาคม 2008 และขยายไปเมือง Suffolk Country รัฐเดียวกันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2010 สันนิษฐานว่าการเข้ามาของด้วงหนวดยาวจากแหล่งกำเนิดที่ไกลถึงคาบสมุทรเกาหลีและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แพร่มายังประเทศในแถบยุโรปก่อน โดยมีรายงานการพบในโปแลนด์ เยอรมัน ออสเตรีย ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ก่อนที่จะเข้าสู่ทวีปอเมริกาเหนือ คาดว่าน่าจะติดมากับลังไม้ (wood packaging) ที่ใช้เป็นภาชนะบรรจุหีบห่อในการขนส่งระหว่างกัน ประเด็นการเข้ามาตั้งรกรากของศัตรูพืชต่างถิ่น เป็นประเด็นที่ทาง APHIS ให้ความสนใจมาก เพราะเมื่อศัตรูพืชต่างถิ่นเข้ามา จะไม่มีศัตรูธรรมชาติอยู่เลย หรือถ้ามีก็มีน้อยมาก พืชอาศัยของศัตรูพืชต่างถิ่นไม่มีภูมิคุ้มกันตนเองตามธรรมชาติ (เพราะไม่เคยเผชิญกับศัตรูชนิดนี้มากก่อน จึงไม่ได้สร้างภูมิคุมกันตามธรรมชาติไว้ ) ยิ่งไปกว่านั้น หากศัตรูพืชต่างถิ่นตั้งรกรากได้และสามารถรุกรานและแข่งขันกับแมลง/ศัตรูพืชชนิดอื่นๆ ซึ่งที่มีอยู่เดิม จะเป็นปัญหาต่อระบบนิเวศในภาพรวมได้
Cr :  www.aphis.usda.gov

          วิธีการดำเนินการของ APHIS เพื่อหยุดยั้งการระบาดของด้วงหนวดยาวดังกล่าว อาศัยกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า Plant Protection Act ปี 2000 กำหนดมาตรการในการนำเข้าโดยให้ลังไม้และบรรจุภัณฑ์ไม้จากทุกแหล่งที่นำเข้ามาจะต้องผ่านกระบวนการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธี Heat Treatment หรือ การรมด้วยสารรมตามวิธีการที่กำหนด และประทับตราตามมาตรฐาน ISPM หมายเลข 15  นอกจากนี้ การดำเนินการเพื่อกำจัดด้วงหนวดยาวดังกล่าว รัฐบาลกลางได้ร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น เพื่อลดจำนวนประชากรและกำจัดให้หมดสิ้นไป ภายใต้คำแนะนำของ APHIS ประกอบด้วย การกำหนดเขตกักกันในระยะ 1.5 ไมล์จากต้นไม้ที่พบการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาว โดยห้ามมีการเคลื่อนย้ายพาหะทุกชนิดออกนอกพื้นที่กักกัน การสำรวจต้นไม้อาศัยของดวงหนวดยาวทั้งบริเวณรอบต้นและบนต้นไม้ เพื่อหาร่องรอยของการทำลาย  การเคลื่อนย้ายและกำจัดต้นไม้อาศัยที่มีความเสี่ยงสูงและต้นที่ถูกทำลายในเขตกักกัน การฉีดสารเคมีชนิดดูดซึมเข้าลำต้นไม้ที่มีเป็นพืชอาศัยและยังไม่มีการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาว ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันกำจัด และสร้างการรับรู้และสื่อสารกับสาธารณะให้เข้าใจไปในทางเดียวกัน
          การกำหนดเขตกักกันศัตรูพืชสำหรับด้วงหนวดยาวชนิดนี้ เมื่อมีการตรวจพบการเข้าทำลาย APHIS และหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น จะร่วมกันประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม โดยกักกันไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายและแพร่ระบาดออกไปด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายศัตรูพืชและพาหะของศัตรูชนิดนี้ไม่ให้เคลื่อนย้ายออกไปจากจุดที่พบการเข้าทำลาย ซึ่งจะเป็นการป้องกันเบื้องต้นที่จะไม่ให้ศัตรูพืชชนิดนี้แพร่กระจายออกไป
Cr :  www.aphis.usda.gov

          เจ้าหน้าที่ของ APHIS ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นจะทำการสำรวจบริเวณที่พบการเข้าทำลายโดยละเอียด เพื่อกำหนดขอบเขตของเขตควบคุมศัตรูพืช โดยส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่รัศมี 1.5 ไมล์จากจุดที่พบรอยเจาะออกมาของด้วงหนวดยาวชนิดนี้ และรัศมี 0.5 ไมล์ จากจุดที่พบร่องรอยของไข่ ภายใต้ข้อกำหนดของการกักกันนี้จะรวมด้วงหนวดยาวในทุกระยะของวงจรชีวิต ท่อนฟืนจากต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัย ไม้แปรรูปที่ยังไม่แห้งสนิท รวมไปถึงชิ้นส่วนของต้นไม้ที่เป็นพืชอาศัยทุกส่วน รากไม้ ตอไม้ ต้นกล้า กิ่ง ก้าน รวมถึงเศษไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 0.25 นิ้วขึ้นไป สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกไปนอกเขตควบคุมได้เป็นอันขาด ตามกฎระเบียบของรัฐบาลท้องถิ่น เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากผู้ใดฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกฎหมาย ประเด็นสำคัญสำหรับการควบคุมการระบาดของด้วงหนวดยาวชนิดนี้ คือ การค้นพบการระบาดของด้วงชนิดนี้ให้เร็วที่สุด ซึ่งจากการศึกษาของ APHIS กำหนดให้มี Year-round survey ประกอบด้วย การค้นหาต้นไม้ที่ถูกด้วงหนวดยาวเข้าทำลายและกำหนดขอบเขตของการทำลาย กำหนดเขตกักกันศัตรูพืช พิจารณาตัดสินใจว่าด้วงหนวดยาวมีการแพร่ระบาดออกไปจากเขตกักกันหรือไม่ ถ้ามีให้ขยายพื้นที่ให้ครอบคลุม โดยจัดเป็นพื้นที่ควบคุมศัตรูพืช และพิจารณาประกาศยกเลิกเขตกักกันเมื่อสามารถควบคุมกำจัดศัตรูพืชนั่นได้
          รูปแบบของการสำรวจต้นไม้พืชอาศัย จะใช้ทั้งกล้องส่องทางไกลจากพื้นดินขึ้นไปบนต้นไม้ การปีนขึ้นไปดู หรือ การใช้รถกระเช้า โดยจะพิจารณาว่ามีร่องรอยของไข่ รูที่เจาะออกของตัวเต็มวัย ขุยไม้ และน้ำเลี้ยงที่ไหลออกมาจากรอยที่ถูกทำลาย ซึ่งแบ่งระดับความเข้มข้นของการสำรวจออกเป็น 3 ระดับ ระดับที่ 1 จะสำรวจจากจุดที่พบการเข้าทำลายในรัศมี 0.5 ไมล์ หากยังพบการเข้าทำลายมากกว่า 0.5 ไมล์ จะขยายเป็นระดับที่ 2 รัศมีจากจุดที่พบการระบาดที่ไกลที่สุดไปอีก 1 ไมล์ และหากยังพบการทำลายมากกว่ารัศมี 1 ไมล์ จะยกระดับความเข้มข้นของการกักกันเป็นระดับ 3 ครอบคลุมพาหะทุกชนิด การเคลื่อนย้าย สถานเพาะเลี้ยง และต้น Mable ทุกต้น
Cr :  www.aphis.usda.gov

          สำหรับการการเคลื่อนย้ายและทำลายต้นที่ถูกด้วงหนวดยาวเข้าทำลาย เป็นการลดจำนวนประชากรของด้วงหนวดยาว และลดความรุนแรงลง เมื่อมีการตรวจพบร่องรอยการเข้าทำลายเพียง 1 จุด เจ้าหน้าที่จะแจ้งไปยังเจ้าของพื้นที่นั้นให้ทราบก่อนที่จะเข้าไปดำเนินการ และหากในบริเวณนั้น มีพืชอาศัยอยู่ พืชอาศัยที่อยู่โดยรอบในรัศมี 0.25 ไมล์จะต้องถูกดำเนินการด้วย โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเคลื่อนย้ายต้นไม้ที่ถูกเข้าทำลาย มาย่อยให้เป็นชิ้นไม้ขนาดเล็กไม่เกิน 1 นิ้ว มิเช่นนั้นด้วงหนวดยาวจะกลับเข้ามาทำลายได้ หลังจากนั้น ต้องมีการปลูกพืชคลุมดิน ก่อนที่จะมีการปลูกทดแทน ซึ่งต้องไม่ใช่พืชอาศัยของด้วงหนวดยาวดังกล่าว
Cr :  www.aphis.usda.gov

          กรณีการใช้สารเคมี จะใช้สาร Immidacloprid  ฉีดเข้าลำต้น เพื่อลดจำนวนประชากรของด้วงหนวดยาว และป้องกันไม่ให้ด้วงหนวดยาวเข้าทำลาย โดยจะฉีดเข้าลำต้นหรือฉีดลงพื้นดินในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ช่วงต้นฤดูร้อน และช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงเกิดขึ้นของตัวเต็มวัย กรณีการฉีดเข้าลำต้น สารเคมีจะออกฤทธิ์ประมาณ 1-3 สัปดาห์ ส่วนการฉีดเข้าไปในพื้นดิน สารเคมีจะออกฤทธิ์ได้ 3 เดือน ซึ่งในรอบปีหนึ่งต้องมีการใช้สารจำนวน 3 ครั้ง เพื่อให้สามารถควบคุมด้วงหนวดยาวได้ แต่ไม่สามารถกำจัดได้โดยสิ้นเชิง ปัจจุบัน USDA ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับวิธีป้องกันกำจัด วิธีการตรวจหาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ตลอดจนการกระจายการระบาดของด้วงหนวดยาว พฤติกรรม และลักษณะของ DNA
Cr :  www.aphis.usda.gov

          ประเด็นสำคัญในการเฝ้าระวังและการกำจัดศัตรูพืชกักกัน คือ การสื่อสารความเสี่ยงให้สาธารณะได้รับทราบและรณรงค์ขอความร่วมมือในการเฝ้าระวังร่วมกันในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ การจัดรณรงค์การตรวจหาด้วงหนวดยาวในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ด้วงหนวดยาวเป็นตัวเต็มวัย ระบบการรายงานการตรวจพบผ่านระบบอินเตอร์เน็ท การแจ้งทางสายด่วน การจัดนิทรรศการในพื้นที่มีความเสี่ยง ซึ่งมี 3 รัฐด้วยกัน ได้แก่ New York Massachusetts และ Ohio พร้อมคำแนะนำอย่างละเอียดในการเก็บตัวอย่าง การระบุพิกัดการตรวจพบ และการบันทึกภาพ 3 มิติ เพื่อประโยชน์ในการจำแนก รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ที่อยู่ในเขตกักกันศัตรูพืชและเขตควบคุมศัตรูพืชอย่างเคร่งครัด ณ ปัจจุบันด้วงหนวดยาวในสหรัฐอเมริกายังคงไม่สามารถกำจัดให้หมดสิ้นไปได้ แต่สามารถเฝ้าระวังได้ในระดับหนึ่ง พร้อมกับเรียนรู้และศึกษาพฤติกรรมของด้วงหนวดยาว และให้ความรู้กับผู้เกี่ยวข้องไปพร้อมกัน ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ
          
       Cr :  www.aphis.usda.gov
   
       งานกักกันพืช เป็นงานชิ้นเล็กๆ สำหรับระบบการผลิตทางการเกษตร แต่ก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการทำการเกษตรในภาพรวม ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การเพิ่มประสิทธิภาพและการหาแนวร่วมในการทำงานเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่อาจเพิกเฉยได้ คงถึงเวลาแล้วที่จะปรับระบบงานกักกันพืชของไทย ให้เป็นงานที่ทุกคนมีส่วนร่วม พลังจากทุกภาคส่วน จะสร้างความเข้มแข็งให้การเกษตรไทยได้จริง ขอพลังจงอยู่กับท่าน


(ขอบคุณ : https://www.aphis.usda.gov/publications/plant_health/2016/book-alb.pdf
https://www.aphis.usda.gov/plant_health/plant_pest_info/asian_lhb/downloads/alb_response_guidelines.pdf , สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร / ข้อมูล)

หมายเหตุ : ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
ฉบับเดือนสิงหาคม 2560

ปาล์มน้ำมันกับเกษตรกรรมยั่งยืน


“…การทำการเกษตรกรรมนั้นจะต้องมีวิชาการ วิชาการแผนใหม่ สมัยใหม่ ที่ก้าวหน้า เช่น ใช้ปุ๋ย วิธีใช้ปุ๋ย วิธีใช้ยาต่างๆ วิธีใช้เครื่องกลต่างๆ อันนี้ทุกคนก็ปรารถนาที่จะก้าวหน้าเป็นคนสมัยใหม่ เป็นคนที่ใช้วิชาการวิทยาการแผนใหม่ คือ หมายความว่าอะไร เครื่องจักรกลทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ค้นคว้ามาก็ได้ใช้ ในข้อนี้ ต้องคิดดีๆ บางคนมุ่งที่จะเป็นคนสมัยใหม่ มุ่งจะเป็นคนก้าวหน้า ใช้วิชาการ ใช้วิทยาการ ใช้ที่เรียกว่าเทคโนโลยี คำนี้ก็คงจะเข้าใจ เทคโนโลยีก็หมายความถึงเครื่องกลต่างๆ ที่เขาค้นคว้ามา เขาเอามาขายเราในราคาแพง แล้วก็เวลาปฏิบัติก็ต้องมีความรู้ช่างกล มีความรู้ในทางวิชาการมากขึ้น ข้อนี้เป็นข้อดีเหมือนกันที่จะก้าวหน้า แต่หมายความว่าทุกคน สมาชิกทุกคน ต้องเรียนรู้วิชาการให้ใช้วิทยาการต่างๆ นี้ให้ถูกต้อง ถ้าใช้ไม่ถูกต้องก็จะเกิดผลเสียหายได้…”
                                      พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
จากหนังสือ น้อมนำตามคำพ่อประมวลพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดพิมพ์โดย สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรกฎาคม ๒๕๕๔

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นกษัตริย์เกษตรโดยแท้ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถและมีความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการเกษตรและบริบทของสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง  สามารถรับรู้จากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เช่นกรณีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อพัฒนาการเกษตร ไม่ใช่เพียงแต่การนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเทคโนโลยีนั้น อาจส่งผลเสียได้ในภายภาคหน้า จำเป็นต้องมีการเรียนรู้และทำความเข้าใจเทคโนโลยีนั้นอย่างถ่องแท้ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรของตนได้
          สำหรับปาล์มน้ำมันที่นำเสนอใน “ฉีกซอง” ฉบับเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ เป็นเรื่องราวของมาตรฐานในการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ว่ากันว่าพระยาประดิพัทธ์ภูบาลเป็นผู้นำเข้าปาล์มน้ำมันพันธุ์เทเนอร่าจากประเทศมาเลเชียมาปลูกเป็นไม้ประดับที่สถานีทดลองยางคอหงส์  จังหวัดสงขลา  ในราวปี พ.ศ. 2480 เป็นคนแรก จากนั้นหม่อมเจ้าอมรสมานลักษณ์ได้ขยายไปปลูกเพื่อการค้าที่ตำบลบ้านปริก  อำเภอสะเดา  จังหวัดสงขลา  พื้นที่เริ่มแรกประมาณ 1,000 ไร่  ก่อนที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายในพื้นที่ภาคใต้ โดยแหล่งปลูกหลักของโลกอยู่ที่มาเลเซียและอินโดนีเชีย ทั้งนี้ การปลูกปาล์มน้ำมันถูกหลายฝ่ายมองว่าเป็นสาเหตุสำคัญการบุกรุกทำลายป่าในเขตเส้นสูตรศูนย์ จึงมีความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานขึ้นมา เพื่อควบคุมให้การปลูกปาล์มน้ำมันเป็นไปได้อย่างยั่งยืน สิ่งใดคือยั่งยืน โปรดติดตามใน “ฉีกซอง” ฉบับนี้
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

ปาล์มน้ำมัน – ทำลายป่า?
          ข้อมูลจาก USDA เมื่อปี 2558 และข้อมูลของ FAO มีความสอดคล้องกันเรื่องความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตามจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ทั้งทางด้านอาหารและพลังงาน ในช่วง 10 ปีย้อนหลัง ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.1 ต่อปี โดยเพิ่มจาก 34.2 ล้านตันในปี 2549 เป็น 58.5 ล้านตันในปี 2558  เมื่อคิดเทียบสัดส่วนแล้ว พบว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ศักยภาพในการผลิตน้ำมันต่อพื้นที่สูงถึง 6-10 เท่า เมื่อเทียบกับพืชน้ำมันชนิดอื่น จึงส่งผลให้การผลิตน้ำมันปาล์มสูงถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตพืชน้ำมันชนิดอื่น
          อย่างไรก็ตาม ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่อ่อนไหวต่ออุณหภูมิและปริมาณน้ำสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส และสภาพฝนแล้งเกินกว่า 3 เดือน จะให้ผลผลิตต่ำ ไม่คุ้มกับการลงทุน พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมันต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 300 เมตร ความลาดเอียงไม่เกิน 12 เปอร์เซ็นต์  เป็นพื้นที่ที่ไม่มีน้ำท่วมขัง มีการระบายน้ำดีถึงปานกลาง ลักษณะดินที่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน  เป็นดินร่วน หรือดินร่วนปนดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ปานกลางถึงสูง ความลึกของหน้าดินมากกว่า 75 เซนติเมตร ไม่มีชั้นดินดาน ค่าความเป็นกรดด่างของดินอยู่ระหว่าง 4-6 และระดับน้ำใต้ดินลึก 75-100 เซนติเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 20-30 องศาเซลเซียส และที่สำคัญปริมาณน้ำฝนต้องไม่น้อยกว่า 1,800 มิลลิเมตรต่อปี มีการกระจายของฝนสม่ำเสมอ มีช่วงแล้งต่อเนื่องน้อยกว่า 3 เดือน และมีแหล่งน้ำเพื่อใช้ในช่วงแล้งอย่างเพียงพอ พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จึงอยู่ในแนวเส้นศูนย์ แหล่งผลิตปาล์มน้ำมันหลักของโลก คือ อินโดนีเชีย และมาเลเซีย มีผลผลิตรวมกันราว 85 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตรวมโลก ดังนั้นทั้งสองประเทศจึงเป็นประเทศที่มีบทบาทสูงต่อการชี้นำและกำหนดทิศทางของราคาน้ำมันปาล์มโลก ส่วนประเทศผู้บริโภคและนำเข้าหลัก คือ อินเดีย สหภาพยุโรป และจีน มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันราว 50 เปอร์เซ็นต์ของการนำเข้าน้ำมันปาล์มทั่วโลก สำหรับประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันราว 5.18 ล้านไร่ ผลผลิตน้ำมันปาล์มประมาณ 1.9 ล้านตัน เป็นการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยมักจะสูงกว่าราคาของประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีความพยายามนำเข้าในช่วงที่ขาดแคลนบ่อยครั้ง ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นรองประธาน ฝ่ายเลขานุการ ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และผู้แทนกรมการค้าภายใน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

          สภาพการปลูกปาล์มน้ำมันในมาเลเซียและอินโดนีเชียเป็นสวนขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่หลายพันหลายหมื่นไร่ ในลักษณะของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง โดยในอินโดนีเชียพื้นที่ปลูกกว่า 96 เปอร์เซ็นต์อยู่เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา รวมพื้นที่ผลิตทั้งสองเกาะนี้ประมาณ 50 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ให้ผลผลิตแล้วราว 40 ล้านไร่ ส่งผลให้อินโดนีเชียเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (crude palm oil - CPO) หลายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ตาม ผลจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันดังกล่าว ทำให้เกิดการทำลายป่าในเขตร้อนชื้นของอินโดนีเชียและมาเลเชีย โดยกลุ่ม Green Peace ได้รายงานว่าในช่วงปี 2009-2011 การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันส่งผลให้เกิดการทำลายป่าเพิ่มขึ้น 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่ใกล้จะสูญพันธุ์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเสือสุมาตรา ลิงอุรังอุตัง และช้างสุมาตรา เป็นต้น เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ที่กล่าวถึง ในขณะที่พื้นที่ของกาลิมันตันก็ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาศัยของชนพื้นเมืองเข่นกัน อินโดนีเชียจึงมีความพยายามที่จะหยุดยั้งการขยายพื้นที่ปลูก และหันกลับมาเพิ่มผลผลิตต่อไร่แทน ด้วยการปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีทดแทนปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตต่ำ ในขณะที่มาเลเชีย มีเป้าหมายที่จะรักษาพื้นที่ป่าให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในมาเลเชียชะลอตัวลง ทั้งนี้ การปลูกปาล์มน้ำมันในสองประเทศซึ่งเป็นผู้ผลิตรายสำคัญของโลก เป็นสาเหตุของการเกิดก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการทำลายป่า การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ การทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อให้เกิดจุดเสี่ยงของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น และเป็นสาเหตุของปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ปลูกพืชอาหารของชนพื้นเมืองในซาราวัก กาลิมันตัน ในเกาะบอร์เนียว และรัฐซาบาร์ มาเลเซีย รวมไปถึงปัญหาการใช้แรงงานเด็กในสวนปาล์มน้ำมัน ตลอดจนปัญหามลพิษทางน้ำและกลิ่นในโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มอีกด้วย

                     Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

มาตรฐาน RSPO?
          เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อการผลิตสินค้าเกษตรมีความก้าวหน้ามาระดับหนึ่ง และมีแนวโน้มว่าจะสร้างผลตอบแทนในระดับที่สูงขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการกำหนดมาตรฐาน และมาตรฐานแทบทั้งหมดมักจะถูกกดดันให้กำหนดโดยกลุ่มผู้บริโภค ในส่วนของกลางน้ำและปลายน้ำ มากกว่าในส่วนของต้นน้ำ มาตรฐาน RSPO ก็ไม่ต่างกันนัก
          จากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้เป็นพลังงานทดแทน ทำให้การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก เกิดการทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ การเอารัดเอาเปรียบแรงงานและเกษตรกรรายย่อย ส่งผลกระทบต่อสังคมและชุมชนท้องถิ่น จนเกิดการต่อต้านน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ขึ้น โดยเฉพาะในยุโรป  ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงริเริ่มโครงการ Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO ขึ้นในปี 2004 หรือ พ.2547 ณ เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีสถานะเป็นองค์กรภายใต้กฎหมายของสวิสเซอร์แลนด์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนทั่วโลกประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมกิจกรรมที่สนับสนุนการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน การพัฒนาวิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการผลิตปาล์มน้ำมัน น้ำมันปาล์ม ตลอดห่วงโซ่การผลิต บริหารจัดการการเงินขององค์กร และเผยแพร่การดำเนินงานขององค์กรต่อสาธารณะตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน
                        Credit ภาพประกอบ  https://rspo.org/about/who-we-are
          
            สมาชิกของ RSPO ประกอบด้วย ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ผู้สกัดน้ำมันปาล์ม ผู้ค้า ผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ นักลงทุน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยึดถือปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศมีรายละเอียดเกณฑ์แตกต่างกัน เนื่องจากเงื่อนไขทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ระบบของ RSPO จึงเปิดโอกาสให้แต่ละประเทศกำหนดหลักเกณฑ์เป็นของตนเอง แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของ RSPO ซึ่งประกอบด้วยหลักการ (Principles) 8 ข้อ และเกณฑ์กำหนด 39 ข้อ โดยครอบคลุมถึงการบริหารจัดการและการดำเนินงานด้านกฎหมาย ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ความเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม และความเป็นประโยชน์ต่อสังคม หลักการ 8 ข้อ มีดังนี้
(1)    ความมุ่งมั่นให้เกิดความโปร่งในและตรวจสอบได้
(2)    การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติ
(3)    ความมุ่งมั่นให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการเงินในระยะยาว
(4)    การใช้วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
(5)    ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ
(6)    ความรับผิดชอบต่อบุคลากรและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากผู้ปลูกปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
(7)    การพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ
(8)    ความมุ่งมั่นในการปรับปรุงสวนปาล์มน้ำมันและโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มอย่างต่อเนื่อง



Credit ภาพประกอบ  https://rspo.org/about/who-we-are

            
              ดังนั้น RSPO จึงมีลักษณะเป็นองค์กรเอกชนที่เกิดจากความร่วมมือจากหลายฝ่ายในระดับนานาชาติ โดยมี Board of Governors เป็นคณะกรรมการบริหาร ซึ่งต้องได้รับความคัดเลือกจากการประชุมใหญ่  มีระยะการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี Board of Governors ชุดแรก เลือกตั้งในวันที่ 6 ตุลาคม 2004 แบ่งเป็น ตัวแทนจากผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน 4 คน (มาเลเชีย อินโดนีเชีย กลุ่มผู้ปลูกรายย่อย และกลุ่มผู้ปลูกที่เหลือ กลุ่มละ 1 คน) ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นตัวแทนผู้ค้า/ผู้สกัดน้ำมันปาล์ม  ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตสินค้าจากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม กลุ่มผู้ค้ารายย่อย/ผู้ค้าปลีก กลุ่มธนาคาร/นักลงทุน  NGOs ด้านสิ่งแวดล้อม/อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ NGOs ด้านสังคมและการพัฒนา กลุ่มละ 2 คน รวมทั้งสิ้น 16 คน   โดยมีสำนักงานเลขานุการ ซึ่งมี CEO เป็นผู้บริหาร  และมีคณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน ที่เรียกว่า Standard Committees เป็นคณะที่พิจารณาการกำหนดมาตรฐาน โดยผ่านการทำงานของคณะทำงานยกร่างมาตรฐานก่อน คณะกรรมการกำหนดมาตรฐาน ประกอบด้วย มาตรฐานด้านการค้าและความโปร่งใส มาตรฐานด้านการสื่อสารและการเรียกร้อง มาตรฐานด้านการมาตรฐานและระบบการรับรองและมาตรฐานทางการเงิน ทั้งนี้ อาจมีการกำหนดให้มีคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาพิจารณาในแต่ละประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
             สำหรับการประชุมปีของ RSPO มี 2 กิจกรรมหลักๆ คือ RSPO Roundtable Meeting จัดขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนอีกการประชุมคือ RSPO European Roundtable  จัดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของทุกปี ในภูมิภาคยุโรป สมาชิกแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ สมาชิกสามัญ สามารถออกเสียง ลงมติ และร่วมกิจกรรมได้ทุกกิจกรรม  สมาชิกวิสามัญ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง  และสมาชิกที่เป็นองค์กร/สมาคม โดยต้องเป็นองค์กรที่อยู่ใน Supply Chain ของปาล์มน้ำมัน และมีการซื้อปาล์มน้ำมันไม่น้อยกว่า 500 เมตริกตัน/ปี สมาชิก โดยสมาชิกกลุ่มนี้ไม่มีสิทธิในการออกเสียง แต่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ กลุ่มที่ 4 คือ สมาชิกกิตติมศักดิ์ เป็นผู้มีอุปาระคุณและสนับสนุนกิจกรรมของ RSPO  โดยไม่สิทธิออกเสียง ทั้งนี้ สามารถเป็นได้ทั้งบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรต่างๆก็ได้  สมาชิกสามัญต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี จำนวน 2,000 ยูโร / ปี เว้นแต่สมาชิกที่เป็นผู้ปลูกปาล์มรายย่อย ค่าธรรมเนียมจะลดหลั่นมาตามขนาดของพื้นที่ปลูก โดยอยู่ในอัตรา 250 – 2,000 ยูโร/ปี  ทั้งนี้ การเข้าเป็นสมาชิกในครั้งแรก มีกำหนดเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว หากไม่ทำหนังสือลาออกล่วงหน้า 3 เดือน จะถือว่ายังคงสมาชิกภาพ และต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี สำหรับสมาชิกวิสามัญ อัตราค่าธรรมเนียม 250 ยูโร/ปี สมาชิกที่เป็นองค์กร/สมาคมใน Supply Chain ค่าธรรมเนียม 100 ยูโร/ปี ในขณะที่สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ปัจจุบัน RSPO มีสมาชิกสามัญ 1,572 ราย สมาชิกวิสามัญ 96 ราย และสมาชิกที่เป็นองค์กร/สมาคม 1,794 ราย รวมสมาชิกทั้งสิ้น 3,462 ราย  (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2560 จาก www.rspo.org)
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

RSPO จำเป็นต่อการปลูกปาล์มน้ำมัน ?  

          ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน รวม 5.18 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 4.56 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2.4 ตัน/ไร่ มีจำนวนครัวเรือนเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันราว 2 แสนครัวเรือน ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้ในประเทศในรูปของการบริโภคน้ำมันบริสุทธิ์ อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ และการผลิตไบโอดีเซล ในขณะที่ยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มปี 2558-2569 กำหนดเป้าหมาย ด้านอุปทาน ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เพิ่มอีก 3 ล้านไร่ พัฒนาผลผลิตเฉลี่ยเป็น 3.5 ตัน/ไร่ และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตการแปรรูปให้ได้น้ำมันอัตรา 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มเป็นกว่า 21 ล้านตัน หรือ เพิ่มจากเดิมราว 2 เท่า ด้านอุปสงค์ เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคประมาณ 3 แสนตัน หรือเพิ่มเฉลี่ย 3 เปอร์เซ็นต์/ปี และเพิ่มการใช้เป็นพลังงานทดแทนอีก 1 เท่า รวมทั้งรักษาระดับการส่งออกน้ำมันปาล์มให้ได้ประมาณ 3-5 แสนตัน/ปี  ตลอดจนภายในปี 2562 จะผลักดันให้เกิดมาตรฐานน้ำมันปาล์มอาเซียน (ASEAN Sustainable Palm Oil : ASPO) และผลักดันให้มีกฎหมายรองรับโครงสร้างถาวรในการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนา
            สำหรับปัญหาการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทย พบว่า กว่าครึ่งของปาล์มน้ำมันที่ปลูกเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่ำ และมีเปอร์เซ็นต์การให้น้ำมันต่ำเพียง 14-17 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับมาเลเซียที่ 20 เปอร์เซ็นต์ และอินโดนีเชียที่ 22 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย พื้นที่ถือครองประมาณ 10-20 ไร่ เกษตรกรยังขาดความรู้ในการบำรุงรักษาต้นปาล์มน้ำมัน  ในขณะที่แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี 2558-2579 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งอ้างอิงยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มฉบับดังกล่าว และประเมินผลผลิตปาล์มน้ำมันจากพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศและปริมาณน้ำมันปาล์มคงเหลือจากการบริโภคเป็นศักยภาพในการผลิตไบโอดีเซลในอนาคต  โดยมีเป้าหมายผลิตไบโอดีเซลให้ได้ 14 ล้านลิตร/วัน ในปี 2579 จาก 5.6 ล้านลิตร/วัน ในปี 2559

Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

           กรณีเกษตรกรรายย่อยที่จะขอรับรองมาตรฐาน RSPO จะต้องมีการรวมกลุ่มกันขึ้น มีระบบบริหารจัดการกลุ่ม ระบบการควบคุมภายใน เกษตรกรแต่ละรายจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด และกลุ่มต้องผ่านการตรวจสอบรับตามมาตรฐาน RSPO ยกตัวอย่างเช่น หลักเรื่องความโปร่งใส ต้องมีการบันทึกการร้องขอและการตอบสนองด้านต่างๆ ต่อคำขอของสมาชิกกลุ่มและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งมีการเก็บรักษาบันทึกไว้ มีเอกสารการบริการจัดการของกลุ่มเกี่ยวกับกฎหมาย สังคม และสิ่งแวดล้อมที่พร้อมเปิดเผยต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเอกสารสิทธิที่ดิน สิทธิในการใช้ที่ดิน โดยไม่มีการคัดค้านจากชุมชนและผู้เสียสิทธิ มีข้อตกลงระหว่างสมาชิกกลุ่มและผู้จัดการกลุ่ม ซึ่งต้องสำเนาให้สมาชิกทุกคนหรือติดประกาศไว้ที่สำนักงานด้วย มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ความรู้เรื่องมาตรฐานให้กับสมาชิก ตลอดจนเอกสารบริหารจัดการกลุ่มที่พร้อมเปิดเผยกับสมาชิก หลักการหนึ่ง คือ การปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ โดยต้องมีหลักฐานการทำตามกฎหมายของสมาชิก มีการติดตามจากผู้จัดการกลุ่ม มีรายชื่อกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันที่มีความสำคัญและทันสมัย ที่สำคัญสมาชิกต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงสิทธิการถือครองที่ดิน การใช้ที่ดิน และถูกคัดค้านสิทธิ หากมีปัญหาด้านการถือครองที่ดิน ต้องมีการแก้ไขและมีรายงานความก้าวหน้าของการแก้ไขปัญหา รวมทั้งมีผังแปลงของสมาชิกแต่ละราย และทำเป็นผังแปลงรวมของกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม อีกหลักการคือ การสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจในระยะยาว สมาชิกต้องทีส่วนร่วมในการจัดทำแผนบริหารจัดการงบประมาณประจำปี และต้องมีแผนการปลูกทดแทนที่เหมาะสมในแต่ละปีด้วย หลักการที่สำคัญหลักการหนึ่ง คือ การดูแลรักษาปาล์มน้ำมันตามวิธีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ประกอบด้วย การดูแลเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดิน การป้องกันความเสื่อมโทรมและพังทลายของดิน การบริหารจัดการน้ำ การป้องกันแนวตลิ่ง การใช้สารเคมีทางการเกษตร ระบบการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ระบบอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน  โดยต้องมีเอกสารคู่มือแนวทางการปฏิบัติ และระบบการบันทึกข้อมูลที่ดี ตลอดจนมีการฝึกอบรมให้ความรู้และติดตามจากผู้จัดการกลุ่มด้วย
             นอกจากนี้ ยังต้องมีการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องมีเอกสารหรือแผนที่ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการปลูกทดแทนหรือขยายพื้นที่ปลูก แผนที่แปลงกลุ่มเกษตรกร มีมาตรการในป้องกันและปกปักรักษาพืชและสัตว์หายากที่พบในพื้นที่ และระบบการกำจัดภาชนะบรรจุภัณฑ์ของสารเคมีทางการเกษตรที่ถูกต้อง ไม่มีการใช้ไฟในการปรับพื้นที่เพื่อการปลูกปาล์มน้ำมัน อีกทั้งมีความรับผิดชอบต่อลูกจ้างและชุมชน โดยพิจารณาจากการจัดการประชุมหารือผลกระทบทางสังคม การกำหนดช่องทางและกลไกในการจัดการข้อร้องเรียน การปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน การอนุญาตให้เด็กทำงานได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด การปลูกปาล์มใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ปลูกในเขตต้นน้ำลำธาร พื้นที่ที่มีความเสี่ยงในการพังทลายสูง และต้องการพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
             โดยสรุปแล้ว มาตรฐาน RSPO มุ่งเน้นให้เกิดการปลูกปาล์มน้ำมันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน เพื่อสกัดกั้นการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันไปในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การปฏิบัติตามมาตรฐาน RSPO จะส่งผลให้เกษตรกรได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน ตั้งแต่การปลูก การใส่ปุ๋ย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช การบริหารจัดการดินและน้ำ การเก็บเกี่ยว การแบ่งปันเทคโนโลยีในการปรับปรุงกระบวนการผลิต การนำของเสียมาหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะส่งผลต่อระบบการผลิตของเกษตรกร ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตเฉลี่ย/ไร่เพิ่มขึ้น อัตราการให้น้ำมันเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงมีรายได้ที่สูงขึ้น สามารถช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น


Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

               สถานการณ์ปัจจุบัน การแข่งขันทางการค้าสูงมากขึ้น บริษัทชั้นนำของโลกหลายบริษัท เริ่มสร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นด้วยการนำเงื่อนไขของการรับรองมาตรฐาน RSPO มาเป็นองค์ประกอบหนึ่ง เป็นเกณฑ์เพื่อใช้ในการรับซื้อวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในส่วนของต้นน้ำ แสดงจุดยืนของการเป็นผู้ประกอบการที่รักษ์สิ่งแวดล้อมในส่วนของปลายน้ำ เช่น กลุ่มบริษัท Mark & Spencer Carrefour Cargill เป็นต้น นอกจากนี้ ในปี 2558 ที่ผ่านมา กลุ่มผู้นำเข้าน้ำมันปาล์ม 6 ประเทศ (เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก) ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า จะนำเข้าน้ำมันปาล์มที่มีการผลิตอย่างยั่งยืนเท่านั้น ขณะเดียวกัน เยอรมันได้ออกกฎหมายรองรับแหล่งผลิตนำมันปาล์มที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เช่นเดียวกัน มาตรฐาน RSPO ได้พัฒนามาสู่ RSPO Next โดยเน้นการลดการปล่อยคาร์บอนในรูปแบบต่างๆ เพื่อรักษาป่า การห้ามปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ป่าพรุ หลังวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 มีการตรวจสอบ/จัดการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดกระบวนการผลิตและมีระบบรายงานสถานะให้ทราบด้วย อีกทั้งมาตรฐาน RSPO Next กำหนดให้มีการวางแผนและมีแนวป้องกันไฟในพื้นที่ด้วย มีอัตราค่าแรงที่เหมาะสม โดยเห็นชอบร่วมกันทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง กรณีที่ไม่มีการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังห้ามใช้พาราครอตเป็นสารกำจัดศัตรูพืช และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งปลูกได้อีกด้วย
Credit ภาพประกอบ : ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี กรมวิชาการเกษตร

            เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า มาตรฐาน RSPO เป็นมาตรฐานที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เมื่อการพัฒนามาถึงจุดๆหนึ่ง มนุษย์ที่กินอิ่มนอนหลับ ก็จะเริ่มไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ เริ่มแสวงหาความแตกต่างไปเรื่อยๆ และเริ่มจะสำนึกได้ว่า ผลกระทบของการพัฒนา ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร สะเทือนต่อดาวสีน้ำเงินดวงนี้มากน้อยเพียงใด บางทีผู้เขียนยังเคยคิดเล่นๆว่า หากมนุษย์รู้จักคำว่า “พอ” มาตรฐานต่างๆ คงไม่ต้องถูกกำหนดขึ้นมา คงไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐาน Next และ Next เพื่อบังคับให้มนุษย์ด้วยกันนำไปปฏิบัติ หรือท่านผู้อ่านว่าอย่างไร

(ขอบคุณ : www.rspo.org ,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี สถาบันวิจัยพืชไร่ฯ กรมวิชาการเกษตร /ข้อมูล)

หมายเหตุ ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง ในจดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนกรกฎาคม 2560