“...การเกษตรนั้นถือได้ว่าเป็นทั้งรากฐานและชีวิตสำหรับประเทศของเรา
เพราะคนไทยเราส่วนใหญ่เป็นผู้มีอาชีพทางเกษตรกรรม ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นเสมอมาว่า
วิธีการพัฒนาที่เหมาะสมแก่ประเทศเราอย่างยิ่ง ก็คือจะต้องทำนุบำรุงเกษตรกรรมทุกสาขาให้พัฒนาก้าวหน้า
เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับให้สูงขึ้น
เริ่มต้นตั้งแต่การลงมือผลิต โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด
ด้วยการดัดแปลงปรับปรุงนำสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติมาใช้
ให้สอดคล้องเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
เพื่อให้เกษตรกรของเราได้ผลผลิตเพียงพอแก่การเลี้ยงตัว คือพอมี พอกิน
เป็นเบื้องต้นก่อน ต่อไป
เมื่อเหลือจึงจำหน่ายหารายได้ ซึ่งหากจะให้ได้ผลที่สมบูรณ์
ก็จะต้องมีการจัดการเรื่องการตลาดอย่างดี รวมทั้งมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์
อันจะทำให้ผลิตผลทางการเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น
โดยนัยนี้เกษตรกรของเราก็จะมีฐานะความเป็นอยู่ที่มั่นคงพึ่งตนเองได้
อันจะส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของประเทศมีความเข้มแข็งตามไปด้วย.... “
พระราชดำรัส
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ
ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ณ
อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ วันพฤหัสบดี ที่ 23 กรกฎาคม 2541
“ฉีกซอง” ฉบับเดือนพฤษภาคม 2560 ได้นำเสนอเรื่องราวของพระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยได้กล่าวถึงความเป็นมาเมื่อครั้นในอดีต
สำหรับฉบับเดือนมิถุนายน 2560 ขอนำเสนอต่อในส่วนของยุคปัจจุบันเป็นอย่างไรโปรดติดตาม
แรกนาในยุคสมัย
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ได้กระทำเต็มรูปบูรพประเพณี ครั้งสุดท้ายในปี 2479 แล้วก็ว่างเว้นไปจนกระทั่งในปี
2503 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟู พระราชประเพณีนี้ขึ้นใหม่
และได้กระทำติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ด้วยเห็นว่าเป็นการรักษาพระราชประเพณีอันดีงาม
มีผลในการบำรุงขวัญและจิตใจของคนไทย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย
และเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีนี้ทุกปี
จนกระทั่งระยะหลังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
สยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ ตราบจนสิ้นรัชกาล ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2509
เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นวันเกษตรกรประจำปีอีกด้วย
เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร
และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน
โดยในปัจจุบันเมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชประเพณีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาในระยะแรกนั้นพระยาแรกนา
ได้แก่ อธิบดีกรมการข้าว โดยตำแหน่ง
สำหรับเทพีทั้งสี่พิจารณาคัดเลือกจากภริยาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ภายหลังพระยาแรกนา ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยตำแหน่ง
ส่วนผู้ที่มาทำหน้าที่เป็นเทพีคู่หาบทองและคู่หาบเงินนั้น
ได้ทำการพิจารณาคัดเลือกจากข้าราชการหญิงโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีตำแหน่งตั้งแต่ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป
พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย
ข้าวนั้นถือว่าเป็นอาหารหลักของประชาชนในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือบุพพัณณะ
หรือบุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่น ๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรืออปรัณชาติ หมายถึง
พืชจำพวกถั่วงา เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ
ที่หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด บุพพัณณปรัณณชาติที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้นเป็นข้าวเปลือก
มีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่างๆ รวม 40 ชนิด แต่ละชนิดบรรจุถุงผ้าขาวกับเผือกมันต่างๆ
พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น
นอกจากนี้ยังมีข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีแรกนาบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง
เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดให้ปลูกในพระราชวังสวนจิตรลดา
และพระราชทานมาเข้าพิธีพืชมงคล พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้จะใช้หว่านในพระราชพิธีแรกนาส่วนหนึ่ง
อีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซองแล้วส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชนในจังหวัดต่าง
ๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนั้นๆ
ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
จะมีการเสี่ยงทาย 2
สิ่ง คือ ผ้านุ่งของพระยาแรกนา และการเสี่ยงทายของกินของพระโค
ซึ่งการเสี่ยงทายผ้านุ่งของพระยาแรกนาเป็นการตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกาย ลักษณะเป็นผ้าลายมีด้วยกัน
3 ผืน คือ หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ
ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตกมีผ้าคลุมเพื่อให้พระยาแรกนาขวัญหยิบ
ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามกัน กล่าวคือ ถ้าหยิบผ้าได้ 4 คืบ
พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
หากหยิบได้ผ้า 5 คืบ
พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร
มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และถ้าหยิบได้ผ้า 6 คืบ พยากรณ์ว่า
น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอน จะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่
ส่วนการเสี่ยงทายของกิน
7 สิ่ง ซึ่งเป็นของกินที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้นมี ข้าวเปลือก ข้าวโพด
ถั่วเขียว งา เหล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น โดยถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด
พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี แต่ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร
ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และหากพระโคกินน้ำหรือหญ้า
พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควรธัญญาหารผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
หรือถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า
การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขายกับ ต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
สำหรับคันไถที่ใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อใช้ในพระราชพิธีดังกล่าวตลอดมานั้นสร้างเมื่อปี 2539 โดยกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมหนองโพ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
เป็นคันไถที่ทำจากไม้สมอ อยู่ในความรับผิดชอบและดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตร ชุดคันไถดังกล่าวประกอบด้วย
(1) คันไถ ขนาดความสูงวัดจากพื้นถึงเศียรนาค
2.26 เมตร และความยาวจากเศียรนาคถึงปลายไถ 6.59 เมตร ทาสีแดงชาดตลอดคันไถ ที่หัวคันไถทำเป็นเศียรพญานาคลงรักปิดทอง
ลวดลายประดับคันไถเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน
ปลายไถหุ้มผ้าขาวขลิบทองสำหรับมือจับ
(2) แอกเทียมพระโค ยาว 1.45 เมตร
ตรงกลางแอกประดับด้วยรูปครุฑยุดนาคหล่อด้วยทองเหลืองลงรักปิดทองอยู่บนฐานบัว
ปลายแอกทั้งสองด้านแกะสลักเป็นรูปเศียรพญานาคลงรักปิดทอง
ลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทองตลอดคัน
ที่ปลายแอกแต่ละด้านมีลูกแอกทั้งสองด้านสำหรับเทียมพระโคพร้อมเชือก กระทาม
(3) ฐานรอง
เป็นที่สำหรับตั้งรองรับคันไถพร้อมแอก ทำด้วยไม้เนื้อแข็งทาด้วยสีแดงชาด
มีลวดลายประดับเป็นลายกระจังตาอ้อยลงรักปิดทอง ทั้งด้านหัวไถและปลายไถ
(4) ธงสามชาย
เป็นธงประดับคันไถติดตั้งอยู่บนเศียรนาค ทำด้วยกระดาษและผ้าสักหลาด เขียนลวดลาย
ลงรักปิดทองประดับด้วยกระจกแวว
มีพู่สีขาวประดับด้านบนเป็นเครื่องสูงชนิดหนึ่งเพื่อประดับพระเกียรติ ธงสามชายมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม
ฐานยาว 41 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร
และเสาธงยาว 72 เซนติเมตร
เนื่องจากคันไถที่ใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญถือเป็นของสูง
ซึ่งต้องมีความพิถีพิถันในการเตรียมการ ทุกปีก่อนงานพระราชพิธีฯ
กรมส่งเสริมการเกษตรผู้รับผิดชอบจะดูแลความเรียบร้อย ทำความสะอาด และตกแต่งให้งดงามและถูกต้องตามแบบแผน
เพื่อให้มีความพร้อมและคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของพระราชพิธีฯดังกล่าว
ในส่วนของพระโคในทางศาสนาพราหมณ์
หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของ พระอิศวร
เปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และหมายถึงสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแลซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์
ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธี จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
จึงได้กำหนดให้มีพระโคเพศผู้เข้าร่วมพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
โดย ศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพราชบุรี สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์
กรมปศุสัตว์ ดำเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี
รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร
ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร
ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร
โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย
สอนง่าย ไม่ดุร้าย เขามีลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ
หางยาวสวยงาม มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้องลักษณะที่ดี
กีบข้อเท้าแข็งแรง ถ้ามองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัล
แรกนาขวัญ ประจำปี 2560 จำนวน 2 คู่
คือ พระโคแรกนา 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล
และพระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง
สำหรับพระโคเพิ่ม มีความสูง 158 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์ รอบอก 193 เซนติเมตร อายุ 7 ปี ส่วนพระโคพูล มีความสูง 156 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 237 เซนติเมตร
ความสมบูรณ์รอบอก 204เซนติเมตร อายุ 7
ปี โดยนายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพิ่ม
แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ใช้เป็นพระโคแรกนาขวัญประจำปี 2560 และนายวิจารณ์
ภุกพิบูลย์ บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพูล แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ
ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ใช้เป็นพระโคแรกนาขวัญประจำปี
2560
ในขณะที่พระโคสำรอง
คือ พระโคพอ มีความสูง 163 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 212 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก
204 เซนติเมตร อายุ 5 ปี และพระโคเพียง
มีความสูง 155 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 230 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 200 เซนติเมตร อายุ 5 ปี โดย นายสมชาย ดำทะมิส บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคพอ แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์
นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9
ใช้เป็นพระโคสำรองประจำปี 2560 และนายอาคม วัฒนากูล
บริจาคทรัพย์ซื้อพระโคเพียง แล้วมอบให้กรมปศุสัตว์ นำน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
รัชกาลที่ 9 ใช้เป็นพระโคสำรองประจำปี 2560
พระโคแรกนาขวัญ
และพระโคสำรอง เป็นพระโคพันธุ์ไทยมีชื่อประจำพันธุ์ว่า “พันธุ์ขาวลำพูน” มีผิวสีขาวอมชมพู ขนสีขาวสะอาด ทั้งลำตัวไม่มีจุดด่างดำ
หรือสีอื่นบนลำตัว เขามีสีขาว ลำเขาเป็นลำเทียน
เขาทั้งสองข้างมีลักษณะโค้งสวยงาม ดวงตาแจ่มใสสีน้ำตาลอ่อน ขนตาสีชมพู
บริเวณจมูกขาว กีบสีขาว ขนหางเป็นพวงสีขาวยาว
ลำตัวช่วงขาหลังและกีบมีความสมบูรณ์แข็งแรง เวลายืนและเดินสง่า โดยโคขาวลำพูนเป็นโคพื้นเมืองสำหรับใช้งานดั้งเดิม
พบมากในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ แพร่กระจายไปยังอำเภอต่างๆ
ของจังหวัดลำปาง พะเยา และเชียงราย ที่อยู่ใกล้กับจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่
มีลักษณะที่โดดเด่นคือมีรูปร่างสูงใหญ่ สูงโปร่ง ลำตัวมีสีขาวตลอด พู่หางขาว
หนังสีชมพูส้ม จมูกสีชมพูส้ม เนื้อเขาเนื้อกีบสีน้ำตาลส้ม
จากลักษณะเด่นเป็นสง่าดังกล่าว
จึงได้ถูกคัดเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ความเป็นมาของโคขาวลำพูนนั้น ยังไม่มีผู้ใดศึกษาไว้อย่างจริงจัง
และยังไม่ทราบแน่นอนถึงถิ่นกำเนิดที่แท้จริงอยู่ที่ใดและมีมาแล้วตั้งแต่เมื่อใด
ที่เริ่มรู้จักกันนั้นมีความเป็นมาจากการที่ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ได้ริเริ่มเลี้ยงฝูงโคขาว ตั้งแต่ พ.ศ.2521 แทนฝูงโคเนื้อลูกผสมพันธุ์ต่างประเทศ
เพื่อหาทางศึกษาชี้นำให้มีการอนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์
โคขาวลำพูนเป็นโคพื้นเมืองที่เกิดจากฝีมือและผลงานของชาวบ้านในจังหวัดลำพูน
มีการพัฒนาสายพันธุ์มานานกว่า 100 ปี
เลี้ยงกันแพร่หลายในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ แล้วแพร่กระจายไปยังจังหวัดลำปาง
พะเยา เชียงราย เกิดขึ้นมาได้อย่างไรไม่มีหลักฐานแน่ชัด บางท่านเล่าว่า
เกิดจากการกลายพันธุ์ของโคพื้นเมืองในสมัยพระนางจามเทวี
ผู้ครองนครหริภุญไชยพระองค์แรก เมื่อ 1,340 กว่าปีมาแล้ว
และเป็นสัตว์คู่บารมีของชนชั้นปกครอง ในสมัยนั้นใช้ลากเกวียน แต่หริภุญไชยล่มสลายตั้งแต่ครั้งเมื่อพ่อขุนเม็งรายมหาราชยึดครอง
อีกทั้งเป็นเมืองร้าง สมัยพม่าครองเมือง ช่วงกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ในตำราฝรั่งบางเล่มกล่าวว่า
ต้นตระกูลของโคพื้นเมืองในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
น่าจะเป็นโคยุโรปที่ไม่มีหนอก ซึ่งต่อมาถูกผสมข้ามโดยโคอินเดียที่มีหนอก
เพราะโคในภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่มีลักษณะของทั้งโคยุโรปและโคอินเดียรวมกัน
คือมีเหนียงคอสั้น หน้าผากแบน และหูเล็กแบบโคยุโรป มีหนอกแบบโคอินเดีย
โคขาวลำพูนมีลักษณะเฉพาะตัว
คือ มีสีขาวปลอดทั้งตัว ซึ่งแตกต่างจากโคสีขาวพันธุ์อื่นๆ ที่ปาก จมูก ขอบตา กีบ
เขา และพู่หางสีดำ แต่โคขาวลำพูนจะเป็นสีขาวทั้งหมด และไม่ใช่โคเผือกเพราะตาดำไม่เป็นสีชมพู
เนื่องจากมีลำตัวสีขาวจึงทำให้ทนความร้อนจากแสงแดดได้ดีเป็นพิเศษ
โคขาวลำพูนนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมและสังคมเกษตรกรรมของบรรพบุรุษชาวล้านนา
ดังนั้นเราไม่ควรปล่อยปละละเลยให้สูญพันธุ์ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ตามคติของศาสนาพราหมณ์ ตามตำนานกล่าวว่าโคอุสุภราชเผือกผู้มีนามว่าพระนนทิ
ถือกันว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จัตุบาท พระนนทิจะแปลงรูปเป็นโคให้พระอิศวรทรง
ซึ่งความเชื่อนี้คนอินเดียจึงไม่ทานเนื้อโค จึงมีโคเป็นจำนวนมากในประเทศอินเดีย และประเทศไทยรับความเชื่อของพราหมณ์มา
ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ได้กำหนดให้มีพระโคเพศผู้เข้าร่วมในพระราชพิธีนี้ดังกล่าว
สำหรับพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ปี 2560 สำนักพระราชวังได้ออกหมายกำหนดการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม
2560 เป็นพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ครั้งแรก
ในรัชกาลที่ 10 ความว่า
“
เลขาธิการพระราชวัง รับพระราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดดังรายการต่อไปนี้
วันพฤหัสบดีที่
11 พฤษภาคม เจ้าพนักงานเตรียมการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงไว้พร้อม
เวลาบ่าย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน
พระราชวังดุสิต ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
เวลา
16 นาฬิกา เสด็จพระราชดำเนินเข้าพระอุโบสถ
ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการพระพุทธมหามณีปฏิมากร และพระพุทธรูปสำคัญ
พระราชาคณะถวายศีล จบแล้ว ทรงพระสุหร่าย ถวายดอกไม้บูชาพระพุทธคันธารราษฎร์
ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรไทย พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณฯ
ประธานพระครูพราหมณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล พระสงฆ์ 11
รูป เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิม
พระราชทานพระธำมรงค์กับพระแสงปฏัก สำหรับตำแหน่งพระยาแรกนาแก่นายธีรภัทร
ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทรงหลั่งน้ำสังข์ ทรงเจิม
พระราชทานเทพีผู้ที่จะเข้าในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขณะนั้น
พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานประโคมฆ้องชัย เครื่องดุริยางค์แล้ว
ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระอุโบสถ
เสด็จพระราชดำเนินกลับ
วันศุกร์ที่
12 พฤษภาคม เวลา 7 นาฬิกา 19
นาที สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ
ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขึ้นรถยนต์หลวงที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูสวัสดิโสภา ถนนสนามไชย ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
แล้วเดินขบวนอิสริยยศแห่ไปส่งที่โรงพิธีพราหมณ์
จุดธูปเทียนถวายสักการะเทวรูปสำคัญแล้ว
จะได้ตั้งสัตยาธิษฐานหยิบผ้านุ่งแต่งกายไว้พร้อม
ครั้นเวลา
8 นาฬิกา 30 นาที
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน
พระราชวังดุสิต ไปยังพลับพลาท้องสนามหลวง ระหว่างเวลาฤกษ์ 8
นาฬิกา 19 นาที ถึงเวลา 8 นาฬิกา 59 นาที นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ซึ่งทำหน้าที่พระยาแรกนา จะได้ยาตราพร้อมเทพีออกจากโรงพิธีพราหมณ์
มีราชบัณฑิตและพราหมณ์ นำผ่านพลับพลาหน้าพระที่นั่ง พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ถวายบังคมแล้วไปยังลานแรกนา เจ้าพนักงานจูงพระโคเทียมแอก
พระยาแรกนาเจิมพระโคและไถแล้วจึงไถดะไปโดยรี 3 รอบ โดยขวาง 3 รอบ หว่านธัญพืช โหรหลวงลั่นฆ้องชัย แล้วไถกลบอีก 3
รอบ เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พระยาแรกนาและเทพีกลับไปยังโรงพิธีพราหมณ์ พราหมณ์เสี่ยงของกิน
7 สิ่ง ตั้งเลี้ยงพระโค โหรหลวงจะได้ถวายคำพยากรณ์
เสร็จแล้วจะได้แห่พระยาแรกนาเป็นขบวนอิสริยยศจากโรงพิธีพราหมณ์
พระยาแรกนาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ถวายบังคมแล้วเข้าขบวนไปขึ้นรถยนต์หลวงไปยังแปลงนาสาธิต สวนจิตรลดาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ”
ผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนาในปี
2560 คือ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวนันทินี
ทองคงเหย้า นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร และนางสาวฉมาพันธ์
สุพรมอินทร์ นักวิชาการตรวจสอบบัญชีปฏิบัติการ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ส่วนเทพีคู่หาบเงิน ได้แก่ นางสาวนันทวัน สุวรรณสถิตย์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ กรมชลประทาน
และนางสาวพรพิมล ศิริการ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร
พันธุ์ข้าวที่ใช้ในพิธีสำหรับปีนี้
กรมการข้าวได้ดำเนินการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำพันธุ์ข้าวทั้งหมด 11 พันธุ์ รวมน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งสิ้น 2,865
กิโลกรัม นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และจัดเป็น
"พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” และบรรจุในซองพลาสติกแจกจ่ายเพื่อเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม
เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป
ผลการทำนายสำหรับปี
2560 โหรหลวงถวายคำพยากรณ์ สรุปได้ดังนี้
การเสี่ยงทาย "ผ้านุ่งแต่งกาย” ของพระยาแรกนา ผ้านุ่งซึ่งพระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานหยิบได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า
น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร
จะอุดมสมบูรณ์ดี ส่วนการเสี่ยงทายพระโค
พระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหาร จะบริบูรณ์ดี พระโคกินหญ้า พยากรณ์ว่า
น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์
หลังจากพิธีอันเป็นสิริมงคลให้กับเกษตรกรไทยในครั้งนี้
จะเป็นขวัญและกำลังใจให้เกษตรกรเริ่มฤดูการผลิตใหม่ได้อย่างเชื่อมั่นและมีความหวัง
ภายใต้ความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น การจัดการความเสี่ยงอย่างมีความพร้อม
จะช่วยให้เกษตรกรไทยผ่านพ้นวิกฤติไปได้ ความผูกพันระหว่างการทำการเกษตรและธรรมชาติยังคงอยู่เสมอ
จนมีคำกล่าวว่า “การเกษตรเป็นหุ้นส่วนของธรรมชาติ”
ความเข้มแข็งของภาคการเกษตรจะเกิดขึ้นไม่ได้
ถ้าเกษตรกรซึ่งเป็นจักรกลสำคัญของภาคการเกษตรไม่มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพเพียงพอ
ขอพลังจงอยู่กับทุกท่าน
(ขอบคุณ : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง , สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
, กรมส่งเสริมการเกษตร , กรมปศุสัตว์ ,
กรมการข้าว/ข้อมูล)
หมายเหตุ ต้นฉบับคอลัมม์ฉีกซอง จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่งานวิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ฉบับเดือนมิถุนายน 2560